Last updated: 23 พ.ย. 2565 | 3298 จำนวนผู้เข้าชม |
สสส.-สคอ. ผนึกกำลังภาคี ปั้น “นักสื่อสารรณรงค์เพื่อความปลอดภัยทางถนน” เตรียมพร้อมรับมืออุบัติทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 แนะใช้เครื่องมือและข้อมูลในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ย้ำการสื่อสารที่เข้าใจง่าย-กระชับ-ตรงกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรม เดอะ พาราดิโซ เจเค ดีไซน์ จ.นครสวรรค์ ในการประชุมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ สู่การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน จัดโดย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภับจากรถ ร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถให้แก่ภาคีเครือข่ายด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เรื่องการจัดความเร็ว สวมหมวกนิรภัย และรถจักรยานยนต์ปลอดภัย
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ประธานเปิดการประชุม กล่าวว่า ตามที่ได้รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้นำกรอบการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปฏิญญาสตอกโฮล์ม และแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 พ.ศ.2565 - 2570 มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน มีเป้าหมายลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี 2570 กรอบการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 มุ่งเป้าลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสของผู้ใช้รถใช้ถนน ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานพาหนะ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและการเดินทางที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนารากฐานโครงสร้างการงานด้านความปลอดภัยทางถนน พันธกิจสำคัญได้แก่1. เน้นจัดการกับความเสี่ยง หรือภัยคุกคามสำคัญของประเทอย่างจริงจัง เร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมประเด็นผู้ใช้ใช้ถนน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 2. เน้นจัดการความเสี่ยงอย่างจริงจัง เร่งด่วน ซึ่งครอบคลุมประเด็น ยานพาหนะทุกประเภท โดยให้ความสำคัญกัยานพาหนะที่มีความเสี่ยงสูง 3.ปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ที่เอื้อต่อการสัญจรทุกรูปแบบอย่างยั่นยืน ทั้งการสัญจรที่ใช้ยานยนต์และการสัญจรที่ไม่ใช้ยานยนต์ 4. สร้างรากฐานการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน การปรับปรุงข้อกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณอย่างสร้างสรรค์ และการติดตามประเมินผลที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
น ายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)
นายจุมพฏ กล่าวต่อว่า การทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนไปด้วยกัน และใกล้จะถึงเทศกาลปีใหม่ 2566 ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจะเพิ่มสูง จังหวัดนครสวรรค์ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดทางผ่านของรถจำนวนมากที่ต้องเดินทางต่อไปยังภาคเหนือ มีเส้นทางหลายเส้นทาง ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังป้องกัน ต้องร่วมมือกันสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับขี่ให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นได้ในที่สุด ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์เองก็ได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว เช่น การสร้าง Platform คาดว่าจะได้ใช้ก่อนปีใหม่นี้ ดังนั้นเครือข่ายด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องรู้จักใช้เครื่องมือและข้อมูลพื้นที่และนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารไปยังประชาชนให้เกิดความตระหนัก รับรู้และเกรงกลัวต่อความเสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนน ว่าหากยังประมาท ขาดวินัย และไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร จะส่งผลกระทบให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอันมหาศาล
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงมากกว่าสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็น ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย และการทำผิดกฎจราจรต่างๆที่ทำให้เกิดความเสี่ยงอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาลสำคัญที่มักเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตสูง โดยสถิติอุบัติช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมา พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง บาดเจ็บ 2,672 คน ผู้เสียชีวิต 333 ราย สาเหตุได้แก่ ขับเร็ว ร้อยละ 35.12 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 29.51 ตัดหน้ากระชั้นชิด 17.84 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ทาง สคอ. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดประชุมพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายประชาสัมพันธ์ สู่การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและทักษะความรู้ให้แก่ภาคีเครือข่ายด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เน้นย้ำเรื่องการจัดความเร็ว สวมหมวกนิรภัย และรถจักรยานยนต์ปลอดภัย ให้แก่ผู้แทนอำเภอ 15 แห่งของจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 30 คน เพื่อเป็น “นักสื่อสารรณรงค์เพื่อความปลอดภัยทางถนน” ที่สามารถแปลงนโนบายสู่การปฏิบัติที่เข้าใจง่าย เผยแพร่ข้อมูลไปทุกช่องทางการสื่อสารในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในพื้นที่ได้เกิดความตระหนัก ลดความเสี่ยง ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้มากที่สุด