Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 2347 จำนวนผู้เข้าชม |
เผยยอดตายต่ำกว่าปี 2559 แต่ยอดอุบัติเหตุสูง ‘ปลัด มท.’ ขอบคุณทุกฝ่ายช่วยดูแลความปลอดภัย ระบุมาตรการคาดเข็มขัด-ห้ามนั่งท้ายกระบะ ช่วยลดยอดจำนวนผู้เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 เวลา 10.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2560 โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 17 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 40 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 323 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน เกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง โดยมีสาเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก เมาแล้วขับ 1,589 ครั้ง ขับรถเร็ว 1,028 ครั้ง และตัดหน้ากระชั้นชิด 547 ครั้ง โดยประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 3,230 คัน รถปิกอัพ 260 คัน แยกเป็น รถส่วนบุคคล 3,428 คัน รถโดยสารสาธารณะ 230 คัน รถบรรทุก 21 คัน สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 5 อันดับแรก ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ตัดหน้ากระชั้นชิด และรถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย
นายกฤษฎากล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตรวม 390 ราย แยกเป็น เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 198 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 171 ราย ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 21 ราย สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับรถเร็ว 146 ราย เมาแล้วขับ 124 ราย และทัศนวิสัยไม่ดี 77 ราย ประเภทรถที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 284 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 163 ราย รองลงมาได้แก่ รถปิกอัพ 49 ราย รถเก๋ง 27 ราย สถานะของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ขับขี่ 270 ราย ผู้โดยสาร 84 ราย คนเดินถนน 22 ราย ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 161 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 17 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 168 ราาย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นราธิวาส แม่ฮ่องสอน และสมุทรสงคราม จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ 1 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ อย่างไรก็ตาม สำหรับการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุในช่วงวันที่ 11-17 เมษายน 2560 พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 43.06 ขับรถเร็ว ร้อยละ 27.86 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.91 รถปิกอัพ ร้อยละ 6.83 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.71 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.07 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.02
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ต้องขอขอบคุณข้าราชการทุกฝ่ายที่ช่วยดูแลความปลอดภัยเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน โดยผลของการปฏิบัติงานจะไม่นำตัวเลขของผู้เสียชีวิตมาโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ แต่จะตั้งเป้าทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากที่สุดและสูญเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตในปี 2560 มีน้อยกว่าปี 2559 ถึงร้อยละ 20 แต่จำนวนอุบัติเหตุยังสูง และผู้ได้รับบาดเจ็บมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราร้อยละ 47 รองลงมาคือการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากรถจักรยานยนต์กว่าร้อยละ 60 ขณะที่รถยนต์ส่วนบุคคลเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถสาธารณะ ทั้งนี้ จะนำมาตรการที่ได้ใช้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และจะไม่มีการปิดศูนย์ความปลอดภัยทางถนนเพราะเราจะทำหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนต่อเนื่องเรื่องเมาไม่ขับจะไม่รณรงค์เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น ซึ่งต่อไปกรมการปกครองจะต้องหารือกับท้องถิ่นพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจสร้างวินัยกับชาวบ้านให้มากขึ้น
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ส่วนปีต่อไปจะมีการออกกฎเกณฑ์ควบคุมการจำหน่ายสุราในเทศกาลสงกรานต์หรือไม่นั้น การจะออกเป็นกฎหมายต้องคิดให้รอบคอบเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดผู้ออกมาต่อต้าน ทั้งที่รัฐคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ต่อจากนี้จะพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้อยู่ในพื้นที่รณรงค์การสร้างจิตสำนึกให้เมาไม่ขับ และเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ยังพบความว่าเกิดการสูญเสียไม่เท่ากับเทศกาลสงกรานต์ 7 วัน 390 ราย จึงอยากให้ประชาชนช่วยกันตระหนักและดูแลกันภายในครอบครัวด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่าการปรับวิธีรายงานสาเหตุของผู้เสียชีวิต ทำให้การทำงานดีขึ้น สำหรับมาตรการห้ามนั่งท้ายรถกระบะและเข้มงวดการคาดเข็มขัดนิรภัยนั้น ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ แต่ตัวเลขการสูญเสียยังเกิดจากการดื่มสุราเป็นหลัก และไม่ทำตามกฎระเบียบวินัยจราจร