รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1700 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน สำหรับศาสตร์พระราชาสัปดาห์นี้นั้น ผมอยากจะชี้ให้เห็นบทพิสูจน์ ในเรื่องของความเพียร กับความสำเร็จตามบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้แก่การก้าวมาสู่จุดสูงสุดในวันนี้ ของนักกอล์ฟหญิง มือ 1 ของโลก ของโปรเม เอรียา จุฑานุกาล ที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้และทุกความสำเร็จนั้นต้องได้มาด้วยความเพียร ทั้งนี้ อาจมีหลายปัจจัยส่งเสริม ทั้งการสนับสนุนของครอบครัวที่เป็นแรง ผลักดันสำคัญอย่างต่อเนื่อง และทุ่มเท แต่ที่สำคัญก็คือความวิริยะอุตสาหะนะครับของตัวน้องเมย์เองการไม่ละความพยายาม และการเอาชนะใจตนเอง เพื่อให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ นานาให้ได้ ซึ่งในการนี้นั้น ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทย ในการแสดงความยินดีกับความสำเร็จในครั้งนี้ ขอขอบคุณโปรเมที่นำความสุขมาสู่คนไทยอีกครั้งนะครับ สำหฟรับข้อคิดจากโปรเมที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ โดยผมขอให้นำมาประยุกต์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกๆ คน ในการฝ่าฟันอุปสรรค ทั้งในการดำรงชีวิตและการทำงาน ได้แก่การเป็นอันดับ 1 ไม่สำคัญเท่าความสุข ความพึงพอใจ หมายถึงการทำในที่ตนรัก ตนชอบนะครับ โดยมีความฝันหรือเป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน ไม่ล่องลอยไปเรื่อยเปื่อย หรือไม่รู้ว่าทำไปทำไม ก็จะแรงผลักดันในการทำงาน อย่างมีระบบมีแผนงาน และขั้นตอน ไม่ไร้ทิศทางและก็จะไม่ละความเพียรพยายาม เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายอย่างมีความสุข เช่นเดียวกับนักกีฬาคนอื่นๆ ด้วย
       
       พี่น้องประชาชนที่รักครับ จากเส้นทางสู่ความสำเร็จ ของโปรเมดังกล่าวนั้น ผมอยากให้เราทุกคนลองมองในเชิงเปรียบเทียบดูว่า ถ้าเปรียบประเทศชาติเป็นเหมือนนักกีฬภายในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แล้วเราจะร่วมกันนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จบ้างได้อย่างไร ประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีปัญหาอะไรบ้างที่รอการแก้ไข เราจะต้องปฏิรูป ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือต้องลงทุนอะไรกันบ้าง เพื่อวางรากฐานในอนาคต แล้วก็เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประทศ สุดท้ายก็คือเราจะมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย หรือวิสัยทัศน์ ที่เรากล่าวไว้ว่าเราจะต้อง มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนให้ได้โดยเร็วนะครับ ในส่วนตัวผมแล้วนั้น เห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยเปรียบเสมือนนักกีฬาที่ป่วยนะครับ อันนี้ก็เป็นส่วนตัวของผมนะ ที่ต้องการการรักษาตามอาการ 3 ประการ
       
       กล่าวคือ 1.ป่วยกาย เช่น เรามีโครงสร้างระบบราชการที่อาจจะยังไม่สามารถให้การบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ รวมทั้งยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หลับหูหลับตาอยู่ทั้งที่รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่ ผิดจากห้วงที่ผ่านมามาก เราต้องแก้ทั้งผู้ให้ แล้วก็ผู้รับ ตลอดจนทำให้กระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นที่น่าเชื่อถือ มีการตรวจสอบ การประมูลทุกอย่าง ตลอดจนหลัก ฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งอาจจะได้มาโดยหน่วยงานภาครัฐเอง หรือจากประชาชน เราต้องกลับมาแก้ไขทั้งหมด โครงสร้างทางเศรษฐกิจเรา ก็อาจจะยังไม่มีการเชื่อมโยง เกื้อกูลกันได้ ในทุกระดับ เท่าที่ควรนะครับ ยังไม่เชื่อมต่อเป็นห่วงโซ่อันเดียวกัน และโครงสร้างพื้นฐานก็อาจจะยังไม่สามารถรองรับการแข่งขันของโลกในปัจจุบันนี้ได้ เราติดขัดมาในเรื่องอุปสรรค เรื่องความขัดแย้งอะไรต่างๆ หลายอย่างทำไม่ได้ในช่วงที่ผ่านมา
       
       2.ป่วยใจ ก็ได้แก่ ความขัดแย้ง แตกแยก ไม่ปรองดองกัน ของคนภายในประเทศ ทำให้เราไม่มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตามความหมายในพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ว่ารู้ รัก สามัคคี รวมทั้งขาดการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน จึงขาดแรงผลักดัน ขับเคลื่อนประเทศ และที่สำคัญ
       
       3. คือการป่วยความคิด คือ ความไม่เข้าใจหลักการ หรือสำคัญผิด ทั้งในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ สิทธิ-หน้าที่พลเมืองเหล่านี้เป็นต้น รวมทั้งเราขาดฐานคิดที่เป็นระบบ คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีเหตุมีผลนะครับเหล่านี้เป็นเหตุให้ อาการ ป่วยกาย ป่วยใจ นั้นเราก็อาจจะไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในช่วงที่ผ่านมา หรือบางคนบางกลุ่มก็อาจจะปฏิเสธเข้ารับการรักษาไปเลย ประเด็นสำคัญก็คือทุกคนที่มีปัญหาทั้งหมดส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้มีรายได้น้อยนะครับ มีความยากจน อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเขา เราต้องเข้าใจเขา ทำยังไงรายได้ที่เขาไม่เพียงพอ ถ้าเราบังคับอย่างเดียวก็ไปไม่ได้ นะครับ เราต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ เราต้องลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้ได้นะครับ ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลงเอง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนี้ก็ได้ใช้เวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะดูเหมือนนาน อาจจะดูไม่นานก็แล้วแต่ เราก็ได้พยายามที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยของเรานั้น กลับคืนมาอยู่ในครรลองที่เหมาะสม และมีความเป็นสากลให้มากยิ่งขึ้น จนวันนี้เราก็ได้รับความเชื่อมั่นจากเวทีระหว่างประเทศในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่อง การค้างาช้าง การประมงผิดกฎหมาย การบินพลเรือน การค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว แรงงานทาส และการป้องกันการทุจริต ที่มีความก้าวหน้าไปตามลำดับ ได้ส่งผลเชิงบวกในการจัดลำดับประเทศไทยในโลกดีขึ้นจากหลายสถาบัน อย่างต่อเนื่อง เช่น ล่าสุดผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2017 ของ USNews สหรัฐอเมริกาก็ยกให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ตามที่ผมได้เคยให้ข้อมูลมาหลายครั้ง แต่ผมก็คิดว่า เรายังมีศักยภาพอีกมากมาย และพร้อมที่เป็นศูนย์กลางในอีกหลายๆ ด้าน ทั้งอาหาร-สมุนไพร-การท่องเที่ยวและกีฬา-การบิน-และอุตสาหกรรม ที่เรามีศักยภาพ เพียงแต่เราต้องรักษาอาการป่วย 3 ประการที่ผมว่าเมื่อสักครู่ไปแล้วให้ได้ และเราจะต้องทำงานร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์ บูรณาการ เราต้องเดินหน้าไปด้วยกัน
       
       ที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช. ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และบูรณาการกัน ท่ามกลางความขัดแย้ง ท่ามกลางความไม่เห็นชอบ หลายอย่าง ซึ่งเราได้มีการคิดแบบเดิมทำแบบเดิมมาเป็นเวลานานพอสมควร เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็ต้องแก้ไขทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การเตรียมการปฏิรูปประเทศ รวมความไปถึงการสร้างความปรองดองไปพร้อมๆ กันด้วยทั้ง 4 ภารกิจ เราก็ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานเพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือในการที่เราจะกลับมาเป็นนักกีฬาที่มีความพร้อมในทุกสนามการแข่งขัน โดยเราจะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากที่ผมกล่าวไปแล้ว ให้ความสำคัญ ประชาชนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากเปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่มีความสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่กลับมองไม่เห็น อาจจะไปมองเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมองทั้งหมด ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แล้วก็ไปสู่เศรษฐกิจฐานรากด้วย ประชาชน เรามีประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นจำนวนมาก และการดำเนินการที่สำคัญๆ ในปัจจุบัน ที่มีความคืบหน้า ได้แก่ การจัดทำโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ รอบแรกปี 2559 ลงทะเบียน 8.3 ล้านคน และรอบที่ 2 ปีนี้ เพิ่มเป็น 14 ล้านคน ก็คงจะจากผู้ที่ไม่กล้ามาลงเมื่อปี 2559 วันนี้ก็มาลงเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่านโยบายนี้ได้รับการตอบสนองจากประชาชนเป็นอย่างดี แต่รัฐบาลก็ต้องระมัดระวังในการดำเนินการต่อไป การลงทะเบียนตามนโยบายนี้นั้น เราได้ดำเนินการและปรับปรุงทุกปีๆ ไม่ใช่ครั้งเดียวแบบเดียวจบ ปีเดียว ไม่ใช่ เราก็ต้องดูจาก ฐานข้อมูลกลางภาครัฐ ให้ทันสมัย ให้ถูกต้อง สอดคล้อง กับนโยบายต่างๆ เพราะประเทศเรามีคนอยู่หลายกลุ่ม หลายฝ่ายด้วยกัน และเพื่อให้หน่วยงานของเราได้นำไปใช้ประโยชน์ในการที่จะกำหนดนโยบาย เพื่อจะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน เป็นการใช้จ่ายเงินภาษีที่คุ้มค่าแล้วก็เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ต้องแยกให้ออกนะครับว่าเรามีกลุ่มเป้าหมายอะไรบ้าง แล้วดำเนินแต่ละกลุ่มเป้าหมายนี่มีหลายวิธีการ ทั้งกฎหมาย ทั้งวิธีการ ทั้งโรดแมป อะไรต่างๆ ก็ต้องให้ครบนะตามความจำเป็น และตรงความต้องการของเขาด้วย วันนี้ก็เอามาให้ชัดเจนขึ้นเพื่อจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด และรัฐบาลจำเป็นต้องตรวจสอบก็ต้องใช้วิธีการจ้างนักศึกษาประมาณ 70,000 คนทั่วประเทศ วัตถุประสงค์ของผมนะหรือ เพื่อตรวจสอบแล้วก็ให้พวกนี้มีงานทำด้วย มีรายได้ด้วยยังไง นักศึกษาจะได้มีเงินไปเรียนหนังสือ ก็จะช่วยลงไปในพื้นที่ตรวจสอบคุณสมบัติ หาผู้รับรองให้ได้นะครับ ทั้งสภาพความเป็นอยู่และรายได้ เช่น การที่มีมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 8,400 บาท หากเป็นเกษตรกรก็ต้องไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง หรือถ้ามีก็ไม่เกิน 10 ไร่ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการตามนโยบาย และป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิ์หรือการแอบอ้างให้ข้อมูลเท็จ รวมทั้งสอบถามความต้องการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพี่น้องประชาชนก็คือต้องเสนอมาว่าต้องการอะไรภาครัฐก็ต้องตอบสนองให้ตรงกับความต้องการ เราจะไม่เหวี่ยงแห ซึ่งหลังจากนั้นกระทรวงการคลังก็จะมีการออกบัตรสวัสดิการให้สำหรับผู้มีสิทธิ ประมาณเดือนตุลาคม เพื่อใช้เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่มีน้อยกว่าเดิม มีแต่ว่าจะทำยังไงให้มากกว่าเดิม ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากกว่าเดิม หลายคนก็ไปบิดเบือนว่านั่นจะไม่ได้ นี่จะไม่ได้ ผมไม่เคยบอกว่าผมจะลดอะไรสักอย่าง มีแต่เราจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร งบประมาณมีเท่านี้จะทำยังไง จะคัดสรรแยกออกจากกันตรงไหนได้บ้าง ตรงไหนจะเพิ่ม ตรงไหนเท่าเดิม หรือตรงไหนมากกว่าเดิม เป็นเรื่องของการพิจารณาในการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบ ระบบการเงินการคลังของประเทศ ปัจจุบันนั้นเรากำลังอยู่ระหว่างเตรียมการและศึกษาของทุกกระทรวง ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงมาตรการเดิม เพื่อขยายผลความสำเร็จ เช่น การลดรายจ่าย ผ่อนปรนภาระ เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ทั้งเรื่องอาชีพ รายได้ และแหล่งเงินทุน ที่อยู่อาศัย หรืออาจมีมาตรการใหม่ๆ ก็ขึ้นอยู่กับผลการลงพื้นที่ แล้วก็รับฟังความต้องการของพี่น้องประชาชนก็ขอให้เตรียมคิดเตรียมเสนอ อะไรที่ทำได้ผมก็จะทำให้ ซึ่งผมรับรองว่า เราก็ต้องมีทั้งมาตรการระยะสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและมาตรการระยะยาว เพื่อสร้างความยั่งยืน และให้ผู้มีรายได้น้อยพึ่งพาตนเองได้ แล้วผมจะถือโอกาสมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป ขอให้อดทนและอดใจรอกันสักหน่อย ทั้งนี้ เราสามารถติดตามตรวจสอบรายชื่อผ่านทางเว็บไซต์และสายด่วน ตามที่ปรากฏบนหน้าจอด้านล่าง
       
       นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มพลังในสังคม โดยเฉพาะผู้พิการผู้ด้อยโอกาสให้มีส่วนร่วมในการสร้างชาติ โดยปรับมุมมอง ทัศนคติของบุคคลรอบข้างและคนในสังคม ว่าไม่มีใครเป็นภาระแต่ทุกชีวิตคือพลังของชาติภายใต้ศักยภาพ ความถนัด และข้อจำกัดของแต่ละคน เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพนักร้อง นักดนตรี ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็น ในที่สาธารณะหรือ S2S From Street to Star ให้ได้รับโอกาสฝึกฝนฝีมือ จนสามารถยึดเป็นอาชีพ ออกอัลบั้ม แสดงคอนเสิร์ต รับจ้างตามงานต่างๆ ได้ เพื่อจะหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ทั้งนี้ ก็ด้วยความร่วมมือภายใต้กลไกประชารัฐอย่างเต็มรูปแบบ โดยภาครัฐมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในระดับนโยบายและภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และ 3 ค่ายเพลง คือ GRAMMY RS และ TRUE ขอบคุณนะครับ ที่ได้ช่วยร่วมกันขับเคลื่อน ตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือก ผลักดันให้ถึงฝั่งฝัน ล่าสุดนั้น ได้จัดให้มีการแสดงคอนเสิร์ตศิลปิน S2S ตามโครงการนี้ ร่วมกันศิลปินชื่อดังของประเทศ ก็ทราบว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก รวมทั้งมีผู้เข้ารับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางอินเทอร์เน็ตกว่า 2 แสนรายศิลปิน S2S หลายราย ได้รับโอกาสจ้างงาน และเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดอีกด้วย นอกจากนั้นจะเป็นการสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจะต้องไม่ทิ้งใคร ประชาชนกลุ่มใดไว้ข้างหลังอีกแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญ และสนับสนุนผู้พิการให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศทางอ้อมด้วย
       
       เกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมนี้ ผมขอชื่นชม ขอบคุณ และเป็นกำลังใจ ให้กับน้องเต้าอี้ เด็กชาย ธรรมสมิต นวเศรษฐกุล ในการต่อสู้ เอาชนะอาการป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี หรืออาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายต่อหลายคน ก็คือ 1.คือการไม่ยอมแพ้ในอุปสรรคทางร่างกาย ซึ่งน้องเต้าอี้ยังคงพยายามใช้ชีวิตเป็นปกติ ไปโรงเรียน ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ตามความเหมาะสม และใช้สมองคิด ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ 2.การแสดงน้ำใจ ห่วงใยผู้อื่น ให้กำลังใจผมและรัฐบาล ในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และประชาชน สิ่งนี้ผมเห็นว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคของการเปลี่ยนผ่านนี้ เราต้องการกำลังใจ ความเข้าใจ และความร่วมไม้ร่วมมือกันให้ได้ ถ้าเรามีแต่สิ่งดีๆ ในลักษณะแบบนี้ในชีวิตในสังคม ผ่านหน้าจอทีวี หน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามโซเชียลมีเดียมากกว่าที่เป็นมา ผมเชื่อว่าจะช่วยจรรโลงจิตใจ สร้างสรรค์สังคมอันอบอุ่นให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สมดังพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 องค์หนึ่ง ใจความว่า สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่
       
       พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ห้วงที่ผ่านมานั้น ผมได้ตั้ง 4 คำถาม ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิด โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือ ต้องการให้สติ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เพื่อจะหาแนวทางแก้ปัญหาของประเทศ และกำหนดอนาคตของเราด้วย เพราะหลายอย่างกำลังเดินหน้าไปตามโรดแมป ตอนนี้กำลังทำกฎหมายลูกอยู่ ถ้าเราคิดไม่ตรงกัน มันทำกฎหมายลูกก็มีปัญหาความขัดแย้งอีกแหละ เราก็เดินหน้าไม่ได้ไง เพราะฉะนั้นประการหนึ่งผมเห็นว่า มันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อีกประการหนึ่งคือ ต้องการกระตุ้นให้สังคมไทยในทุกระดับนั้น ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เปรียบเสมือนเป็นทางตันในอดีตจนนำมาสู่การแก้ปัญหาของรัฐบาล และ คสช.ในปัจจุบัน และรัฐบาลในอนาคต
       
       ที่ผ่านมานั้น สังคมเรามีความแตกแยกทางความคิด แน่นอนไม่มีอะไรที่คิดตรงกันได้ทั้งหมด คนเกือบ 70 ล้านคน อุดมการณ์ทางการเมืองเข้าไปกัดกร่อน แม้กระทั่งสถาบันครอบครัว วันนี้ผมเห็นว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้วพอสมควร เราควรมีโอกาสหันหน้าเข้าหากัน จับเข่าคุยกันอย่างเปิดหูเปิดใจ ในประเด็นที่ไปจะไปสู่ความขัดแย้งได้อีก โดยสรุปว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล ปราศจากคนคดโกง เพื่อบริหารประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ และพร้อมนำพาประเทศไปสู่ปฏิรูปอย่างแท้จริง หลายคนยังหลงประเด็นอยู่นะครับ เป็นเสมือนการทำโพลสำรวจคะแนนนิยม หรือปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจ เป็นอย่างนี้น่าเสียดาย ผมก็เสียใจนะครับ ที่ถูกนำไปเป็นประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความขัดแย้งทางการเมืองอีก ผมไม่ต้องการอย่างนั้นเลย คำตอบเหล่านั้นหากเป็นความเห็นอันบริสุทธิ์ และสร้างสรรค์จากพี่น้องประชาชน ปราศจากการชี้นำ หรือบิดเบือนแล้ว ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับพวกเราทุกคน เพราะทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศ ผมเปิดเวทีให้ท่านได้แสดงออกแล้วไง หลายๆ คนบอกว่า เราปิดกั้นทั้งหมดก็แสดงมา มันจะดีหรือไม่ดี ผมฟังได้ทั้งนั้นแหละ
       
       เราทุกคนย่อมต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะเจ้าของประเทศ ทุกคนเลย ไม่ใช่ต้องการทำเพื่อสร้างคะแนนนิยมอย่างเดียว หรือโจมตีนักการเมือง ฝ่ายการเมือง หรือโจมตี คสช. ไม่ใช่ ผมไม่ได้ต้องการอย่างนั้น จะมากจะน้อยผมก็ฟัง จะกี่คนก็ไม่ทราบ จะ 1 คน 10 คน 1,000 คน ก็แค่นั้น ผมก็ฟังแค่นั้น ที่เหลือแสดงว่าเข้าใจแล้ว ก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่ต้องตอบผมก็ได้ แต่ถ้าใครมีความคิดเห็นว่าอยากจะร่วมมืออะไรต่างๆ อยากแสดงความคิดเห็น ผมก็รับฟังทั้งหมด ไม่ได้เร่งรัดอะไรใคร ขอให้ไปช่วยกันคิดหาทางว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องอะไรได้บ้าง ปัจจุบันนั้นทุกคนทราบดีว่า รัฐบาล และ คสช.ได้บริหารประเทศมาเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้ว เราให้ความสำคัญกับการรวมพลังประชารัฐสร้างชาติ เพราะลำพังนั้นภาครัฐข้าราชการ เราไม่สามารถทำทุกอย่างให้ลุล่วงไปได้โดยปราศจากความร่วมมือ จากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ เอนจีโอ อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ประชาชนทุกคนด้วย ดังนั้นภาครัฐจะต้องเพิ่มบทบาทของตนเอง ไม่จำกัดแค่เพียงการให้บริการประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น มันต้องหาทางออก หาทางแก้ไขให้ประชาชนด้วย ภาครัฐนั้นคงหมายถึงรัฐบาลในระดับนโยบาย ลงไปจนถึงข้าราชการในระดับปฏิบัติจะต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดความเชื่อมโยงกัน เกิดเป็นเครือข่ายกลไกประชารัฐ ตามที่ผมได้กล่าวไปให้ได้
       
       วันนี้ผมได้กำหนดเป็นวาระชาติไปแล้ว ในเรื่องของการเป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อน การให้การบริการประชาชนต้องรวดเร็ว เราจะเร่งรัดในปีนี้ให้ได้ ทั้งนี้เราจะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างเข้าใจเสียก่อน ด้วยการคิด และมองเห็นปัญหาร่วมกัน วันนี้ผมจะฝากให้คิดตาม ไม่ใช่คำถาม ไม่ต้องการคำตอบ ในอีก 50 ประเด็น เพื่อจะได้เข้าใจว่า รัฐบาล และ คสช. มองปัญหาของประเทศ สำหรับตั้งเป็นโจทย์ในการทำงานขับเคลื่อนประเทศ ปฏิรูปประเทศในปัจจุบันนี้อย่างไร และถ้าท่านมีโอกาสเป็นรัฐบาลกัน หรือมีโอกาสบอกผมในเวลานี้ ท่านคิดว่าเอ๊ะจะทำอย่างไร เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายต่างๆ มีหลายเรื่องด้วยกัน 50 เรื่องวันนี้ผมยกมาแค่ 50
       
       1. การพัฒนาประเทศ ทำยังไงให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เราจะต้องมรการพัฒนาภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด ชุมชน ท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน ให้เข้มแข็งตามศักยภาพที่มีความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน
       
       2. คือการทำให้เศรษฐกิจระดับมหภาค และระดับฐานรากดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน
       
       3. การเชื่อมห่วงโซ่มูลค่า และการกระจายรายได้ โดยต้องเข้าใจว่า ด้วยธรรมชาติของกลไกทางเศรษฐกิจแล้ว สัดส่วนรายได้ ผลกำไรส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ระดับบน เพราะว่าเขาเป็นผู้ลงทุนมากกว่า มีความเสี่ยงกว่า อาจจะขาดทุนก็ได้ หรือกำไรก็ได้ ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ มันก็เป็นไปได้ที่อาจจะมีกำไรมาก ปันผลผู้ถือหุ้นได้มาก อะไรทำนองนั้น เขามีความเสี่ยงเหมือนกัน แล้วถ้าเดินหน้าไปไม่ได้ก็ขาดทุนมาก เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงห่วงโซ่ ทุกระดับ ทุกกิจกรรมเข้าด้วยกันนั้น ผมถือว่าเราจะได้เลิกวาทกรรมที่ว่าเป็นการผูกขาด การเอื้อประโยชน์กันเสียที เปลี่ยนมาเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เผื่อแผ่แบ่งปัน
       
       4. คือการกระจายรายได้ และความเจริญลงไปสู่พื้นที่ ทุกระดับ อย่างทั่วถึง บางพื้นที่ยังเหลื่อมล้ำอยู่ ถนนหนทางยังไม่เท่าเขา แล้ววันนี้ทุกคนก็อยากจะให้เท่ากันมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องทำทุกอย่างให้เท่าก่อน หลังจากเท่ากันแล้วก็จะขยายขึ้นมาให้มากขึ้น เช่น ถนนก็ไปเพิ่ม 3- 4 เลน 6 เลน ก็ว่าไป อันที่ 3 ต้องทำพร้อมๆ กันก็คือ ความเชื่อมโยงให้ถึงกันให้ได้ก่อน
       
       5. คือการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จะต้องคุ้มค่าโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
       
       6. การเพิ่มรายได้ภาครัฐ เพื่อเป็นงบประมาณให้เพียงพอ เพื่อรองรับระบบสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งมีอยู่หลายด้านด้วยกันทั้งการศึกษา สาธารณสุข และการคมนาคมขนส่ง ไฟฟ้า พลังงาน ทุกอย่างนะครับ เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ซึ่งบางอย่างต้องชำระเงิน บางอย่างก็ฟรี เพราะฉะนั้นแนวโน้มภาระด้านงบประมาณมันจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากประชาชน ประชากรที่เพิ่มขึ้น จากผู้สูงวัยที่มากขึ้น คนเจ็บป่วยมากขึ้นหรือเปล่าเราก็ไม่ทราบ แต่เราต้องมีการเตรียมการรองรับสิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่า เป็นมาตรการลดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันไว้ก่อน
       
       7. การทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยมีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต สามารถอยู่ได้ในโลกแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านั้นได้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างประหยัด แล้วก็ทั่วถึง เท่าเทียม
       
       8. การดูแลประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายให้ทั่วถึงภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ผมกล่าวมาแล้ว
       
       9. การดูแลผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่ม โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ จากนั้นขยายไปสู่การเพิ่มมูลค่า สร้างความเชื่อมโยงไปทุกมิติ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน
       
       10. การทำให้ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในส่วนที่มีรายได้มาจากกิจกรรมผิดกฎหมาย ให้มีทางเลือกใหม่มีโอกาสที่จะหันมายึดอาชีพสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ค้าขาย รับจ้าง อาชีพอิสระ เพราะทุกอาชีพที่เป็นธุรกิจสีเทาเหล่านั้นมันส่งกระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดระเบียบ การกีดขวางการจราจร ขาดระเบียบวินัย สร้างความสกปรก ไม่มีคุณภาพ ไม่สะอาด ไร้มาตรฐานเหล่านี้ เป็นต้น เราต้องมาหาวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม
       
       11. การพัฒนาประเทศที่เราจะต้องดำเนินการควบคู่ไปทั้งมิติเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรากำลังขับเคลื่อนในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในการประกอบการธุรกิจซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มครอง ความเคารพ แล้วในเรื่องของการเยียวยาที่เหมาะสมในการประกอบการธุรกิจ ผมก็ได้เข้มงวดไปทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภาคการผลิต ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เรื่องการบริหารจัดการต่างๆ ทั้งหมดจะต้องสมดุลและยั่งยืน ทำไปด้วยกันทั้งการพัฒนา และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อย่าทำอันใดอันหนึ่ง แล้วก็ทำให้เกิดผลกระทบโดยรวม
       
       12. การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด เช่น ที่ดินและน้ำ วันนี้เราก็มีอยู่อย่างจำกัด มีการใช้ทรัพยากรจะต้องลดลง แต่สามารถที่จะเพิ่มผลผลิต ผลประโยชน์มากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่ผ่านๆ มา มีที่มากมีน้ำน้อย มันปลูกเท่าที่ปลูกได้นั่นแหละ ไม่รู้จะมีไปทำไมเยอะแยะ
       
       13. การปกป้องผืนป่าไม่ให้ถูกบุกรุก หรือถูกทำลายเพิ่มขึ้น วันนี้เราสกัดกันได้มากพอสมควร คนเลวยังมี เพราะฉะนั้นก็จะต้องลงโทษสถานหนัก เจ้าหน้าที่ก็ต้องไม่ไปร่วมมือ เราจะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการที่ดีของประเทศอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ดินทำกิน แหล่งน้ำที่เพียงพอ ต่อภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เราจะต้องมีผืนป่าในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นต้น ค่อยๆ สร้างไป ถ้าถูกทำลายไปแล้วก็สร้างยาก แต่ต้องช่วยกันสร้างไป อยู่กันไปด้วย คนอยู่กับป่าได้ก็ไปได้ทั้งหมด ป่าก็เพิ่มขึ้น คนก็มีความสุข กฎหมายมันว่ายังไงก็ต้องไปหาวิธีการทำให้เหมาะสม
       
       14. การรักษาบ้านเมืองให้เกิดความสงบ สันติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดไป
       
       15. การทำให้คนไทยจะรู้จักคำว่า พอเพียง ทั้งความหมายและการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเหมาะสม ความพอเพียงสำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน
       
       16. การทำให้คนไทยทุกคนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติมาก่อน ผลประโยชน์ส่วนตน หรือเราจะทำไปพร้อมๆ กัน และคิดไปพร้อมๆกัน ถ้าเรายึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมมือ ผลประโยชน์ส่วนบุคคลก็ตามมาเอง ถ้า ส่วนรวมไม่ได้ สาธารณูปโภคพื้นฐานไม่เกิด การลงทุนไม่เกิด แล้วบุคคลจะได้อะไรกลับมา เพราะวันนี้เราก็สู้ชีวิตกันมานานพอแล้ว
       
       17. การทำให้คนไทยเคารพกฎหมายด้วยมีความสำนึกดีมีคุณธรรม จริยธรรม
       
       18. การทำให้คนไทยรู้จักลดอัตตา ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทั้งความประพฤติ ความคิด เราต้องให้ความสำคัญกับส่วนรวมด้วย มีความอดทน โดยรู้ความเร่งด่วนของงาน เพื่อจะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เราจะต้องไม่อ้างสิทธิเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต หรืออ้างความจน ความรวยอะไรต่างๆ ที่เป็นอยู่ในวาทกรรม บ้านเมืองก็สับสนไปหมด
       
       19. การทำให้คนไทยมีจิตสำนึกที่ดี มีอุดมการณ์ ความเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต เผื่อแผ่แบ่งปัน และไม่ลืมอัตลักษณ์ความเป็นไทย
       
       20. การลดปัญหาสังคมทั้งการก่ออาชญากรรม การใช้ความรุนแรงในครอบครัว และการละเมิดกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสังคม และประเทศชาติ โดยรวม
       
       21. การสร้างกลไกในการป้องกันคนไม่ดีไม่สุจริต ในการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อแสวงหาประโยชน์ และมีกระบวนการยุติธรรมที่ลดความเหลื่อมล้ำให้ความเป็นธรรมกับคนทุกระดับอย่างทั่วถึง สามารถต่อสู้คดีและรักษาสิทธิของตนเองได้ เช่น เรามีกองทุนยุติธรรมวันนี้เพิ่มเติม
       
       22. การทำให้คนไทยนั้นมีภาคภูมิใจในความเป็นชาติ อันนี้สำคัญที่สุดภูมิใจในความเป็นชาติ มีประวัติศาสตร์ และมีวัฒนธรรมที่งดงาม เป็นความงดงามของชาติเรา ควบคู่ไปกับการปรับตัวให้ความสามารถดำรงชีวิตได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์อย่างเหมาะสม ทั้งตะวันตกและตะวันออก
       
       23. การทำให้เด็กและเยาวชนของชาติได้เจริญเติบโตบนพื้นฐานของการมี ความรู้คู่คุณธรรม ในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ในอนาคต
       
       24. การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ให้แก่คนไทย
       
       25. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคมทั้ง ประชาชน ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และทุกภาคส่วน เพื่อจะลดความหวาดระแวงระหว่างกันดูแลกัน เห็นอกเห็นใจกัน และอยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน ที่ทุกคนต้องเคารพและบังคับใช้ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง 2 ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนก็ต้องหาทางออกตรงนี้ให้ได้
       
       26. การทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันนี้ฝ่ายรัฐก็ต้องทำ ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติต้องทำให้ดี ประชาชนจะได้มั่นใจ แล้วก็เชื่อมั่น
       
       27.การทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นจากประชาชนก็ด้วยตัวของท่านเอง
       
       28. การทำให้บ้านเมืองของเราเป็นระเบียบ สวยงาม โดยประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ สามารถทำมาหากินได้อย่างพอเพียง โดยปราศจากผลกระทบเป็นทางลบซึ่งกันและกัน และในเรื่องของความสะอาด ความเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย มันต้องไปด้วยกันให้ได้ จะทำยังไง
       
       29. การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในการที่จะเสพสื่อและโซเชียลฯ อย่างรู้เท่าทัน มีวิจารณญาณ สำหรับการประกอบการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม จะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี ก็ต้องมีเหตุมีผลในหลักการของตนเองด้วย
       
       30. การทำให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ผมอยากจะเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาโดยไม่จำเป็น อันเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอ ปัญหาปากท้อง ปัญหาในครัวเรือน ปัญหาหลักประกันสุขภาพต่างๆเหล่านี้มากมาย
       
       31. การทำให้ประชาชนเข้าใจว่า บางครั้ง การเรียกร้องของเราในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรเป็นไปไม่ได้ มันอาจจะมีผลกระทบกับคนอื่น
       
       32. การแก้ปัญหาที่หมักหมมยาวนาน คู่ชุมชนเมืองและกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนแออัดและการจราจรติดขัด เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ
       
       33. การทำให้ประชาชนมีความสุข ความพึงพอใจในแนวทางที่ถูกที่ควร โดยไม่อึดอัดกับการอยู่ในระเบียบ วินัย และกฎหมายและกฎเกณฑ์ทางสังคม ที่เราจำเป็นต้องมีอยู่ เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
       
       34. การทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ รวมทั้งให้เกียรติและดูแล ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ได้อย่างเหมาะสม เป็นสากล
       
       35. การทำให้คนไทยช่วยกันลดขยะและรู้จักการแยกขยะ ลดผักตบชวา โดยรู้หน้าที่ของตน เพื่อจะไปสู่การลดโลกร้อน โดยการประหยัดไฟ ลดการใช้ถุงพลาสติก ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
       
       36. การทำให้คนไทยเข้าใจหลักการประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ทั้งในการอยู่ร่วมกัน และการทำงานร่วมกันโดยต้องยึดถือ หรือฟังเสียงคนส่วนใหญ่นะครับ แต่ต้องดูแลคนส่วนน้อยอย่างเหมาะสม ไม่ขัดแย้งและลงตัว ไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการเรียกร้องสิ่งที่ตนเองต้องการ กลุ่มตัวเองต้องการ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีเหตุมีผล หรือในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกลไกมันมีหลายอย่างด้วยกัน กลไกเรา กลไกโลก พันธะสัญญามากมาย
       
       37.การทำให้ประชาชนจะเข้าใจว่า ประชาพิจารณ์ ประชามติ ประชาธิป ไตย คืออะไร วันนี้ตีกันยุ่งไปหมด แม้กระทั่งคำถามผมก็กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้นะ เพราะฉะนั้นในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ ก็ต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนตามกฎหมายที่มีผลผูกมัดต่างๆ ตามหลักการ โดยที่เราต้องไม่ยอมให้ใครบิดเบือนข้อเท็จจริง ที่เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ เพื่อประโยชน์ส่วนตน
       
       38. การทำให้ทุกคน ทุกภาคส่วนนักการเมือง พรรคการเมือง มีคุณธรรม จริยธรรม และประเทศไทยมีการเลือกตั้งที่ได้มาซึ่งรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติและคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ แล้วก็ไม่ลืมดูแลคนส่วนน้อยด้วยนะ หน้าที่ของนักการเมือง พรรคการเมืองก็คือต้องดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนที่เลือกตนเข้ามา ดังนั้นรัฐบาลก็ทำหน้าที่แบบนั้น
       
       39. การทำให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอ ต่างๆ ได้ร่วมมือกับภาครัฐในการทำงานเพื่อประเทศชาติได้อย่างไร มากกว่าการทำงานที่มุ่งในประเด็น หรือเป้าหมาย หรือกฎหมายของตนเองแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะมีผลกระทบต่อส่วนรวม อย่างรอบด้าน ลองคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของประเทศบ้าง วันนี้ดูเรื่องบุคคลไปแล้ว ดูเรื่องกลุ่มไปแล้ว เราต้องมองว่าประเทศเราต้องมีสิทธิมนุษยชนของประเทศไหม ลองไปคิดใหม่ดูแล้วกัน
       40. การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยเราต้องมีความเข้มแข็งไปด้วยกัน
       
       41. การทำให้คนไทยเข้าใจถึงปัญหาของประเทศชาติ ของสังคม และของประชาชน ว่าต้นตอของปัญหาที่แท้จริง มาจากอะไร คืออะไร แล้วเราจะร่วมมือเดินหน้ากันแก้ไขได้อย่างไร ถ้าหากว่าต่างคน ต่างคิด ต่างทำ ต่างคนต่างเอาโจทย์ตัวเองใส่เข้ามาแต่เพียงอย่างเดียวตามความต้องการหรือ ผลประโยชน์ของแต่ละคน แต่ละกลุ่มเป็นหลัก เราก็จะปฏิรูป เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย พัฒนาก็ทำไม่ได้ เช่น เราต้องพัฒนาตนเอง สร้างความเชื่อมโยง สร้างห่วงโซ่เดียวกัน เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ มีการพัฒนาเกษตรกรรม ควบคู่กับการยกระดับอุตสาหกรรม การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ระหว่างผู้ได้ประโยชน์ กับผู้เสียประโยชน์ การเสียสละ ที่สมควรได้รับการดูแล เยียวยาจนพึงพอใจด้วยกันทุกฝ่าย หรือมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ตามห้วงระยะเวลา เหล่านี้ก็ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม เราจะมีรายได้ มีผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆได้อย่างไร นอกจากเงินค่าเยียวยาอย่างเดียวผมกำลังคิดอยู่ เพื่อจะชดเชยในเรื่องของการถูกเวนคืนพื้นที่ ถ้ากิจการมีผลประโยชน์จะทำอย่างไร จะให้เขาได้ไหม ก็จะต้องไปเริ่มใหม่ ไปย้อนหลังไม่ได้อยู่แล้ว เดี๋ยวก็จะมาเรียกร้องของเก่า พอให้ของใหม่ ของเก่าก็เรียกร้องเข้าอีก มันเป็นไปไม่ได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นคนไทยต้องคิดใหม่ การใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดมูลค่า ไม่ปล่อยให้รกร้าง ไม่เกิดประโยชน์ เหล่านี้เป็นต้น
       
       42. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเราจะทำอย่างไร ให้ทันสมัย เป็นธรรม สามารถทำได้จริง บังคับใช้ได้โดยปราศจากความขัดแย้ง รับฟังซึ่งกันและกัน หากเรายืนคนละฝ่าย ผู้ถือกฎหมายก็อย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายก็ประชาชน ก็คิดอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่มีพื้นฐานร่วมกัน มันก็ไปไม่ได้ทั้งหมดผลประโยชน์ส่วนรวมมันก็มาไม่ได้ ทำให้คนส่วนน้อยต้องเดือดร้อน ถูกกระจายปัญหาไปถึงทุกคน แทนที่ผลประโยชน์มันจะไปทั่วถึง กลายเป็นปัญหาไปทั่วถึงทุกพื้นที่เพราะความขัดแย้งระหว่างกันนี่แหละ
       
       43. การแก้ไขปัญหาของประเทศโดยการดำเนินการตามพันธะสัญญาต่างๆ ของประชาคมโลกนั้น รวมทั้งข้อตกลงในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำได้อย่างไร
       
       44. การใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ของเรา เป็นศูนย์กลางทางด้านภูมิศาสตร์ของอาเซียน ในการเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบความร่วมมือต่างๆ ได้อย่างเต็มที่
       
       45. การทำให้ประเทศไทย CLMV อาเซียนเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพราะเราจะได้รับผลกระทบ เหมือนกัน จากปัญหา และภัยคุกคามต่างๆ ดังนั้น ควรต้องช่วยกันสนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมมือกันทั้งในชาติ และต่างชาติที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันเพื่อจะหาวิธีการแก้ปัญหา อย่างสันติวิธี ยั่งยืน
       
       46. การทำให้ประเทศสามารถยกระดับฐานะในเวทีระหว่างประเทศ โดยอยู่ในตำแหน่ง บทบาท ในประชาคมโลกที่เหมาะสม ได้รับเกียรติ และโอกาสในการเป็นผู้นำ ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในกิจกรรมที่เรามีศักยภาพ และมีขีดความสามารถ
       
       47. การทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใดๆ กับส่วนอื่นๆ ในโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นมติของสหประชาชาติ เราควรจะต้องวางบทบาท และความสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ได้อย่างไร จึงจะไม่อยู่ในความเสี่ยงไปด้วย แต่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาของโลกใบนี้ เราจะอยู่อิสระได้ เราจะต้องทำให้ทุกประเทศ ทั้งโลกอยู่กัน อย่างสันติสุข
       
       48. การทำอย่างไรที่เราจะสามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำ ได้บ้าง ผมว่าหลายคนก็อาจจะบอกว่า ทำไมไม่มีโครงการไทยแลนด์เฟิร์ส ผมว่าเราน่าจะมุ่งตรงนี้ก่อนมากกว่า การที่จะเป็นมหาอำนาจด้านอาหาร และการท่องเที่ยว ด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเรามีศักยภาพอยู่แล้ว เป็นแต่เพียงคำพูดเพื่อจะให้กำลังใจและนำพาพวกเราทุกคนให้ร่วมมือกันเป็นมหาอำนาจแบบนี้ดีกว่า อย่างอื่นเราก็มีไว้สำหรับป้องกันตนเอง เรื่องความมั่นคง การป้องกันอธิปไตยตามแนวชายแดน กับป้องกันภัยความมั่นคงภายใน และก็ภัยคุกคามที่เกิดใหม่ทั้งหมด
       
       49. การทำให้สื่อมวลชน โซเชียลฯ และคนไทยทุกคนมีความตระหนักรู้ เข้าใจถึงผลกระทบจากการเสนอข่าว หรือเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ทั้งด้วยเจตนาดี หรือไม่ดีก็ตาม ย่อมมีผลต่อความรู้สึก และการรับรู้ของสังคมในทางที่ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง รวมทั้งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นจากนานาประเทศซึ่งส่งผลต่อประเทศชาติโดยตรง ทางเศรษฐกิจเช่น การค้า การลงทุน การส่งออก นำไปสู่ปัญหาปากท้อง รายได้ ขายสินค้าของประชาชน โดยอ้อม ที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้ามันเป็นอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้
       
       50. การทำให้คนไทยยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยตลอดไป ไม่เสื่อมคลาย เพื่อจะเป็นหลักชัยของประเทศ อีกนานเท่านานทั้งนี้ ขอย้ำว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐบาลคิด และทำ อยู่แล้วในปัจจุบัน เพียงแต่ผมอยากจะตั้งประเด็นเหล่านี้ไว้เพื่อจะแสวงหาความร่วมมือ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง สร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศไทย ให้ช่วยกันคิดวิเคราะห์ คำนึงถึงหลักการและเหตุผล จะได้ลดการโต้แย้งในหลายประเด็น ในหลายขั้นตอนขณะนี้ เพื่อไปสู่ความเป็นไปได้ บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ทำให้เกิดขึ้นจริงด้วย คิดอย่างเดียวพูดอย่างเดียวไม่ได้ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำทั้งข้าราชการ ประชาชน ประชารัฐ อะไรก็แล้วแต่ ต้องมาช่วยกันทั้งหมด
       
       สุดท้าย ก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และพวกเราทุกคน ไม่ใช่คำถาม คำตอบ เดี๋ยวไปตีความกันผิดอีก จริงๆ แล้ว ประเทศของเรา ยังมีปัญหาอีกมากมาย ที่เราต้องปฏิรูป อยากให้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำดีกว่าจะต้องมาบังคับด้วยกฎหมายต่างๆ มันต้องมาร่วมมือกันก่อน กฎหมายยิ่งใช้น้อยได้ยิ่งดี จะได้ลดความขัดแย้ง กฎหมายยิ่งเข้มงวดขึ้นทุกวัน เขียนให้แรงขึ้นทุกวัน กฎหมายปกติยังไม่เคารพ แล้วกฎหมายยิ่งแรงมันก็ยิ่งขัดแย้ง เราต้องปรับปรุงที่ตัวเราทุกคนก่อน เริ่มจากกฎหมายพื้นฐาน กฎหมายจราจร กฎหมายอะไรที่มันง่ายๆที่เราต้องปฏิบัติ สังคมมันก็จะเรียบร้อยสงบสุข เรื่องอื่นๆ จะดีตามขึ้นมาด้วย
       
       พี่น้องประชาชนครับ อีกหลายเรื่องที่อยากจะพูดคุยกับพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน อาทิ
       
       1. ผมอยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีทั้งกาย และใจ อยากให้มีการออกกำลังกายบ้างจนเป็นนิสัย หลายคนก็บอกผมไม่ทำงานดีแต่ออกกำลังกาย มันหมายความว่ายังไง ผมไม่เข้าใจ คิดแบบนี้นี่มันเป็นความคิดที่ไม่ค่อยดีนักนะ ผมก็เป็นตัวอย่างเพื่อสร้างแพทเทิร์น สร้างให้ทุกคนเห็นว่าการออกกำลังกายมากน้อย ดีกว่าไม่ทำอะไร มันก็เป็นโรคมากมาย
       
       วันนี้ผมก็ได้สั่งการให้กับทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม หน่วยพลเรือน ตำรวจ ทหาร ให้จัดกิจกรรม ออกกำลังกายบ้างในวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่ต้องใหญ่โต ก็เอาคนไปนำเขามา เขาอยากจะมาก็มา ไม่ต้องบังคับเขา อาจจะทำเรื่องกีฬาอาทิตย์นี้สัก 3 อาทิตย์ อาทิตย์สุดท้ายไปทำกิจกรรมสาธารณะ เช่น ทำความสะอาด เก็บขยะ จัดระเบียบสิ่งรกรุงรัง ในวันเสาร์อะไรแบบนี้ ตัดหญ้า ทาสี ช่วยกันดูให้บ้านเมืองมันสะอาด หน้าบ้านหลังบ้าน ช่วยกันทำเป็นส่วนรวม เก็บผักตบบ้าง ทำความสะอาดวัดบ้าง ผมเป็นทหารผมเคยทำแบบนี้มาตอนเด็กๆนะ ก็นำทหารไปทำความสะอาด และนำพาพี่น้องประชาชนไปทำงาน มันก็เกิดความรักความสามัคคีเกิดขึ้น ไม่งั้นก็ขัดแย้งไปด้วยกำลังด้วยกฎหมาย อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ถือเป็นการออกกำลังกายด้วยให้ร่างกายแข็งแรง ทุกหน่วยงานลองไปปรับดู
       
       ภาคเอกชน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ผมก็เห็นหลายพื้นที่ก็ใช้วิธีนี้กันอยู่ มีการออกกำลังกายเพิ่มเติมก็แล้วแต่สมัครใจ อย่าบังคับเขา วันนี้ก็ได้พยายามให้ไปจัดในสวนสาธารณะบ้าง มีดนตรีฟังบ้าง มีกิจกรรมให้ลูกให้หลาน ไปด้วยบ้าง พ่อแม่พี่น้องครอบครัวได้ไปด้วยกันได้ในวันหยุด ใช้เวลาร่วมกัน สังคมมันก็จะอบอุ่น ปัญหาในครอบครัวจะลดลงนะครับ ช่วยกันสร้างคุณค่าให้กับตนเองในสังคม ถ้าเราช่วยกันทำจิตสาธารณะเผื่อแผ่แบ่งปัน มันจะส่งผลให้ตัวเองมีคุณค่า ส่งผลให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมสู้งานหนัก เพื่อครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติต่อไป
       
       2. ขอบคุณสื่อ คอลัมน์นิสต์ ที่ช่วยกันทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่รัฐบาลทำในเวลานี้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ในส่วนที่ยังไม่สำเร็จ ต้องช่วยกันสร้างความร่วมมือให้ประชาชนเข้าใจระหว่างกันให้ได้ ไม่งั้นมันไม่สำเร็จ ลองไปดูซิว่ามันมีอะไรดีบ้าง ส่วนที่ดีก็เอามาร่วมมือ ส่วนที่ยังต้องแก้ไขก็บอกมา เพราะฉะนั้นการที่จะแพร่กระจายข่าวอะไรที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงประเทศของเรา ก็กรุณาหาเหตุผล หาข้อมูล จากทางราชการบ้าง บางทีไปฟังข้างล่างทีเดียว บางทีก็ไม่ตรงกับข้างบน เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาข้างบนกับข้างล่างไปเชื่อมกันให้ได้ ผมขอร้องสื่อให้ช่วยกันแบบนี้นะครับ มันก็จะเป็นความคิดของคนบางกลุ่ม บางฝ่าย ถ้าหากว่าไปฟังทางโน้นมาก่อนโดยที่ไม่ฟังรัฐบาล มันก็ไม่มีเหตุมีผลซึ่งกันและกัน มันอาจจะเสียผลประโยชน์ในการที่เรากำลังทำอยู่เวลานี้ ซึ่งหลายๆ อย่างถูกบิดเบือนไปเยอะพอสมควร
       
       3. การปฏิรูประบบสาธารณสุข เรามีความจำเป็นอยู่หลายประการ แต่รัฐบาลผมยืนยัน ก็ยืนยันมาหลายครั้งแล้วว่าทุกคนจะไม่ได้รับอะไรที่น้อยลงไปกว่าเดิม ที่มีอยู่แล้วเดิม แต่เราจะต้องหาทางว่าจะทำอย่างไร ทุกคนจะเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นอย่างทั่วถึง เป็นธรรม โดยต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่เรามีอยู่ค่อนข้างจำกัด รัฐบาลมีแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้มากขึ้น ใครจะต้องทำหน้าที่บูรณาการ ใครจะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล เป็นเจ้าภาพ หรือหน่วยปฏิบัติ เพื่อลดความซ้ำซ้อน เอางบประมาณต่างๆ เหล่านั้นมาใช้ในเรื่องอื่นที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ไม่ตรงตามนโยบายของรัฐบาลในการดูแลสาธารณสุขของประชาชน
       
       ทั้งนี้ หน้าที่ของภาครัฐ ภาคราชการ ประชาสังคม NGO และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็ล้วนแต่ต้องทำเพื่อประชาชนทั้งสิ้น ไม่ใช่เอาไปสร้างอำนาจ สร้างอิทธิพล สร้างคะแนนนิยม หรือใช้เงินไปเพื่อประชาชนเป็นบางกลุ่มบางฝ่าย มันต้องกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าเงินส่วนนี้จะไปใช้ที่ไหน กับใคร อย่างไร ให้มันโปร่งใส อันไหนไม่พอ จะเอาจากที่ไหนมาใช้เพิ่มเติม วันนี้งบประมาณสาธารณสุขมาจาก 2 ทาง ก็มาทั้ง สปสช. สสส. และในส่วนของรัฐบาล ก็เป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข จะทำยังไงให้งบประมาณทั้ง 3-4 ส่วนนี้สามารถกระจายไปสู่ทุกภาคส่วนได้ เพื่อจะแก้ปัญหาที่ยังมีปัญหาอยู่ระดับล่าง และคนเข้าไม่ถึง ยุ่งยาก ก็เลยตีกันไปหมด แล้วก็กลายเป็นว่า ดีแต่ดูแลข้าราชการ ประชาชนไม่ดู ไปดูแลเรื่องข้างล่างโน่นว่าเขาทำกันยังไง การดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด จะแยกคน แยกเงิน แยกงาน ความรับผิดชอบได้มั้ยในกิจกรรมเดียวกัน นี่คือหลักการบูรณาการ แผนคน แผนเงิน แผนงาน ต้องไปด้วยกัน เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องรู้ตรงนี้ เป้าหมายสำคัญก็คือเพื่อประชาชน ซึ่งก็ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปศึกษารายละเอียด นำข้อบกพร่องก่อนหน้านี้ตามที่ภาคประชาชนเสนอมา
       
       ความสำเร็จเราอาจจะมองในแง่ว่าเราดูแลประชาชนด้วยการประกันสุขภาพทั่วประเทศ แต่ดูซิว่ามันดีหรือยัง แล้วจะทำยังไงให้มันดีขึ้น ปัญหามันอยู่ตรงไหน ถ้าเราเอาปัญหาเข้ามาพิจารณาและแก้ปัญหาก่อนๆ และจากนโยบายเดิม จากสมัยเดิม แล้วจะแก้ด้วยกฎหมายใหม่อย่างไร มันก็จะแก้ได้หมด ประชาชนก็จะเห็นชอบร่วมกัน นั่นคือเหตุผลของผม ในการที่มีการปรับปรุง พ.ร.บ.สุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ต้องการจะลดอะไรอย่างที่คนเขากล่าวอ้างกัน เราต้องการจะยกระดับให้ดีขึ้น แก้ทุกปัญหาให้ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ มีการบริหารจัดการ มีการเข้าถึงการบริการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจะดูแลสุขภาพคนไทยได้อย่างแท้จริง
       
       4. บรรดาผู้นำทุกภาคส่วนในพื้นที่ ไม่ว่าในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น หรือผู้นำตามธรรมชาติก็ตาม ล้วนสามารถที่จะนำพาประชาชนไปร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์ พบปะกัน พูดคุยแต่สิ่งดีๆ มีประโยชน์ ไม่ว่าจะท้องถิ่น อบต. อบจ. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่าไปรวมตัวกันเพื่อสร้างความขัดแย้ง กลุ่มเกษตรกรก็เหมือนกัน มีตั้งหลายกลุ่มที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้ ไปหากิจกรรมที่ร่วมมือกันดีกว่า มากกว่าที่จะมาต่อต้าน มากดดัน มาประท้วง มาอะไร ผมว่าไม่เกิดประโยชน์นะ เพราะเรากำลังแก้ปัญหาทั้งหมดอยู่ มันอาจจะไม่ทันใจ แต่ถ้าแก้แบบที่ท่านต้องการ มันก็ไม่ทันใจอีกเหมือนเดิม มันก็ยิ่งทำอะไรไม่ได้ทั้งหมด ก็ฝากไว้ด้วยแล้วกันนะครับ ขอให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองที่เราจำเป็นจะต้องรักษาไว้ มีไว้ เพื่อส่วนรวม แล้วก็หารือกันว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป
       
       ก็ขอร้องพี่น้องเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา ชาวสวนยางด้วย อย่ามาประท้วงผมเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น ผมทำให้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องอาศัยหลายๆอย่างด้วยกัน หลายมิติด้วยกัน วันนี้ก็ทราบว่าดีขึ้นแต่ยังไม่มากนัก แต่จะให้มันหวือหวามันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเชื่อมโยงกับข้างนอกเขาด้วย
       
       5. การเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และการลดความเหลื่อมล้ำ มันจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยง สัมพันธ์กัน ในหลายมิติ ซึ่งเราต้องคิด ต้องทำ ต้องแก้ปัญหาแบบองค์รวม พูดอย่างเดียว ทำอย่างอื่นอย่างใดมันก็ไปขัดอีกอย่าง มันต้องทำไปพร้อมๆ กันหลายอย่าง บางอย่างก็ทำอย่างนี้ก่อนได้ บางอย่างทำไม่ได้ก็ทำพร้อมกัน ต้องไปพิจารณากันเอาเองนะครับว่าภาครัฐข้าราชการจะทำงานตรงนี้ได้อย่างไร ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ตรงไหน ถ้าทุกคนยึดถือหลักการของตนเป็นที่ตั้ง มันก็ไปไม่ได้ทั้งหมด มันก็ขัดกันทั้งหมด
       
       6. หลายอย่างในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เกษตรกร เศรษฐกิจ กฎหมาย การค้าการลงทุน หลายอย่างค่อยๆ ดีขึ้น หลายอย่างอาจจะช้า ยังไม่ทั่วถึง ก็ต้องไปด้วยกันให้ได้ เราจะเร่งดำเนินการได้อย่างไร โครงการใหม่ๆ สวัสดิการใหม่ๆ มันจะเกิดขึ้นได้ไหม ซึ่งหลายรัฐบาลคิดจะทำ หรือพยายามจะทำ แต่มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งอดีตและปัจจุบัน แล้วอนาคตจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเรายังต้องจมอยู่กับปัญหาหนี้สิน ความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ไม่ดี ที่สำคัญคือความไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะแก้ได้หรือเปล่า ผมก็คาดหวังว่าเขาจะแก้ให้ได้นะที่ผมพูดมาทั้งหมดเนี่ย
       
       7. สถานการณ์ในโลกใบนี้มีหลายอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความไม่สบายใจให้กับคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นอากาศเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้ง สงคราม ก่อการร้าย ยาเสพติด อาชญากรมข้ามชาติ ภัยไซเบอร์ ความอดอยาก ภัยพิบัติ ประเทศไทยถึงแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ก็มีทุกวันนั้นแหละ แต่เรายังสามารถจะดูแลควบคุมได้ เจ้าหน้าที่ยังจับกุมทำคดีได้สำเร็จเป็นจำนวนมาก มากกว่าช่วงที่ผ่านมามาก หลายคดีมีติดตามอยู่ทุกๆ คดีทุกๆ ประเด็น ไม่ได้ไปรังแกใครเลย ก็มีอยู่ในกลไกอยู่แล้วก็เข้ากระบวนการยุติธรรม ก็ไปต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรม ไม่อยากให้มาติดตามว่าไอ้นี้เสร็จหรือยัง เรื่องที่มันทำให้เกิดผลกระทบกับสังคม ตามจนกระทั่งมันแพร่ไปหมดจนประเทศไทยแย่ที่สุดเลยในขณะนี้ ทั้งๆ ที่เราก็จับได้ทุกคดี
       
       ที่ผ่านมาหลายคดีก็ไม่ได้เป็นคดี หลายอย่างก็ไม่ได้จับกุม หลายอย่างก็ล่าช้าในการดำเนินคดี ผมอยากจะให้คิดว่าวันนี้ที่จะทำกันนี้ไม่ได้ล้มเหลวหรอกครับ แต่ว่าปัญหามันเยอะ เราก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ ให้ความสนใจทั้งหมดด้วย ว่าทุกอย่างในวันนี้มันดีกว่าเดิมหรือเปล่า ดูทั้งปริมาณและคุณภาพไปด้วย ถ้าดูปริมาณอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ ต้องดูคุณภาพด้วย เพราะหลายเรื่องเราแก้ปัญหาไปแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของความยากจน เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรม เรื่องคดี เรื่องทุจริต เรื่องอะไรต่างๆ ก็ดีขึ้นทั้งหมด แต่มันยังไม่เป็นที่พอใจ มันต้องให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันต้องใช้เวลานะ เพราะฉะนั้นก็อย่าไปสนใจคดีเฉพาะที่อยากสนใจ ถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเองก็ไม่สนใจ คดีของคนอื่นกับสังคมก็มีอยู่มากมาย เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็ทำงานกันเต็มที่อยู่แล้ว
       
       ต้องดูสิครับว่าประเทศชาติส่วนใหญ่ประชาชนส่วนใหญ่เขาปลอดภัย มันก็มีส่วนน้อยที่มีคดีที่มีความเดือดร้อนก็ต้องไปแก้ตรงนั้นว่าทำอย่างไรเขาจะไม่เกิดขึ้นอีก ไม่เสียชีวิต ทรัพย์สิน ไปดูตรงโน้น ดูทั้ง 2 ข้างไปด้วย คนไม่ดีก็ต้องช่วยกันกำจัดออกไป โดยให้ข้อมูลในเฉพาะที่เหมาะสมแล้วก็จบได้แล้ว ไม่งั้นก็พูดกันในสื่อทะเลาะเบาะแวง ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องมีองค์กรของเขาต้องดูแลชื่อเสียงขององค์กร บุคคลคือบุคคล ก็ต้องโทษ ก็สอบสวนไปให้ข้อมูลมามันก็จบแล้ว ก็เดินหน้าไปติดตามผลการสอบสวน ติดตามผลการดำเนินคดี ก็ได้แค่นั้น ทุกประเทศเขาก็เป็นแบบนี้ ไอ้นี่เล่นไม่เลิก ผมว่ามันไม่ใช่นะ จนปัญหาอื่นไม่ได้รับความสนใจเลย คนเดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้รับการแก้ปัญหา
       
       การแต่งตั้งข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ตำแหน่งมันก็ไม่ได้มากนัก มีน้อย มีทั้งได้ ไม่ได้ คนได้มีน้อย คนไม่ได้ก็มีมากกว่า ก็ต้องไปดูว่าคนที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงจะมีสักเท่าไร เอาเขามา มาช่วยเขานี่ก็ไม่กล้าเข้ามาบอกข้อมูลอีก ข้อมูลก็ไม่ให้ เพราะเขากลัวจะผิดด้วยไง เพราะเป็นผู้ให้ แล้วจะทำอย่างไร หลายอย่างที่มันเดินหน้าไม่ได้ เพราะผู้ให้หรือผู้ที่เสียประโยชน์ก็มีความผิดด้วย แล้วพอบอกว่าจะคุ้มครองให้ ก็ไม่ให้มา ก็บอกว่าไม่เป็นธรรม คนทำความผิดแล้วไปยกโทษให้ได้ยังไง แล้วอย่างนี้จะไปกันยังไงครับ ไปคิดมา คนที่ไม่ดีก็อ้างว่าไม่เป็นธรรม มีหรือเปล่า อาจจะมาพูดให้ระบบเสียหาย หรือคิดเอาเอง ผมไม่เคยปฏิเสธว่ามันดีทั้งหมดอยู่แล้ว เราต้องช่วยกันแก้ต่อๆ ไป แก้เป็นส่วนๆ แก้เป็นเรื่องๆ เรียบเรียงในกิจกรรมใหญ่ๆ การปฏิรูปมันไม่ได้สำเร็จได้ง่ายๆ หรือรวดเร็ว เราต้องแก้ให้ครบวงจร ปัญหาเล็ก ปัญหาน้อย ปัญหาใหญ่ ต้องใช้เวลา ต้องใช้วิธีการ ต้องใช้กฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือซึ่งกันและกันจากเจ้าหน้าที่และประชาชน
       
       เพราะคนส่วนใหญ่ประชาชนส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ดีๆ ก็ยังได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเดิม และวิธีการเดิมอยู่มาก ถ้าเราจะทำใหม่ ทำกฎหมายใหม่ก็ต้องไปหาวิธีการว่าจะใช้กฎหมายนี้อย่างไร ประชาชนจะร่วมมือได้อย่างไร ถ้าทำอย่างนี้มันก็ไม่ขัดแย้ง ถ้าทำแบบเดิมแล้วเอากฎหมายใหม่มาแต่วิธีการเดิมมันก็ขัดแย้งเหมือนเดิม ไม่เกิดประโยชน์
       
       8. เรื่องฝนตก น้ำท่วม น้ำขัง ก็คงต้องเร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ให้บรรเทาความเดือดร้อนให้เร็วที่สุด ในเรื่องของการก่อสร้าง การบูรณาการ ไม่ว่าจะแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะในเรื่องของระบบการส่งน้ำ ไม่ว่าจะการระบายน้ำ มันต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก เพื่อจัดทำแผนงานให้รัดกุม ทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาหลายสิบปีที่มันไม่ยั่งยืน วันนี้เราก็ก็ทำไปได้เยอะแล้ว ลองตามดู ก็ติดอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาทำไม่ได้นั้นแหละ ประชาชนไม่ยินยอม อันนี้คือปัญหาสำคัญ การบุกรุกพื้นที่ของทางข้าราชการ จะสร้างถนน สร้างรถไฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ รถไฟความเร็วสูงติดหมด พี่น้องประชาชนบุกรุกอยู่ ผมก็ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เราจะทำอย่างไร เพราะมันผิดกฎหมาย ก็ต้องไปดูแลว่าจะทำอย่างไร ก็ขอร้องว่าอย่าไปขวางเลยเรื่องการก่อสร้างรถไฟอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ เพราะมันเป็นผลประโยชน์โดยร่วมของประเทศ การที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง ผมเห็นข่าวทีวีช่องไหนไม่รู้ บอกว่าผมต้องการสร้างรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-โคราช เพราะว่าผมเป็นคนโคราช ดูสิ คิดแบบนี้ได้อย่างไร ผมจะเกิดที่ไหนก็เรื่องของผม นั่นเรื่องส่วนตัวของผม แต่ผมทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อพื้นที่เกิดของผมเพียงอย่างเดียว คิดแบบนี้ไม่ได้ แล้วเส้นทางเส้นนี้มันต้องไปโคราช แล้วไปหนองคาย ไปเชื่อมต่อกับลาว เพื่อจะไปยังจีนไปยุโรปตะวันออก ไปยึดโยงทางด้านโน้น เดี๋ยวเราต้องทำด้านล่างลงไปอีก ไปเชื่อมต่อมาเลเซีย สิงค์โปร อินโดนีเซีย ไปโน่นอีก ตะวันตก ตะวันออก พม่า ลาว กัมพูชา มันต้องคิดแบบนี้สิครับ อย่ามองทุกอย่างเป็นประเด็นการเมืองซะทั้งหมด นั่นเรื่องส่วนตัวของผม มันไม่ใช่เลยนะ
       
       สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานปณิธานแห่งการให้ โครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งจะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษาและการวิจัย เพื่อจะผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพในทุกระดับ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่วิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยขยายพื้นที่การให้บริการทางการแพทย์ ไปใช้ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของกรุงเทพฯ และ EEC ทั้งนี้ รายละเอียดการบริจาคสบทบทุน ตามที่ปรากฏหน้าจอด้านล่าง วันนี้ผมตั้งใจจะพูดให้ช้าลงก็ไม่ได้อีกแหละ เพราะเรื่องมันก็เยอะพอสมควร พยายามติดตามดูหน่อยก็แล้วกันนะครับ ต้องขอโทษอาจจะพูดเร็วไป ก็ลองอ่านดูในหนังสือพิมพ์ ก็มีทุกสัปดาห์ ถ้าวันนี้ไม่ทันดู ก็กรุณาดูวันเสาร์ 8 โมงเช้า ดูได้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็อ่านในหนังสือพิมพ์ก็มี ก็ขอให้ดูทั้งฉบับนะ ไม่งั้นก็หยิบเอาประเด็นโน้นประเด็นนี้มาแล้ว ก็ตีผมกลับไปกลับมา ผมก็ไม่เกิดประโยชน์ในการพูดของผมเลย อย่ารำคาญผม เพราะผมทำให้ประเทศชาติ ทำให้ท่านทุกคน
       
       ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

ฟังรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้