โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมีการทุจริตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และศาลได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  13804 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านมีการทุจริตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และศาลได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริง

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2559 เวลา 19.30-20.00 น. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ในรายการภารกิจพิชิตโกง ประเด็นคดีทุริตที่อยู่ในความทรงจำ "คดีทุจริตโครงการบำบัดน้ำเสีย คลองด่าน"
 
จุดเริ่มต้นโครงการ “คลองด่าน”
 
โครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หรือชื่อเต็มว่า “โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ จ.สมุทรปราการ” ซึ่งเริ่มต้นในปี 2538 มีอยู่ด้วยกัน 3 คน

     1.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (17 ธันวาคม 2537 – 17 กรกฎาคม 2538 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย)
     2.นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (18 กรกฎาคม 2538 – 15 มิถุนายน 2539 สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา)
     3.นายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม (ระหว่างเดือนเมษายน 2538 – เดือนกันยายน 2540)
 
โดยนายสุวัจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มผลักดันโครงการนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. โดยเสนอเรื่องผ่านทางเลขาธิการ ครม. ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2538 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อน ทำให้โครงการหยุดชะงัก ทว่าเมื่อนายยิ่งพันธ์เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็ยืนยันที่จะเดินหน้าเสนอเรื่องต่อ โดยโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 และที่ประชุมมีมติ “เห็นชอบ”

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ก็คือ “เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษของ จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะในด้านน้ำเสีย ตลอดจนฟื้นฟูคุณภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว หลังจากประกาศให้ จ.สมุทรปราการเป็นเขตควบคุมมลพิษ” โดยจะมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย รวม 525,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน มากที่สุดในทวีปเอเชียขณะนั้น
ทั้งนี้ เดิมโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียนี้จะก่อสร้างขึ้นใน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.สมุทรปราการ ประกอบด้วย ต.บางปูใหม่ อ.เมือง (ฝั่งตะวันออก) ขนาดที่ดิน 1,550 ไร่ ระบายน้ำเสียลงทะเล และ ต.ในคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ (ฝั่งตะวันตก) ขนาดที่ดิน 350 ไร่ ระบายน้ำเสียลงคลอง ภายใต้วงเงิน 13,612 ล้านบาท โดยใช้ลักษณะการว่าจ้างแบบเหมารวม (Turn Key) คือให้บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลเป็นทั้งผู้จัดหาที่ดิน ออกแบบ และก่อสร้าง

แต่ต่อมากลับมีการรวบโครงการนี้ไว้ในที่ดินผืนเดียวกันของฝั่งตะวันออก ใน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ ขนาดพื้นที่ 1,900 ไร่ ทั้งที่ผลการศึกษาของบริษัท มอนต์โกเมอรี่ วัตสัน เอเชีย จำกัด (จัดทำขึ้นในปี 2537 โดยการว่าจ้างของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หนึ่งในผู้ให้ทุนโครงการ) ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมกับการก่อสร้างด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ
 
     1.เป็นพื้นที่ดินอ่อนเหลว
     2.อยู่ห่างไกลจากเขตอุตสาหกรรม
     3.ปริมาณน้ำบำบัดแล้วกว่า 5 แสน ลบ.ม.ต่อวัน จะทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นจืด ปลาอยู่ไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อชาวประมง
     4.การสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไว้ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในระยะยาว มีค่าใช้จ่ายต่ำ และมีความเสี่ยงต่อการผิดพลาดน้อยที่สุด
 
นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 นายยิ่งพันธ์ยังเสนอให้เพิ่มวงเงินโครงการเป็น 22,955 ล้านบาท โดยที่ประชุม “เห็นชอบ”

ตลอดทั้งปี 2539 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เดินหน้าการประกวดราคา เพื่อหาบริษัทเอกชนมาดำเนินการก่อสร้าง เริ่มแรกมีผู้แสดงความสนใจซื้อซองประมูลถึง 13 ราย แต่เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติแบบเฉพาะเจาะจงไว้ในทีโออาร์ ว่าต้องมี “ประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย” ทำให้มีผู้ยื่นซองประมูลจริงเพียง 4 ราย และผ่านคุณสมบัติเพียง 2 ราย ได้แก่“กิจการร่วมค้า NVPSKG” และ “กลุ่มบริษัท มารูบินี่”

ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2539 นายปกิต กิระวานิช อธิบดี คพ. ขณะนั้น ได้แก้เงื่อนไขการประมูลให้รวมทำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียนี้ บน “ที่ดินผืนเดียว” (ทั้งที่ มติ ครม. ระบุว่าจะทำบนที่ดิน 2 ผืน) ทำให้กลุ่มบริษัท มารูบินี่ถอนตัวเพราะหาที่ดินไม่ทัน กิจการร่วมค้า NVPSKG จึงชนะการประมูล โดยเสนอราคา 22,949 ล้านบาท

และมีการลงนามในสัญญาโครงการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540

(เอกสารการชี้มูลความผิดในคดีคลองด่านของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ได้กล่าวถึงบทบาทของนายปกิต กิระวานิช อธิบดี คพ. ในโครงการนี้ไว้อย่างละเอียด พร้อมระบุว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านฝ่าฝืนต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2539 “เกือบทุกขั้นตอน”)
 
ปมปัญหาเรื่องคุณสมบัติกิจการร่วมค้า NVPSKG
สำหรับกิจการร่วมค้า NVPSKG ประกอบด้วยบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดี โดยบางบริษัทมีสายสัมพันธ์กับบุคคลในรัฐบาลขณะนั้น (แต่ในปี 2539 ยังไม่มีกฎหมายห้ามกิจการของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ)

N – บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

V – บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด

P – บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด (ชื่อขณะนั้น-ก่อตั้งโดยนายวิศว์ บิดาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ)

S – บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด (ใกล้ชิดกับนายบรรหาร ศิลปอาชา)

K – บริษัท กรุงธน เอนจิเนียร์ จำกัด

G – บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มีสายสัมพันธ์กับบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ของนายวัฒนา อัศวเหม ผ่านทางผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง)
 
โดยมีแค่ N ที่มีเงื่อนไขเข้าคุณสมบัติการยื่นซองประมูลกวดราคา คือเคยมีประสบการณ์ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียมาก่อนตามทีโออาร์ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า NVPSKG จะลงนามทำสัญญากับ คพ. ปรากฏว่า N ขอถอนตัว ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า กิจการร่วมค้าดังกล่าวยังมีคุณสมบัติพอที่จะเป็นคู่สัญญากับ คพ. ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่ จ.สมุทรปราการได้หรือไม่

จากข้อสงสัยดังกล่าว นำไปสู่การยื่นคำร้องให้หน่วยงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันขณะนั้น โดยภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2542-2547 ทั้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ตั้งขึ้นมาแทน ป.ป.ป. ให้เข้ามาตรวจสอบโครงการนี้ โดยแบ่งประเด็นที่เรียกร้องให้ตรวจสอบออก เป็น 2 กรณี
  • การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รวบรวมที่ดินและนำไปออกโฉนดทับที่สาธารณะประโยชน์ รวม 5 แปลง 1,903 ไร่ โดยมีการปั่นราคาขายที่ดินจาก 1 แสนบาท/ไร่ เป็น 1.1 ล้านบาท/ไร่ (ปมที่ดิน)
  • การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ผลักดันและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง ทั้งการรวมที่ดินเป็นผืนเดียวทำให้กิจการร่วมค้า NVPKSG ชนะการประมูล และการเพิ่มวงเงินโครงการ จาก 13,612 ล้านบาท เป็น 22,955 ล้านบาท (ปมโครงการ)

ต่อมา ในปี 2546 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำกับดูแล คพ. ขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านด้วย ก่อนจะพบความผิดปกติหลายประการ โดยเฉพาะการที่ไม่มี N ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญร่วมทำสัญญา จึงสั่งให้กิจการร่วมค้า NVPSKG ยุติการดำเนินโครงการ และระงับการจ่ายเงิน หลังดำเนินก่อสร้างไปแล้วกว่า 95% มีการจ่ายเงินไป 54 งวด จากทั้งหมด 58 งวด รวมเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ยื่นคำร้องให้อนุญาตโตตุลาการเข้ามาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้จ่ายเงินที่เหลืออยู่

ผลการดำเนินคดีอาญา โดย ป.ป.ช. และศาลอาญา ปรากฏว่า “รัฐชนะคดี” เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคดีทุจริตคอร์รัปชัน

แต่ผลการตัดสินคดีของอนุญาโตฯ ที่ต่อเนื่องไปยังศาลปกครอง ปรากฏว่า “รัฐแพ้ทุกคดี” นำมาสู่การต้องจ่าย “ค่าโง่” เพิ่มเติมนับหมื่นล้านในเวลาต่อมา

ชนะคดีอาญา แต่แพ้อนุญาโตตุลาการ


เมื่อคดีคลองด่านเข้าสู่การไต่สวนขององค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ปรากฏว่ามีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็น 2 คณะ คณะแรก – รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดิน และคณะที่ 2 – รับผิดชอบเรื่องการผลักดันโครงการ

โดยนักการเมืองรายหนึ่งที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คดี คือ

     นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (14 พฤศจิกายน 2540 – 17 กุมภาพันธ์ 2544 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย)

แม้นายวัฒนาจะไม่เกี่ยวข้องกับการผลักดันโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านโดยตรง นอกเหนือจากการเป็น ส.ส.สมุทรปราการ แต่ในเอกสารของ ป.ป.ช. กลับระบุสายสัมพันธ์ระหว่างนายวัฒนากับนายยิ่งพันธ์-ผู้ผลักดันโครงการนี้ โดยเฉพาะการเป็น ส.ส. “กลุ่มงูเห่า” ร่วมกัน กลายเป็นช่องทางในการให้บริษัทเอกชนที่นายวัฒนาถือหุ้น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด เข้าไปกว้านซื้อที่ดิน เพื่อใช้ในโครงการนี้แต่เพียงผู้เดียว

ดยคดีแรก ป.ป.ช. มีมติเมื่อปี 2550 ชี้มูลความผิดนายวัฒนา กับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินอีกจำนวนหนึ่ง ฐานใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้ และออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบรุกล้ำที่ดินสาธารณะประโยชน์ ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา เมื่อปี 2551 ในคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2550 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 จำคุกนายวัฒนาเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 148 แต่ปัจจุบัน นายวัฒนาอยู่ระหว่างหลบหนีไม่มารับโทษตามคำพิพากษา

ส่วนคดีที่ 2 ป.ป.ช. มีมติเมื่อปี 2554 ชี้มูลความผิดนายวัฒนา รวมถึงอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ คพ. แต่ให้ยุติการพิจารณาในส่วนของนายยิ่งพันธ์ (เพราะเสียชีวิตไปแล้ว) และยกฟ้องนายสุวัจน์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2547 กรมที่ดินยังได้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน จำนวน 4 ใน 5 แปลง ที่ใช้ในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน รวมเนื้อที่ 1,358 ไร่ จากทั้งหมด 1,903 ไร่ เนื่องจากมีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ

แสดงให้เห็นว่า โครงการนี้มีความ “ไม่ชอบมาพากล” และมีปัญหาเรื่อง “การทุจริต” อย่างชัดเจน

ทว่า ผลการพิจารณาคดีพิพาทในอนุญาโตตุลาการกลับออกมาอีกทาง !

โดยเมื่อปี 2554 อนุญาโตฯ ตัดสินให้ คพ. จ่ายเงินที่ค้างอยู่กับกิจการร่วมค้า NVPSKG ในคดีข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 เป็นเงินที่ค้างชำระและดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี และค่าเสียหายอื่นๆ รวมเป็นเงินกว่า 9 พันล้านบาท

และเมื่อ คพ. นำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ชี้ขาดว่า “คำตัดสินของอนุญาโตฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” ปรากฏว่า ทั้งศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ต่างมีคำพิพากษาว่าคำตัดสินของอนุญาโตฯ ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อรวมดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้จนถึงปี 2558 คพ. จะต้องจ่ายเงินให้กับกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นเงินกว่า 9.6 พันล้านบาท โดยที่ไม่ได้อะไรกลับคืนมา แม้แต่บ่อบำบัดน้ำเสียที่จ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง จนสุดท้ายต้องทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า

เป็นการจ่ายเงินซื้อ “บทเรียน” อันแสนแพงด้วย “ค่าโง่” มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

บทเรียนจาก “ค่าโง่”
สังคมไทยได้รับบทเรียนอะไรจากคดีคลองด่าน และการจ่ายค่าโง่ครั้งนี้

ดาวน์โหลดรายการภารกิจพิชิตโกง ประจำวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2559

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้