Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1960 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2560 เวลา 20.15 น.
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในปีนี้ทรงเจริญพระชนมายุ 62 พรรษา รัฐบาลขอเชิญชวนปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า พร้อมใจกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ พร้อมกันนี้ขอให้ร่วมใจกันทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลด้วยนะครับ
สำหรับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี เป็นวันข้าราชการพลเรือน ซึ่งได้กำหนดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ผู้ทรงวางรากฐานระเบียบข้าราชการพลเรือนไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจแก่เหล่าข้าราชการทุกท่าน ทุกประเภท ทุกระดับ ที่ได้ทำงานต่างพระเนตร พระกรรณ เพื่อความสุข ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน และการพัฒนาประเทศเสมอมา
ผมหวังว่า เพื่อน พี่น้อง ข้าราชการทุกท่านจะมีความภาคภูมิใจ และดำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ของความเป็นข้าราชการ ที่ต้องมีความเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต อุทิศเวลาและกำลังความสามารถ พัฒนาตนเองเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มานำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ผมเองอยากเห็นพี่น้องข้าราชการ ทำหน้าที่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านประเทศโดยน้อมนำลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ทำตามหน้าที่ไป และคิดเอาเองว่าหน้าที่คืออะไร”มาใส่เกล้าใส่กระหม่อม ใช้ความกล้าหาญ และความคิดสร้างสรรค์ นำพาประชาชนไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีกว่าและเพื่อการปฏิรูปประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และสมดุล
จากการลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครพนมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมขอชื่นชมความคืบหน้า และความสำเร็จจากการทำงานอย่างหนักของข้าราชการ ร่วมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มพลังมวลชน และประชาชนในพื้นที่ ในการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล เช่น (1) โครงการ “บ้านสวย เมืองสุข” (2) ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (3) โครงการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชน (4) การส่งเสริมและพัฒนาทางอาชีพเกษตรกร เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ ไรซ์เบอรี่ และพืชผักสวนครัว และ (5) การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ จากการพบปะและรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และหารือร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ ผมรับรู้ได้ถึงการทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ ในความต้องการที่จะผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการเกษตรและอาหาร การบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน และกลไกประชารัฐตามนโยบายรัฐบาล ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด กลุ่มจังหวัดนั้น นอกจากจะมีการวิเคราะห์จุดแข็ง – จุดอ่อน แล้ว ยังมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศอีกด้วย เช่น นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้แก่ การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร นครพนม เพื่อจะเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ, การก่อสร้างถนนจากท่าอากาศยานนครพนม , การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 นครพนม–ท่าอุเทน , การสร้างสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 3 นครพนม – คำม่วน , การก่อสร้างอาคารด่านศุลกากรแห่งใหม่ และการก่อสร้างศูนย์การขนส่งชายแดน เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศไทย ลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้มีการกระจายความเจริญ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพมากขึ้น
ผมขอขอบคุณข้าราชการ และพี่น้องประชาชนทั้งจากในพื้นที่ และจากจังหวัดใกล้เคียง ที่ได้ให้การต้อนรับผมและคณะด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเองนะครับ ระหว่างการเยือนครั้งนี้ผมเห็นสภาพภูมิทัศน์ของบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทางในจังหวัดนครพนม ก็ขอชื่นชมในความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ความสะอาดนะครับ ผมสังเกตว่าตลอดสองข้างทางที่รถวิ่งผ่านนั้น สะอาดสะอ้าน ไม่มีป้ายโฆษณาเยอะแยะให้รกหูรกตาเหมือนหลาย ๆ เส้นทางที่เคยเห็น ก็อยากจะฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงไปกำกับดูแลในเรื่องของการติดป้ายโฆษณาทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ตามถนนหนทางและในเมือง รวมทั้งข้างทางด่วน และบนตึกสูง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่พวกเราอาจจะเห็นกันจนชินตาไปแล้ว อาจจะไม่ปลอดภัยด้วยซ้ำไป ก็ขอให้ช่วยตรวจสอบว่าถูกต้องตามระเบียบ ตามข้อกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่ โครงสร้างมีความมั่นคงหรือเปล่า เพราะนอกจากจะทำลายทัศนียภาพแล้ว อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศแปรปรวนอย่างเช่นเวลานี้ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากเป็นการดึงความสนใจของผู้ขับขี่ยานพาหนะไปจากถนน และบดบังสัญญาณไฟจราจร ป้ายบอกทาง ป้ายเตือนภัยต่าง ๆ อีกด้วยนะครับ
ตัวอย่างดี ๆ ที่หน่วยงานของรัฐ ก็ได้พยายามพัฒนารูปแบบการให้บริการพี่น้องประชาชน โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ (1) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการผลิตอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับคนพิการ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (หรือ I-Walk) ช่วยให้คนมีอาการอัมพาตครึ่งซีกสามารถทำกายภาพบำบัด ฝึกเดินเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ฟื้นฟูจากอาการพิการได้อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ โดยการผลิตเองในประเทศ ใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดซื้อจากต่างประเทศมาก นับเป็นตัวอย่างการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างการผลิต สร้างมูลค่าในประเทศ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่ได้คุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย
(2) กระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนา Echo English ในการเรียนภาษาอังกฤษฟรี บนมือถือ ซึ่งมีแบบเรียน แบบทดสอบ สำหรับฝึกทักษะการฟัง พูด สำเนียงเจ้าของภาษา และทักษะการเขียนด้วย โดยแบ่งตามระดับพื้นฐานของผู้เรียนแตกต่างกัน เช่น ระดับพื้นฐาน ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน การทักทาย การแนะนำสถานที่ การสนทนากับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ระดับกลาง ก็จะใช้ในการประกอบอาชีพสาขาต่าง ๆ เพื่อจะรองรับไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการแรงงานฝีมือ ที่พร้อมพัฒนาตนเอง เป็นหัวหน้างาน และระดับขั้นสูง เป็นระดับวิชาการ และภาษาทางเทคนิค สำหรับการดำเนินกิจการ ทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด มาใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งระบบ Android และ iOS อันนี้อยากจะให้ทุกคนให้ความสนใจ ให้ความสำคัญมาก ๆ เรื่องภาษาอังกฤษ
และ (3) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพัฒนาแอพพลิเคชัน Police i lert u สำหรับการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ในรูปแบบข้อความ ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ สามารถส่งตรงไปยังศูนย์ควบคุมและสายตรวจได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อจะสามารถระงับเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพทันเวลากว่าโทรศัพท์ธรรมดา ปัจจุบันได้จับมือภาคเอกชน ในการพัฒนาแอพพลิเคชันนี้ เพื่อจะควบคุมการขับขี่ของโชเฟอร์รถตู้โดยสารสาธารณะที่ขับรถเร็วเกินกว่าอัตรา ประมาท น่าหวาดเสียว ใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร เป็นต้น ขณะนี้ มีรถตู้เข้าร่วมกับแอพพลิเคชันแล้ว กว่า 2,500 คัน ผมอยากให้ทุกหน่วยราชการได้นำมาเป็นตัวอย่าง ในการนำผลงานวิจัยจากภาควิชาการมาประยุกต์ใช้ เพื่อมาเพิ่มมูลค่า ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ให้สมกับคำว่า “ข้าราชการ” ที่หมายถึงผู้ทำกิจการทำงานเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระราชา ด้วยนะครับ
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ประเด็นที่ผมต้องการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันในสัปดาห์นี้ ได้แก่
1. การปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน ที่รัฐบาลกำลังพยายามดำเนินการอยู่ บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คำนึงถึงยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน โดยแปลงไปสู่การปฏิบัติ ในรูปแบบแผนงานโครงการต่าง ๆ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4 แผน ๆ ละ 5 ปี รวมใช้เวลาอย่างน้อย 20 ปี ทั้งนี้ 5 ปีแรก เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ก็น่าจะมีผลเป็นรูปธรรมนำไปสู่ความยั่งยืน แต่ถ้าปล่อยให้เป็นการบริหารราชการแผ่นดินแบบเดิม เช่น การแก้ปัญหาตามกระแสเรียกร้อง ที่ไม่ยั่งยืน ไม่สร้างความเข้มแข็ง ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ปัญหาเดิม ๆ ก็จะวนเวียนอยู่ในสังคมไทยตลอดไป
2. การปฏิรูปเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกร้อง แต่ต้องทำโดยมียุทธศาสตร์ ก็ขออย่าได้กลัว หรือหวาดระแวง ทุกอย่างต้องเริ่มที่กฎหมาย ต้องมีวิสัยทัศน์ในการร่างกฎหมาย ต้องศึกษาจนเข้าใจสภาพปัญหา และสภาพแวดล้อม เพื่อให้กฎหมายทันสมัย ทันโลก ทันเทคโนโลยี ปัจจุบันทุกอย่างที่เราทำกันอยู่นี้ เป็นไปตามหลักสากลแล้ว กำลังเข้ารูปเข้ารอย และชาวโลกเขาก็ต้องยอมรับนะครับ เมื่อเราทำสำเร็จแล้ว
ที่ผ่านมากฎหมายถูกบิดเบือน บังคับใช้แบบศรีธนญชัย ถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ในการหลอกลวง ตักตวงผลประโยชน์ไม่สุจริต ประชาชนเข้าไม่ถึง ข้าราชการระดับปฏิบัติ ปล่อยปละละเลย และฝ่ายการเมืองระดับนโยบาย ไม่กำกับดูแล จนสังคมเคยชินกับการไม่ต้องเคารพกฎหมาย ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิผู้อื่น เป็นเหตุให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ กระบวนการยุติธรรมถูกท้าทาย มีกฎหมู่เหนือกฎหมาย มีอำนาจทับซ้อนอำนาจรัฐ มีผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ไปจนถึงระดับชาติ สุดท้ายประชาชนก็เป็นผู้ถูกกระทำ ประเทศชาติก็ต้องรับผลเสียหาย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมาดูแลตรงนี้ เหมือนกับที่รัฐบาล และ คสช. ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็คือดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ชาติ จะกำหนดทิศทางการปฏิรูป และการวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต ตัวอย่างสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ (1) การป้องกันทุจริตที่เป็นระบบ เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง มีการกำหนดราคากลาง การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ e-Bidding ในการประมูล ซึ่งเป็นระบบปิดและการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรอิสระในการตรวจสอบ
(2) การเมืองที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยการไม่เคารพกฎหมายของประชาชน และการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมในการเลือกตั้งใหม่ ที่จะต้องมุ่งเน้นเลือกตั้งจากนโยบายพรรคในการหาเสียง ที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ความนิยมตัวบุคคล สร้างจิตสำนึกพลเมืองดี และสร้างหลักคิดในการแก้ปัญหา ไม่ใช้อารมณ์ หรือความรู้สึก อยู่เหนือเหตุผล
(3) การเข้าไม่ถึงบริการภาครัฐ สวัสดิการสังคม กระบวนการยุติธรรม โดยต้องมีศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (OSS) ให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง และลดเงื่อนไขการเรียกรับผลประโยชน์ การตั้งกองทุนยุติธรรม กองทุนการออมแห่งชาติ และการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
(4) การแก้ปัญหาปากท้อง และการพัฒนาที่ไม่สมดุลกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยรัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีฐานคิดในการกำหนดทุกมาตรการ รวมทั้งเน้นการมีส่วนรวมของชุมชน และผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยการสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เศรษฐกิจฐานราก จะเป็นเสาเข็มที่มั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจของชาติ ในภาพรวม มีการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาค โดยการกำหนดกลุ่มจังหวัด และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มุ่งเน้นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง สารสนเทศ พลังงาน น้ำ รองรับการพัฒนาต่างๆ ดังกล่าว อย่างมียุทธศาสตร์
และ (5) การยกระดับภาคการเกษตรของประเทศเป็นเกษตร 4.0 โดยให้ความสำคัญเรื่องการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร ซึ่งรัฐบาลต้องดูแลตั้งแต่ต้นทาง คือ พัฒนาพี่น้องเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farmer ให้สามารถเข้าถึงศูนย์การเรียนรู้ของกระทรวงต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และรวมเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ทั้งพืช ประมง ปศุสัตว์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต ง่ายต่อการบริหารจัดการ อีกทั้งการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ระบายน้ำ ระบบส่งน้ำและการสร้างฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการเกษตร ที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลดิน น้ำ อากาศเพื่อช่วยพยากรณ์ ช่วยตัดสินใจ ช่วยให้รู้ว่าพื้นที่ใดควรปลูกอะไร มากน้อยแค่ไหน น้ำเพียงพอหรือไม่ พืชผลจะได้ไม่เสียหาย ราคาจะได้ไม่ตกต่ำ
สำหรับกลางทางและปลายทาง ก็ต้องมีบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งดิจิทัลและออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงการตลาด ตลาดออนไลน์ เชื่อมโยงภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น
สิ่งที่ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจอีกครั้ง ก็คือ ทุกวินาทีที่ผ่านไป โลกเปลี่ยนแปลง อาเซียนก็เปลี่ยน ทุกประเทศในอาเซียนก็ต้องปรับตัว เราจะอยู่แบบเดิม ๆ ไม่ได้ จะต้องพึงพาอาศัยกันและกันเราต้องพัฒนาเราต้องอิงหลักการ เหตุผลกฎหมาย และการมีจิตสำนึก เพื่อปรับปรุงการทำกิจการของตนให้ดีขึ้น เราต้องช่วยเหลือกัน ต้องร่วมมือกัน ประเทศไทยไม่ได้มีอำเภอเดียว จังหวัดเดียว และอยู่ประเทศเดียวแบบโดดเดี่ยว ก็ไม่ได้ ประเทศไทยมีทั้งคนยากดีมีจน ไม่เท่ากัน แต่ทุกคนสำคัญเหมือนกันหมดเพราะเป็นคนไทย รัฐบาลต้องสร้างบรรยากาศความเท่าเทียมทางสังคมด้วย ในทางเศรษฐกิจ ก็มีทั้งนายทุน ผู้ประกอบการ บริษัทขนาดใหญ่ ของคนรวย ซึ่งธรรมชาติการทำธุรกิจเสรี ย่อมหวังผลกำไร แต่กำไรนั้นก็จะย้อนกลับมาสู่ประเทศชาติ และพวกเราทุกคน ในรูปแบบของ เงินภาษี สำหรับในการจัดหาสวัสดิการให้กับคนทั้งประเทศ แต่การทำธุรกิจที่มุ่งแต่ผลกำไร ก็คงไปไม่รอด ต้องเกื้อกูลสังคม ต้องสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ต้องดูแลผู้บริโภคและทุกคนในห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย นี่คือหลักคิดของกลไกประชารัฐที่เชื่อมโยงและเกื้อกูลกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอด และเศรษฐกิจระดับฐานรากก็สามารถลืมตาอ้าปากได้
ดังนั้น การที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีฐานะมั่นคงนั้น การพัฒนาประเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ทั้งนี้ การวางยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดการปฏิรูป ก็ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจให้ได้ครบถ้วนในทุกกลุ่ม กลุ่มแรก คือ เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมูลค่าสูง เช่น การลงทุนในประเทศของบริษัทขนาดใหญ่ การลงทุนของภาครัฐในสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ คิดเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มรายได้ของประเทศในระยะสั้น ภาษีที่จัดเก็บได้เป็นกอบเป็นกำ ก็สามารถนำไปพัฒนาประเทศ กระจายทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ เราก็ต้องไม่ลืมว่า การลงทุนทั้งของเอกชนและภาครัฐ ถือเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศ ทั้งด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และจะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้ในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จึงต้องให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสนับสนุนการผลิตและการขนส่ง เพื่อให้ประเทศมีความพร้อม สามารถดึงดูดการลงทุนทั้งจากในและนอกประเทศให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเกื้อหนุนภาคส่วนอื่น ๆ ของระบบเศรษฐกิจ ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กันได้
กลุ่มที่สอง คือ เศรษฐกิจขนาดกลางไปจนถึงขนาดเล็ก ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลไกที่เป็นแขนขาของระบบเศรษฐกิจ เป็นมดงานที่ช่วยกันขับเคลื่อนให้งานสำเร็จ ถึงมูลค่าจะไม่ใหญ่ รายได้ไม่มาก แต่เนื่องจากมีจำนวนมาก ทำให้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไม่แพ้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าลืมว่าการจ้างงานของประเทศไทยส่วนใหญ่ ก็อยู่กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเหล่านี้ ทั้งนี้ การสนับสนุนเศรษฐกิจขนาดกลาง จะต้องเร่งพัฒนารากฐานที่สำคัญก็คือ เรื่องคน เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญของเศรษฐกิจขนาดกลางนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนเต็มคน สามารถดึงศักยภาพออกมาใช้ได้เต็มที่ มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต เพิ่มรายได้ ให้คนกลุ่มนี้มีรายได้มั่นคง มีเสถียรภาพ ซึ่งก็จะหมายถึงความมั่นคงของรายได้ภาครัฐและเศรษฐกิจด้วย
สำหรับกลุ่มสุดท้าย คือ เศรษฐกิจฐานรากที่ถือเป็นกระดูกสันหลัง เป็นเสาหลักของประเทศ เป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด เพราะประกอบไปด้วยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อยู่ในภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร เป็นที่มาของแรงงานในการผลิตสินค้าของประเทศ เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ ถ้าพี่น้องกลุ่มนี้มีรายได้ดี ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย แต่ที่ผ่านมา รายได้ของพี่น้องประชาชนในเศรษฐกิจฐานรากนี้ ยังผันผวนไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ส่วนใหญ่ควบคุมได้ยาก หรือควบคุมไม่ได้เลย เช่น ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ดินฟ้าอากาศ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โรคระบาดทั้งในพืชและสัตว์
ที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคเอกชนเห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนในกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก และพยายามช่วยกันดูแล รัฐบาลก็เร่งดำเนินการ ทั้งการช่วยสนับสนุนด้านรายได้ในระยะสั้นให้กับผู้ที่ประสบปัญหา ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพการผลิตในระยะยาว เช่น การบริหารจัดการน้ำให้พอเพียง พอเหมาะ การสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ การจัดหาพื้นที่ทำกินให้กับพี่น้องประชาชน การร่วมมือกับเอกชนเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต และทำการตลาด ภายใต้โครงการประชารัฐ และอื่น ๆ อีกมาก
มาตรการทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในด้านที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ให้พี่น้องประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น หากประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ มีรายได้ที่มั่นคงขึ้น ลดการพึ่งพาการสนับสนุนระยะสั้น ยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ประเทศก็จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ที่เราติดอยู่มาเป็นเวลานาน และเติบโตได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ การที่จะทำให้ทุกกลุ่ม ทุกคนดีขึ้น ภาครัฐจะต้องสนับสนุนทั้ง 3 กลุ่มอย่างเหมาะสม ให้ตรงกับความต้องการ ต้องช่วยแก้ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด เช่น กฎหมายที่ยังไม่ทันสมัย แล้วจึงจะเกิดประโยชน์รายกิจกรรม ที่ส่งผลถึงประชาชนโดยรวม ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องทำทั้งด้านโครงสร้าง การปฏิรูป และสนับสนุนรายกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน ที่จะแก้ไขที่ต้นเหตุด้วย ไม่ใช่ปลายเหตุอย่างเดียวเช่นที่ผ่านมา
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การยึดโยงการเติบโตของทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน ให้แต่ละกลุ่ม สามารถสนับสนุนกันและกันได้เต็มที่ เพราะล้วนมีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันสูง ต้องให้ประโยชน์กระจายไปถึงประชาชนทุกระดับ จนถึงผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะภาคเกษตร ในการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ เราไม่สามารถทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อีกต่อไป
ภาครัฐเองต้องเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กันทั้งการปรับปรุงการบริหารจัดการและการทำงานของข้าราชการให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ไม่ทันสมัย และเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและประชาชน ในการช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่คอยแต่จะคัดค้าน คะคานกัน เพียงเพราะเกรงผลกระทบต่อตนเอง
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ ประชาชนอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ประเทศมีความมั่นคง ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทุกคนต้องร่วมมือพัฒนา สร้างสรรค์ เผื่อแผ่แบ่งปัน ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมที่จะกลับมามองตนเอง ปรับปรุงตนเองให้คิดอย่างมีหลักคิด มีอุดมการณ์ มีความเสียสละ อดทน ไม่ให้ร้าย ไม่บิดเบือน ไม่สร้างความแตกร้าวให้สังคม เราต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน เหนื่อยยากไปด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง มีประเทศที่เติบโตยั่งยืนให้ได้
พี่น้องประชาชนที่รักครับ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาสำคัญในบ้านเมืองเรา ผมขอฝากให้ช่วยกันพิจารณา ขอฝากให้ช่วยกันพัฒนา ลองช่วยกันคิด ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลบังคับให้คิดตาม หรือคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ คิดได้ครับ แต่อยากให้รอบคอบ มีเหตุมีผล ไม่มองแต่ในมุมของตัวเองมากเกินไป ไม่ฟังคนอื่น ไม่ฟังรัฐบาล ไม่ไว้ใจใครเลย ในส่วนของรัฐบาลนั้น รับฟังท่าน เหมือนที่รับฟังทุกคน ทุกฝ่าย เพราะเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่รัฐบาลของใคร กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การรับฟังไม่ใช่การเอาชนะ จึงไม่ใช่การหักล้างข้อมูลของผู้อื่นว่าเป็นเท็จ แล้วยกของท่านว่าเป็นจริง แต่ต้องเป็นการนำหลักฐาน หลักการ และยกเหตุผลมาสนับสนุน ข้อมูลจากทุกฝ่ายย่อมมีความสำคัญทั้งสิ้น อาจเป็นเพียงการมองต่างมุม แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนโดยเจตนา ก็เป็นสิ่งที่อันตราย ส่วนการพิสูจน์ว่าข้อมูลใดถูกต้องนั้น ก็ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เชื่อถือได้ อ้างอิงได้ และเป็นสากล เอามาดูทั้งหมด แล้วแสวงหาบทสรุปร่วมกันให้ได้ และขอให้ทุกฝ่ายยอมรับในสิ่งนั้นด้วย จะได้เดินหน้าประเทศต่อไปได้ อาทิเช่น
1. เรื่องพลังงานไฟฟ้า หากจะมีปัญหากับสิ่งแวดล้อม ก็ไปดูว่าเขาแก้ปัญหาเหล่านั้นได้หรือไม่ อย่างไร การนำข้อบกพร่องในอดีตมาเป็นบทเรียนในวันนี้ เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องติดตามด้วยว่า การดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านั้น ในทุกวันนี้เป็นอย่างไร ยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีก็ก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่เป็นปัญหาในอดีต อาจไม่ใช่ปัญหาในปัจจุบัน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง วันนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้วชุมชนรอบ ๆ โรงไฟฟ้า ปัจจุบันปัญหาของเขาได้รับการแก้ไข และได้รับผลประโยชน์ที่มากกว่ามีไฟฟ้าใช้ เช่น มีกองทุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งผมอยากให้ลองไปติดตามแล้วคิดดูบ้างนะครับ
การที่บุคคลภายนอกทั้ง NGO และคนนอกชุมชน มากดดันไม่ให้เกิดสิ่งต่าง ๆเหล่านั้น บางครั้งการค้านแบบหัวชนฝา อ้างแต่ปัญหาเดิม ๆ ความไม่ไว้วางใจ เอาเทคโนโลยีเดิมมาพูด โดยไม่รับฟังข้อมูลฝ่ายรัฐบ้าง เมื่อเกิดความเสียหาย ประชาชนเสียผลประโยชน์ ประเทศชาติไม่มีความมั่นคงด้านพลังงาน
ตัวอย่างเห็นไหมครับ ไฟดับชั่วโมงกว่า ในภาคเหนือ ในหลายวันที่ผ่านมา อันตรายมากนะครับ เราไม่สามารถจะเพิ่มกระแสไฟฟ้าจากภายนอกไปได้ทันเวลาและมากนัก ฉะนั้นจำเป็นต้องมีแหล่งกำเนิดไฟฟ้าในพื้นที่เป็นพลังงานสำรองที่จะทำให้ไฟไม่ดับ เป็นระบบสำรอง โครงการพัฒนาต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับ ถ้าทุกคนยังไม่ช่วยกันคิด ไม่ช่วยกันทำ มันไม่เกิด แล้วทุกคนก็ไม่รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นก็ขอให้หาข้อมูลมาหักล้าง หากข้อมูลของทางราชการไม่ถูกต้อง ไม่เป็นจริง เพียงแต่ว่าไม่ตรงใจท่าน ท่านก็บอกว่ามันไม่ใช่ แบบนี้ไม่ถูกต้องนะครับ
ส่วนการกล่าวอ้างว่า รัฐบาลนี้จะทำอะไรก็เพื่อเอื้อประโยชน์กับนายทุนนั้น ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐดีอยู่แล้ว ก็เป็นการประมูลตามกฎหมาย ที่ต้องกำกับดูแลไม่ให้มีการทุจริต ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเอื้อประโยชน์ ถ้าเรายกทุกอย่างมาเป็นปัญหา วันข้างหน้าเราคงจะทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเป็นอุปสรรคไปหมด แต่ก็อยากได้ อยากมี อยากแก้ปัญหา อยากพัฒนาเหมือนต่างประเทศ ที่เขาพัฒนากันทุกวัน ทำโน่นทำนี่ เราต้องดูว่าเขาไปถึงไหนกันบ้างแล้ว แม้กระทั่งในอาเซียนด้วยกัน เขามีของเก่าเหลืออยู่ เขาทำของใหม่เพิ่มขึ้น หรือพัฒนาของเดิมให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น ผมไม่อยากให้พูดแต่ปัญหาเพียงด้านเดียว แต่ควรกล่าวถึงผลดี กล่าวถึงการพัฒนาประเทศควบคู่กันไปด้วย จะได้ช่วยกันถ่วงน้ำหนัก หาจุดลงตัว หาทางออกให้ได้เสียที เห็นใจชาวบ้าน และประเทศชาติบ้าง
2. กรณีการแก้ปัญหาจราจร ไม่มีกฎหมายใดแก้ได้ ต้องแก้ด้วยความมีวินัย และการเคารพกฎหมาย ความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายมากขึ้น ชัดเจนขึ้น เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่บางส่วนมีอยู่แล้ว แต่บังคับใช้ไม่ได้ผล กฎหมายไม่ได้เป็นปัญหาอะไรกับผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีแต่ผู้ที่ชอบละเมิดกฎหมายเท่านั้นที่เห็นเป็นปัญหา เช่น ผู้ใช้รถใช้ถนนบางส่วนไม่เชื่อฟัง ไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย บ้างขับรถสวนเลน ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือเมาแล้วขับบ้าง ขับขี่รถทุกครั้ง ผมอยากให้ระลึกเสมอว่าทุกคนรักชีวิตและทุกชีวิตมีค่า แม้ท่านจะขับรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ท่านก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ร่วมทางคนอื่นๆ ด้วย ยิ่งท่านที่ขับรถสาธารณะ ท่านยิ่งต้องรับผิดชอบต่อผู้โดยสารทุกคน ซึ่งล้วนแล้วก็มีครอบครัว มีคนที่อยู่ข้างหลัง ที่ท่านอาจไม่ทันคิด แต่รัฐบาลนี้ คิดทั้งหมด และรับไม่ได้กับการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่เราน่าจะป้องกันได้ จะเห็นว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในการลดความเสียหายที่ปลายเหตุ แต่มาตรการอื่น ๆ ที่ป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นต้นเหตุนั้น สำคัญที่สุด เช่น การตรวจระดับแอลกอฮอล์ การตั้งด่านตรวจความเร็ว– ตรวจใบอนุญาตขับขี่ การแก้ปัญหาการแข่งรถบนถนนสาธารณะ เด็กแว้น การป้องปราบการทำผิดวินัยจราจรและการติดตั้งป้ายเตือน – สัญญาณจราจร ในพื้นที่คับขัน เพื่อลดอุบัติเหตุ เหล่านี้เป็นต้น ไม่อยากให้มองเพียงประเด็นเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นความปรารถนาดี แต่กลับกลายเป็นรัฐบาลรังแกคนจน ไม่มีรายได้เพียงพอในการไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ไปเอื้อประโยชน์ให้บริษัทติดตั้งไปกันใหญ่ ก็ทุกคนก็บ่นว่าเราเสียหายบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากทุกปี ๆ รัฐบาลก็น่าจะต้องแก้ปัญหาให้ได้ พอรัฐบาลแก้ก็ไม่เข้าใจอีก คือ สรุปว่าไม่รู้จะแก้ปัญหากันอย่างไร แก้ปัญหาตัวเองไม่ได้อีก
3. การออกกฎหมายต่าง ๆ มีการดำเนินการตามขั้นตอน มีการพิจารณาใน 3 วาระ กฎหมายหลายอย่าง ยังมีปัญหา อาจติดขัดทางเทคนิค ในเรื่องของการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่ หรืออาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ก็ต้องปรับแก้ตามการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รัฐบาลไม่ได้ดึงดัน ไม่ได้จะบังคับไปเสียทั้งหมด แต่ทุกกฎหมายที่รัฐบาลผลักดันนั้นมีความจำเป็น ในการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งให้เป็นไปตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่เราทำไว้กับประชาคมโลก เช่น เรื่องการประมงผิดกฎหมาย การบินพลเรือน ทั้ง IUU ทั้ง ICAO หรือการค้างาช้างผิดกฎหมาย (CITES) เหล่านี้เป็นต้น
ที่ผ่านมา คนที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลในวันนี้ ขณะที่อยู่ในอำนาจ หรือมีหน้าที่ในการกำกับดูแล ทำไมไม่เคยคิดจะออกกฎหมายเหล่านี้ เพราะอาจจะเกรงผลกระทบกับตนเอง และพวกพ้อง หรือเปล่านะครับ ท่านน่าจะละอายตัวเองกันบ้าง รัฐบาลนี้กล้าจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากท่านจ้องจะตำหนิ จับผิด ผลร้ายก็จะเกิดกับประชาชน ขอให้เป็นการติเพื่อก่อ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นที่ตั้งในการคิด ผมไม่ได้ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขอให้มีข้อมูลมีข้อเท็จจริงบ้าง
4. การทุจริตในโครงการต่าง ๆ ผมขอย้ำอีกครั้ง กรณีผู้ใดแอบอ้างนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ หรืออื่น ๆ แล้วไปข่มขู่ส่วนราชการต่าง ๆ หรือไปเรียกรับผลประโยชน์ หากผมทราบหรือมีหลักฐานเมื่อใด จะลงโทษสถานหนัก หากมีการอ้างคนใกล้ชิด คสช. หรือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งใด ก็แล้วแต่ ขอให้ส่งรายชื่อ หลักฐาน มาให้นายกรัฐมนตรี ผมจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่มีการละเว้น ทำไมท่านต้องไปกลัวเขา ผมจะให้ความเป็นธรรมในทุกกรณีครับ ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดก็เพราะจำเป็นต้องใช้งาน แต่หากทำงานใกล้ชิดแล้วไปแอบอ้างหาผลประโยชน์ ก็ไม่สมควรรับไว้ทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะจะเป็นเส้นทางสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ที่รัฐบาลนี้ต้องการจะลบล้างให้หมดไปจากสังคมไทย ไม่ว่าจะเรียกร้อง ผลประโยชน์ การประมูล จัดซื้อจัดจ้างหรือการแต่งตั้ง โยกย้ายตำแหน่ง
และ 5. ข้อสังเกต กระบวนการใช้ประโยชน์จากสื่อต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ในปัจจุบัน มีการบิดเบือนมากขึ้น อาจเกิดจากการเข้าใจผิด หรือเจตนาสร้างเงื่อนไขใด ๆ ก็ตาม ทำให้ไร้การควบคุม เพราะต่างคนต่างก็ไม่มีการตรวจสอบ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังกลุ่มเพื่อนฝูง คนใกล้ชิดต่าง ๆ สร้างผลกระทบในวงกว้าง ในสังคมของเรา หากเป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยน มีเจตนาร้ายแอบแฝง ยิ่งจะสร้างความเสียหายความขัดแย้ง
ที่ผ่านมา ก็มีหลายคดี คดีพระธัมมชโย คดีจับอาวุธสงคราม คดีเก็บภาษีจากการขายหุ้น หรือคดีจำนำข้าว เป็นต้น หากเราติดตามดูก็รู้ได้ไม่ยากว่ามาจากแหล่งใด ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำผิดกฎหมาย ซึ่งยังไม่ชัดเจนนะครับ ก็ให้ศาลตัดสินออกมา เพียงแต่ว่าก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วท่านไม่ยอมรับความผิดใด ๆ เลย ไม่ยอมเข้ากระบวนการศาลยุติธรรม แบบนี้กฎหมายก็บังคับใช้ไม่ได้อีก เราก็จะเรียกว่าสองมาตรฐานเหมือนเดิม เพราะประชาชนทั้งประเทศ นับร้อยนับพันนับหมื่น ที่เขาก็ถูกตัดสินโดยศาลโดยกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ เขาก็ถูกตัดสินเช่นเดียวกัน อาจจะมองว่าเขาได้รับความไม่เป็นธรรม แต่กลายเป็นว่าท่านมาอ้างความไม่เป็นธรรม ได้รับความไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม โดยการไม่ยอมเข้ารับการพิจารณาคดี อันนี้หมายถึง ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ลองคิดดูใช่หรือเปล่า คนไทยคิดอย่างไรนะครับ รัฐบาลและ คสช. จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่
พี่น้องประชาชนครับสุดท้ายนี้ ผมอยากให้ทุกคนรักการเรียนรู้ รักการอ่าน หนังสือ จะเป็นแอ่งน้ำสำหรับผู้กระหายความรู้ เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ที่ตกผลึก ช่วงนี้ก็มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จัดระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 9 เมษายน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก็ขอเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจไปหาซื้อหนังสือดี ๆ มีประโยชน์ มาอ่านกัน ทุกวันนี้ แหล่งเรียนรู้เปิดกว้างสำหรับผู้ใฝ่รู้นะครับ นอกจากหนังสือแล้วก็ยังมีอินเทอร์เน็ต แต่การเสพสื่อ การรับรู้ให้เกิดปัญญานั้น ต้องมีสติ ต้องรู้จักการตรวจสอบ เปรียบเทียบ วิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะในสื่อโซเชียล เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้นำเสนอ เป็นผู้สื่อข่าวได้โดยตรงในโลกออนไลน์ ที่ปราศจากกองบรรณาธิการ ตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสม กรณีนี้ผมขอชื่นชมความริเริ่มของ อสมท และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการเปิดตัวศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงสากล (IFCN) ที่รณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร และภัยเงียบของการแชร์แบบมั่ว ๆ ไม่มีความรับผิดชอบ
ผมอยากให้ทุกคน กล้าเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ด้วยปัญญา โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หาโอกาสที่จะพัฒนา เราต้องก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่าไปด้วยกันนะครับ ผมขอฝากเป็นข้อคิดเห็นประจำสัปดาห์นี้ ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ใช้เวลาว่าง หรือก่อนนอน อ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ลูกหลาน เพื่อเสริมความรู้และสร้างความผูกพันในครอบครัว แล้วอย่าลืมพัฒนาภาษาอังกฤษด้วย Echo English ตามที่ให้ข้อมูลไปแล้วนะครับ สวัสดีครับ