รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 14 เมษายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2041 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 14 เมษายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 14 เมษายน 2560 เวลา 20.15 น.

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

วันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็น “วันครอบครัว” ซึ่ง เป็นสถาบันพื้นฐาน ที่มีขนาดเล็ก แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เริ่มต้น ณ จุดนี้ รวมทั้งความมั่งคั่งของประเทศ และความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชนทุกคน เราจำเป็นจะต้องสร้างความเข้มแข็ง ณ สถาบันแห่งนี้ให้ได้ก่อน โดยเร็วนะครับ เช่น ส่วนการรักษาความสงบสุขของสังคมให้คงอยู่ “อย่างยั่งยืน” นั้น ต้องเริ่มที่จิตใจของแต่ละคน ทั้งนี้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมีส่วนสำคัญในการที่จะขัดเกลา หล่อหลอมจิตใจ ให้เยาวชน ลูกหลานไทย เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองดีในอนาคต ดังนั้น ในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ วันผู้สูงอายุและวันครอบครัวนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันให้มีคุณภาพมากที่สุด มีการกระชับความสัมพันธ์พ่อ-แม่-ลูก รวมทั้งญาติพี่น้องให้ใกล้ชิดกัน ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกันบ้าง มีกิจกรรมร่วมกันบ้าง เท่านี้ก็จะเป็นการสร้างความอบอุ่นให้กับสมาชิกในครอบครัวโดยตรง และความอบอุ่นทางจิตใจ และสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมโดยอ้อมแล้วไปด้วย

รัฐบาลนี้ นอกจากจะตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวตามที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังได้ประกาศใช้ “แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ” ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2564 นับเป็นแผนงานระดับชาติ ด้านการส่งเสริมคุณธรรม อย่างเป็นระบบฉบับแรกของประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมปลูกฝังคุณธรรม สร้างค่านิยม และจิตสำนึกที่ดีให้แก่ประชาชน ก็เป็นการขับเคลื่อนตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกลไกประชารัฐ เพื่อจะให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเน้นการสร้าง ความเข้มแข็งจากภายในและใช้คุณธรรมนำการพัฒนา ในการที่จะสร้างคนไทยให้เป็น มนุษย์ที่สมบูรณ์ รวมทั้งสร้าง สังคมคุณธรรม ที่เกื้อกูลและแบ่งปันนะครับ ต้องช่วยกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ซึ่งในปี 2560 นี้ จะเน้นคุณธรรมอันพึงประสงค์ 4 ประการ คือ ความพอเพียง มีวินัย สุจริต และจิตอาสา รวมทั้ง เร่งขยายเครือข่ายชุมชนคุณธรรม และองค์กร หน่วยงานคุณธรรม ในทุกพื้นที่ ปัจจุบันก็มีอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และภาคประชาชน กว่า 300 หน่วยงาน ที่ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์นี้ และผนึกกำลังกัน สร้าง อบต.คุณธรรม บริษัทคุณธรรม โรงเรียนคุณธรรม โรงพักคุณธรรม โรงพยาบาลคุณธรรม และอื่นๆ อีกนะครับ จนสามารถขยายเป็นภาคี เครือข่าย ได้มากกว่า 5,000 แห่ง ทั่วประเทศแล้ว เป็นชุมชนและองค์กรที่นอกจากจะมีคุณธรรม ทั้ง 4 ประการดังกล่าวแล้ว อาจจะยังไม่พอนะครับ เราต้องช่วยกัน เพื่อเป็นการสร้างชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเอง และพึ่งพาซึ่งกันและกันได้อีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมนี้ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เราให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์และชุมชน จะสามารถนำพาทุกคน และประเทศชาติ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และหลุดพ้นกับดักการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้ในที่สุดนะครับ

 

พี่น้องชาวไทยที่รัก ครับ

การนำประเทศไทยไปสู่ เศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งมีหลายมิติในการดำเนินการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ด้านทรัพยากรมนุษย์ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ประชาชน ต้องร่วมมือกันพัฒนาตนเอง เรียนรู้ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ รัฐบาลจะไม่สามารถทำตามนโยบายอะไรได้เลย หากทุกคนคอยแต่ติติง หรือดูถูกสติปัญญาของพวกเรากันเอง ว่ารัฐบาลจะทำได้หรือไม่ ประชาชนยังไม่พร้อม ก็อาจจะมีสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมืองบางท่าน พูดทำนองนี้อยู่ ทำไมเราไม่ช่วยกันล่ะครับ ช่วยกันสร้างความเข้าใจ ช่วยกระตุ้น สร้างความร่วมมือ มิฉะนั้นทุกอย่าง มันก็ไปไม่ได้อย่างแน่นอนไม่ว่าจะอะไรก็ตามนะครับ ทุกอย่างที่รัฐบาลทำ เพื่อประเทศชาติและประชาชน ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ก็อยากให้บุคคลเหล่านี้ ช่วยมองภาพกว้าง รับฟังสิ่งที่รัฐบาลและ คสช. ทำ และชี้แจงมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการแสดงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ วาดวางอนาคตไว้ให้มองเห็นนะครับ ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หรืออาจจะไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป หรือเป็นไปไม่ได้เลยนะครับ ถ้าเราร่วมมือกันก็เป็นไปได้ทุกอย่างนะครับ 

ประเด็น “การปฏิรูปการศึกษา” โดยคณะกรรมาธิการของ สปท. สนช.นั้น อาจมองว่า ทำไมเราทำล่าช้า รัฐบาลดูแลอยู่หรือเปล่า ไม่เห็นจะตรงประเด็น ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ผมก็อยากจะเรียนว่า ปัญหามันซับซ้อนมาก วันนี้เราต้องปฏิรูปในเชิงโครงสร้างไปด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาในสิ่งที่สลับซับซ้อนกันมายาวนาน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาแกะกันวันสองวัน หรือปี สองปี มันเริ่มต้น เพราะเกี่ยวเนื่องกับ คน หลายกลุ่ม หลายฝ่ายกฎหมาย ด้านการศึกษาเดิม มีมากมาย มีหลากหลายองค์กรรับผิดชอบ และบุคลากรทางการศึกษา ก็กระจัดกระจายออกไป กว้างขวาง เป็นอิสระต่อกัน ทำให้เราต้องจัดระบบ ระเบียบ รวบรวมสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ เข้ามาให้ได้ด้วยกันให้ได้ก่อนนะครับ ทั้งนี้ บุคลากรครู อาจารย์ทั้งประถม มัธยม อุดมศึกษา และอาชีวะบางท่านอาจจะยังมีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกัน บางส่วนอาจจะคิดว่าของเดิมดีอยู่แล้ว หรือมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหาอย่างไรในขณะที่อาจเป็นปัญหาในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะของท่าน องค์กรของท่าน ถ้าหากเราไม่บูรณาการกัน ก็ไม่เป็นระบบเดียวกัน ต่างคนก็ต่างอยู่แยกกันทำงานนะครับ คือถ่วงดุลกันเกินไป จนทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยง

 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทั้งหมดที่เราเรียกว่าองคาพยพนั้น จะต้องทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน คือองคาพยพด้านการศึกษา ต้องเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ส่วนราชการอื่นด้วย เช่น ความเชื่อมโยงของตลาดแรงงานกับสถานศึกษา การผลิตคนนะครับ เราต้องดูประมาณการ ความต้องการแรงงานในอนาคตนะครับ ซึ่งวันนี้เองเรามีการลงทุนต่างๆ มากมาย ทั้ง BOI ทั้ง EEC เขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็มีการกำหนดความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นนะครับ ทั้งมีฝีมือ ไม่มีฝีมือ รัฐบาลก็ให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีการวบรวมจัดทำขึ้น พบว่าความต้องการจ้างแรงงานฝีมือ มีทักษะสูงของประเทศ เพิ่มขึ้นนะครับตามยุทธศาสตร์ การปฏิรูป และการลงทุนต่างๆ ของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ระยะ 5 ปีข้างหน้า มีความต้องการตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มากกว่า 6 ล้านคน และในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ อีกราว 6 แสนคน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เรามีโจทย์ และปัญหา ที่รอการปฏิรูป รอการแก้ไข อย่างมีระบบ และเกิดการบูรณาการด้วยกันนะครับ ระหว่างหน่วยงาน ไม่ใช่ของใครของมัน ทุกอย่าง ทุกเรื่อง ผมเรียนว่า ไม่ใช่สั่งวันนี้ พรุ่งนี้ได้ หรือคิดอะไรวันนี้ พรุ่งนี้ทำสำเร็จ เป็นไปไม่ได้นะครับ ทุกคนมีทั้งทำตาม ไม่ทำตาม เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย บางครั้งผมก็จำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 ก็ยังมี ผู้เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยเลยนะครับ ก็เห็นได้ว่ารับบาลนี้ ไม่ได้มุ่งหวังในการใช้อำนาจอย่างเต็มที่ อย่างที่หลายๆ คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ บางส่วนอาจจะ “เห็นด้วย” ก็ทำ ก็ร่วมมือ บางส่วนแม้ไม่ขัดขวางแต่ก็ไม่ร่วมมือนะครับ หรือก็ไม่เห็นด้วยเลย ก็หาทางออกไปทำอย่างอื่น ก็เกิดการสับสนอลม่าน ก็ปฏิรูปไม่ได้อยู่ดีนะครับตลอดเวลา รัฐบาลและ คสช. เข้าใจนะครับ ว่าทุกคนจำเป็นต้องนึกถึงตัวเอง องค์กรตัวเอง ผมไม่ได้ว่าใคร ทุกคนต้องรักองค์กรของตัวเอง ต้องรักประเทศชาติแล้วก็มองเห็นปัญหาของประเทศร่วมกัน เพราะไม่ใช่ปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากว่าเป็นปัญหา เช่นเรื่องการศึกษา หลายกระทรวงเกี่ยวข้อง หลายกรม หลายหน่วยงาน เกี่ยวข้องทั้งหมด แล้วก็เป็นปัญหาของคนไทยทั้งประเทศ

ทั้งนี้ คนในชาติ ก็คือ เยาวชน เด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ผู้ประกอบการ ข้าราชการ เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เราต้องมอง หาให้เจอนะครับว่าเขาจะได้อะไรจากการบริหารจัดการศึกษาของชาติ ปัจจุบันนั้นเราดีพอหรือยัง ระบบดีหรือยัง หรือส่วนของเราทำดีหรือยัง ต้องปรับปรุง แก้ไข หรือไม่ ต้องมีการพัฒนาไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้นผมก็ขอร้องให้บุคคลากรการศึกษาทุกคน ต้องกลับมามองตัวเองด้วยนะครับ ว่าเราเองนั้นจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหล่านั้นตรงไหน ในส่วนใดของปัญหาใหญ่ หรือปัญหาเล็กตรงนั้นนะครับ ถ้าดีก็ทำต่อไป ถ้ายังไม่ดีก็แก้ไข คนที่จะบอกว่า ดี หรือไม่ดี ไม่ใช่ตัวเรานะครับ คนจะบอกก็คือ เด็ก ผู้ปกครอง แล้วก็ที่เราเรียกว่า ผู้ที่รับ ผลผลิต จากการศึกษา การบริหารจัดการศึกษาของท่านไปใช้ รวมทั้ง ประเทศชาติที่ก็เปรียบเสมือนเป็น ลูกค้า ที่จะต้องได้ทรัพยากรมนุษย์ ที่ตรงความต้องการของประเทศ เหล่านี้ต้องถามว่าทำได้ดีแล้วหรือยังนะครับ สมกับการใช้งบประมาณกว่า 20% ของงบประมาณประเทศ หรือเปล่า เพราะเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ที่ใครๆ ก็เห็น ความจำเป็น แต่ก็ต้องให้คุ้มค่าด้วยนะครับ แล้วก็ต้องเป็นขั้น เป็นตอนนะครับ ตามลำดับความเร่งด่วน ความต้องการของประเทศ เหล่านี้เป็นคำถามนะครับ ที่ทุกท่านต้องหาคำตอบของตัวเองให้เจอ จะได้เกิดความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้นจะได้เร็วขึ้น

เป็นเพียงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปฏิรูปเท่านั้นเองนะครับ มีอีกหลายเรื่อง ที่อาจจะเป็นปัญหาคล้ายๆ กัน ซึ่งนอกจากตัวประเด็นปัญหา ที่รอการแก้ไขแล้ว โดยธรรมชาติของคน ของมนุษย์นะครับ โดยเฉพาะคนไทย ด้วยกันนั้น เราเป็นคนที่รักอิสระ ไม่ชอบการบังคับ หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปก็แล้วแต่ ในโลกใบนี้ก็ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นอีกส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป แม้ว่าจะเป็นการนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ตาม วันนี้โลกเร็วขึ้น เทคโนโลยีสูงขึ้น เพราะฉะนั้นการคิดการอ่านอะไรก็รวดเร็วตามไปด้วย เพราะทุกคนก็หวังว่าจะทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น เหมือนกับเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้นะคับ เพราะเป็นการปฏิบัติ เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเองก่อน แล้วก็จึงชักชวนกันทำในสิ่งใหม่นะครับ เพื่อพวกเราทุกคน

 

สำหรับการใช้รถใช้ถนน การจราจร ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่อาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในอดีต ผมเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ เพราะว่าไม่ใช่เฉพาะท่านเองความผิดพลาดของท่าน หรือคนอื่นก็แล้วแต่ บนท้องถนน ส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของทุกคน ที่ล้วนมีค่า มีความหมายต่อตนเอง ต่อครอบครัว และประเทศชาติทั้งสิ้น กฎหมายที่ออกมาหลาย 10 ปี มาแล้วนะครับ เช่น พระราชบัญญัติ รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นะครับ 30 กว่าปีมาแล้วนะครับ หลายเรื่องไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ที่สำคัญก็คือเรา ไม่ได้สร้างจิตสำนึก หรือว่าส่งเสริมให้ประชาชนมีความพร้อมอย่างต่อเนื่อง คือไม่ได้ขับเคลื่อนนะครับ มาตั้งแต่ในอดีต เช่น ในเรื่องของการรัดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกกันน็อค การใช้รถให้ถูกประเภท ตามที่จดทะเบียนไว้ การมีวินัยจราจร การไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด การขับขี่ขณะเมาสุรา เหล่านี้ เป็นต้นนะครับ มีสองอย่างนะครับ ในเรื่องของรถ ยานพาหนะ ชนกันบ้าง คว่ำบ้างอะไรบ้าง ในส่วนของคนก็ต้องลดอันตราย มี 2 ขั้นตอนอยู่นะครับ ชนคือชน แต่เมื่อชนแล้วจะปลอดภัยไหม ก็ต้องรัดเข็มขัด เหล่านี้เป็นต้นนะครับ ต้องสร้างความเข้าใจกันให้มากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน เฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คือ การเมาแล้วขับ และการขับรถเร็ว โดยผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เป็นวัยแรงงาน และเยาวชน รวมแล้วกว่า ร้อยละ 70 สิ่งแรกที่จะต้องแก้ไข คือตัวเอง ที่เป็นผู้ขับขี่ก่อน โดยเฉพาะคนขับรถสาธารณะที่ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของผู้โดยสารของท่าน เพราะเขาฝากชีวิตไว้ที่ท่านนะครับ รัฐบาลไม่ได้อยากจะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการเข้มงวด ในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น เราต้องมุ่งป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ เป็นหลัก เช่น การตรวจความพร้อมของรถ คนขับ ตั้งแต่สถานี ท่ารถโดยสาร และการจัดตั้งตั้งด่านตรวจความเร็ว โดยเฉพาะถนนสายหลัก เหล่านี้เป็นต้นนะครับ สำหรับผู้โดยสารเองก็ต้องระวังตัวเองไปด้วย

สำหรับการใช้รถใช้ถนน และเรื่องการจราจรนั้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาล หรือวันปกติแล้ว รัฐบาลยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้ครบทุกด้าน แล้วก็จะต้องทยอยสร้างการรับรู้ อย่างรวดเร็วนะครับ ในช่วงเทศกาลนี้ ก็จะเข้มงวดในการตรวจตราเหมือนทุกครั้ง เพื่อให้คำแนะนำ ตักเตือน จาก “เบาไปหาหนัก” แล้วก็เพื่อสร้างจิตสำนึก เสียตั้งแต่วันนี้จะได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ รับผิดชอบการขับรถของตัวเอง ทำหน้าที่ของตนเองบนท้องถนนให้ดีที่สุด พัฒนาปรับปรุงตนเอง มีความอดทนไม่ขับรถปาดซ้าย ขวา ไม่แซง โดยประมาทนะครับ หรือขับรถโดยไม่มีน้ำใจ เราต้อง เห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ใช้ถนนอยู่ด้วยกันนะครับ บนท้องถนน ด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัย เราสามารถทำได้ทันทีนะครับ จะลดอุบัติเหตุได้จำนวนมากพอสมควร

ในอีกแง่มุมของปัญหา ก็เกิดจากการที่ประเทศเรายังมีระบบขนส่งมวลชน ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ต่อเนื่องร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่ผมเคยกราบเรียนมาหลายครั้งแล้ว ทำให้ยังไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร รัฐบาลก็พยายามแก้ไขอยู่นะครับ ที่ผ่านมา เราพยายามปลดล๊อคในประเด็นที่ติดขัดทั้งเวลา ทั้งงบประมาณ รัฐบาลนี้ก็พยายามอย่างเต็มที่ ในการที่จะสร้าง ในการพัฒนาระบบการขนส่ง ความเชื่อมโยง เพื่อให้บริการกับพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและครอบคลุม รัฐบาลเองก็ตระหนักถึงปัญหาที่เศรษฐกิจระดับฐานราก ที่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอ อาจจะไม่สามารถจะซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เพื่อทดแทนรถกระบะ หรือซื้อรถเพิ่มเติม สำหรับรองรับสมาชิกในครอบครัวได้ เพราะมีความจำเป็นทั้งสองอย่าง ทั้งขนส่งคนในครอบครัว และต้องใช้ในการขนส่งสินค้าสลับกันไป แต่ให้มี 2 คัน รายได้ก็ไม่เพียงพอ แต่ทำยังไงจะปลอดภัยล่ะครับ ต้องช่วยกันคิด

รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา พยายามเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งก็ต้องมีทั้งแบบเฉพาะหน้า และมีในเรื่องของการปฏิรูประยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มฐานรากนะครับ ที่มีความสำคัญ รัฐบาลมีหลายแนวทางที่จะส่งเสริมเพิ่มรายได้ให้กับภาคการผลิต ผ่านการเชื่อมโยง ห่วงโซ่มูลค่าให้มากขึ้น ให้เกิดมูลค่า เกิดนวัตกรรม มีราคาสูงขึ้น โดยการส่งออก หรือนำสู่การผลิตค้าขายในธุรกิจต่อเนื่องก็ตาม เพื่อจะทำให้รายได้เพียงพอต่อการใช้จ่าย เราจะได้สามารถซื้อหาของใช้ที่ทันสมัย ทันเทคโนโลยี ที่มีราคาสูงขึ้น เช่นรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงได้ในอนาคตนะครับ เพื่อจะได้ให้ทุกคนมีความสุข ได้ใช้ประโยชน์ ตรงกับความต้องการ เพื่อจะสร้างความสุขในชีวิตประจำวันทั้งตนเองและครอบครัวได้ให้เร็วขึ้นนะครับ

ยกตัวอย่างเช่น การเสริมสร้างฐานการผลิตของชุมชนให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งเราทำไว้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ก็คือการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่เรียกว่า จีไอ นะครับ ของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเป็นที่รู้จักของแหล่งผลิตในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างแบรนด์ให้สินค้า สร้างชื่อให้คนรู้จัก คุ้นเคย โดยสินค้าที่ขึ้นทะเบียนนั้น จะได้รับความคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็น สิทธิของชุมชน มีการทำการตลาด และรับรองคุณภาพ จากแหล่งผลิตสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว หรือแหล่งผลิตที่มี

กระบวนการสอดคล้องกับหลักการสากล – ไม่ผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพราะการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ผู้บริโภค จะทำให้ได้ราคาดีขึ้น สามารถสร้างความมั่นคงของอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้ง ยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับแหล่งพื้นที่ที่ผลิตสินค้านั้นอีกด้วยครับ

นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดทำ GI สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อยกระดับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยสู่สากล และส่งเสริมการขยายตลาดการส่งออก เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เป็นต้น และยังมีอีกหลายชนิด หลายผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ที่จะต้องเดินหน้าผลักดัน – ส่งเสริมสินค้า GI ของไทย ให้ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการขอจดทะเบียน GI ไทยที่มีศักยภาพ ในประเทศจีน กัมพูชา ญี่ปุ่น และเวียดนาม ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการยกระดับสินค้า และสร้างโอกาสทางการตลาด ให้แก่วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสนับสนุนแบบครบวงจร โดยได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า – ซูเปอร์มาร์เก็ตที่สนใจ โดยจัดให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า GI รวมทั้ง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้า GI เช่น งานมหกรรมสินค้าสินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI Market) ที่จัดเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ งาน GI Market ครั้งที่ 1 กำลังจัดอยู่ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ครั้งต่อไป ก็จะจัด ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต ในวันที่ 1 – 7 สิงหาคม ผมอยากให้พี่น้องประชาชนทุกท่านร่วมอุดหนุน เพื่อให้สินค้า GI ของไทย แพร่หลายออกไปทั่วโลก และช่วยกระจายรายได้ให้กับพี่น้องในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศด้วย นะครับ

 

พี่น้องประชาชน ครับ

ยังมีอีกหลายประการที่ประเทศต้องปฏิรูป เพื่อให้สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหา ค่อยๆ ลดลง ตามลำดับ เพียงแต่เราต้องเริ่มต้นกันตั้งแต่บัดนี้ ต้องมีก้าวแรกเสมอเพื่อให้มีก้าวต่อๆ ไป และเราจะเดินทางไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อที่เราจะได้เห็น แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ นะครับ

สำหรับประเด็นการกระจายอำนาจ ตอนนี้ถือว่าอยู่ในขั้นตอนการทำงานของ สปท. นะครับ ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ และยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญนะครับ ทำให้เรื่องนี้ ก็ยังมาไม่ถึงรัฐบาลรัฐบาลก็ยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ยังพิจารณาไม่ได้ ก็ขอให้รอเป็นไปตามขั้นตอน ไม่อยากให้ด่วนสรุป ถ้ามันไม่แน่ชัด ยังไม่เกิดขึ้น แล้วเกิดความไม่เห็นชอบ มีการประท้วงกัน ยังไงถามประชาชนเขาด้วยนะครับ ทุกคนต้องช่วยกัน ว่ากันด้วยเหตุด้วยผล มีความเห็นหรือข้อเสนอแนะ อะไรที่มันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ยอมรับกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องบังคับกัน มันก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ ก็ขอให้ไปทำต่อนะครับในเวทีการรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ หรือในช่องทางที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามกระบวนการ ทั้งนี้เพื่อจะสร้างความสุขสงบ ลดความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ไม่จำเป็น เช่นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปหลายๆเรื่องวันนี้นะครับ

เรื่องการเมือง การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ผมก็อยากจะขอให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เพราะเราก็คงไม่ได้มีเรื่องนี้ทำแต่เพียงอย่างเดียว เรามีปัญหาต่างๆ อีกมากมายที่ต้องดำเนินการแก้ไข ไปพร้อมๆ กันด้วย รอไม่ได้นะครับ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจทุกระดับ นั้นเรามีปัญหามากที่ระดับฐานราก นะครับ เพราะต้องใช้เวลามาก เพราะว่าคนเป็นจำนวนมาก หลายสิบล้านคนนะครับ การแก้ปัญหาเกษตรกร แก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาผลผลิตตกต่ำ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การแก้ปัญหาเร่งด่วนมันมีขั้นตอน มีการวางพื้นฐาน แล้วก็ไปสู่การปฏิรูปประเทศ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ต่อไปในอนาคตอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องมีการจัดทำกฎหมายลูกอีกนะครับที่สอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดไว้
ผมอยากให้พี่น้องประชาชนที่รักทุกคน ได้มองภาพรวมของประเทศชาติไว้ด้วย ว่าถ้าทุกอย่างมันเกิดความขัดแย้ง ตั้งแต่บัดนี้ ไม่ว่าจะด้วยการตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ด้วยการบิดเบือน หรือรู้ไม่เท่าทัน เราจะเดินหน้าทั้งหมดที่ผมกล่าวมาแล้วไม่ได้เลยนะครับ รัฐบาลก็พยายามอย่างยิ่งที่จะให้เป็นไปตาม Roadmap และก็งานสำคัญก็คือเตรียมดำเนินการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลใหม่ ให้สมพระเกียรติ ในช่วงปลายปี 2560
วันนี้ก็เหมือนเริ่มเหมือนเวทีมวยแล้วนะครับ นักมวยขึ้นเวทีมาแล้ว ปี่กลองก็เริ่มเชิดแล้ว กรรมการก็ยืนอยู่ตรงกลางเวทีแล้ว ปรากฏว่ายังไม่ทันให้สัญญาณชกก็ปรากฏว่า นักมวย – พี่เลี้ยง ก็เข้ามารุมกรรมการ ก็จะไปชกกันได้ยังไงล่ะ มวยก็ชกกันไม่ได้ ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ง่ายๆ ครับ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างอื่น

เรื่อง“การเลือกตั้ง” กับ “การปรองดอง” หลายคนพยายามจะเอามาพันกัน มาเกี่ยวกัน ผมว่ามันน่าจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันนะครับ มันส่งเสริมกัน แต่มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน หลายคนพยายามจะให้มันปนเปกันไปหมด “การเลือกตั้ง” มันเป็นเรื่องของกิจกรรมที่ให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีธรรมาภิบาลที่เราต้องการนะครับ มาบริหาร ปกครองประเทศ

ส่วนเรื่องการปรองดองนั้น มันปรองดองตั้งแต่ครอบครัว สังคม ชุมชน จังหวัด กลุ่มจังหวัด อะไรก็ว่าไป จนกระทั่งส่วนภูมิภาคของประเทศ มันเป็นกิจกรรมที่คงไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้ง ในเรื่องของยามปรกติก็ไปมาหาสู่กัน พบกัน ไม่ทะเลาะกัน ถึงแม้ว่าความคิดจะไม่เหมือนกันก็ ไม่ขัดแย้ง ไม่ต่อยตีกัน เขาเรียกว่า การปรองดอง ฉะนั้นมันเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ที่มันต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะก่อนสว่าง หรือหลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง ความแตกแยกของคนในชาติ คืออย่ามาอ้างปัญหาเดียวก็คือประชาธิปไตย เพราะว่ามันเกิดจากหลายปัญหานะ หลายเรื่องมันเป็นกระบวนการบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งรัฐบาลใดก็ตามทุกรัฐบาล ล้วนต้องพยายามทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย การใช้สิทธิ์ประท้วงตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูข้อกฎหมายอื่นๆ ด้วย มีกรอบกฎหมายอื่นๆ ด้วยนะครับ ที่กล่าวว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้อง เป็นไปอย่างละเมิดมิได้ อะไรทำนองนี้ นะก็ฝาก ความหมายก็คือว่า เอาหละต้องจัดสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน แต่ต้องดูกฎหมายส่วนอื่น ๆ กฎหมายลูก กฎหมายความมั่นคง กฎหมายชุมนุม เยอะแยะไปหมด อันนั้นมันมีกฎหมายในเชิงบังคับในเชิงปฏิบัติ อาจจะเป็นกรอบของกฎหมายใหญ่ๆนะครับ ฉะนั้นอย่าเอาคำว่ารัฐธรรมนูญไปพันกันในเรื่องของการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ฉะนั้น ถ้ามีเหตุใดๆ ก็ตาม รัฐบาลต้องรับฟังปัญหาของประชาชนทุกกลุ่มนะครับ แล้วก็พยายามหาทางไปสู่การแก้ไขไม่ใช่ให้ประชาชนมาต่อสู้กันเอง ต้องดิ้นรนต่อสู้กันไปมา รัฐบาลนั้นจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดความร่วมมือ ไม่ใช่สร้างบรรยากาศให้เกิดความขัดแย้ง ผมพยายามทำทุกอย่าง เพื่อจะให้เกิดความร่วมมือของคนในชาติให้ได้ ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าว่าทุกคนน่าจะเข้าใจในจุดนี้ในวันนี้นะครับ สาเหตุที่ทำไม คสช. ต้องมาดำเนินการในเรื่องการปรองดอง เพราะที่ผ่านมา คสช.ได้ทำกันมาแล้วหลายครั้ง หลายคณะ หลายรัฐบาล แต่ก็ไม่เคยสำเร็จนะครับ เพราะว่าเราไม่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ยังมองประเด็นแห่งปัญหายังไม่ครบถ้วน ครั้งนี้ คสช. ก็พยายามเข้ามาเป็นคนกลาง เพื่อจะแก้ไข้ความคัดแย้งต่างๆ ตั้งแต่ปี 2557 มันก็เลี่ยงไม่ได้ เป็นเหตุผลที่ผมจะต้องนำมาสานต่อ เพื่อจะยุติเรื่องราวดังกล่าวให้ได้ อย่างเป็นรูปธรรม ก็รับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนนะครับ เอาของเก่ามาดูด้วย แล้วอย่างที่บอกแล้วว่ามันไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งอย่างเดียว มันเพื่อการที่จะเดินหน้าประเทศไปในอนาคตอีกหลายสิบหลายร้อยปีโน่น

เรื่องการค้าการลงทุนทั้งในประเทศ ต่างประเทศ อย่างที่บอกแล้วว่าเราไม่สามารถจะไปบังคับให้เขาลงทุนเมื่อตอนนั้นตอนนี้จำนวนเท่านี้เท่านั้น มันบังคับไม่ได้หรอกครับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะมาลงทุน เราต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับเขา มีกติกา มีกฎหมายที่เป็นสากล ให้สิทธิประโยชน์ที่เพียงพอ เพราะต้องแข่งขันกับต่างประเทศที่เขาให้สิทธิประโยชน์มากมาย มีผลต่อการดำเนินการธุรกิจของผู้ประกอบการ สิ่งสำคัญที่สุดหากเราทำให้ประเทศสงบสันติ มีการเดินหน้าปฏิรูป เห็นอนาคต แล้วก็มีการเดินสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ไม่มีการแสดงความขัดแย้งกันทางสื่อ ทางสิ่งพิมพ์อะไรต่างๆทั้งโซเชียลทั้งในและนอกประเทศ ความเชื่อมั่นนักลงทุนจึงจะเกิดขึ้น แล้วเขาก็จะมาลงทุนอย่างวันนี้ คะแนนความเชื่อมั่นของคนไทยในประเทศไทยก็เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ หรือ 54 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นถ้าเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เขาก็จะเริ่มพิจารณาแล้วว่าจะลงทุนอย่างไรกันต่อไป ก็ให้รักษาไว้และให้มากขึ้นนะครับ ดัชนีความเชื่อมั่นจากการประเมินของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็ดีขึ้นตามลำดับ

ผมอยากให้ประชาชนคนไทยทุกคน ทุกอาชีพ ทุกรายได้ ได้ลองสังเกตดูดี ๆ นะครับ ลองนั่งนึกทบทวนเงียบๆ คนเดียวก็ได้หลายคนก็ได้เป็นกลุ่มก็ได้ ว่าตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงวันนี้ มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมากมายหรือเปล่า เช่น ความสงบสุข ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสาธารณสุข การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ การดูเรื่องรถไฟ รถไฟฟ้า เรื่องการศึกษา เรื่องการเกษตร น้ำ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มันดีขึ้นมากจากการประเมินของหน่วยงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และของภาคเอกชนด้วยขณะที่โลกก็กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศ สาเหตุหนึ่งก็จากการสู้รบ จากความขัดแย้ง ซึ่งมีหลายกลุ่มหลายฝ่ายในหลายพื้นที่ด้วยกันในโลกใบนี้ แต่ประเทศไทยของเราก็ยังคงรักษาสภาพไว้ได้มากพอสมควร ไม่เป็นไปตามโลกมากนักเพราะเราแข็งแกร่ง พื้นฐานเราดีอยู่แล้ว

ประชาชนอาจจะต้องได้รับประโยชน์มากขึ้นในอนาคต วันนี้อาจจะยังไม่พอเพียง ไม่มากเพียงพอ เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดระเบียบ การเริ่มต้นปฏิรูปเศรษฐกิจ จัดทำกฎหมาย ปฏิรูประบบราชการ การบริหารราชการที่จะต้องเน้นผลเชิงสัมฤทธิ์ การจัดทำงบให้สมดุล ทั้งรายจ่ายประจำ งบลงทุน การสร้างแหล่งเงินทุนใหม่ สร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น EEC เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กำลังเดินหน้า มันจะทำได้หรือไม่ได้อยู่ที่พวกเราทุกคน เรายังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสิ่งใหม่ๆเหล่านี้ได้ไม่มาก เพราะมันเป็นระยะแรกของการลงทุน ถ้าเราทำมานานแล้ววันนี้มันก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว วันนี้เพิ่งมาเริ่ม มันก็อาจจะช้าไปสักนิดนึงแต่ก็พยายามเต็มที่นะครับ เมื่อมันสำเร็จแล้วก็จะเกิดรายได้ เกิดห่วงโซ่คุณค่า มีธุรกิจต่อเนื่องเกิดขึ้นมากมาย ประชาชนก็จะมีรายได้ มีโอกาส มีทางเลือกมากขึ้น ตามห้วงระยะเวลาที่มีผลสัมฤทธิ์ไปตามลำดับนะครับ ในปีหน้าปีโน้น 5 ปี 10 ปี 20 ปี มันก็มั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆมันต้องใช้เวลา

รัฐบาลก็พยายามเร่งอย่างเต็มที่นะครับ หลายอย่างก็ติดขัดด้วยข้อกฎหมาย ด้วยขั้นตอนที่สำคัญ เราก็ไม่สามารถจะยกเลิกขั้นตอนสำคัญเหล่านั้นได้ อาจจะเร่งเวลาให้เร็วขึ้น ทำพร้อมกัน หรือลดขั้นตอนที่ไม่สำคัญลงไปได้บ้าง ก็อาจจะไม่มากนัก การใช้จ่ายงบประมาณในด้านการสาธารณสุข การศึกษา ขนส่งมวลชน เด็กเล็ก สังคมสูงวัย นับวันจะสูงขึ้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐจะต้องดูแลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ฟรี เป็นรัฐสวัสดิการสำหรับประชาชนทั้งประเทศ และก็ต้องใช้จ่ายเพื่อเยียวยา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ การลงทุนก่อสร้าง การทำสัญญาที่อาจล่าช้า ติดขัดจากการบุกรุก ไม่ยินยอม เหล่านี้มันทำให้ทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อทำไม่ได้มันก็มีปัญหาเรื่องการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องอีก เราก็ต้องแก้ไขปราบปรามการทุจริตไปด้วยในการทำงาน มันก็เลยยิ่งช้ากันไปหนักขึ้น

วันนี้ก็เปรียบเสมือนว่าถ้าเราไม่ต้องแก้ไขของเดิม หรือปัญหาเดิมที่ปล่อยปละละเลยไว้หรือไม่ได้เริ่มไว้ กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย มีการทุจริต งบประมาณรั่วไหล เราก็คงทำทุกอย่างได้เร็วกว่านี้ นี้ 3 ปีเรายังทำได้เท่านี้เลย เหมือนเราจะทำถนนเราจะต่อถนนออกไปขยายถนนออกไป หรือทำทางด่วน ทำ highway ให้มากขึ้นให้ยาวขึ้นเชื่อมโยงให้ถึงกันให้มากขึ้น มันก็น่าจะง่ายกว่าเร็วกว่าที่เราจะต้องไปทำอย่างเช่นในปัจจุบันก็เปรียบเสมือนเป็นต้องไปขุดของเก่า ไปสร้างใหม่ ไปซ่อมของเดิมพร้อมกันกับเริ่มต้นใหม่ไปด้วยมันใช้เงิน 2 อย่าง ถ้าของเก่าไม่ได้มันก็ต้องไปทำของเก่าไปด้วยแล้วสร้างของใหม่ไปพร้อมกันด้วย มันรอกันไม่ได้สักอย่าง เพราะมันเป็นอนาคตไอ้นี้เป็นอดีตและนี้คือเราอยู่จุดปัจจุบันนะครับ ให้ทุกคนช่วยกันคิดแบบนี้ที่ผมพูด ลองดูนะครับ ผมอยากจะขอความร่วมมือมากขึ้นในช่วงปีใหม่ไทย 2560 สงกรานต์นี้ด้วยครับ

สุดท้ายนี้ เนื่องจากวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ก็จะเป็นวันคุ้มครองโลกที่มีความสำคัญทางสิ่งแวดล้อมของโลก ผมขอถือโอกาส ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทย นอกจากจะเล่นน้ำสงกรานต์อย่างประหยัดแล้ว เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ ผมก็อยากให้การจัดกิจกรรม งานรื่นเริงต่างๆ ที่จะต้องคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การไม่ปล่อยทิ้งขยะตามที่สาธารณะ ถุงพลาสติก การใช้ภาชนะบรรจุอาหาร ขวด น้ำดื่ม เครื่องดื่มอะไรก็แล้วแต่เราต้องไม่ทิ้งเกลื่อนกลาดทิ้งเป็นที่ แล้วไม่เป็นบ่อเกิดของความสกปรก เชื้อโรคหมักหมมอะไรเหล่านี้มันอันตรายนะครับ คนเยอะเป็นจำนวนมาก ถ้าเราเริ่มต้นสงกรานต์นี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนตั้งใจจะทำเพื่อประเทศชาติ ลดขยะให้ได้ ลดถุงพลาสติกให้มากที่สุด ลดภาระให้เจ้าหน้าที่เขาต้องเก็บจนไม่หวาดไม่ไหวเหมือนกับทุกวันนี้ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน แล้วก็เราทำอะไรก็ตามที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มันก็จะทำให้โลกนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น การดื่มสุรา การขายสุราในพื้นที่ที่มีการเล่นสงกรานต์ ผมขอร้องอย่าให้ต้องบังคับใช้กฎหมาย ขอร้องอย่าจำหน่ายในช่วงนั้น เพราะมันจะทำให้การสนุก การละเล่นต่างๆ มันเลยประเพณีไปแล้ว มันไปสนุกแบบขาดการยับยั้งชั่งใจ เพราะฉะนั้นก็ขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือกำลังไปท่องเที่ยว และก็เตรียมเดินทางกลับในสัปดาห์หน้านั้น

ผมขออวยพรทุกคนเดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอบคุณทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ที่ได้เสียสละร่วมกันอำนวยความสะดวก ทั้งในประเทศและตามแนวชายแดนด้วยนะครับ ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานอยู่ต่างประเทศ ก็ขอขอบคุณทุกคนที่เราช่วยกันอำนวยความสะดวกดูแลบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย เพื่อเกิดความเชื่อมั่นให้ประชาชนพี่น้องชาวไทยของเรา แล้วก็แขกชาวต่างประเทศที่เข้ามาเที่ยวประเทศของเราด้วยนะครับ ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ขอให้มีความสุขกับครอบครัวมากๆ นะครับ สวัสดีครับ

ฟังรายการย้อนหลัง

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้