รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562

Last updated: 16 ก.พ. 2562  |  1619 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”  วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

สังคมไทยเป็น “สังคมพหุวัฒนธรรม” เราอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินเกิดแห่งนี้ มาหลายร้อยปีด้วยความสงบสุข ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ภายใต้ความแตกต่าง ด้วยการยอมรับและเปิดใจเข้าหากัน นั่นคือความงดงามของประชาธิปไตย เพราะถ้าทุกคนคิดและเป็นเหมือนกัน ก็คงเหมือนรุ้งกินน้ำที่มีสีเดียว โทนเดียว คงไม่งดงามเหมือนรุ้ง 7 สีตามธรรมชาตินะครับ

หากเปรียบประเทศเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ครอบครัวนี้ ก็คงเหมือนทุก ๆ ประเทศ ที่มีเศรษฐกิจและสังคมที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับ หรือ 3 พี่น้อง พี่คนโต เปรียบเสมือนผู้ที่มีฐานะดี มีความเข้มแข็ง ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจขนาดใหญ่ แม้จะพึ่งพาตนเองได้ แต่รัฐบาล หรือพ่อแม่ก็ยังคงต้องให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกอยู่ สำหรับลูกคนกลางก็คงเป็นชนชั้นกลาง มีหน้าที่การงานที่มั่นคง หากไม่มีปัจจัยภายนอกมากระทบ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร  แต่หากป่วยไข้ เกิดอุบัติเหตุ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ชีวิตก็คงจะลำบากสักระยะ กว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ รัฐบาลก็ต้องระวังไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมากระทบ เพื่อให้เขาเติบโตแข็งแรงได้อย่างไม่ลำบาก สำหรับน้องคนสุดท้องคือผู้ที่มีรายได้น้อย ทั้งเกษตรกร ทั้งอาชีพอิสระ รับจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึง SMEs และ Star-up ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ยังต้องพึ่งพาการส่งเสริมจากภาครัฐ หรือพ่อแม่อยู่มาก รวมทั้งพี่คนโตและคนกลาง ก็ต้องช่วยพ่อแม่ดูแลน้องคนเล็ก ให้ความช่วยเหลือเชื่อมโยง ผูกพันกันเหมือนที่ผมกล่าวอยู่เสมอว่าทุกคนอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลก็จะดูแล ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ให้ทุกคนในห่วงโซ่นี้เข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้ โดยเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ก็อย่าลืมว่าทุกคนก็ต้องไม่ปฏิเสธการพัฒนาตนเอง หาความรู้เพิ่มเติม ปรับตัว ไม่ปิดตัว ไม่ปิดโอกาสตนเองโดยรับข้อมูลข่าวสารภาครัฐอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อย่างน้อยก็รับฟังหอกระจายข่าวที่มีอยู่ทั้ง 7 หมื่นกว่าหมู่บ้านทั่วประเทศ หรือติดตามข่าวสารผ่าน แอพพลิเคชัน G News รวมทั้งช่องทางอื่น ๆ ของรัฐที่เชื่อถือได้ด้วยนะครับ
 

เว็บไซต์ รัฐบาลไทย  http://www.thaigov.go.th/
Face Book ไทยคู่ฟ้า (สำนักโฆษก)
Face Book สายตรงไทยนิยม (สำนักนายกรัฐมนตรี)
LINE@ข่าวจริงประเทศไทย (กรมประชาสัมพันธ์)
GNEWS (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.))
 
พี่น้องประชาชนที่รักครับ

4 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมาอย่างยาวนานของประเทศ ซึ่งส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยให้ความสำคัญและเร่งการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง ทางบก ทางราง ทางทะเล ทางอากาศ ทั้งด้านสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ หลังจากหยุดนิ่งมากว่า 10 ปีเพื่อจะเพิ่มการเข้าถึงโอกาสและกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ที่เราเรียกว่าน้องคนสุดท้อง ผ่านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน อาทิ การจัดสรรที่ดินทำกินและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ใน 61 จังหวัด กว่า 47,000 ราย ใช้พื้นที่เกือบ 4 แสนไร่ การพัฒนา Smart Farmer มากกว่า 1 ล้านราย การช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหา เช่น ช่วยเหลือชาวนา 3.6 ล้านครัวเรือน วงเงินราว 4 หมื่นล้านบาท และชาวสวนยาง 2.2 ล้านครัวเรือน วงเงินราว 3 หมื่นล้านบาท เป็นต้น  การระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว กว่า 17 ล้านตัน ซึ่งมีส่วนในการส่งผลให้ราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้น การอำนวยความยุติธรรม ขจัดคำกล่าว “คุกมีไว้ขังคนจน” โดยได้มีการตั้งกองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการด้านกระบวนการยุติธรรม  ได้แก่ เงินค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อาทิ ค่าจ้างทนายความ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าฤชาธรรมเนียมในทุกประเภทคดี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านเครือข่ายยุติธรรมชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ศูนย์ดำรงธรรม เป็นต้น  โดย 2 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ได้รับความเป็นธรรม ราว 9,000 ราย ทั่วประเทศ เป็นเงินเกือบ 200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภาครัฐได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ผ่านการสร้างโอกาสในการเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องในกลุ่มฐานราก ได้แก่ การให้สวัสดิการต่าง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 14 ล้านราย การเปิดโครงการร้านธงฟ้าที่มีร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมถึง 60,000 ร้าน รวมถึงการใช้แอพพลิเคชั่น ถุงเงินประชารัฐ มากกว่า 40,000 ร้านค้า มาตรการสินเชื่อเพื่อการซื้อบ้านและซ่อมแซมบ้าน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงิน 60,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีการไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้เกือบ 540,000 ราย โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชนละ 200,000 บาท) ครอบคลุม 80,000 หมู่บ้าน และชุมชน รวม 92,000 กว่าโครงการการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเกือบ 80,000 กองทุน เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการออม รวมทั้งการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคง กินดีอยู่ดี และมีความสุขมากยิ่งขึ้น โดยแม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเริ่มปรับขึ้นบ้าง แต่ไม่มากนัก และ ในยอดคงค้างสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ก็มีสัดส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย คิดเป็นร้อยละ 50.4 ของสินเชื่อรวมจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน และเป็นการเพิ่มสินทรัพย์ให้กับประชาชน สำหรับด้านสุขภาพ ได้ยกระดับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัว เป็น 3,600 บาทต่อคน พัฒนาระบบ UCEP สายด่วน 1669 ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่ ฟรี 72 ชั่วโมง” ให้ความสำคัญกับการแพทย์ระดับปฐมภูมิ อาทิ ทีมหมอครอบครัว ที่เน้นการป้องกันและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด นักบริบาลชุมชน เพื่อเตรียมรับมือสังคมผู้สูงวัย และผู้ป่วยติดเตียงที่นับวันจะมีมากขึ้น ๆ ไม่ให้เป็นภาระคนในครอบครัว เป็นต้น

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือ ที่เป็นแบบระยะยาว ก็ได้ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ 4,600 กว่าแปลง บนพื้นที่ 5.4 ล้านไร่

การใช้ Agri-Map เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้ง การวางแผนตลาดนำการผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้าของชุมชนผ่านการดำเนินโครงการสินค้า OTOP และ ส่งเสริมสินค้า GI โดยสามารถขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ด้วยการสร้างโอกาสในการจับคู่ธุรกิจและนำผลิตภัณฑ์ OTOP เข้าสู่การจำหน่ายบนเครื่องบิน ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 98,000 ล้านบาท ในปีแรกของรัฐบาล เป็น 190,000 ล้านบาท ในปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน และ ส่งเสริมให้มีธนาคารชุมชน หรือ สถาบันการเงินประชาชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเป็นแหล่งทุนท้องถิ่น ตัดวงจรหนี้นอกระบบ ขจัดปัญหาการเข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์ รวมทั้ง ผลักดัน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ฯ เพื่อคุ้มครองพี่น้องประชาชนไม่ให้ถูกรังแก หรือถูกเอาเปรียบจากนายทุนผู้มีอิทธิพล

ในการพัฒนาให้เกิดการกระจายความเจริญออกสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้มีการดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ ทุกภูมิภาคของประเทศ และ EEC โดยมีผู้ประกอบการ SMEs สนใจจัดตั้งธุรกิจมากกว่า 3,000 ราย  มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI วงเงินเกือบ 9,000 ล้านบาท ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศได้ ประชาชนไม่ทิ้งบ้าน ละถิ่น คงความเป็นครัวเรือนไทย ผู้สูงอายุ ลูกหลาน ก็ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เป็นปัญหาสังคมตามมาเหมือนในอดีต รวมทั้ง ได้ดำเนินการจัดทำกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ และ มุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

ในอนาคต ก็จะเกิดห่วงโซ่การผลิต แปรรูป การตลาด กระจายตัวและเชื่อมโยงกัน โดยวัตถุดิบในท้องถิ่น ถูกนำเข้าสู่สายพานการผลิตและแปรรูปมากขึ้น มีการเชื่อมโยงตลาดภายในประเทศ นอกประเทศ และตลาดออนไลน์ ได้ดีขึ้นกว่าในอดีต เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้ลงทุนไว้ ทั้งการคมนาคม และสารสนเทศ มาตรการทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และ ไม่ได้มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็ได้วางรากฐานในการเพิ่มศักยภาพการผลิต มูลค่าสินค้า และบริการ ในระยะยาว

รวมถึง การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะเร่งผลักดันก็คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอีกด้วย ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า ภาครัฐได้พยายามวางแผนในการสนับสนุนพี่น้องในชุมชนในทุกมิติ เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ต่อไป

ผมขอฝากให้เร่งรัดในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งการซ่อมบ้าน สร้างบ้านใหม่ และรวมความไปถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งจะครอบคลุมในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสงคราม และกรุงเทพฯ ด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้แก้ปัญหาที่หมักหมมมานานนับสิบ ๆ ปี พร้อมทั้งวางรากฐานการพัฒนา เพื่อวันข้างหน้า วันนี้ ผมขอนำเสนอผลการดำเนินงานของรัฐบาลนี้ ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรของชาติ โดยเฉพาะในส่วนที่น้อยคนนักจะมองเห็น หรือให้ความสนใจ ได้แก่ (1) กองทุนส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในการที่จะดูแลทรัพยากรมนุษย์ของเรา เป็นการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ท่านรู้หรือไม่ว่าในแต่ละปี มีเด็กไทยมากกว่า 670,000 คน หลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะความยากจน และ (2) โครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรป่าชายเลน ที่เสื่อมโทรม ป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่งทะเล คืนระบบนิเวศให้กับชุมชน ช่วยลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ชาวเมือง และต่อยอดด้วยการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับคนไทยทั้งประเทศในอนาคต
 
 ผมก็อยากให้ดูนะครับ ว่ารัฐบาลนี้ ได้แก้ไขปัญหาที่คนส่วนใหญ่มองข้ามอย่างยั่งยืนได้อย่างไร  ในส่วนของการสร้างสวนสาธารณะ หรือทำให้เป็นพื้นที่สีเขียว รัฐบาลก็จะเร่งรัดให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทุกจังหวัด อันนี้ก็เป็นโครงการที่กระทรวงทรัพย์ฯ ได้พยายามเร่งดำเนินการอยู่แล้ว รวมความไปถึงกรุงเทพมหานครด้วย รัฐบาลให้ความสนใจในทุกเรื่องต่อไปนี้ขอเชิญชมวีดิทัศน์ รวมเวลาประมาณ 10 นาทีที่กล่าวมาแล้วเมื่อสักครู่

ขอบคุณนะครับ  ขอให้คนไทยทุกคน ดูแลซึ่งกันและกัน มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเอง รวมทั้งดูแลชาติบ้านเมืองของเรา ให้สงบร่มเย็น ภายใต้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และภายใต้พระบรมโพธิสมภาร นะครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้