6 เดือน กับ 4 กฎเกณฑ์สู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือ 0.4

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  3030 จำนวนผู้เข้าชม  | 

6 เดือน กับ 4 กฎเกณฑ์สู่ไทยแลนด์ 4.0 หรือ 0.4

ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลออกกฎเกณฑ์ในการควบคุมองค์กรสื่อ และผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องถึง 4 กฎเกณฑ์ โดยมีเหตุผลของการออกกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป

24 มกราคม 2560 ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 โดยมีผลบังคับใช้ 24 พฤษภาคม 2560 เหตุผลการปรับปรุงและประกาศใช้งานเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งครอบคลุมการดูแลทั้งสื่อ และบุคคลทั่วไป

ส่วน ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน แม้จะมีการพูดถึงและดำเนินการตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีหลายประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียง ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 การพิจารณารายงานและร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน สปท. ใช้เวลา นานกว่า 7 ชั่วโมง อภิปรายข้อดีข้อเสียของกฎหมาย ก่อนมีมติ 141 เสียง ต่อ 13 เสียง เห็นชอบรายงานและร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยให้กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อมวลชน นำไปแก้ไขตามความเห็นของสมาชิกก่อนส่งให้ คณะรัฐมนตรี ผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป โดยกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ทั้งสื่อและบุคคลทั่วไป

ขณะที่ 24 เมษายน 2560 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 และเห็นสมควรกำหนดให้ การให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top : OTT) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ จากนั้นไม่นาน กสทช. เดินหน้าเรียกประชุมและหารือกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยูทูปเบอร์ เน็ตไอดอล และเอเจนซี่โฆษณา ในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง 22 มิถุนายน 2560 กสทช. แจ้ง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย OTT ให้ผู้ประกอบการ และผู้ใช้ที่เข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการ OTT และผู้ให้บริการโครงข่าย OTT รับทราบ 22 มิถุนายน 2560 ว่าให้เวลาในการมาลงทะเบียนเป็น  OTT ภายใน 30 วัน จนถึง 22 กรกฎาคม 2560 หากไม่มาลงทะเบียน OTT จะถือว่าเข้าข่ายประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยหลักเกณฑ์นี้ มีผลบังคับใช้ทั้ง สื่อ สื่อบุคคล สื่อนิติบุคคล

ทว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันนี้ (5 กรกฎาคม 2560) มติที่ประชุม กสทช. ให้คณะอนุกรรมการ OTT ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ OTT ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ก่อนทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นสาธารณะ  ปรับปรุงและเสนอให้บอร์ดพิจารณาเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีเวลาดำเนินงานทั้งหมด 90 วัน ส่งผลให้เส้นตายการลงทะเบียนผู้ให้บริการ OTT ที่ระบุไว้ว่าต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 22 กรกฎาคม นี้ ถูกเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าหลักเกณฑ์กำกับดูแลจะประกาศใช้

ล่าสุด รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่อง “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติ 144 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบพร้อมส่งต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 เป็นกฎเกณฑ์ล่าสุดที่ถูกพูดถึงมาก เนื่องจาก สปท. เสนอให้สแกนใบหน้า พิมพ์ลายนิ้วมือ และกรอกเลขบัตรประชาชน ก่อนใช้สื่อออนไลน์ จัดเก็บรูปภาพของผู้ลงทะเบียนซิม จำกัดขอบเขตการใช้โทรศัพท์มือถือเฉพาะจังหวัด หากมีการใช้ข้ามจังหวัดต้องแสดงตัวตน เป็นต้น โดยกฎเกณฑ์นี้ใช้ควบคุมการใช้งานสื่อออนไลน์ของสื่อและประชาชนทั่วไป

ไม่เป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่เป็น ไทยแลนด์ 0.4

จากกฎเกณฑ์ที่เกริ่นไปข้างต้นนี้ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเป็นการดูแลในเรื่องการควบคุม ซึ่งอาจได้ผลในยุคภูมิทัศน์สื่อแบบเดิม ในยุคที่สื่อยังไม่ขยายกว้าง ซึ่งกรอบคิดนี้เป็นแบบการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารแบบเดิม แต่ในยุคนี้ต้องส่งเสริมให้สื่อมวลชนกระแสหลักควบคุมดูแลกันเอง โดยครึ่งปีที่ผ่านมายังขาดเรื่องการส่งเสริมภาคประชาชนให้ตรวจสอบสื่อ  และให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นกรอบคิดของคนที่อยู่ในยุคเดิมไม่อาจประสบความสำเร็จได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ อาจทำให้สังคมตะวันตกมองว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคควบคุมข้อมูลข่าวสาร มีผลกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่เป็นไทยแลนด์ 0.4

“การควบคุมแบบนี้ไม่สามารถควบคุมได้ 100 % แต่ทำให้คนดีๆ สื่อดีๆ ทำธุรกิจได้ยาก” ดร.มานะ กล่าว

นักวิชาการไอที เผย ยิ่งคุม ยิ่งหนี

นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า เจตนาของกฎเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อควบคุมให้บ้านเมืองสงบ แต่อาจมีแนวทางที่รวบรัดเกินไป ซึ่งอาจไม่ได้ผลตามที่ต้องการ เพราะโลกอินเทอร์เน็ตเป็นโลกเสมือนไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะในประเทศไทย การบรรจุตัวตนยังคงเป็นปัญหา ซึ่งการแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์อาจไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้งานทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ผู้ใช้งานพยายามหาช่องทางหลบหลีกและปกปิดตัวเอง และเกิดการค้นหาวิธีหลบเลี่ยงการถูกควบคุม

นายณัฐ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงาน คือ ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนยอมใช้งานอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์อย่างเปิดเผย ซึ่งต้องมีความสมดุล เช่น การทำธุรกิจและใช้บริการอี-คอมเมิร์ซ ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลก็จะได้รับการคุ้มครอง ป้องกันการถูกโกง และเก็บภาษีได้ หมายความว่าทั้งรัฐและประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกัน

ส่วนการทำเรื่อง OTT มีหลายประเทศพยายามที่จะทำในลักษณะนี้ ซึ่งการที่จะทำได้หมายความว่าบริษัทที่จะเข้า OTT ต้องมีการลงทุนในประเทศนั้นๆ อย่างจริงจัง ซึ่งยังไม่ใช่ประเทศไทย แต่ไทยก็ไปเน้นเรื่องของกลุ่มโซเชียลมีเดียเท่านั้น หากเราไปควบคุมการใช้งาน หรือใช้บริการนั้นมากๆ กลุ่มผู้ใช้งานก็จะหนีไปใช้ช่องทางอื่นๆ ยิ่งทำให้รัฐเข้าไม่ถึง ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น รัฐต้องพยายามทำให้ประชาชนยอมที่จะเปิดเผยข้อมูล เช่น ประเทศสิงคโปร์ ภาครัฐเปิดให้บริการ ไว-ไฟ (WI-FI) ฟรี ประชาชนจะใช้งานต้องกรอกข้อมูล ซึ่งประชาชนก็ยินยอมเพราะได้ประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อฯ นายณัฐ มองว่า ควรให้สื่อควบคุมดูแลกันเองมากกว่า แต่ปัญหาคือ สื่อโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นปัญหามากกว่าเพราะเป็นสื่อที่ไม่ทราบแหล่งที่มา จึงต้องสร้างกลไกให้ผู้อ่านไม่ไปหลงเชื่อ

“กังวลว่าเราอาจยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เรากำลังควบคุมคนที่อยู่ในกรอบอยู่แล้วให้อยู่ในกรอบมากขึ้น และทำให้ไม่เกิดการแข่งขันในรายใหม่ๆ โดยคนที่อยู่นอกกรอบก็ยังคงเป็นปัญหา เพราะไม่สามารถทำอะไรได้ สุดท้ายอาจทำให้คนที่อยู่ในกรอบอยากออกนอกกรอบ” นายณัฐ กล่าว

เสรีภาพสื่อไทยอันดับตก!

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporter Without Borders: RSF) ประกาศดัชนีเสรีภาพของสื่อทั่วโลกประจำปี 2017 ระบุว่า เสรีภาพสื่อของไทยได้คะแนน 44. 69 อยู่อันดับที่ 142 จาก 180 ประเทศ ต่ำกว่าพม่าซึ่งอยู่อันดับที่ 131 และกัมพูชาอันดับที่ 132 โดยไทยหล่นจากอันดับที่ 136 จากปีที่แล้ว

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า สื่อไทย ถูกปิดปากด้วยความสงบและระเบียบ ภายใต้รัฐบาล คสช. และหัวหน้าคณะ คสช. โดยระบุว่า สื่อและประชาชนถูกควบคุมอย่างถาวร นอกจากนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขล่าสุดยังให้อำนาจรัฐในการเซ็นเซอร์และตรวจสอบสื่อมากขึ้น

สำหรับ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีการล่วงละเมิดสื่อมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ดังนี้

- จีน อันดับที่ 176 และเวียดนาม อันดับที่ 175 คุมขังนักข่าวและบล็อกเกอร์ (blogger) มากที่สุดในโลก

- ปากีสถาน ฟิลิปปินส์และบังกลาเทศ อันดับที่ 139 , 127 และ146 ตามลำดับ เป็นประเทศที่สื่อตกอยู่ในสภาวะอันตรายมากที่สุดในโลก

ส่วนภูมิภาคเอเชียมีจำนวนผู้นำเป็นนักล่าเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลก หมายรวมถึงจีน เกาหลีเหนือ และลาว อยู่ในอันดับที่ 176 ,180 และ 170 ตามลำดับ โดยองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า ภูมิภาคนี้เป็นหลุมดำของข้อมูลและข่าวสาร

 

ต้นฉบับ : https://www.pptvhd36.com/news/59216

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้