สปสช.ให้ผู้ติดเชื้อโควิดรอเตียงเข้าระบบรักษาที่บ้าน/ชุมชน-จับคู่คลิกนิกชุมชนอบอุ่นดูแล

Last updated: 11 ก.ค. 2564  |  2601 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สปสช.ให้ผู้ติดเชื้อโควิดรอเตียงเข้าระบบรักษาที่บ้าน/ชุมชน-จับคู่คลิกนิกชุมชนอบอุ่นดูแล

สปสช.เคลียร์ผู้ป่วยโควิดรอเตียงในระบบสายด่วน 1330 กว่า 2,500 ราย เข้ารับการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน ภายใต้การดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่น ชี้แนวทางนี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าระบบการดูแลรักษาเร็วขึ้น ไม่ต้องรอเตียงนานหลายวันจนเสี่ยงที่อาการจะทรุดลง

วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลซึ่งผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่ผ่านมาสายด่วน สปสช. 1330 ได้ช่วยทำหน้าที่ประสานงานหาเตียงแก่ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ยังไม่มีเตียงรองรับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง โดยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อโทรประสานมายังสายด่วน 1330 เพื่อให้หาเตียงให้แต่ยังตกค้างไม่ได้เตียงกว่า 2,500 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อเหล่านี้ต้องใช้เวลารอเตียงนานหลายวันและเสี่ยงที่อาการจะทรุดลง

ดังนั้น สปสช.จึงได้ปรับแนวทางการดูแล โดยจากเดิมจะสอบถามความสมัครใจผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวซึ่งไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อยก่อน ว่ายินดีเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) หรือไม่ แต่ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ป่วยที่ตกค้างรอหาเตียงอยู่ในระบบของ 1330 จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่บ้านทั้งหมด ภายใต้การดูแลของคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักอาศัย ซึ่งการดูแลจะเป็นไปตามมาตรฐานของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

"แนวทางนี้จะทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอแบบไม่รู้อนาคตว่าเมื่อไหร่จะได้เตียงและเสี่ยงที่อาการจะแย่ลง" นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี กล่าว

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี กล่าวว่า การดูแลรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยระบบชุมชนหรือ Community Isolation ไม่ใช่การทอดทิ้งให้ผู้ติดเชื้อเผชิญชะตากรรมที่บ้าน แต่จะดูแลทุกอย่างเหมือนในโรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่มาเป็นที่บ้านหรือที่พักอาศัยหรือกรณีที่พักอาศัยไม่พร้อมก็จะเป็นสถานที่ที่ชุมชนจัดให้ เช่น ศาลาวัด หอประชุมโรงเรียน โดยคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่จะติดต่อไปหาผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นจะส่งเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดไปให้ที่บ้าน รวมถึงยาฟ้าทะลายโจร และมีบุคลากรทางการแพทย์ของคลินิกนั้นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์วิดีโอคอลหาทุกวันเพื่อติดตามประเมินอาการ ขณะเดียวกันก็จะจัดส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถกักตัวอยู่ในบ้านได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการออกจากบ้านมาหาอาหารจนเกิดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง หรือผู้ที่มีอาการรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก จะไม่ใช้การดูแลแบบ Home Isolation แต่ยังคงรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งกรณีผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านแล้วอาการมีแนวโน้มแย่ลง คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้นจะประสานกับโรงพยาบาลรับส่งต่อของตัวเองให้รับตัวผู้ป่วยไปรักษาในโรงพยาบาล และในกรณีที่โรงพยาบาลรับส่งต่อก็เตียงเต็มอีก ก็จะประสานสายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ เพื่อหาเตียงให้ ซึ่งระหว่างที่รอเตียงอยู่ก็จะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านเพื่อประคองอาการไปก่อนจนกว่าจะได้เตียง

ทั้งนี้ นอกจากรับผู้ป่วยที่ตกค้างในระบบของสายด่วน 1330 เข้าสู่การดูแลแบบ Home Isolation ทั้งหมดแล้ว สปสช.ยังร่วมมือกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (ศปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกโดยใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ทราบผลใน 30 นาที ซึ่งกระจายตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยตั้งเป้าตรวจให้ได้วันละ 10,000 คน และผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อก็จะเข้าสู่การดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนเช่นกัน โดย สปสช.มีเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นหรือหน่วยบริการปฐมภูมิอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 204 แห่ง แต่ละแห่งมีศักยภาพ (capacity) ดูแลผู้ป่วยได้ 200 ราย รวมแล้วสามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่รักษาตัวที่บ้านได้ประมาณ 40,000 ราย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้