รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2147 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559 เวลา 20.15 น.

 

--------------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

ในนามของนายกรัฐมนตรีและปวงชนชาวไทยทุกคนพวกเรารู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึงเป็นอย่างยิ่งอย่างสูงที่ประมุขและผู้นำประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ด้วยการลงนามถวายความอาลัย การยืนสงบนิ่งไว้อาลัย และการลดธงครึ่งเสา

การแสดงออกดังกล่าวนั้นนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจและเห็นใจ ความรู้สึกของประชาชนชาวไทย ต่อการจากไปของ “พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่ง” ของพสกนิกรไทย ซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการยกย่องในพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเท เพื่อประเทศชาติและประชาชน มาเป็นระยะเวลา 70 ปี ซึ่งยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์โลก รวมทั้งการยอมรับในหลักการทรงงานและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีคุณูปการอย่างยิ่ง ต่อมวลมนุษยชาติ
ขอขอบคุณและขอชื่นชม พี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ที่ร่วมกันรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ และแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการร่วมใจกันร้องเพลงสรรเสริญ ณ ท้องสนามหลวง และการทำดีเพื่อพ่อ ด้วยการทำหน้าที่ “จิตอาสา” ด้วยครับ

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตแล้ว แต่ “ศาสตร์พระราชา” ยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทย รวมทั้ง แนวคิด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้พระราชทานไว้ กว่า 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้พสกนิกรชาวไทย นำไปเป็นแนวทางการพัฒนาตนเองและครอบครัว ให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคง ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งล้วนมุ่งให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าดำรงตนเป็น “คนดี” ทั้งคิดดี พูดดี ทำดี ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม สุจริต มีวินัย และมีความสามัคคีปรองดองกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคงตลอดไป

ขอขอบคุณ “ศูนย์คุณธรรม” ภายใต้กำกับของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้จัดทำหนังสือ “เทิด 9 ปกเกศ” โดยรวบรวมพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ด้านคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ซื่อตรง วินัย รับผิดชอบ จิตอาสา และพอเพียง สำหรับประชาชนคนไทยได้รับรู้และน้อมนำ “คติคำสอน” ของพ่อหลวง ซึ่งเป็นคุณธรรมอันประเสริฐไปปฏิบัติ นับเป็นการถวายความจงรักภักดี ด้วยการปฏิบัติบูชา เพื่อเป็นการสืบทอดให้สิ่งดีที่งาม ธำรงอยู่ในสังคมไทย อย่างมั่นคงสืบไป

สำหรับคุณธรรมด้าน “พอเพียง” นั้น หมายถึง ความพอเพียงในการดำรงชีวิต แบบ “ทางสายกลาง” มีเหตุมีผล ใช้ความรู้ในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ มีความพอประมาณ พอดี ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่ประมาท สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลได้อัญเชิญ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP)” มาเป็นปรัชญานำทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (20 ปี) รวมทั้ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยมุ่งเน้นที่จะน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม ในทุกระดับ ด้วยการสร้างกลไกการขับเคลื่อน ซึ่งบูรณาการหลายหน่วยงาน โดยแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.)” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำงานในรูปแบบ “ประชารัฐ” เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ประกอบด้วยทุกกระทรวง ภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้า เป็นต้น และภาควิชาการเช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันธรรมรัฐฯ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

อีกปัจจัยที่จะเป็น “กุญแจสู่ความสำเร็จ” คือ การปฏิรูประบบการจัดทำและบริหารงบประมาณแผ่นดิน ในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ กล่าวคือ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันคิด ระดมสมอง ในการทำแผนงาน - โครงการ - กิจกรรม ในแผนงบประมาณที่มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ให้ชัดเจน ให้ได้ข้อยุติ เป็นแผนงานระยะสั้น - ระยะกลาง - ระยะยาว ซึ่งสามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ยกตัวอย่างเช่น “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ในระยะ 20 ปีข้างหน้า ต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนและสวัสดิการเป็นหลัก การดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ที่อยู่ในสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหมดนี้และในอนาคต จำเป็นต้องมีทั้งมาตรการเร่งด่วน และแผนระยะสั้น “1 ปี” ที่จะต้องเชื่อมโยง สอดคล้อง ต่อยอด ครอบคลุม เป็นการปฏิรูปประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยนำเอกลักษณ์ที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่มาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ทันสมัย ให้มีการใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง เพิ่มมูลค่าให้สินค้า สร้างรายได้ให้กับประเทศ และวางแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ไปสู่“ไทยแลนด์ 4.0” ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน พร้อมทั้งเดินหน้าประเทศไทยตามแนวทางประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามหลักสากล

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นแนวทางในการพัฒนา ที่นำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไรนั้น สิ่งสำคัญก็คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และการสร้างความเข้มแข็งจากภายในก่อน จากนั้นจึงจะประสานเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก กล่าวคือให้เริ่มต้นจากการพึ่งพาตนเอง พึ่งพากันเอง และรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง จากนั้นต้องเติมองค์ความรู้ให้กับประชาชน ในการสร้างการรับรู้ เข้าใจถึงปัญหาที่ผ่านมา เข้าใจถึงแนวทางของการพัฒนาในวันข้างหน้า และมีการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยลักษณะของ“คนไทย 4.0” ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ เมื่อไม่พอก็ต้องเติม เมื่อพอก็ต้องรู้จักหยุด เมื่อเกินก็ต้องรู้จักแบ่งปัน จึงจะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ไทยแลนด์4.0” ผ่านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน ทุกคนมีโอกาสรับประโยชน์จากการที่เราสร้างมันขึ้นมา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก้าวออกไปอย่างยั่งยืนเคียงบ่าเคียงไหล่เติบโตไปด้วยกัน

นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” จะเป็นกลไกสำคัญในปฏิรูปประเทศ ที่มีเป้าหมายชัดเจน คือ การนำพาประเทศให้พ้นกับดัก 3 เรื่องด้วยกันก็คือ (1) กับดักรายได้ปานกลาง (2) กับดักความเหลื่อมล้ำ และ (3) กับดักความไม่สมดุล ผ่านโมเดลขับเคลื่อนสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ด้วย 3 เครื่องยนต์ใหม่ก็คือ (1) สร้างความมั่นคงโดยการ “ระเบิดจากข้างใน” (2) สร้างความมั่งคั่ง โดยการส่งเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และ (3) สร้างความยั่งยืน โดยการพัฒนาที่รักษาสมดุล ในด้านมิติเศรษฐกิจและสังคม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยหรือที่เขาเรียกว่า “การพัฒนาสีเขียว”

ยกตัวอย่างเช่น “การสร้างความเข้มแข็งระดับฐานราก” โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้ดำเนินการ โครงการยกระดับหมู่บ้าน 74,000 กว่าหมู่บ้านทั่วประเทศตามแนวทางประชารัฐโดยจัดสรรงบประมาณ 250,000 บาท ต่อหมู่บ้าน อันเป็นการขยายผลจากโครงการเดิมที่ผ่านมาก็คือ (1) โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท (2) โครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการรายงานการสำรวจ “ความพึงพอใจ” ของประชาชน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 มีความพึงพอใจในระดับ “สูง” เนื่องจากได้รับประโยชน์โดยตรงได้มีส่วนร่วมในการเสนอโครงการ ดังนั้น จึงถือว่าเป็นการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว โดยโครงการในปีงบประมาณ 2560 นี้ ในเบื้องต้น จะมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 90 วัน ภายใต้กรอบงบประมาณ 250,000 บาทต่อหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนระดับฐานราก ผมได้สั่งการเพิ่มเติมคือ ต้องไม่ใช่การจัดซื้อครุภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช่การลงทุนแต่ควรเป็นการใช้จ่ายในโครงการเพื่อชุมชน ส่วนรวม เช่น ลานตากข้าว ตากมัน หรือโรงสี หรือเครื่องจักรเครื่องมือขนาดเล็กเพื่อการเกษตร หรืออื่น ๆ ที่ประชาชนต้องการ เป็นต้น ไม่เป็นการใช้เงินแบบ “เบี้ยหัวแตก” ก็คือแตกแยกกระจายเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ โครงการ ซึ่งเงินจำนวนนี้มีไม่มากนัก ก็ควรจะเป็นใช้ประโยชน์ในทางส่วนร่วมอย่าให้กระจายกันออกไปไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ที่สำคัญก็คือการมีส่วนร่วมตั้งแต่การคิดโครงการ การจัดทำแผนงานที่ชัดเจน ไปจนถึงร่วมบริหารจัดการในรูปแบบของสหกรณ์ เป็นต้น หากประชาชนเข้าใจร่วมมือ รัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกพื้นที่ของประเทศใยระยะต่อไป

กว่า 2 ปี ของการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลได้ประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดถือ “หลักการทรงงาน” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ “ทำตามขั้นตอน” ดังพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2517 กล่าวโดยสรุปก็คือ ให้เริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ การสาธารณสุข การดูแลตนเองขั้นต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้ตนเองไม่เจ็บป่วย มีสุขภาพที่แข็งแรง เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ จากนั้นจะเป็นเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งนี้ โดยต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด

ตัวอย่างนโยบาย “ด้านสังคม” ที่ผ่านมา เช่น
1. การพัฒนาและวางระบบการดูแลสุขภาพอาทิ เช่น ทีมหมอครอบครัว 1 ทีม ดูแลประชาชน 10,000 คน ระบบการรักษาพยาบาลฉุกเฉินใช้สิทธิ์ได้ทุกโรงพยาบาล บริการแพทย์ฉุกเฉิน สายด่วน 1669 ขยายการบริการแพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพรไทยในการรักษาพยาบาลขั้นต้น ก่อนที่จะไปสู่การใช้ยาแผนปัจจุบัน แล้วก็มีการสร้างนวัตกรรมยาโดยภูมปัญญาไทยเป็นต้น
2. การพัฒนาระบบสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อาทิ เช่น (1) การพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย 2.7 ล้านครัวเรือน เช่น ชุมชนดินแดง ปทุมธานีโมเดล ชุมชนริมคลองลาดพร้าว เป็นต้น (2) การเพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก - คนพิการ - ผู้สูงอายุ (3) การเปิดศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) สายด่วน 1111 และศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 เป็นต้น
3. การปฏิรูปการศึกษา อาทิ เช่น (1) อาชีวศึกษาแบบ “ทวิภาคี” (2) การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) (3) การจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้” ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงศึกษาธิการกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 882 แห่งทั่วประเทศ และศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างนโยบาย “ด้านเศรษฐกิจ” ที่ผ่านมา เช่น
1. การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ อย่างบูรณาการ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย พื้นที่เก็บกักน้ำ แก้มลิง ซึ่งยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการขนาดใหญ่ เพื่อจะให้เกิดการเก็บกักน้ำให้มากขึ้น มีการระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้นในพื้นที่ตอนบน ซึ่งมีผลกระทบมาในพื้นที่ตอนล่างและภาคกลาง กำลังพิจารณาดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เพื่อจะทำให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ในอนาคต
2. เรื่องของการทวงคืนผืนป่า การฟื้นฟูป่า การจัดหาที่ดินทำกิน ป่าชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปลูกพื้นตามความสมัครใจ Smart Farmer เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรยั่งยืน (เน้นในเรื่องของการลดการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ไม่เป็นภัยต่อชีวิต ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าของสินค้า)
3. การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร Food Innopolish แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม ทุนวิจัยและพัฒนาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ เพื่อนำไปสู่สายพานการผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ เพื่อลดการสั่งซื้อจากต่างประเทศ
4. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านการคมนาคม (บก น้ำ อากาศ) และด้าน ICT (โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต) เราต้องดำเนินการให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ให้ได้อย่างรวดเร็ว
5. บริษัท ประชารัฐ รู้รักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์การเกษตร ตลาดชุมชน การยกระดับ OTOP SMEs Start-up สู่ตลาดโลก และตลาดออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเอกชนหลายบริษัทเป็นอย่างดี ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยอีกครั้ง
6. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระเบียงพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการกำหนด 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นต้น จะเป็นการสร้างห่วงโซ่ใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ เพื่อจะมีงบประมาณในการดูแลประชาชน มีการพัฒนาประเทศอย่างพอเพียงในอนาคต
7. การจดสิทธิบัตร การขึ้นบัญชีนวัตกรรม เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลจากการบริหารราชการแผ่นดิน ห้วง 2 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้ “ศาสตร์พระราชา” แม้ว่าสถานการณ์ล่าสุดเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เติบโตเด่นชัด เนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศ จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการปรับตัวเชิงโครงสร้างภายในประเทศที่ต้องใช้เวลา แต่ก็เริ่มมีสัญญาณ
ทางเศรษฐกิจที่ “ดีขึ้น” ในหลายภาคส่วนอาทิ เช่น

1. ภาคการเกษตรผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นกว่าปีก่อนในบางชนิด โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวโดยรวมร้อยละ 4.0 จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว หลังจากติดลบมาหลายเดือน เนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังและข้าวโพดที่มีการเก็บเกี่ยวได้เพิ่มขึ้น สำหรับด้านราคาดัชนีราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวถึงร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว
2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2559 ในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว จากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัวดีขึ้น
3. การค้าระหว่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าส่งออกสินค้าเดือนกันยายน 2559 ขยายตัวกว่าร้อยละ 3.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และการส่งออกไปยังตลาดสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังคงมีการขยายตัวได้ดี
4. ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเดือนสิงหาคม 2559 มีจำนวนกว่า 2.87 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชียมากที่สุด เช่น จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และลาว เป็นต้น
สำหรับภาครัฐ ในห้วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้มีเม็ดเงินกระจายลงสู่เศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ซึ่งการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งปีงบประมาณ 2559 เบิกจ่ายได้สูงกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 7.9 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำเบิกจ่ายได้สูงขึ้นร้อยละ 5.1 ส่วนรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้สูงขึ้นร้อยละ 34.4 สำหรับหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับไม่สูง คือร้อยละ 42.6 ของ GDP (ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2559) ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งเป็นกรอบของความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ ผลจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุด ธนาคารโลกได้จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ปี 2017 ให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก หรือ “ดีขึ้น” จากปีที่แล้ว 3 อันดับ เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลมีการปรับปรุงขั้นตอน กระบวนการ สำหรับการเริ่มธุรกิจในประเทศให้สะดวกและทันสมัยมากยิ่งขึ้น อาทิ เช่น ระบบชำระเงิน การเข้าถึงสินเชื่อ และการแก้ไขปัญหาล้มละลาย เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ (2559) และปีหน้า (2560) จะเติบโตใกล้เคียงกันที่ประมาณร้อยละ 3 ซึ่งหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือปฏิรูปเศรษฐกิจไทยใด ๆ เลย ก็คาดได้ว่าเศรษฐกิจไทยอีก 5 ปี อีก 10 ปี ก็จะเติบโตในระดับน้อย ๆ เช่นที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจโลก (เศรษฐกิจภายนอก) มีความผันผวนและยังไม่มีแนวโน้มจะกลับมาแข็งแกร่งเช่นเดิม

ดังนั้น รัฐบาลนี้ จึงได้พยายามมาโดยตลอดที่จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่ไม่ใช่การเติบโตแต่เพียงตัวเลข GDP แต่เป็นการเติบโต ที่กระจายสู่ทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ให้กระจุกตัวเฉพาะในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือภาคใดภาคหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง ให้เป็นปกติให้ได้ อย่างเช่นในปัจจุบัน

สำหรับงานต่าง ๆ ที่ได้เริ่มต้นไว้แล้ว รวมถึงที่กำลังจะเกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจ อาทิ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) การปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่การพัฒนาแหล่งน้ำ ปรับปรุงดิน การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ และการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำรายได้ให้แก่ประเทศได้มากขึ้น การพัฒนาแรงงานและการศึกษา ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนและเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เป็นต้น

 
แผนงานทั้งหมดที่กล่าวมานั้น รัฐบาลได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ให้ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ของการพัฒนา มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ ประชาชนมีส่วนร่วม และได้ประโยชน์จากการพัฒนาอย่างแท้จริง ให้มีความ อยู่ดี กินดี

 
นอกจากนี้ รัฐบาลมีโครงการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในหลายโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดภาระงบประมาณ เพราะเราต้องก่อสร้าง ต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดึงดูดการลงทุน ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต ให้ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน แต่เรามีรายได้ไม่เพียงพอกับการลงทุนใหญ่มากนัก เก็บภาษียังไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราจึงต้องมีการกู้เงินบางส่วน มีการร่วมทุนกับเอกชนบางส่วน ซึ่ง จำนวนหนี้สาธารณะในวันนี้ ล้วนเป็นหนี้ที่จะก่อให้เกิดรายได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในอนาคตให้กับประเทศ และเราก็สามารถควบคุมให้ได้ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของ GDP
หากอนาคตข้างหน้า เศรษฐกิจเราดีขึ้น มีการจัดระบบการเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลก็จะมีรายได้มากขึ้น ลงทุนได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจำนวนมาก ๆ อีก ประชาชนก็มีโอกาสได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มก็จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะด้านการศึกษา การสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจะสามารถดูแลได้นั้นจะเพิ่มมากขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน ตลอดจนรายได้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผมเห็นใจทุกท่านครับ จากใจจริงของรัฐบาลและของผมเอง

ทั้งนี้ หากคนไทยทุกคน ร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ขัดแย้ง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ก็เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยในวันข้างหน้า จะมีการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง อย่างแน่นอน

สำหรับการเชื่อมโยง “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้น ถือว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จ ในการสร้างความตระหนักและการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในการประชุม G77 G20 และ ACD โดยนานาประเทศ ต่างเห็นพ้องกันว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นแนวทางหนึ่ง ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น
1. ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดน้ำกินและน้ำใช้, และขาดที่ดินทำกิน ซึ่งมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างง่าย ๆ เพื่อขจัดความจน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างพอเพียง ก่อให้เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง บรรลุเป้าหมายที่ 1 ของ SDG คือ การยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่
2. ธนาคารอาหาร เป็นกิจกรรมจากกองทุนอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ให้นักเรียนทุกคนนำไปลงทุน เพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตรและปศุสัตว์ขนาดเล็ก โดยโรงเรียนจะรับซื้อผลผลิตกลับมาเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน รายได้ของนักเรียนสามารถเกื้อกูลฐานะทางครอบครัวและใช้ในการศึกษาเพิ่มเติม นับว่าเป็นการเรียนรู้ในการประกอบอาชีพอย่างครบวงจร ภายใต้หลักการ “เกษตรทฤษฎีใหม่” บรรลุเป้าหมายที่ 2 ของ SDG ในเรื่องของการยุติความหิวโหย มีความมั่นคงทางอาหาร การยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน
3. โรงเรียนพระดาบส จัดให้มีการสอนวิชาชีพ หลักสูตร 1 ปี มุ่งให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง เสริมด้วยทักษะชีวิต ให้สามารถดำรงตน ได้อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานแห่งความรู้ มีวินัย ขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นต้น บรรลุเป้าหมายที่ 4 ของ SDG คือ การให้การศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม และโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
4. กังหันชัยพัฒนา เป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ ลดกลิ่น น้ำไม่เน่าเสีย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้ บรรลุเป้าหมายที่ 6 ของ SDG คือ การจัดให้มีน้ำที่ถูกสุขลักษณะ และมีการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน
5. บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี จำกัด ดำเนินการตามรูปแบบ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” บนกลไก “ประชารัฐ” ที่ไม่มุ่งเน้นผลกำไรจากการประกอบการ แต่ได้รับปันผล ในรูปแบบการพัฒนาชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ บรรลุเป้าหมายที่ 10 ของ SDG คือ การลดความไม่เสมอภาค ภายในและระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เป็นแต่เพียงตัวอย่างเท่านั้น ผมเห็นว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีความเป็นสากลในตัวเอง เปรียบเสมือนวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันจาก “โรค” ที่เกิดจากความประมาท ความไม่แน่นอน และความเสื่อมโทรม อันสืบเนื่องมาจากผลกระทบทางลบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถแบ่งปันตัวอย่างการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่ของใครหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สุดท้ายนี้ สำหรับกรณีราคาข้าวตกต่ำในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวหอมมะลิ” ที่มีข่าวราคาต่ำมากในภาคอีสาน ในปัจจุบันและอาจจะมีในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งนี้เป็นผลจากการรับซื้อของโรงสี หรือพ่อค้าคนกลาง อาจจะเป็นเพราะข้าวมีความชื้นสูง เป็นผลกระทบจากน้ำท่วม ราคาข้าวในตลาดโลก การลดราคาแข่งขันกัน ของประเทศผู้ผลิตข้าว รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ กำลังกำหนดมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา ให้บรรเทาความเดือดร้อน ให้ได้โดยเร็วที่สุด คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะเร่งให้มีการประชุมให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติได้ในทันที ขอบคุณพี่น้องเกษตรกรชาวนา ที่ได้ต่อสู้ชีวิต ด้วยความอดทน เสียสละ ทั้งนี้ รัฐบาลและประชาชนรับรู้ความทุกข์ของท่านเสมอ เราจะร่วมทุกข์ไปกับท่าน รวมทั้ง ราคาลองกองที่ตกต่ำ รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับบริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี ประเทศไทย จำกัด ได้ใช้พื้นที่ “ตลาดคลองผดุงฯ” ข้างทำเนียบรัฐบาล นำผลิตผลชาวสวนลองกองจาก 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ (ยะลา - ปัตตานี - นราธิวาส) มาจำหน่าย ช่วงวันที่ รวมทั้งการแปรรูปลองกองเป็นน้ำลองกอง ไอศกรีมลองกอง เพื่อเพิ่มมูลค่า อาหารพื้นเมืองปักษ์ใต้ และสินค้า OTOP อีกด้วย ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจทุกคนให้มาช่วยอุดหนุนด้วยนะครับ
 
ขอบคุณครับ / สวัสดีครับ

หมายเหตุ ดาวน์โหลดรายการย้อนหลัง MP3

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้