Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 3610 จำนวนผู้เข้าชม |
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เสนอเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดและกรุงเทพมหานครใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการ
สาระสำคัญของแผนบูรณาการฯ ใช้ชื่อในการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
1. ช่วงการรณรงค์และเสริมสร้างวินัย ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 10 เมษายน 2560 และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
2. ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2560 เป้าหมายการดำเนินงาน จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (Admit) ลดลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้วยตนเอง
มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยทหาร ในพื้นที่ และภาคประชาชนนำมาตรการดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการอย่างเคร่งครัด จริงจัง และต่อเนื่อง ประกอบด้วย
1. มาตรการด้านกายภาพ เช่น ตรวจสอบลักษณะกายภาพ ปรับปรุงและซ่อมแซมถนน สำรวจจุดเสี่ยง จุดอันตราย และปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย
2. มาตรการด้านยานพาหนะ เช่น ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะ กำหนดมาตรการ แนวทาง เพื่อกำกับ ควบคุม ดูแลยานพาหนะ โดยให้เน้นการควบคุมดูแลรถโดยสารสาธารณะและรถโดยสารไม่ประจำทาง
3. มาตรการด้านการสัญจร เช่น จัดให้มีถนนปลอดภัยในพื้นที่ “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย” กำหนดมาตรการ แนวทางในการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ประชาชนผู้ใช้รถ ใช้ถนน และสนับสนุนเจ้าหน้าที่และวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติ รวมทั้งจัดจุดพักรถ จุดบริการให้เพียงพอ
4. มาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย เช่น บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดจริงจัง และต่อเนื่อง โดยเน้นการลดพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ (เมาสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะและขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด) จัดตั้งจุดตรวจให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ โดยให้เพิ่มความเข้มข้นการจัดตั้งจุดตรวจในช่วงเวลา 16.00-20.00 น. กำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่มีความปลอดภัยและปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Zoning) และกำหนดวีธีเล่นน้ำสงกรานต์ตามวิถีไทย นำแนวทาง“ประชารัฐ” มาใช้เป็นกลไกในการควบคุมปัจจัยเสี่ยง และเฝ้าระวังกำกับ ป้องปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในพื้นที่ โดยให้จัดตั้ง “ด่านชุมชน” เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่
5. มาตรการความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำ เช่น จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำประจำท่าเทียบเรือ ตรวจเรือโดยสารและโป๊ะเทียบเรือ ประสานงานผู้ประกอบการเรือโดยสารจัดเรือโดยสารไว้บริการให้เพียงพอ
6. มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ เช่น ให้ความช่วยเหลือและเยียวยาหลังเกิดอุบัติเหตุ และประชาสัมพันธ์ระบบการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ผู้ประสบเหตุควรจะได้รับ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทำประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 เมษายน 2560--