Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1766 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559 เวลา 20.15 น.
------------------------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
นับเป็นระยะเวลา กว่า 6 ทศวรรษแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทาน บทเพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่” ด้วยทรงมุ่งหวังเพื่ออำนวยพร ให้พสกนิกรของพระองค์มีความสุข และเป็นระยะเวลา เกือบ 3 ทศวรรษแล้ว ที่พระองค์ ได้พระราชทาน ส.ค.ส. ให้ปวงชนชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากมีพระราชประสงค์ ที่จะ “ส่งความสุข” ในช่วงปีใหม่ และตลอดศกใหม่แล้ว ยังทรงให้สติ ให้ปัญญา ให้ข้อคิด และแนวทางในการดำรงชีวิตรวมทั้งให้กำลังใจต่อสู้เพื่อเอาชนะต่ออุปสรรคนานัปการอีกด้วย
ในโอกาสนี้ ผมขออัญเชิญ “พรอันประเสริฐ” เหล่านั้น มาเพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต แด่พี่น้องประชาชนชาวไทยอีกครั้ง อันประกอบด้วย “คุณธรรม” ที่สำคัญ อาทิเช่น ความซื่อสัตย์ คิดดี ทำดี เพื่อส่วนรวม ความขยัน อดทน และมีความเพียรอันบริสุทธิ์ การอดออม ประหยัด มัธยัสถ์ และมีความพอเพียง การแสวงหาความรู้ การใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา และการฝึกฝนเพื่อพัฒนาตนเอง ความมีสติ รู้คิด และไม่ประมาท รวมทั้งความรู้รัก สามัคคี และการทำงานเป็นทีม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะนำพาชีวิตของเรา และประเทศชาติ มีแต่ความสุข ความเจริญ และหากคนไทยทุกคน มีแต่ความยินดี และความปรารถนาดี มอบให้แก่กันแล้ว เราทุกคนก็จะมีชีวิตที่ปราศจากทุกข์ ทั้งปวง อันเป็น “สัจธรรม ความจริง” ของโลก ที่ผมอยากให้ทุกคนได้ตระหนัก เพื่อการครองชีวิต ตามครรลองที่ถูกต้องเหมาะสมอยู่เสมอด้วย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงใส่พระทัย “ทุกข์ สุข” ของปวงชนชาวไทย โดยทรงมีกระแสพระราชดำรัส ให้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ และแนวทางพระราชทาน ตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ไปประยุกต์ใช้ด้วยปัญญาและความเพียรสำหรับรัฐบาลและข้าราชการ ในการบริหารราชการแผ่นดิน และสำหรับประชาชนทุกคน ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ในการนี้ ผมขออัญเชิญ “ส.ค.ส. พระราชทาน ปีใหม่ พ.ศ.2537” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ศาสตร์พระราชา” โดยมีสาระสำคัญ ที่แสดงสัจธรรมแห่งชีวิต คือ “ยิ้มบ้าง ไม่ยิ้มบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เหมือน “จราจร” มาจากคำว่า “จร” แปลว่า แล่น “อะจร” แปลว่า ไม่แล่น ดังนั้น เมื่อสนธิเป็นคำใหม่ว่า “จราจร” จึงหมายถึง แล่นบ้าง ไม่แล่นบ้าง ให้ใจเย็น ต้องอดทน รักษาความเพียร รักษาความดี เพราะอุปสรรคเป็นเครื่องทดสอบ “คนดี” ที่จะไม่ยอมให้ความทุกข์ ความลำบาก ชักนำสู่หนทางเสื่อม” ทั้งนี้ ผมหวังว่า สัจธรรมง่าย ๆ นี้ จะเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ที่ยึดมั่นในความดี และไม่อยากให้ท้อถอย หมดกำลังใจ ตลอดปีใหม่ และตลอดไป
พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ
ในการเดินหน้าประเทศที่ผ่านมาปีหน้าและปีต่อไปนั้นเรามีความจำเป็นต้องกลับมาสำรวจตัวเองอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาไปสู่แนวทางที่ดีกว่า เพื่อลดช่องว่างและแก้ไขบกพร่องในอดีต ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำซากอีกต่อไป รัฐบาลเอง ก็มีการสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ และกลไกการบริหารราชการ เป็นระยะๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ภาครัฐจะใช้ความพยายามมากมายเพียงใดหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการแล้วการก้าวไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” ของเราทุกคน ทุกฝ่าย ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้
รัฐบาลนี้ ได้ริเริ่มกลไก “ประชารัฐ” เพื่อสานพลังทุกภาคส่วนเหล่านั้น เข้าด้วยกัน เชื่อมโยงกัน เกื้อกูลกัน เกิดเป็น “ห่วงโซ่” ที่ไม่อาจแยกคิด แยกทำได้ อีกต่อไป ทั้งนี้ “ห่วงโซ่” ทุกห่วง ต้องเข้มแข็งไปด้วยกันเพราะเราจะวัด “ความแข็งแรงของโซ่” ณ จุดที่อ่อนแอที่สุด จึงเป็นที่มาของวลีที่ว่า “เราไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่เราต้องพัฒนาซึ่งกันและกัน และพัฒนาเคียงบ่าเคียงไหล่ไปพร้อม ๆ กัน
สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรค และผมเห็นว่าเป็น “จุดอ่อน” ของประเทศไทย ก็อาจจะเกิดจากคนบางกลุ่มนั่นเองก็คือการไม่สามารถแยกแยะ และไม่เข้าใจคำสำคัญ 3 คำ คือ “สิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพ” ทั้งนี้ เมื่อกฎหมายกำหนด “สิทธิ” ให้แล้ว เราทุกคนย่อมมี “หน้าที่” ตามมา ไม่อย่างใด ก็อย่างหนึ่งเราจะเรียกร้องแต่ “สิทธิ” โดยไม่สนใจ “หน้าที่” ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้สังคมเกิดความสับสน อลหม่าน วุ่นวาย ทุกอย่างต้องอาศัยกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญเสมอ
ดังนั้น ผมขอให้ทุกคนสำรวจความเข้าใจเหล่านี้ ให้ถูกต้องช่วยกันลดจุดอ่อนในตัวเอง ขจัดจุดอ่อนของสังคมไทยด้วยการปรับทัศนะและกระบวนการคิด ในการมองโลก การปลูกจิตสำนึก ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และการเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ เพื่อมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน “ทั้งประเทศ” สำหรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” นั้น นอกจากจะหมายรวมถึง การนำพาประเทศชาติ ประชาชน ไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้านเศรษฐกิจแล้ว เรายังต้องพัฒนาไปสู่ “สังคม 4.0” อีกด้วย วันนี้ เรายังคงมีประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพ ทั้งกลุ่มที่ใช้ความรู้จากการประกอบการ ใช้ประสบการณ์อาศัยพึ่งพิงธรรมชาติ ใช้แรงงานทั้งมีฝีมือไม่มีฝีมือ รวมทั้งกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมเบา เครื่องจักรเบา เครื่องจักรหนัก ซึ่งแต่ระดับ ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในสังคมเดียวกันอยู่ห่วงโซ่รายได้ ของประเทศเราเช่นเดียวกัน
หากพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ ระบบนิเวศน์ “ไม่ได้แตกต่างกัน” ในเชิงโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในระบบเศรษฐกิจใด ๆ ย่อมต้องมีทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค พ่อค้าคนกลาง มีภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริการ อาทิเช่น มีคนปลูกข้าว คนแปรรูป คนรับไปขาย ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง บริษัทส่งออก มีนายทุน แหล่งเงินทุน โรงรับจำนำ ธนาคาร กองทุน เป็นต้น แต่ทั้งหมดนั้น มีรัฐบาล มีกฎหมาย มีกติกาสากล มีพันธะสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งคอยกำกับควบคุมดูแลอยู่เสมอ เช่นเดียวกับระบบนิเวศน์ ที่ต้องมีทั้งสัตว์ใหญ่ สัตว์น้อย แมลง ลงไปจนถึงจุลินทรีย์ มีอะไรมากเกินก็ไม่ดี น้อยเกินก็เสียสมดุลทางธรรมชาติ ทั้งนี้ หากเราเข้าใจ “กฎธรรมชาติ” แล้ว ก็เป็นสิ่งไม่ยากนักที่จะทำความเข้าใจคำว่า “กฎหมาย กติกาสังคม มาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ” เราจะต้องสร้างความสมดุลในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ ระหว่างการพัฒนากับการรักษาระบบนิเวศน์
ดังนั้น เราคงต้องมุ่งหวังจะนำพาประเทศไปสู่ “เศรษฐกิจ 4.0” ทั้งจะต้องนำพาที่อยู่ใน 1.0 2.0 3.0 ไปด้วย ก็ต้องเริ่มจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้” เพื่อการปรับปรุง และมีการพัฒนาตนเอง สำหรับในภาคเศรษฐกิจนั้น เราก็คงไม่สามารถจะทำให้ทุกคน ทุกอุตสาหกรรมเป็น 4.0 ได้ เพียงแต่จะทำอย่างไร ให้ 1.0 2.0 3.0 ของภาคอุตสาหกรรมนั้นได้รับการพัฒนาตนเอง โดยใช้ 4.0 เป็นกรอบใหญ่ ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพื่อจะสร้างความเชื่อมโยง เพิ่มมูลค่า และพัฒนาตนเอง เราไม่อาจทำให้ “ทุกกลุ่ม” มุ่งไปสู่การใช้หุ่นยนต์ เทคโนโลยี ระดับสูงได้ทั้งหมด เพราะภาคการเกษตรของเรายังมีอยู่มาก การผลิตและอุตสาหกรรมของเรามีหลายรูปแบบ รวมทั้งการใช้แรงงานที่ยังคงมีความสำคัญอยู่กับการจ้างงานทั้งปัจจุบันและอนาคต
สรุปง่าย ๆ บางอย่างอาจจะเป็นเพียงการปรับ การใช้เครื่องจักร เครื่องมือ กลไก ที่ทันสมัย ซึ่งสามารถจะผลิตนวัตกรรมของใช้ที่มีมูลค่าแข่งขันได้ แต่การใช้แรงงานจ้างงานก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม เพื่อจะดูแลประชาชนทุกคนหมู่เหล่า เช่น ที่เราเคยกล่าวไว้แล้วว่าเราจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม 5 S curve เดิม ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลาย 10 ปี ที่ผ่านมา ให้มีความทันสมัยขึ้นมาบ้าง ผลิตสิ่งของที่มีราคาสูงขึ้นมาบ้างแข่งขันได้ ทำนองนี้ ส่วนที่เราจะต้องนำพาไปสู่ในเรื่องของการใช้หุ่นยนต์ ส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องจักรใหญ่ ๆ เครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งใช้คนน้อยผลิตสินค้าที่มีราคาสูง ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ของโรงงานอุตสาหกรรมในโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน ที่รัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมการลงทุนอยู่ ที่เรียกว่า 5 New S curve
ทั้งหมดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อน มาทำงาน มาเป็นนักวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้าง “นวัตกรรมใหม่ ๆ” เราต้องพิจารณาดูว่าวันนี้มีนักวิจัย “สัญชาติไทย” ที่เพียงพอหรือยัง และมีการทำงานอยู่ในประเทศบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะที่จบจากต่างประเทศด้วย ในทุก ๆ กิจกรรมไม่ว่าจะเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมของประเทศ หากวันนี้ยังมีไม่พอ ทั้งนี้จะขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น เราต้องเร่งผลิต เร่งส่งเสริม ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว รวมทั้ง การที่จะต่อยอดที่มีอยู่แล้ว อาจจะต้องมีการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่พัฒนานำหน้าเรา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ฝีมือของแรงงานคนไทย ทั้งนี้ การพัฒนา “ภาษาอังกฤษ ภาษาต่างประเทศ ภาษาประเทศเพื่อนบ้าน” จะต้องอยู่ ในระดับที่สามารถทำงานร่วมกันได้ รองรับทุก ๆ กิจกรรมใน 1.0 2.0 3.0 และ 4.0 สิ่งเหล่านี้นั้นเป็นความจำเป็นที่ต้องใช้ต้องพัฒนา “ทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นอีกมากมาย รวมทั้งการใช้แรงงานที่มีฝีมือเพิ่มขึ้น และที่ไม่ใช้ฝีมือ ก็ต้องมีการพัฒนายังคงมีความสำคัญอยู่ต่อไป
ในเรื่อง “เศรษฐกิจ ปากท้อง” นับเป็นเรื่องสำคัญกับโลก ประชาคมระหว่างประเทศ และประเทศไทย ในเวลานี้ รัฐบาลได้นำปัจจัยภายใน ภายนอก และข้อเท็จจริงของระบบเศรษฐกิจไทย มาศึกษาในรายละเอียด ให้รู้และเข้าใจ ถึงปัญหาและอุปสรรค โดยรับฟังความคิด จากทุกภาคส่วน ทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ พ่อค้า ประชาชน ทุกกลุ่มรายได้ ทุกหน่วยสังคม ทั้งในเมืองและในชนบท สรุปปัญหาสำคัญ ได้ดังนี้
(1) ปัญหาในเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นต้องจัดกลุ่มให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มรายได้สูง ปานกลาง รายได้น้อย สำหรับนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ก็จำเป็นต้องอาศัยรายละเอียด และข้อมูลที่ทันสมัยให้ถูกต้อง สมบูรณ์ แม่นยำ เพื่อการพัฒนาแนวทางที่ถูกต้องที่ดีที่สุด หมายถึง ตรงตามความต้องการ ขจัดปัญหาและอุปสรรคของทุกกลุ่มให้ได้ รวมทั้งคุ้มค่ากับการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐอีกด้วย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่ม อันเป็น “แรงหนุน” การขับเคลื่อน การส่งเสริมจากภาครัฐ ไปสู่ความสำเร็จได้ ปัจจัยสำคัญก็คือ เราต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกร ในภาคการผลิตที่ต้องการเร่งดำเนินการภายใต้แรงกดดันจากภาวะ การตลาด ราคา หนี้สิน
(2) ปัญหาในการสร้างความเชื่อมโยง เช่น “ต้นทาง” การผลิต การเพาะปลูก “กลางทาง” การแปรรูป การสร้างนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มและ“ปลายทาง” ก็คือ การตลาด เราจำเป็นต้องสร้างทางเลือก สำหรับ ประชาชน พ่อค้าคนกลาง ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ให้เป็น “ตลาดทางเลือก” ของผู้ผลิต เพาะปลูก ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่า ให้ 4.0 ดูแล 1.0 ถึง 3.0 ให้เพิ่มมูลค่าไปด้วยกัน จาก 4.0 ถึง เศรษฐกิจฐานราก 1.0 นะครับ
(3) ปัจจัยด้านความรู้ องค์ความรู้ ในภาคการผลิต และด้านการตลาด โดยต้องนำเทคโนโลยี ดิจิทัล ออนไลน์ มาประยุกต์ใช้ให้มากขึ้น ทั้งในการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง การพัฒนากระบวนการให้สะดวกรวดเร็วขึ้นโดยรัฐบาลได้เน้นให้ทุกคนได้เข้าถึงแหล่งข้อมูล ความรู้ ข่าวสาร บริการที่ทันสมัย เพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ รวมทั้ง มีภูมิคุ้มกันให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จากสถานการณ์ภายใน และภายนอกประเทศในปัจจุบัน
(4) กฎหมาย และมาตรการอำนวยความสะดวกที่ยังคงล้าสมัยไม่เป็นสากลต้องได้รับการแก้ไขเพราะจะเป็นอุปสรรคในการลงทุน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และบางครั้งอาจจะเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชั่นได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่กีดขวางการพัฒนา มากบ้าง น้อยบ้าง เราจำเป็นต้องรับการแก้ไขให้ได้โดยเร็ว แต่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้ได้โดยเร็ว โดยขจัดกระบวนการที่ไม่จำเป็น ลดขั้นตอนให้รวดเร็ว สะดวก แต่สามารถตรวจสอบได้ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบดิจิทัล เครือข่าย ออนไลน์ ที่มีมาตรฐาน รวมทั้ง การใช้ One Stop Service (ศูนย์บริการบูรณาการแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว) มาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด และเข้าถึงง่ายที่สุด ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ ผลักดันให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปฏิบัติได้ ในเร็ววัน
(5) ปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เป็นการประกอบการธุรกิจที่ผิดกฎหมาย การเสียภาษีไม่ถูกต้อง การแสวงประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมาย การอาศัยอำนาจและผลประโยชน์ทับซ้อน การบุกรุกป่า การขายของในพื้นที่ห้ามขาย การไม่เคารพกฎหมาย ไม่เคารพกฎจราจร การขัดแย้ง การละเมิด ระหว่างสิทธิและหน้าที่ ตามกฎหมาย ทำให้ทุกอย่างติดขัด เกิดการแก้ปัญหาล่าช้า ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากถูกขยายความไปมาก ๆ อาจจะโดยสื่อโซเชียลทั้งเจตนาและไม่เจตนาอาจจะมีความไม่รับผิดชอบ ไร้จรรยาบรรณ ไม่ช่วยสร้างการรับรู้ที่ดี ในสิ่งที่ควรทำหรือต้องทำ หรือช่วยกันทำให้ได้ ผลดีไปตามลำดับ หากมัวแต่จะเสนอแต่ข้อบกพร่อง จับผิดสิ่งที่เพียงแต่กำลังเริ่มต้นบนการแก้ปัญหาที่มีปัญหาซับซ้อนอยู่แล้วเดิม นำไปสู่ความขัดแย้ง บิดเบือน หรือไม่รู้จริง ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่มีเหตุผลรองรับ มาขยายความในสังคมวงกว้างสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้น แล้วต่างประเทศจะมีความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย ได้อย่างไร แล้วประชาชนจะมีรายได้จากสิ่งที่เรากำลังเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ได้อย่างไรก็ขออยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ของสังคมขอประเทศชาติ โดยการร่วมมือกับรัฐบาล ในการแก้ปัญหาเหล่านี้
การแก้ปัญหาจากพื้นฐานที่ขาดความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคมค่อนข้างจะทำได้ช้า เพราะขาดการสร้างความเข้าใจที่ดี ขาดกระบวนการเรียนรู้ ขาดข้อมูลที่ที่สำคัญและที่ไม่ถูกบิดเบือน อีกทั้งสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ซึ่งย่อมรักความสะดวก เสรีที่ไร้ขีดจำกัด ความต้องการทุกคนไม่เหมือนกัน แต่ท้ายสุดก็คือ ความสะดวกสบาย มีเงิน มีอำนาจ แต่ทุกคนต้องไม่ลืมว่า ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องทางกฎหมาย จริยธรรมและความมีคุณธรรม เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย หากเราช่วยกัน มากบ้างน้อยบ้าง ด้วยความรัก ความสามัคคี ลดความขัดแย้ง หลายอย่างก็จะดีขึ้น เร็วขึ้น มากกว่าที่เรากำลังพยายามกันอยู่เวลานี้นะครับ
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานสมาคมต่าง ๆ และประชาชนที่มี “จิตอาสา” กว่า 45,000 คน ที่ร่วมกัน “ทำดีเพื่อพ่อ” ด้วยการจัดทำถุง “ ข้าวพอเพียง” จำนวน 3 ล้านกว่าถุง ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับนำไปมอบให้กับพี่น้องประชาชน ที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
สำหรับห้วงเทศกาล “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” นี้ ผมได้สั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ได้เตรียมความพร้อม วางมาตรการดูแลพี่น้องประชาชน ในการเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยว ทั้งจุดพักรถ จุดบริการ ป้ายบอกทาง สัญญาณไฟ บริการฉุกเฉิน ตลาด รวมทั้งสายด่วนต่าง ๆ ที่ทุกคนควรบันทึกไว้ ให้สามารถเรียกใช้งานได้ทันที สำหรับการดูแลรักษาบ้านเมือง ให้มีความสงบเรียบร้อยนั้น ผมขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน และสถานประกอบการ ห้างร้านต่าง ๆ ได้ช่วยกันเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตา และแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ทราบ เพื่อดำเนินการป้องกัน และแก้ไขเหตุการณ์ อันไม่พึงประสงค์ ได้ทันท่วงที เพื่อลดความเสียหาย ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทาง คนขับรถส่วนตัว รถสาธารณะ ขอให้ตรวจเช็คสภาพยานพาหนะ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อม ก่อนการเดินทาง ที่สำคัญ “งดดื่มสุรา เมาไม่ขับ” และอย่าฝากความหวังไว้กับเจ้าหน้าที่ดูแลแต่เพียงอย่างเดียวในการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนเองต้องระมัดระวังอุบัติเหตุด้วย เพราะไม่มีใครดูแลตัวเราได้ดีกว่าตัวเราเอง
ผมขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ ทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ทั้งตำรวจ ทหาร และอาสาสมัคร ที่เสียสละเวลา อุทิศตน ดูแลทุกข์สุข พี่น้องประชาชน ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ รวมทั้งบรรดาพี่น้อง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกองกำลังต่าง ๆ ในพื้นที่ชายแดนนั้นด้วย ขอให้พี่น้องได้ดูแล ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ด้วยการปฏิบัติตนตามกฎหมายบ้านเมือง และกฎจราจร เอาใจใส่อย่างเคร่งครัด อย่าขึ้นรถที่คนขับดื่มสุราหรือขับรถอันตรายรถมาก คนก็มาก การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ก็เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด ขอให้ทุกคนมีน้ำใจ และเข้าใจซึ่งกันและกันนะครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงเทศกาล “ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” สวัสดีครับ