ศาลอาญาแจง ถ่ายภาพห้องคุมขัง "ห้ามไลฟ์สด-ถ่ายติดโซ่ตรวน" ป้องกันการเหยียดหยาม คุ้มครองสิทธิทุกฝ่าย

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2838 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาลอาญาแจง ถ่ายภาพห้องคุมขัง "ห้ามไลฟ์สด-ถ่ายติดโซ่ตรวน" ป้องกันการเหยียดหยาม คุ้มครองสิทธิทุกฝ่าย

ศาลอาญา แจงข้อกำหนดถ่ายภาพ ทำข่าว ย้ำ!! "ห้ามไลฟ์สด" ห้ามถ่ายติดโซ่ตรวน เครื่องพันธนาการ เบลอหน้าได้ ป้องกันการเหยียดหยาม คุ้มครองสิทธิทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, นายมนตรี รัตนทวีโสภณ เลขานุการศาลอาญา และนายเจตสิริ อังศุพาณิชย์ ผู้อำนวยศาลอาญา ได้ประชุมร่วมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และสื่อมวลชนโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์หลายสำนัก โดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อสรุปแนวทางและข้อปฎิบัติในการถ่ายภาพทำข่าวบริเวณห้องคุมขังศาลอาญา

นายเจริญวิทย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า การทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญต้องมีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ทำให้มนุษย์สามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยผ่านสื่อทุกรูปแบบ สามารถแสวงหาการรับข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารได้โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ

ทั้งนี้ ในส่วนของศาลที่เป็นหน่วยงานโดยเฉพาะ เพื่อความเรียบร้อยในบริเวณศาล และสิทธิของจำเลยปกติก็จะให้สื่อมวลชนเสนอข่าวตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือศาลได้ออกข้อกำหนดเฉพาะในส่วนของศาล เฉพาะศาลอาญาเองเราก็มีข้อกำหนดตามที่เคยได้ประชุมกับผู้สื่อข่าวครั้งก่อนแล้วดังนี้

ประการแรก บริเวณหน้าศาลอาญา ศาลจะอนุญาตให้ถ่ายภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวตามปกติ รวมทั้งป้ายชื่อศาลก็สามารถถ่ายได้ แต่ในส่วนที่เป็นบัลลังก์ห้องพิจารณาคดี ศาลจะไม่อนุญาตให้ถ่ายนิ่ง หรือ ภาพเครื่องไหว

ส่วนการถ่ายภาพบริเวณด้านหลังศาลอาญานั้น การถ่ายภาพจะต้องขออนุญาตก่อนทุกครั่ง มิฉะนั้นจะไม่อนุญาตให้ถ่าย ยกเว้นกรณีเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น คดีที่มีการนำตัวผู้ต้องหามาฝากขัง ซึ่งศาลและผู้สื่อข่าวก็ไม่ทราบล่วงหน้า จะอนุญาตให้ถ่ายภาพล่วงหน้าได้ แต่ต้องไปยื่นขออนุญาตในภายหลัง

นายเจริญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนบริเวณด้านหลังศาลที่อนุญาตให้ถ่ายรูป จะอนุญาตให้เฉพาะสื่อที่มีรายชื่อขออนุญาตเท่านั้น ซึ่งจะกำหนดจุดเป็นพื้นที่บริเวณหน้าทางเข้าห้องควบคุมด้านหลังศาล และบริเวณทางเดินด้านในที่จัดพื้นที่ไว้ให้รวม 2 จุด ซึ่งศาลจะให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ตำรวจและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ประสานกับผู้สื่อข่าวว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอนุญาตจะให้ถ่ายภาพหรือไม่ ถ้าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยอนุญาตก็สามารถถ่ายได้ หากจำเลยหรือผู้ต้องหาไม่อนุญาตก็ไม่สามารถถ่ายได้เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ

ส่วนพื้นที่ ที่กำหนดให้ถ่ายภาพดังกล่าวนั้น ให้ผู้สื่อข่าวที่ถ่ายภาพนิ่ง หรือ ถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่ระดับหน้าอกและใบหน้าของผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือหากจะมีการเบลอใบหน้าผู้ต้องหา หรือ จำเลยก็จะเป็นการดี เพราะการถ่ายภาพทำข่าวไม่ใช่การประจานผู้ต้องหาหรือจำเลยในลักษณะเหยียดหยาม แต่ก็ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าวและแต่ละองค์การ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามถ่ายภาพที่ติดเครื่องพันธนาการ กรงขัง โซ่ตรวน กุญแจมือหรือกำไลข้อมือ และไม่ให้เห็นใบหน้าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือ ตำรวจขณะการควบคุมตัว แต่หากถ่ายภาพติดเจ้าหน้าที่ด้วยความจำเป็นก็อาจจะใช้วิธีการเบลอภาพได้

ส่วนการถ่ายภาพบริเวณห้องเวรชี้ในการนำตัวผู้ต้องหามาฝากขัง ศาลจะอนุญาตให้ถ่ายภาพช่วงผู้ต้องหาเดิน แต่ห้ามถ่ายภาพผู้ต้องหาขณะรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ บริเวณหน้าห้องเวรชี้ และขอย้ำบริเวณห้องพิจารณาคดีห้ามไม่ให้สัมภาษณ์คู่ความหรือผู้ต้องขังในห้องพิจารณาโดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามทำการไลฟ์สด บริเวณห้องควบคุมตัวและด้านหลังด้วย

นายเจริญวิทย์ กล่าวอีกว่า อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ระเบียบการทำข่าวบริเวณศาลให้ถูกต้อง ซึ่งการเผยแพร่ข่าวสารสู่ประชาชนนั้นสื่อมวลชนถือเป็นสถาบันที่สามารถส่งเสริมให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างถูกต้องภายใต้กรอบกติกาและหลักสิทธิมนุษยชนก็จะได้รับการยอมรับจากสังคม จึงเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกเครือข่าย ทุกสถาบันกระทำหน้าที่ตามข้อกำหนดและหลักการที่ศาลอาญาวางไว้เพื่อให้ศาลและสื่อมวลชนทำงานไปกันได้ด้วยดี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้