"สุภิญญา" ประกาศยุติปฎิบัติหน้าที่ กสทช.ชั่วคราว หลังศาลฎีกาตัดสินคดีล้อมรัฐสภา ปี 2550

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  5440 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"สุภิญญา" ประกาศยุติปฎิบัติหน้าที่ กสทช.ชั่วคราว หลังศาลฎีกาตัดสินคดีล้อมรัฐสภา ปี 2550

ศาลฎีกา พิพากษากลับจากยกฟ้อง เป็นให้รอการกำหนดโทษ "สุภิญญา กลางณรงค์" กับพวกรวม 10 ราย องค์กรประชาชนบุกรัฐสภา ขวาง สนช.พิจารณาร่างกฎหมายปี 2550

วันที่ 15 มีนาคม 2560 ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ อายุ 67 ปี ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์), นายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 54 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2, นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 57 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 และอดีตประธานสหภาพแรงงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.), นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 35 ปี, นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท อายุ 50 ปี, นายนัสเซอร์ ยีหมะ อายุ 41 ปี, นายอำนาจ พละมี อายุ 50 ปี, นายไพโรจน์ พลเพชร อายุ 60 ปี กรรมการปฏิรูปกฎหมาย, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง อายุ 51 ปี อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อายุ 42 ปี กรรมการ กสทช. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 362, 364, 365

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 จำเลย กับพวกหลายร้อยคน ได้มั่วสุมบริเวณ ถ.อู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา พวกจำเลยในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนได้ใช้รถบรรทุก 6 ล้อ ติดเครื่องขยายเสียง มาจอดปิดทางเข้าออกรัฐสภา ใช้โซ่ล่ามประตูเข้าออกไม่ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ทำการรัฐสภา ทั้งยังได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา เพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาจำเลยกับพวกหลายร้อยคนได้บุกอาคารรัฐสภาใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยจนบาดเจ็บ จากนั้นได้เข้าไปชุมนุมที่อาคาร 1 ชั้น 2 ที่ใช้เป็นที่ประชุม สนช.แล้วได้ร่วมกันพูดและส่งเสียงกดดันจนสมาชิกรัฐสภาต้องเลิกการประชุม สนช.ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ เหตุเกิดที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้เรื่องเจตนาว่าการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจะยื่นข้อเสนอเรียกร้องต่อ สนช.ที่เร่งรีบจะพิจารณากฎหมาย 11 ฉบับ

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ว่า จำเลยที่ 1-4 และ 7-8 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นผู้สั่งการ ตามมาตรา 215 วรรค 3 ที่มีโทษบทหนักสุดให้จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5-6 และ 9-10มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ม. 215 วรรคแรก จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 9,000 บาท รอลงอาญาสองปี

แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 1-4 และ 7-8 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5- 6 และ 9-10 จำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดเคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน และกระทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาจำเลยทั้งสิบไว้คนละ 2 ปี ต่อมาจำเลยทั้ง 10 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีว่าการเข้าไปในอาคารรัฐสภาและได้มีการปราศรัยต่อประชาชนนั้น เป็นการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่จะคัดค้าน สนช.พิจารณากฎหมายและการชุมนุมแสดงความคิดเห็นก็ยังได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยมีเจตนาคัดค้านว่าไม่ควรเร่งรีบออกกฎหมายที่สำคัญ รอสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ออกกฎหมาย ไม่เป็นความผิด การเข้าไปในรัฐสภาไม่ได้เข้าไปครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เป็นการแสดงจุดยืนยื่นข้อคัดค้านโดยสงบปราศจากอาวุธ

ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกา โดยในวันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมายังศาลอาญาเพื่อรับฟังคำพิพากษา มีคนใกล้ชิดและประชาชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจเต็มห้องพิจารณาคดี

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 10 และกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันช่วงเช้ามืดที่ถนนอู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา มีการปราศรัยปลุกเร้าผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้ สนช.ผ่านร่างกฎหมาย ผู้ชุมนุมได้ใช้โซ่ล็อกประตูรัฐสภาจากด้านนอก ใช้เหล็กครอบปลายแหลมของรั้วรัฐสภา และใช้บันไดพาดรั้วปีนเข้าไปภายใน แสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมการเข้าไปในรัฐสภาตั้งแต่ต้น โจทก์มีพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เห็นผู้ชุมนุมวิ่งมาหน้าห้องประชุมรัฐสภาและยื้อกับเจ้าหน้าที่ พร้อมผลักประตูกระจกเข้าไปด้านใน สอดคล้องกับหลักฐานภาพในซีดี แม้รัฐธรรมนูญจะรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น การที่ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในรัฐสภาซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน และต้องปฏิบัติตามระเบียบรักษาความปลอดภัยของรัฐสภา การที่เจ้าหน้าที่ปิดประตูรั้วรัฐสภาตั้งแต่ต้นเป็นการย้ำว่าไม่ให้มีการเข้าไปด้านในรัฐสภา

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีจำเลยคนใดห้ามปรามไม่ให้มีผู้ชุมนุมเข้าไปด้านใน รวมถึงจำเลยบางรายยังปีนรั้วตามเข้าไปด้วย และมีการผลักประตูกระจกเข้าไปยังห้องโถงของอาคารรัฐสภา ถือได้ว่ามีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข ไม่มีเหตุอันควร การคัดค้านการออกกฎหมายสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 10 เป็นความผิดตามศาลชั้นต้น แต่เมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุก อายุ อาชีพ การศึกษา เหตุผลและวัตถุประสงค์แล้ว เห็นว่าเป็นพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง จึงให้รอการกำหนดโทษคนละ 2 ปี

ต่อมา นายจอน ให้สัมภาษณ์หลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า ในนามของจำเลยทั้ง 10 ขอขอบคุณทนายความของเราที่ทำงานหนักโดยที่ไม่รับผลประโยชน์อะไรตอบแทนในการสู้คดีนี้ ที่ร่วมต่อสู้กันมาไม่ใช่แค่ในฐานะจำเลย แต่ช่วยยืนยันว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ชาติ เราทำด้วยเจตนาที่อยากเห็นความยุติธรรมในบ้านเมือง ไม่อยากเห็นสภาที่มาจากการแต่งตั้งรีบออกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพ ให้รอสภาที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาแทน เพราะกฎหมายดังกล่าวกระทบสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพเป็นวงกว้าง และส่วนตัวเห็นว่า สนช.ชุดนั้นก็ไม่ต่างจาก สนช.ชุดปัจจุบัน แต่เราก็มีคดีแล้ว ไม่สามารถทำซ้ำกับที่ผ่านมาได้ การต่อสู้ในปัจจุบันจึงมีประชาชนคนรุ่นใหม่ต่อสู้อยู่

ด้าน น.ส.สุภิญญา ให้สัมภาษณ์กรณีที่คดีนี้จะกระทบการทำหน้าที่กรรมการ กสทช.ของตนหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องที่ตอบยาก ต้องหารือกับทนายความและศึกษาความชัดเจนอีกครั้ง และส่งรายงานผลไปยัง กสทช.ให้ตีความ เพราะเป็นการรอการกำหนดโทษ

“จากคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีชุมนุมปีนสภาค้าน สนช.วันนี้ แม้ศาลท่านจะไม่ได้กำหนดโทษจำคุก แต่ก็พิพากษาว่าดิฉันกระทำความผิด จึงมีประเด็นทางกฎหมาย วันนี้ดิฉันจะทำบันทึกแจ้งเลขาธิการ กสทช.ถึงคำพิพากษาให้ สนง.ตีความ กม. โดยตั้งแต่วันนี้ดิฉันจะยุติการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน(ไม่รับค่าตอบแทน) ถ้าการตีความออกมาว่าไม่ขัดคุณสมบัติ ก็ค่อยกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ แต่ถ้าขัดก็ถือว่าสิ้นสภาพการเป็น กสทช.ตามกฎหมายตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปค่ะ ส่วนตัวตีความว่าขัด พ.ร.บ.กสทช. เพราะศาลฎีกาพิพากษาว่าดิฉันทำความผิดฐานชุมนุมค้าน สนช. แม้ว่าจะยังไม่มีโทษจำคุก จึงตัดสินใจขอยุติการทำหน้าที่ ดิฉันน้อมรับคำพิพากษาสูงสุดของศาลฎีกาในวันนี้ แม้จะยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจตลอดมา สรุป ก็รอให้ สนง.กสทช.ทำการตีความออกมาเป็นทางการ ระหว่างนี้ดิฉันก็หยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมเก็บของรอไปพลางก่อน มีเอกสารต้องเคลียร์จำนวนมาก ระหว่างการยุติการปฏิบัติหน้าที่ ดิฉันและทีมก็ไม่รับค่าตอบแทนใดตั้งแต่วันนี้และจะทำเรื่องส่งคืนทรัพย์สินที่ถือครองในการทำงานคืน สนง.โดยเร็ว” นางสาวสุภิญญาทวิตข้อความ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้