รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561

Last updated: 18 พ.ค. 2561  |  1687 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------


สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

เรามาพบกันอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ก็คงจะพูดในเรื่องสำคัญเฉพาะเรื่องไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งประชาชนและประเทศชาติ ที่เราต้องร่วมกันดูแลรักษาต่อไป ถ้าเราลองมองรอบตัวเอง ออกไปนอกบ้าน ไปนอกเขตเมือง ของเราในวันนี้ จะเห็นว่าบ้านเมืองเรามีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างด้วยกัน  ต้องไปหากันให้เจอว่าอะไรบ้าง  หลายสิบปีที่ผ่านมา เรามีการเร่งพัฒนาประเทศ มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไม่ระมัดระวัง  ไม่ยั้งคิดว่าวันข้างหน้า เราจะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลานเราใช้ต่อไป การพัฒนาในช่วงที่ผ่านมานั้น ความ“สมดุล” กับธรรมชาติ และ “เป็นมิตร” กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรานั้นเพียงพอหรือไม่ ก็จริงอยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะทำให้รายได้ต่อหัวของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 เท่า ในขณะที่จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้นเป็น 67 ล้านคน ผลที่ตามมาในขณะนี้คือ ถ้าเราหันหลังกลับไปดู เราจะเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ผมยกตัวอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของป่าไม้ที่ส่งผลกระทบย้อนกลับมาหาตัวเราเอง

ที่ผ่านมาป่าไม้ถูกบุกรุกทำลายเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนหนึ่งเกิดจากพี่น้องประชาชนผู้ยากไร้และเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง อีกส่วนหนึ่งซึ่งหนักหนากว่านั้นคือ เกิดจากการชี้นำ การว่าจ้างของนายทุน  อีกทั้งการบุกรุกเพื่อกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การขยายเมือง ขยายชุมชน เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่มากขึ้น ซึ่งก็มีความจำเป็นด้วยนะครับ  หรือการแผ้วถางป่าทำรีสอร์ท– ที่พักเพื่อการท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น ประเด็นสำคัญคือหากทำมาแล้วมีการพิจารณาให้ถูกต้องเหมาะสมก็คงไม่เป็นไร เพียงแต่ว่ามีการทุจริต มีการปล่อยปละละเลย จนทำให้การละเมิดพื้นที่เหล่านั้น เกิดความเคยชิน พอมีการจัดระเบียบต่าง ๆ มาก็เกิดปัญหา ทำให้พื้นที่ป่าของเราที่เคยอุดมสมบูรณ์ ถือว่าเป็น “ปอดของโลก” เมื่อ 50 ปีก่อน มีพื้นที่ประมาณ 171 ล้านไร่  แต่ขณะนี้ลดลงเหลือ 102 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศ ก่อนที่รัฐบาลนี้และ คสช. จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน  อาจกล่าวได้ว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการที่ไม่มียุทธศาสตร์ ขาดความต่อเนื่อง และเป้าหมายที่ชัดเจน สิ่งที่ตามมาก็คือ “ภัยแล้ง” เนื่องจากป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศถูกทำลาย “น้ำท่วม” เพราะไม่มีผืนป่าดูดซับน้ำ และไม่มีระบบบริหารจัดการลำน้ำ ลุ่มน้ำที่มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการในภาพรวมเท่าที่ควร แล้วฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศ ที่สืบเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของเราทุกคน รวมทั้งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทางเศรษฐกิจ เช่น พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ได้คุณภาพ บางอย่างไม่พอบริโภค บางอย่างล้นตลาด นำไปสู่ปัญหาสังคม โดยเฉพาะกับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ไม่มั่นคง ต้องพึ่งพาฟ้าฝน ขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดที่ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่แข็งแรง ไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ผมอยากชวนพี่น้องประชาชนให้ความสนใจ และอยากสะกิดให้เยาวชน ลูกหลานได้หันมามีส่วนร่วม ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในอนาคตด้วยนะครับ โดยเริ่มตั้งแต่ปัจจุบัน 
 
พี่น้องชาวไทยที่รัก ครับ

ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิด “ปลูกป่าในใจคน” ซึ่งเปรียบการ “ปลูกจิตสำนึก” เป็นเสมือนการปลูก “ต้นกล้า”  ให้เจริญเติบโตเป็น “ต้นไม้ใหญ่” ในวันข้างหน้า หากชาวบ้านในพื้นที่เห็นด้วยร่วมมือ ร่วมใจแล้วการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ หรือกิจกรรมอื่นใดในพื้นที่ ก็ย่อมจะประสบความสำเร็จได้โดยบริบูรณ์ ดังนั้น จิตสำนึกของประชาชนจึงมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ  อีกทั้งทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งด้านเกษตรกรรม วนศาสตร์เศรษฐกิจและสังคม โดยทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน อาทิ การปลูก “ป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง” คือ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งการปลูกป่านั้น นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว ยังจะรักษาพื้นที่ต้นน้ำ โดยช่วยซับน้ำฝน ชะลอการไหลน้ำป่าตามร่องเขาและพัฒนาเป็นชลประทานได้อีกด้วย 

ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช. ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาดังกล่าวนั้น มาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะและมาตรการต่าง ๆ  ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องป่าไม้เท่านั้น แต่ก็เพื่อให้ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ อาทิ การบริหารจัดการป่าไม้แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนและประชาชนในพื้นที่เพื่อการสร้างสุขของคนไทย เป็นต้น

สำหรับมาตรการปกป้อง รักษา และฟื้นฟูผืนป่านั้น คสช. ได้ออกคำสั่งให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยการผนึกกำลังจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ (คปป.) ที่มุ่งเน้นการปฏิบัติการระดับพื้นที่ การมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกป่า ทุกกิจกรรม เราต้องคำนึงถึงผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ให้สามารถอาศัยอยู่ ณ ที่เดิมของตนเองได้  ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมากำกับดูแลในแต่ละกิจกรรมเป็นการเฉพาะ อย่างใกล้ชิดอาทิคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าระดับชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าที่ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อการทวงคืน กล่าวโทษและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดด้านทรัพยากรธรรมชาติ

โดยมีหน่วยงานเฉพาะกิจของกรมต่าง ๆ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยปฏิบัติ ทำงานในลักษณะ “ปิดทองหลังพระ” เป็นหูเป็นตา เป็นมือเป็นไม้ แทนพวกเราเกือบ 70 ล้านคน ได้แก่ หน่วยงานเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ “พยัคฆ์ไพร” กรมป่าไม้ หน่วยงานเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า “พญาเสือ” และชุดปฏิบัติการพิเศษ“เหยี่ยวดง” กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกทั้ง ชุดปฏิบัติการพิเศษ “ฉลามขาว” ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ผมขอกล่าวถึง เพื่อเป็นการให้เกียรติ และเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนด้วย สำหรับกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และประชาสังคม ให้มีทัศนคติที่ดี และร่วมมือ เฝ้าระวัง กับภาครัฐนะครับ ในการป้องกัน และรักษาผืนป่า โดยมีคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าแบบมีส่วนร่วม คณะอนุกรรมการศึกษา วิเคราะห์ รูปแบบกลไกทางการเงินสนับสนุนการปลูกป่า หรือ “พันธมิตรป่าไม้”  และคณะทำงานส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูป่าไม้เมืองน่าน แบบบูรณาการ กำกับดูแลให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างยั่งยืนนะครับ ก็จะเป็นโมเดลให้กับจังหวัดอื่นต่อไปด้วย
 
พี่น้องชาวไทยที่เคารพครับ

“4 ปีที่ผ่านมา” นั้น ผลการดำเนินงานของรัฐบาล และ คสช. เกี่ยวกับคดีเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่า การลักลอบตัดไม้และค้าไม้ การล่าสัตว์ป่าและการค้าสัตว์ป่า สามารถกล่าวโดยสรุปได้ ดังนี้ (1) คดีการบุกรุกพื้นที่ป่า มากกว่า 26,000 คดี จับผู้ต้องหาได้ 5,000 กว่าคน พื้นที่บุกรุก เกือบ670,000 ไร่ (2) คดีการตัดไม้ และการค้าไม้มีค่า เกือบ 30,000 คดี จับผู้ต้องหาได้ เกือบ 15,000 คน ไม้ของกลาง ราว 60,000 ลูกบาศก์เมตร  และ (3) คดีสัตว์ป่า ราว 25,000 คดี สัตว์ป่าของกลาง 42,000 กว่าตัว ซากสัตว์ป่าของกลาง เกือบ 19 ตัน เป็นต้น เราทำมากมาย ตอนนี้ก็อยู่ที่คนถ้าทุกคนลดการกระทำผิดกฎหมาย ทุกอย่างก็แบ่งเบาลงไป ป่าก็มี สัตว์ ก็อยู่ดี ไม่มีการรบกวนซึ่งกันและกัน เจ้าหน้าที่ ก็มีเวลาไปทำอย่างอื่น

สำหรับการฟื้นฟูและปลูกป่าก็ต้องทำ “คู่ขนาน” กันไปเสมอ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำ ได้มีการจัดตั้ง 273 ศูนย์ปฏิบัติการและ 943 ฐานปฏิบัติการฟื้นฟูต้นน้ำ ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการบุกรุกซ้ำ หรือขยายพื้นที่การบุกรุก และปลูกฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในพื้นที่สูงชัน ที่เราเห็นเป็น “เขาหัวโล้น” ในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ทั่วไป  ปัจจุบันได้มีการฟื้นฟูและปลูกป่าได้แล้วกว่า 700,000 ไร่  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเห็นว่าจะเป็นการแก้ปัญหาทั้งปวงที่ได้กล่าวมาในคืนนี้ อย่างยั่งยืนคือ การบริหารจัดการป่า เพื่อความสุขของคนไทย อันได้แก่การ แก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐกระจายสิทธิการถือครองให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รุกล้ำ และสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ หรือทราบแล้ว  แต่ยังไม่ทราบข้อมูลทั้งหมด ผมจะขอกล่าวคร่าวถึงกระบวนการและผลการปฏิบัติดังนี้

1. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ด้วยการนำที่ดินของรัฐ 6 ประเภท ได้แก่ ป่าสงวน สปก. ที่ดินสาธารณประโยชน์ ป่าชายเลน ที่ราชพัสดุ และที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเอง มาอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แก่กลุ่มชุมชน สหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสมในลักษณะ “แปลงรวม” ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ของรัฐบาลนี้ เพื่อให้ผู้ยากไร้ที่ได้รับการจัดที่ดิน พร้อมกับการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคด้วย อันจะนำไปสู่การสร้างความสมดุลให้ “คนอยู่กับป่า” โดยพึ่งพาอาศัยกันและกัน  ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และพัฒนาศักยภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมและ ความมั่นคงของประเทศ โดยมีเป้าหมายในระยะ 20 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2579) จำนวน 5.6 ล้านไร่  สำหรับปีผ่านมา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน มีผลการดำเนินการดังนี้ มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินทั้งสิ้น 1 ล้านกว่าไร่ ใน 629 พื้นที่ 68 จังหวัด มีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัย กว่า 320,000 ไร่ ใน 87 พื้นที่ 45 จังหวัด มีราษฎรได้เข้าอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้ว 30,000 กว่าราย 81 พื้นที่ 41 จังหวัด อีกทั้งมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้ราษฎรที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินแล้ว รวม 99 พื้นที่ 48 จังหวัด เป็นต้น อันนี้คงต้องทำกันต่อไป เพราะว่าจะมีคนเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ต้องเข้าใจว่า พื้นที่ที่เราจัดสรรได้นั้น ก็เป็นพื้นที่ 6 ประเภทที่ได้กล่าวไปแล้ว ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าอุทยานนะครับ ป่าต้นน้ำ เหล่านี้ รวมความไปถึงที่เอกชนเราเอามาจัดไม่ได้

2. ป่าชุมชน ตามนโยบายที่ว่า “รัฐได้ป่า ประชาชนได้ที่ทำกิน”  ทั้งนี้ เพื่อจะแก้ปัญหาการเข้าไปแผ้วถางเอาจากพื้นที่ป่า อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่ทำกิน และการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นให้ราษฎรอยู่อาศัยในพื้นที่ได้อย่างปกติสุขและยั่งยืน มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า” ช่วยกันปกป้อง รักษา ฟื้นฟูสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์มีความหลาก หลายทางชีวภาพหรือระบบนิเวศน์ที่ดี รวมทั้งส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับราษฎร และมีการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน   ปัจจุบันนั้น ก็มีการจัดตั้ง“ป่าชุมชน” แล้วจำนวนทั้งสิ้น 10,000 กว่าหมู่บ้าน ทั่วประเทศ รวมเนื้อที่เกือบ 6 ล้านไร่  คิดเป็นประมาณ “1 ใน 3” ของพื้นที่เป้าหมาย 19 ล้านไร่ในกว่า 22,000 หมู่บ้าน

ตัวอย่างเรื่องนี้ ป่าชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่  ที่ได้รับรางวัลป่าชุมชนชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี 2560  อยู่ติดกับป่าชายเลน ชาวบ้านเดิม มีอาชีพตัดไม้ไปเผาถ่านทำการประมงพื้นบ้านและหาขอป่าเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัว ปัจจุบันชุมชนไม่มีการตัดไม้และไม่เผาถ่าน แต่ปรับพฤติกรรมมาสู่การฟื้นฟูสภาพป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ โดยเห็นคุณค่าของทะเลว่าเป็น “สมบัติอันล้ำค่า” เป็นแหล่งที่อยู่ของกุ้ง หอย ปู และป่า ซึ่งชุมชนในปัจจุบันได้เรียนรู้และได้รับการปลุกและปลูกฝัง “จิตสำนึก” ให้มีการจัดการชุมชนเพื่อปกป้อง ดูแลรักษาให้ชุมชนมีการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมีความสุข มีการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและลมฟ้าอากาศของท้องถิ่นตน ทั้งนี้ เป้าหมายของชุมชน ได้แก่การดูแลรักษาป่า-รักษาทะเล  การสร้างราย ได้เสริมให้แก่กลุ่มสมาชิกของชุมชนและการรักษาผลประโยชน์ของชุมชนปกป้องชุมชนให้รอดพ้นจากภัยคุกคามจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

3. ป่าในเมือง หรือ “สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า และพื้นที่สีเขียวให้ประชาชน เข้าไปใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมตามความเหมาะสมของพื้นที่ ทั้งการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งศึกษาธรรมชาติ เป็นป่าธรรมชาติที่อยู่ใกล้เมืองหรือกลางเมืองที่เปิดรับพี่น้องประชาชนทุกคน  โดยปี 2561 จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ รวม 99 ป่า ประมาณ 300,000 ไร่  
 
พี่น้องชาวไทยที่รัก ทุกท่านครับ

สำหรับในวันข้างหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และร่วมกันป้องกันรักษาป่าโดยสามารถเก็บของป่าเพื่อการบริโภคและการค้า รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและป่าได้ ดังนั้นรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี “ในเร็ววันนี้” นอกจากนี้ การดำเนินงานในระยะต่อไปของรัฐบาลและ คสช. ได้แก่ 1. การเร่งดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลให้บรรลุตามเป้าหมายโดยเร็ว
2. ผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน อย่างมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ  มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยการบูรณาการ มีการกระจายอำนาจ และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และภูมิสังคม  ทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินที่เดิมมีข้อจำกัดอยู่มากให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน พร้อมทั้งจะเป็นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ลดความเหลื่อมล้าในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย และ 3. จัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ “ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 20 ปี” ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในมิติต่าง ๆ และสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทุกคนต้องทราบว่าวันนี้ที่ดินเราลดลง ป่าเราน้อยลง เพราะฉะนั้นที่มีอยู่ในปัจจุบันก็นำมาใช้ประโยชน์จนเหลือน้อยแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาพิจารณาหาทางอื่นด้วย ในการประกอบอาชีพ ถ้าทุกคนต้องการที่จะมีที่มากเพียงพอในการทำการเกษตร แล้วปัญหาวันหน้ามันก็จะเกิดขึ้น บางพื้นที่มันไม่เหมาะสม ขาดน้ำ ดินไม่ดี อะไรไม่ดี ได้ที่ไปก็ทำอะไรไม่ได้ วันนี้รัฐบาลเข้ามาเปลี่ยนแปลงใหม่ คือการจัดสรรที่ดิน และดูแลในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานลงไปด้วย ซึ่งจะใช้งบประมาณเพิ่มอีกจำนวนมาก อันนี้คือการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  
 
สุดท้ายนี้ เป็นประเด็นสำคัญ เรื่องแรกคือการเคลื่อนไหวของ P-Move ก็คงเป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้ปัญหาให้ต่อไป นำเข้าพิจารณาในคณะทำงานของ คทช. การจัดสรรที่ดิน ได้สั่งการไปหมดแล้ว เพียงแต่หลายคนใจร้อน เร่งรัด  อย่างนี้ต้องเข้ากติกาของเรา ไม่อย่างนั้นก็ไม่พอหรอก ทุกคนต้องการโน่นต้องการนี่กันหมด โดยไม่มีการจัดระเบียบให้ ก็กลับไปที่เดิมหมด นั่นแหละ เหมือนเดิม  ก็ต้องเข้าใจกันบ้าง เพราะฉะนั้นบรรดาแกนนำต่าง ๆ ก็ต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหวด้วย ไม่อยากให้มีปัญหาต่อไปในอนาคต รัฐบาลไม่มุ่งหวังที่จะไปปิดกั้นท่านเลย  เพียงแต่ว่ารับเข้ามาในการพิจารณาของ คทช.ในการจัดที่ดินด้วย ไม่ใช่จะไปชี้ตรงโน้น ตรงนี้ เอาที่ดินตรงนี้มาเป็นของตัวเอง อันนี้เป็นการทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กรณีที่สอง คือ “การสร้างบ้านพักตุลาการ” บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานะครับ ผมไม่สบายใจ ทุกคนไม่สบายใจ ครม. ไม่สบายใจ เป็นกังวลใจมาโดยตลอด เพราะมีผลกระทบกับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ผมได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร จากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ และสื่อทุกแขนง ในทุกแง่มุม ทั้งนี้ ไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากใคร และเมื่อใดก็ตาม ผมอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้มั่นใจว่ารัฐบาลและ คสช. จะพยายามทำอย่างเต็มที่ ด้วยความรอบคอบ ก็ขอให้ไว้ใจผม เหมือนที่เคยไว้ใจมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ว่าเราจะต้องหา “ทางออก” ที่ดีที่สุดให้กับประเทศ หลายอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว เราไปแก้ไขอะไรแบบที่ไม่ระมัดระวังไม่ได้  เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว  ปัจจุบัน ผมได้มอบหมายให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะทำงาน เข้าไปพูดคุยหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกัน  ทราบว่าการพูดคุยในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางที่ดี สิ่งแรกที่ผมอยากให้ทำก่อนเลยก็คือการปลูกป่าขึ้นมาก่อน เรื่องอื่นค่อยพูดกัน เจรจาหารือคณะทำงาน ฝ่ายกฎหมายมาดูกัน แต่ข้อสำคัญคืออย่าไปแสดงความรังเกียจ ชิงชัง ข้าราชการของศาล เพราะข้าราชการเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนไปสร้างเอง เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา คราวนี้ต้องมาดูว่าเราจะบริหารจัดการกันได้อย่างไร แต่แน่นอนไม่มีใครไปอยู่ แน่นอนผมก็ยังไม่อนุมัติให้ใครไปอยู่ทั้งสิ้น แล้วลองบริหารจัดการป่าดูว่า จะใช้เวลาในฤดูฝนหน้าจะปลูกป่าขึ้นมาได้หรือไม่ จะทำให้พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ป่าได้เหมือนเดิมหรือไม่ เรื่องอื่นก็ค่อยเจรจาว่ากันต่อไป อย่าเพิ่งมากดดันกันเห็นบอกจะมีการเคลื่อนไหวกันอีก ผมขอร้องไม่เช่นงั้นจะวุ่นวายไปทั้งประเทศ ก็มีคนมาฉวยประโยชน์เข้าไปอีก 

การเคลื่อนไหวต่าง ๆ นั้น ผมอยากให้พวกเรานั้นปรับเปลี่ยนทัศนคติ มาสู่การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ไม่ใช่ในเชิงกดดันกันไปกันมา แล้วก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องขอที่ดินเราก็ดำเนินการอยู่ ถ้าไปกดดันมาก ๆ ก็ทำไมได้อยู่ดี ทุกคนก็ต้องการมาก ต้องการมากที่สุด บางครั้งก็ต้องฟังเหตุผลกันบ้าง ที่ผ่านมานั้นเราคงคุ้นเคยการทำงานของบรรดาสมาชิกหรือ สส. ในสภาฯ  ที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ “ฝ่ายรัฐบาล กับ ฝ่ายค้าน” ซึ่งต่างก็ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน เรามักจะเรียกว่า “ฝ่ายค้าน” กับ “ฝ่ายรัฐบาล” ทำไมเราไม่ลองเรียกดู ว่าในทางปฏิบัติ ก็เรียกว่าฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายรัฐบาล” อีกฝ่ายหนึ่งคือ “ฝ่ายค้านและสนับสนุน” ฝ่ายค้านก็คือว่ามีการตรวจสอบ มีการทักท้วง แต่เรื่องใดก็ตามที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ เป็นนโยบายที่มีการปฏิรูป อันนี้ต้องสนับสนุนกัน ไม่อย่างนั้นก็ล้มกันไปหมด ก็เลยทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ประเทศชาติก็ไม่มีแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน อาจเปลี่ยนชื่อไม่ได้ แต่ผมอยากให้สร้างความรู้สึกใหม่ๆขึ้นมา เรียกว่าฝ่ายรัฐบาล อีกฝ่ายก็ ฝ่ายค้านและสนับสนุน เพื่อจะได้มีการตรวจสอบด้วย ไม่อยากให้ค้านกันไปกันมาทุกเรื่อง ค้านก็เพื่อเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลในสิ่งที่มันควรจะเป็น “ติเพื่อก่อ” มีข้อเสนอแนะ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เพื่อสนับสนุนให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ไม่ว่าจะจากพรรคใดก็ไม่สำคัญ แต่ต้องมี “ธรรมาภิบาล” มีโครงการ มีแผนงาน มีนโยบายที่ถูกต้อง เหมาะสม ถ้าหากเป็นเช่นนั้นได้ เราก็จะเป็นการสร้างวัฒนธรรม “การปรองดอง” ที่ไม่ใช่การเอาชนะ คัดค้านกัน เหมือน “การโต้วาที” ที่มุ่งเป้าหมายของตัวเองเป็นหลัก โจมตีกันไป กันมา แล้วก็ปิดทุกประตูทางออก ปฏิเสธทุกข้อเสนอ ทุกความเห็นต่าง เหมือนพยายามผลักปัญหาเข้าสู่ “ทางตัน” สุดท้ายแล้วประเทศชาติ และเราทุกคน ก็เป็นผู้เสียหาย

ดังนั้น คืนนี้ผมจึงขอฝากให้ช่วยกันพิจารณาการสร้างวัฒนธรรมการปรองดองนี้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานใหม่กับสังคมไทย ไม่ได้หมายความว่าปรองดองเพื่อหาประโยชน์ร่วมกันอีก จะต้องทำให้เกิดธรรมาภิบาลให้ได้ อยู่ที่พวกเราทุกคน ให้เราสามารถบริหารความขัดแย้งได้ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้ว  หาจุดลงตัวให้ได้ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง  ใช้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ร่วมกันในการพิจารณาหาทางออกซึ่งเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่พระราชทานไว้ ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ


       ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้