ศาลฎีกา ยกฟ้อง "สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ" คดีสลายการชุมนุมพันธมิตร

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2958 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาลฎีกา ยกฟ้อง "สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ" คดีสลายการชุมนุมพันธมิตร

ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับพวกอีก 3 คนในคดี สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ชี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร

วันที่ 2 สิงหาคม 2560 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ คดี 7 ตุลาคม 2551 คดีนี้ อัยการสูงสุด ยื่นสำนวนฟ้อง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สรุปข้อกล่าวหาจำเลย 4 คน ด้วยฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จำเลยที่ 1 ถึง 4 ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2542 ประกอบไปด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี,พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตามฐานความผิดในข้อกล่าวหานั้น อ้างอิงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และมีผู้บาดเจ็บ รวม 471 คน

ทั้งนี้ นายสมชาย ได้ใช้สิทธิ์แถลงปิดคดีด้วยวาจา เพียงคนเดียว ขณะที่จำเลยอีก 3 คน ได้ส่งคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา คดีนี้ เดิมโจทก์ส่งบัญชีรายชื่อพยานบุคคล 66 ปาก และจำเลยส่ง 954 ปาก แต่หลังศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดตรวจพยานรวม 5 ครั้ง ให้คงเบิกความพยานฝ่ายโจทก์ 28 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลย 106 ปาก และกำหนดไต่สวนนัดแรก 8 เมษายน 2559 สิ้นสุดนัดสุดท้าย 28 เมษายน 2560 จากนั้น ก็นัดฟังคำพิพากษา 2 สิงหาคม

หลังจากใช้เวลาในการอ่านคำพิพากษานานกว่า 1.20 ชั่วโมง ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คนคือ  นายสมชาย , พล.อ.ชวลิต , พล.ต.อ.พัชรวาท  และพล.ต.ท.สุชาติ  ชี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร  โดยคดีนี้ใช้เวลาในการพิจารณายาวนานถึง 9 ปี

เปิดคำพิพากษา คดีสลายการชุมนุม 9 ปี 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันทำการให้มีการเปิดทางเข้ารัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ การที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา โดยปิดล้อมประตูเข้าออกไว้ทุกด้าน ถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัตคิหน้าที่และไม่ได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบกรกฎ 48 โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น พยานหลักฐาน โจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงบ่ายและช่วงค่ำ โจทก์ร้องขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่สองได้ลาออกจากตำแหน่งไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมรัฐสภาเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่รัฐสภา ไม่สามารถออกจากรัฐสภาได้ มีการปลุกระดมผู้ชุมนุมและจะบุกเข้าไปข้างในรัฐสภา จึงไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทางช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภา

โดยเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัตตามขั้นตอนของแผนกรกฎ 48 จึงจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือซึ่งพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้ง 4 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแก๊สน้ำตาก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา แม้จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่าแก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 26

อดีตนายกฯสมชาย แถลงปิดคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร ปี 2551 ยืนยัน ไม่ได้กระทำผิดมาตรา 157

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย คดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นจำเลย

ในวันนี้เป็นการไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายจำนวน 5 ปาก โดยใช้ระยะเวลาการไต่สวนทั้งสิ้นประมาณ 1.30 ชั่วโมง หลังจากนั้นนายสมชาย เป็นผู้แถลงปิดคดีด้วยวาจา ส่วน พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ แถลงปิดคดีด้วยลายลักษณ์อักษร โดย พล.อ.ชวลิต ได้ขอไต่สวนลับหลัง เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งศาลอนุญาต

ภายหลังการแถลงปิดคดี องค์คณะผู้พิพากษาอ่านกระบวนความพิจารณาให้ฝ่ายโจทก์แถลงปิดคดีในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. และกำชับให้ พล.อ.ชวลิต ต้องมารับฟังคำพิพากษาด้วย

สำหรับคำแถลงปิดคดี นายสมชาย กล่าวว่า ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สืบเนื่องจากได้รับโปรดเกล้าฯดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนกันยายน 2551 หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยประธานรัฐสภาได้นัดคณะรัฐมนตรีเพื่อแถลงนโยบายในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยึดทำเนียบรัฐบาลได้ปลุกระดมให้มวลชนมาชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา เพื่อขัดขวางไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามที่พยานฝ่ายโจทก์หลายรายเบิกความ อย่างไรก็ดีการชุมนุมดังกล่าว ศาลปกครองเคยมีคำพิพากษามาแล้วว่า ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 

นายสมชาย กล่าวอีกว่า การที่โจทก์กล่าวหาว่าตนผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ขอปฏิเสธอีกครั้งว่า ไม่ได้กระทำการอันใดเลยที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ชุมนุม และไม่มีพยานฝ่ายโจทก์ปากใดที่ชี้ว่า ตนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จนก่อให้เกิดความเสียหาย ล้มตาม กับผู้ชุมนุม

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2551 มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาจำนวนมาก ตนกังวลว่าจะเกิดการเผชิญหน้า เกิดปัญหาตามมา อาจเกิดความเสียหายได้ จึงมีแนวคิดว่า อยากให้เลื่อนการแถลงนโยบายไปวันอื่น หรือสถานที่อื่น จึงให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประสานประธานรัฐสภา ว่าสามารถดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ ต่อมาเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียนว่า ประธานรัฐสภา ระบุว่า เกินระยะเวลาตามกำหนดแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ 

“ในเมื่อไม่สามารถดำเนินการได้ ผมเห็นว่าควรหาทางออก จึงเชิญคณะรัฐมนตรีหารือในเวลาประมาณ 23.00 น. คืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยเชิญนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ คือ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เพื่อให้ดูแลเหตุการณ์ และรายงานคณะรัฐมนตรีว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไรบ้าง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ พร้อมกับ พล.อ.ชวลิต ระบุว่า ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวจากตำรวจแล้ว โดย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ขอตัวกลับไปดูแลสถานการณ์ ไม่ต้องการเสียเวลานั่งคุยตรงนี้ ทั้งนี้ตนไม่ได้สั่งการใด ๆ เพิ่มเติม เพราะหน้าที่ของการดูแลความสงบเรียบร้อย และการควบคุมฝูงชน เป็นหน้าที่โดยตรงของตำรวจอยู่แล้ว” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่มีรัฐมนตรีรายใดเสนอให้มีการสลายการชุมนุม แต่เห็นด้วยกับความคิดของตนตอนแรกว่า อยากให้ย้ายสถานที่ หรือเปลี่ยนวันแถลงนโยบาย แต่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียนว่า ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติ ให้ดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนเข้าแถลง โดยคอยฟังประธานรัฐสภาว่า ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จะดำเนินการอย่างไรต่อ นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต เป็นผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย เนื่องจากเป็นผู้ใหญ่ควรให้เกียรติ เท่ากับว่า เป็นมติของคณะรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นมติส่วนตัวของตนแต่อย่างใด

นายสมชาย กล่าวว่า ภายหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ต่อมามีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า ขอให้ตนออกจากรัฐสภาโดยด่วน เพราะเกรงว่า อาจเกิดอันตรายได้ เมื่อเดินมาด้านหน้ารัฐสภา ตำรวจรออยู่ ระบุว่า กำลังเจรจาเปิดทางกับผู้ชุมนุม แต่ถ้าหากไม่มีการเปิดทาง อาจต้องใช้แก๊สน้ำตากดดัน ตนจึงห้ามไม่ให้ใช้ เพราะเกรงว่าจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย และเกิดความเสียหาย ตนไม่อยากเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้ และแจ้ง พล.ต.ท.สุชาติ ว่า ม็อบรุนแรงมากขึ้น ขอให้ดูแลโดยละมุนละม่อม ซึ่ง พล.ต.ท.สุชาติ รับทราบไปปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ต่อมาได้ถามตำรวจว่า ต้องทำอย่างไรหากการเจรจาไม่สำเร็จ ตำรวจรายนี้บอกว่า ต้องปีนออกไปทางกำแพงเข้าสู่พระที่นั่งวิมานเมฆ แต่อาจเกิดความไม่สะดวกได้ ตนจึงตัดสินใจปีนกำแพงไปที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ได้พบกับกรมวังผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง จึงแจ้งท่านว่า ขออนุญาตเข้ามาเพราะไม่อยากเกิดการเผชิญหน้า และจะออกไปแล้ว แต่กรมวังผู้ใหญ่ท่านนั้น บอกว่า ยังไม่สามารถออกไปได้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมทุกทาง อาจไม่ปลอดภัย และไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายกับพระที่นั่งวิมานเมฆ ตนกังวลเหตุผลดังกล่าว จึงประสานขอเฮลิคอปเตอร์เพื่อมารับ แต่เฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถลงจอดที่พระที่นั่งวิมานเมฆได้ เนื่องจากเป็นเขตพระราชฐาน กรมวังผู้ใหญ่ท่านนี้จึงประสานกับผู้ใหญ่ท่านอื่น จนขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้เฮลิคอปเตอร์ลงจอดได้ ตนจึงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปที่กองบัญชาการกองทัพไทย เพราะคิดว่า เมื่อตนไปแล้ว เรื่องทุกอย่างคงสงบ เนื่องจากตนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว และหากผู้ชุมนุมคิดจะมาประสงค์ร้ายก็ไม่ทันแล้ว

นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อถึงกองบัญชาการกองทัพไทยได้นัดประชุมคณะรัฐมนตรีทันที แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวาย โดยปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า มีการใช้แก๊สน้ำตาเกิดขึ้น แต่ตนไม่ได้รับรายงาน หรือความเห็นจากตำรวจแต่อย่างใด อย่างที่เรียนให้ทราบไปแล้วว่า หน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่โดยตรงของตำรวจ มีอำนาจตัดสินใจเฉพาะหน้า ไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งนี้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เคยมีแนวทางไว้แล้วว่า ผู้ที่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง 

“ส่วนข้อกล่าวหาว่า ผมเป็นต้นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บ ยืนยันว่า ทุกข้อกล่าวหา ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น พ.ต.ท. รายหนึ่ง ที่พกระเบิดมาใส่ไว้ในรถ ก่อนจะขับเข้ามาสู่ที่ชุมนุม แต่เกิดเหตุระเบิดขึ้นก่อน บริเวณหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา จนตัวเองได้เสียชีวิต หรือกรณีผู้หญิงรายหนึ่ง ที่เสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลสิ้นสุดลง ผมเห็นใจ และเสียใจ แต่เหตุดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผม” นายสมชาย กล่าว

ท้ายสุด นายสมชาย กล่าวว่า ตนปฏิบัติหน้าที่มาหลายตำแหน่ง ทั้งฝ่ายตุลาการเป็นมา 20 ปี ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารก็เคยเป็น ยืนยันด้วยสัจจวาจาว่า ไม่เคยเลือกปฏิบัติ ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และประนีประนอม และคดีนี้เกิดขึ้นตอนเป็นนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลประชาชนทุกคนไม่ให้เดือดร้อน ไม่เลือกปฏิบัติฝ่ายใด หรือสีใดสีหนึ่ง เป็นอำนาจที่ได้รับมาโดยชอบธรรมจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่เคยคิดทำร้ายใคร จึงเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรม

 

ขอขอบคุณภาพข่าวประกอบ : สำนักข่าวอิศรา | ไทยรัฐออนไลน์ | ไทยพีบีเอส

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้