Last updated: 9 มี.ค. 2561 | 3013 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ในความจริงของโลกใบนี้ไม่อาจปฏิเสธได้คือ “เราทุกคนมีตาอยู่ข้างหน้า” ย่อมหมายถึงธรรมชาติต้องการให้เรามองไปข้างหน้า เดินไปข้างหน้า ซึ่งคือการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันต้องมีสัญชาตญาณในการป้องกันตนเองด้วย ซ้าย-ขวา แต่หนทางเดินไปข้างหน้านั้นย่อมมีอุปสรรค มีขวางหนาม มีหลุมมีบ่อ ก็ต้องไม่เพียงแต่ใช้ตามองอย่างเดียว ต้องใช้ปัญญานำทางด้วย ดังนั้น การที่เราจะยกระดับศักยภาพของประเทศ รวมถึงเร่งการพัฒนาให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้พร้อม ๆ กันอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องตระหนักถึงปัญหาและความท้าทายสำคัญที่ประเทศจะต้องเผชิญในอนาคต เพื่อที่จะสามารถเตรียมการ คิดค้นกลไก สำหรับบริหารจัดการและวางแนวทางต่าง ๆ ที่จะสามารถรับมือกับทุก ๆ ปัญหาเหล่านั้นด้วย วางไว้ล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำลังดำเนินอยู่ ก็ได้มีการพิจารณาถึงความท้าทายของประเทศในอนาคตเช่นกัน
หนึ่งในความท้าทายที่เรากำลังจะต้องเผชิญอย่างเต็มรูปแบบ คือการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” โดยคาดว่าในปี 2563 ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือ 1 ใน 5 ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของประชากรใน “วัยแรงงาน” จะลดลงต่อเนื่อง ปัญหาที่ประเทศไทยต้องเจอ คือ (1) ประชากรวัยทำงานต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ทำงานหนักขึ้นเพื่อจะรักษาระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ (2) รัฐบาลมีภาระด้านงบประมาณมากขึ้น ในการดูแลผู้สูงอายุ หากไม่มีการสนับสนุนการออมแต่เนิ่น ๆ หรือมีสวัสดิการที่เหมาะสม ครอบคลุมทั้งเรื่องสาธารณสุขและบำเหน็จ บำนาญ เบี้ยคนชรา ในขณะที่การเก็บภาษีจากประชากรที่ทำงานกลับลดน้อยลง (3) จำนวนแรงงานสำหรับป้อนภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ก็จะมีน้อยลง ไม่เพียงพอต่อระบบเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในอนาคต และ (4) แรงงานต่างด้าว อาจกลับถิ่นฐาน เนื่องจากถึงจุดอิ่มตัวเพราะเริ่มมีทักษะ มีฝีมือ ที่บ้านเรา ในขณะที่ประเทศต้นทาง มีการพัฒนาสูงขึ้น จึงมีความต้องการแรงงานกลับประเทศมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ถึงตอนนั้น ประเทศไทยจะขาดแคลนทั้งประชากรวัยทำงานในประเทศและแรงงานต่างด้าวในเวลาใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่าในอนาคตจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนการผลิต หรือทดแทนแรงงานได้บางส่วน แต่ในมุมกลับ อาจทำให้แรงงานที่ไม่ยอมปรับตัว หรือพัฒนาไม่ทันเทคโนโลยี จะถูกแย่งงาน ตกงานได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้อน และความไม่แน่นอนของอากาศที่เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนมากขึ้น ร้อนขึ้น หนาวขึ้น ที่เราเห็นเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานี้ จะส่งผลกระทบที่หลากหลาย อาทิ น้ำท่วม ฝนแล้ง ที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน การเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคการผลิตหลักของประเทศ รวมทั้งระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เราอาจจะต้องประสบกับโรคระบาดใหม่ หรือโรคอุบัติใหม่ ที่รัฐต้องดูแล ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้น หมายถึงภาระของรัฐที่ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อเรามองไปข้างหน้า เราอาจจะเห็นทิศทางของการรวมกลุ่มประเทศ ในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ เช่น การรวมกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้น การแบ่งขั้วอำนาจที่อาจเปลี่ยนไปประเทศในเอเชียอาจมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศจะมีอิทธิพลสูงขึ้น แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศที่อาจแข่งขันกันมากนิ่งขึ้น การทำสัญญาการค้าที่อาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามภาวะและโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเหล่านี้เป็นต้น
ตัวอย่างความท้าทายเหล่านี้ ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และโยงใยกันอย่างไร้ระเบียบ ก็ไม่ง่ายที่จะรับมือแต่ไม่ยากที่จะแก้ปัญหาและต้องอาศัยเวลา สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เราทุกคนได้ตระหนัก ว่าเราต้องปรับเปลี่ยน และต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้ เราทุกคนต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอายุน้อย อายุมาก ก็สามารถเรียนรู้ เพิ่มทักษะ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างความมั่นคงให้กับตนเอง และรายได้ของครอบครัว เราต้องหาช่องทางเชื่อมโยงเข้าไปอยู่ใน “ห่วงโซ่อุปทาน” สร้างสรรค์ มีการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ของตนเองเพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า เราจะสร้าง จะผลิตอะไร ให้สำรวจความต้องการของตลาด ของผู้บริโภคไว้ล่วงหน้า ทั้งปริมาณและรูปแบบ เราต้องไม่หยุดติดตามความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จนสามารถนำมาปรับใช้ได้กับการทำงานและชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยง ลดต้นทุน สิ่งเหล่านี้หากไม่ทำ ก็จะตามคนอื่นไม่ทันด้วย ติดกับดักการไม่พัฒนา รายได้อาจลดลง ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ก็ขอให้เริ่มต้นด้วยการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนในกลไกประชารัฐนั้น เรามีทั้งภาคเอกชน ที่ก็ต้องเตรียม พร้อมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม ในภาครัฐก็จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างกฎเกณฑ์ กลไก เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน สามารถได้รับโอกาสที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่และเท่าเทียมจะช่วยลดภาระของภาครัฐได้ในอนาคต และช่วยให้การขับเคลื่อนประเทศชาติก้าวไปได้อย่าง “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เราจะต้องดำเนินการในหลายประการด้วยกัน
ประการแรก คือการดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตประเทศมีรายได้ และมีการกระจายรายได้ลงไปยังประชาชนทุกกลุ่มให้เท่าเทียมกันที่สุด ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต้องมาจากการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ยึดถือความต้องการของประชาชน และศักยภาพของพื้นที่เป็นตัวตั้ง มากกว่าที่จะมีการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่เป็นการยัดเยียด ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่เป็นที่ต้องการ ในการสร้าง “ดีมานด์เทียม” ในลักษณะที่มอมเมา ไม่พอเพียง
ประการต่อมาคือ “การบริหารจัดการภาครัฐ” จะต้องเข้าถึงง่าย สะดวก ทันสมัย มีประสิทธิภาพ มีระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และลดการทุจริตให้ได้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทำให้พื้นฐานของประเทศมั่นคง นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญอย่างมาก คือ“การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ต้องมีการวางแผนให้เกิดความต่อเนื่อง เป็น “การศึกษาตลอดชีวิต” ตั้งแต่ในครรภ์ ก่อนวัยเรียน ประถม มัธยม อาชีวะ อุดมศึกษา โดยให้ทุกวัย ทุกกลุ่ม มีอาชีพ มีรายได้ ไม่เป็นภาระครอบครัว หรือสังคม ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากจะมุ่งเน้นการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับแต่ละคนแล้ว ยังควรจะสนับสนุนให้สถานศึกษาและครอบครัว มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึก มีอุดมการณ์ ส่งเสริมเอกลักษณ์ความเป็นคนไทย ให้เด็กมีใจโอบอ้อมอารี มีจิตสาธารณะ จิตอาสา และจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติด้วยและเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะต้องเป็น “พลเมืองดี” ของบ้านเมือง รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งย่อมมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติมากขึ้น เป็นเงาตามตัวด้วยนะครับ ทั้งนี้ ภาครัฐเอง ต้องมีกลไกสนับสนุนและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ในหลัก การบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐ ทำในสิ่งที่ดีงาม รับฟังปัญหา อุปสรรคของแต่ละฝ่าย โดยมีหลักคิด มีแนวคิดที่ดี เพื่อจะเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาประเทศที่จะต้องสมดุลกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอีกด้วย
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่า ทั้งนโยบาย “ไทยนิยม” และกลไก “ประชารัฐ” ของรัฐบาลนี้ ต่างส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ตั้งแต่ระดับฐานรากของเศรษฐกิจและสังคมไทย สนับสนุนให้ “ระเบิดจากข้างใน” ตามศาสตร์พระราชา ทั้งนี้ เพื่อจะตอบสนองความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น ประชาชน อย่างแท้จริง เราจะต้องไม่มีการยัดเยียดโครงการ แผนงานที่ไม่ได้เกิดจากความต้องการของพื้นที่ ไม่มีการแอบแฝง หรือผลักดันโดยกลุ่มทุน กลุ่มการเมือง ที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ “เด็ดขาด” เพราะไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างแต่ความขัดแย้ง รัฐบาลไม่ต้องการให้ทำเช่นนั้น สำหรับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเพื่อพี่น้องประชาชน โดยมีข้าราชการและการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น “รัฐกับประชาชน” นั้นย่อมมีความ สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากประชาชนคือผู้ที่รัฐต้องดูแล ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง มีการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสม เพียงพอ มีการลงทุนเพื่อทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีที่เพียงพอ สำหรับการพัฒนาประเทศ และนำไปดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสม จากขีดความสามารถจากฐานข้อมูลที่ทันสมัย ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้คะแนนนิยมให้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นภาระด้านค่าใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่สิ้นสุด
ในเรื่องของการเมืองนั้น ขอให้ช่วยกันติดตามพิจารณาด้วยหลักคิดที่ถูกต้อง คือการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง คัดเลือก คนดี คนเก่ง มีคุณธรรม เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องเป็นรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ระยะยาว ในการบริหารประเทศ มากกว่า ผู้ที่เข้ามาแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ที่จะแก้ปัญหาระยะสั้น ๆ สร้างความพึงพอใจเพียงชั่วครู่ชั่วยามแต่เพียงประการเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นรูปธรรม ครบวงจร อาจจะช้า แต่จะมั่นคง และยั่งยืน
เรื่องประเด็นการระดมทุนด้วยเงินดิจิทัล หรือ ICO เป็นเรื่องใหม่ ขอให้ผู้ที่สนใจจะไปลงทุนต้องระมัดระวังให้มาก ต้องศึกษาให้ดีถึงความเสี่ยงที่ตามมาด้วย เพราะรัฐบาลกำลังดำเนินการในด้านกฎหมายเพราะเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา เพื่อที่จะสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้ ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เป็นช่องว่างในการก่ออาชญากรรมและการทุจริตต่าง ๆ ผมขอให้ติดตามในเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน อย่าเพิ่งผลีผลาม เห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับ โดยยังไม่ได้ศึกษาให้ดี เรายังไม่มีกฎหมายออกมากำกับดูแลอย่างชัดเจน เพราะกำลังทำอยู่ ผมไม่อยากให้เกิดความเสียหาย ตั้งแต่บัดนี้กับนักลงทุนและประชาชน ไม่อยากให้เป็นหนี้เป็นสิน หรือต้องสูญเสียทรัพย์สินไป โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน
พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่าน ครับ
เป้าหมายของ “การพัฒนาคนไทย” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น คือการทำให้ประชาชน ทุกคน ทุกกลุ่ม เป็นคนที่สมบูรณ์ มีสมรรถนะทางกาย มีจิตใจและจิตสำนึกที่ดีงาม และมีสติปัญญามีการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ปัญหาสำคัญของคนไทยทุกวันนี้มีหลายประการ อาทิ บางส่วนยังไม้เข้มแข็ง ยังคงขาดความคิดสร้างสรรค์ บางส่วนยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ ดูแลครอบครัว บุตรหลานไม่ได้ ดูแลสุขภาพตนเองก็ไม่ถูกต้อง บางส่วนยังมีปัญหาด้านคุณธรรม ขาดดุลยพินิจ ไม่สามารถยึดหลักของเหตุและผล เหนืออารมณ์ความรักชอบ-เกลียดชัง หรือแบ่งแยก ซึ่งเรื่องเหล่านี้นั้นนับเป็นความเปราะบาง อ่อนไหวนะครับ ทั้งนี้อาจจะมาจากการบกพร่องเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา ดังนั้นการเตรียมคนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะ “คนสร้างชาติ รัฐบาลสร้างอนาคต” หัวใจของการเตรียมคน คือการสร้างหลักคิดและกระบวนทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับคนไทย ในสังคมวันนี้ และโลกในวันข้างหน้า
คณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จัดงาน “สร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดที่เหมาะสมสำหรับคนไทย” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจะรวมพลังขององค์กรและเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้เห็นถึงความสำคัญและมุ่งมั่น ที่จะร่วมกันรณรงค์ ส่งเสริมขับเคลื่อนการสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดที่เหมาะสมสำหรับคนไทยใน 5 เรื่อง คือ ความพอเพียง ความมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบ ให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทุกช่วงวัย ให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในจิตสำนึก เป็นพฤติกรรมของคนไทย เป็น “ไทยนิยม” ที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
งานดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นเวทีแรก ของการตกลงพันธะสัญญาเพื่อจะสร้างความร่วมมือและความมุ่งมั่นในการดำเนินงานสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดที่เหมาะสมสำหรับคนไทยร่วมกัน ซึ่งก็มีภาคีเครือข่ายมาร่วมงาน เกือบ 300 เครือข่าย จำนวนกว่า 500 คน และจะร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายสร้างกระบวนทัศน์และหลักคิดคนไทย โดยวางแผนที่จะจัดงานเช่นนี้ขึ้นอีก 2 – 3 เวที เพื่อเชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงต่อไป ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นความสำคัญและทรงย้ำเตือนอยู่เสมอ ในเรื่องการทำเพื่อชาติบ้านเมือง โดยมีทัศนคติที่ถูกต้อง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง และการเป็นพลเมืองที่ดีของชาติบ้านเมืองต่อไป
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
ผมและคณะรัฐมนตรีได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปยังจังหวัดสมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในหลายเรื่อง เช่น เรื่องแรงงานต่างด้าว เพื่อดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่เรียกว่าเหยื่อ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานและสิทธิ–สวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน ผมได้เข้าเยี่ยมชมมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ที่จะช่วยสนับสนุนแรงงานย้ายถิ่นและครอบครัวให้ ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย รวมถึงการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือแรงงานในด้านต่าง ๆ ผมก็ได้ชี้แจงต่อทั้งเจ้าหน้าที่และแรงงานเมียนมา ตลอดการพบปะกันว่า รัฐบาล มีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และปัญหาแรงงานข้ามชาติให้เกิดการแก้ไขเป็นรูปธรรม และให้ความสำคัญต่อการทำงานของคณะทำงานต่าง ๆ ก็ขอให้มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงาน เชื่อมโยงกับทางรัฐบาล ในการดูแลแรงงานและช่วยกันสร้างความเข้าใจอันดีกับต่างชาตินะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นการแก้ปัญหาเหล่านี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย นอกจากนั้น ผมยังได้เดินทางไปยังองค์การสะพานปลา จ.สมุทรสาคร เพื่อติดตามการแก้ปัญหาแรงงานและปัญหาด้านประมง เป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีแรงงานจำนวนมาก หลายล้านคน ผมก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในการลงพื้นที่วันนั้น ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ปัญหาแรงงานภาคประมง และเรื่องของ IUU อย่างจริงจัง เราได้ดำเนินการมานานกว่า 4 ปีแล้ว เราก็ต้องการเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องของการขึ้นทะเบียนและพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานข้ามชาติ การติดตั้งระบบ VMS ในเรือประมง รวมถึงการทำความเข้าใจกับต่างชาติ ซึ่งเราต้องการที่จะคุ้มครองแรงงานตามหลักมนุษยธรรมอย่างเป็นระบบ และต้องทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้างอีกด้วย
สำหรับการหารือร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ และแนวทางแก้ไข ผมก็ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ ดังนี้
การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผมเห็นว่าการทำนาเกลือในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยผลผลิตมีราคาตกต่ำ ยังไม่มีการสร้างนวัตกรรม เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มหรือสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้มากนัก ในเรื่องการประกอบอาชีพผลิตเกลือทะเลนี้ รัฐบาลกำลังหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อจะช่วยเหลือ เพิ่มมูลค่า วิจัยพัฒนา สร้างนวัตกรรมจากเกลือ ทั้งนี้ การทำนาเกลือ ไม่ควรจะต้องไปบุกรุกป่าชายเลน ป่าน้ำเค็ม แล้วก็ให้น้ำเค็มนั้นเข้าลึกเข้ามาในพื้นที่ตอนในอีกด้วย ดินจะเค็มไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามต้องดูทั้งดีมานด์และซัพพลาย ความต้องการผู้บริโภคด้วย
นอกจากนี้ ในการหารือกับภาคเอกชน ได้เห็นชอบหลักการในโครงการเพาะพันธุ์ปูทะเล แล้วสร้างโรงเพาะ เลี้ยงปูทะเล บ่อเลี้ยงแพลงตอน เพื่อจะขยายผลของธนาคารปูม้าที่ดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ ผมเห็นว่า โครงการธนาคารปูม้า ณ ชุมชนแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรีนั้น สามารถจะช่วยคืนปูม้าสู่ทะเลไทยได้ เป็นผลความสำเร็จ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีการประยุกต์องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบการวิจัยและหลักวิชาการ เพื่อจะทำให้สามารถแก้ปัญหาปริมาณ จำนวนปูม้าที่ลดลงในท้องทะเล เนื่องจากจับปูม้าที่มีไข่ โครงการนี้ได้นำเอาปูม้าไข่ที่จับได้ มาฟักในระยะสั้นแล้วปล่อยลูกปูม้าลงสู่ทะเล เป็นการเพิ่มปริมาณปูม้า ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้นและเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล แต่เดิมนั้นเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของกลุ่มชาวประมงใช้วิธีการง่าย ๆ โดยนำแม่ปูม้าไข่ที่จับจากทะเลมาเขี่ยไข่แล้วปล่อยคืนสู่ทะเล เป็นการเพิ่มจำนวนปูม้าในทะเลด้วยวิธีธรรมชาติ ในขณะที่การวิจัยได้มาทำให้อัตราการรอดสูงมากขึ้นนะครับ เดิมได้เพียงแค่ หนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ได้มีการพัฒนาต่อยอดโดยพัฒนาวิธีเพิ่มอัตราการรอดของการฟักตัวไข่ปูม้าก่อนปล่อยลงสู่ทะเล
ปัจจุบัน ธนาคารปูม้าได้มีการดำเนินการแล้วที่จังหวัดสงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานีประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ผมได้สั่งการและมอบนโยบาย ให้ขยายผลธนาคารปูม้าไปสู่ชุมชนรอบอ่าวไทยและฝั่งอันดามันทั่วประเทศ โดยเน้นเรื่องความร่วมมือของชุมชน และใช้การวิจัยให้ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วช. เป็นหน่วยงานบูรณาการหลักและหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการ ดังนี้
ประเทศ ซึ่งเมื่อทำเสร็จแล้ว เราจะมีจำนวนลูกปูม้าในธรรมชาติเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้ทรัพยากรบริเวณชายฝั่งทะเลมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าชุมชนปล่อยไข่ปูม้าจากแม่ปูม้าได้เดือนละ 100 ตัว จะมีลูกปูม้าเพิ่มขึ้น 0.1 – 1 ล้านตัว ทุกชุมชน ทุกเดือน ก็จะทำให้มีรายได้จากการขายปูม้า 2.5 ล้านบาท ต่อชุมชน ต่อเดือน และถ้าส่งเสริม 1,000 ชุมชน จะมีมูลค่าถึง 2,500 ล้านบาท ต่อเดือน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของท้องถิ่น เมื่อผนวกเข้ากับกลไก “ประชารัฐ” ในระดับชาติ ผลสำเร็จย่อมขยายวงกว้าง หากแต่ว่าภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้ถูกทิศทาง ต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการกันของหน่วยงานระดับชาติอีกด้วย
เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องของการบริหารโครงการ งบประมาณใด ๆ ก็ตาม ต้องบูรณาการกันให้ได้ ตัวอย่างที่ยกมาให้ทราบวันนี้ก็คือเรื่องธนาคารปูม้าอย่างเดียวเอง ตั้ง 6 -7กระทรวง หลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อสำคัญคือประชาชนนั้น เป็นผู้ที่ต้องขยัน ต้องมีความรอบรู้ที่เพียงพอ เอาเทคโนโลยีสมัยใหม่รวมไปกับ ในส่วนที่เป็นประสบการณ์ เป็นแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ของคนรุ่นเก่า มาประสานกันต่อให้ได้ ถึงจะเกิดมูลค่าขึ้นมา ไม่ใช่สนับสนุนโครงการลงไป แล้วก็แจกจ่ายเงินอย่างเดียว แล้วก็โครงสร้างไม่เกิด อย่างนี้ไม่ได้ ขอให้ติดตามการบริหารจัดการต่อไปด้วย
อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสุดท้าย ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี CNN ได้จัดอันดับ 50 สุดยอดอาหารเด็ดจาก “ทั่วโลก” ปรากฏว่า แกงมัสมั่นคว้าอันดับที่ 1 ลักษณะเด่นคือ การเคี่ยวเนื้อวัวกับน้ำพริกแกงมัสมั่นและกะทิ เพิ่มกลิ่นหอมจากเม็ดและใบกระวาน ต้มยำกุ้ง เป็นอันดับที่ 8 โดยเฉพาะสูตรน้ำข้น หอมกะทิและเครื่องสมุนไพร และส้มตำอันดับที่ 46 มีความหลากหลาย ทั้งส้มตำปู ใส่หรือไม่ใส่ปลาร้า แล้วสามารถปรุงรสจัดจ้าน ได้ตามชอบใจ เพื่อจะรับประทานกับข้าวเหนียว ไก่ย่าง และผักสด ก็อิ่มท้องดี
สำหรับอาหารไทยแล้ว ผมว่าเป็นมากกว่า “ของกิน” ของรับประทาน เราต้องมองว่าเพื่อสุขภาพ เพื่อประทังความหิว หรือเพื่อมีชีวิตรอด แต่มีจิตวิญญาณ ความเชื่อ และอุดมคติ วัฒนธรรม ของการทำอาหารแฝงอยู่ การเลือกใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงรส ที่แสดงออกถึงความเป็นไทยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เครื่องเทศ พืชพันธุ์ธัญญาหาร การเกษตรกรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาหารและผลไม้ตามฤดูกาล ตามธรรมชาติ เพื่อมวลมนุษยชาติ การทำเกษตรแบบอินทรีย์แบบยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ทำมือ จากทุกสารทิศทั่วไทย น้ำตาลมะพร้าว กะปิ น้ำปลา ไม่ได้มีไว้เพียงแค่ให้รสชาติหวานเค็ม แต่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินของคนไทยอย่างลุ่มลึก ประณีต เป็นทั้งหัวใจและพื้นฐานสำคัญในการปรุงอาหาร การคัดสรรวัตถุดิบจากถิ่นฐาน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางของประสบการณ์การในการปรุงอาหาร เพื่อจะผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาที่สั่งสมมาช้านาน
ผมขอส่งต่อความภาคภูมิใจ วัฒนธรรมการกินและการทำอาหาร ที่มีประวัติศาสตร์ และเรื่องราว อันเป็นอีกหนึ่ง “ไทยนิยม” จากรุ่นสู่รุ่น จากท้องถิ่นสู่สากล และขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้รวบรวมข้อมูล จัดพิมพ์หนังสือ “อาหารอร่อย ร้าน 100 ปี” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางอาหาร “ไทยเที่ยวไทย” หรือช่วยแขกต่างชาติของเราไปลิ้มลองได้ รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของสตรีไทย สำหรับการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อความเสมอภาค และอย่างเท่าเทียม เนื่องในโอกาส "วันสตรีสากล" เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา
ขอขอบคุณนะครับ ขอให้ “ทุกคน ครอบครัว” มีความสุข ในวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคมนี้ เป็นวันสุดท้าย ของงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ร่วมในงาน ร่วมภาคภูมิใจในความเป็นไทย โดยพาลูกหลาน ร่วมแต่งกายย้อนยุค หรือชุดสุภาพ มาศึกษาประวัติศาสตร์ และเก็บภาพบักทึกความทรงจำดี ๆ ภายในงานด้วยนะครับ
ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard