Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2919 จำนวนผู้เข้าชม |
พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดการอบรมสื่อมวลชนต้านทุจริต ในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการปฏิรูปในยุคดิจิทัล Thailand 4.0” ให้สมาชิกของสมาคมสื่อช่อสะอาด
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานเปิดงานการอบรมในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการปฏิรูปในยุคดิจิทัล Thailand 4.0” โดยได้กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในชาติต้องลุกขึ้นต่อสู้กับปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที และจะไม่ยอมทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบได้อีกต่อไป ทุกท่านเปรียบเสมือนเป็นสื่อกลางที่สร้างแรงขับเคลื่อนด้านการรณรงค์และต่อต้านการทุจริต ไปยังสาธารณชนในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี และหวังว่าท่านยังคงปฏิบัติหน้าที่ เพื่อขยายความคิดในเชิงป้องปรามให้เกิดกระแสขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ให้ทุกคนในสังคมไทยค่อย ๆ เปลี่ยนความคิด เริ่มฉุกคิดและพร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้กับการทุจริตอย่างจริงจัง เพื่อให้ภาพของสังคมไทยในอนาคต ใสสะอาดยิ่งขึ้น
พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. คณะวิทยากรและกรรมการบริหารสมาคมสื่อช่อสะอาด
นับจากนี้ไปจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญและจะมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานที่มุ่งเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พุทธศักราช 2560 - 2564) ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต นั้นหมายความว่า ประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรม เป็นสังคมมิติใหม่ที่ประชาชนไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายการเมือง หน่วยงาน ของรัฐตลอดจนประชาชนในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เพื่อให้ประเทศไทย มีศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิในด้านความโปร่งใสทัดเทียมนานาอารยประเทศ
สำหรับการอบรมในหัวข้อ “จริยธรรมสื่อกับการปฏิรูปในยุคดิจิทัล Thailand 4.0” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้จัดโดยสมาคมสื่อช่อสะอาด ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยสมาชิกของสมาคมสื่อช่อสะอาด ผู้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และเจ้าพนักงานด้านการป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 200 คน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดอบรม เพื่อส่งเสริมค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพ และบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตามแนวทางแห่งจริยธรรมวิชาชีพและเพื่อรับฟัง ความคิดเห็นจากผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงในด้านต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ระดับจังหวัด ตลอดจนภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
14 มี.ค. 2567