Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 4752 จำนวนผู้เข้าชม |
นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด รองโฆษกศาลปกครอง ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ เด็กจมน้ำเสียชีวิตในสระว่ายน้ำเทศบาล เทศบาลต้องรับผิด?
ประเด็นที่น่าสนใจ
คดีพิพาทที่นำมาเล่าสู่กันฟังในรายการ ศาลปกครองพบประชาชน เป็นเรื่องราวของผู้ปกครองที่พาบุตรไปใช้บริการสระว่ายน้ำเทศบาล และบุตรได้เสียชีวิตจากการจมน้ำในสระว่ายน้ำ
ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า ในเช้าวันเกิดเหตุนาย ช. พาบุตรไปใช้บริการสระว่ายน้ำเทศบาล โดยเสียค่าบริการใช้สระว่ายน้ำ ขณะนั้นมี ผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำประมาณ 30 ถึง 40 คน จากนั้นเวลาประมาณ 11 นาฬิกา มีผู้ที่มาว่ายน้ำร้องว่ามีเด็กจมน้ำ นาย พ. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลสระว่ายน้ำ ซึ่งอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นสระว่ายน้ำได้ลงไปในสระว่ายน้ำอุ้มบุตรของนาย ช. ขึ้นจากสระว่ายน้ำและปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยไม่ได้นำเครื่องช่วยชีวิตออกมาใช้ เมื่อหน่วยกู้ภัยมาถึงเวลาประมาณ 11.20 นาฬิกา จึงแจ้งว่าบุตรชายของนาย ช. เสียชีวิต และแพทย์ได้ชันสูตรพลิกศพระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากการจมน้ำประมาณครึ่งชั่วโมง
นาย ช. เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนาย พ. ไม่ได้ปฏิบัติหน้าบริเวณริมสระว่ายน้ำตลอดเวลา แต่อยู่บริเวณบันไดทางขึ้นสระว่ายน้ำ จึงไม่สามารถช่วยบุตรของตนได้ทันท่วงที ถือว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยละเลยต่อหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยผู้ใช้บริการสระว่ายน้ำ จึงนำคดี มาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เทศบาลชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน
เทศบาลอ้างว่า ระเบียบว่าด้วยการใช้สระว่ายน้ำได้ระบุว่าให้ผู้ที่มาใช้บริการสระว่ายน้ำระมัดระวังในการใช้สระว่ายน้ำและหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ และหากเกิดเหตุสุดวิสัยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเทศบาลจะไม่รับผิดชอบทุกกรณี ดังนั้นเทศบาลจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
กรณีดังกล่าวถือว่าเทศบาลประมาทเลินเล่อและต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ว่า เมื่อขณะเกิดเหตุมีเด็กมาใช้บริการจำนวนมาก ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมคาดหมายได้ว่าอาจเกิดกรณีเด็กจมน้ำได้ง่าย จึงต้องควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ใน บริเวณที่สามารถสอดส่องดูแลผู้มาใช้บริการได้อย่างทั่วถึง การที่นาย พ. อยู่บริเวณบันไดทางขึ้นสระว่ายน้ำ จึงไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์บริเวณสระว่ายน้ำได้ เมื่อบุตรของผู้ฟ้องคดีจมน้ำ จึงไม่อาจช่วยเหลือได้ทันท่วงที นอกจากนี้แม้จะมีระเบียบว่าด้วยการใช้สระว่ายน้ำ เพื่อใช้เป็นมาตรการควบคุมการใช้สระว่ายน้ำให้มีมาตรฐานเป็นแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการ และเพื่อความเป็นระเบียบและความปลอดภัย ในการใช้สระว่ายน้ำ และมีคำสั่งที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ของพนักงานจ้าง แต่ระเบียบและคำสั่งดังกล่าวไม่มีการกำหนดรายละเอียด ขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ผู้มี หน้าที่รักษาความปลอดภัยสระว่ายน้ำต้องคอยระวังเหตุอยู่ใกล้ชิด ริมขอบสระว่ายน้ำตลอดเวลา เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ใช้บริการอย่างทันทีทันใด
อีกทั้ง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมายให้นาย พ. ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งสระเล็กและสระใหญ่ในเวลาเดียวกัน ขณะที่มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมากและ หากนาย พ. มีความจำเป็นไม่อาจปฏิบัติหน้าที่บริเวณริมสระว่ายน้ำได้ ก็ไม่มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้ทันที พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเห็นว่า มาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้มาใช้บริการสระว่ายน้ำยังไม่ได้มาตรฐานอย่างเพียงพอ และเจ้าหน้าที่ของ ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ เมื่อ บุตรของ ผู้ฟ้องคดีเสียชีวิตจากการจมน้ำเมื่อไปใช้บริการสระว่ายน้ำ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ผู้ฟ้องคดี(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1111/2559)
คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีสำหรับหน่วยงานของรัฐที่มี หน้าที่ให้บริการกับประชาชนโดยเฉพาะบริการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้บริการทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน จะต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐานและเพียงพอที่จะป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหากเกิดความเสียหายขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือจากการละเลยต่อหน้าที่นั้น ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขณะเดียวกันก็ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องมีความระมัดระวังด้วยอีกทางหนึ่ง
รายการ “ศาลปกครองพบประชาชน”
ผู้ดำเนินรายการ
ผู้ผลิตรายการ
ห้องบันทึกเสียง ตัด/ต่อ
ผู้ควบคุมรายการ
รูปแบบรายการ
วิธีการดำเนินงาน
งบประมาณสนับสนุน
ช่องทางการเชื่อมโยงสัญญาณถ่ายทอดเสียง
ช่องทางการส่งกระจายเสียง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
ฟังรายการย้อนหลัง