Last updated: 14 มี.ค. 2561 | 4559 จำนวนผู้เข้าชม |
คาดทีวีดิจิทัลเตรียมคืนช่อง หลังศาลสั่ง กสทช. คืนเงินช่องเจ๊ติ๋ม ย้ำ กสทช. ควรยอมรับความจริง และแก้ปัญหาค่าธรรมเนียม ค่าเช่าสัญญาณ
วันนี้ (13 มีนาคม 2561) ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาในคดีที่นางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของบริษัท ไทยทีวี เป็นโมฆะทั้งหมด
พร้อมกับขอให้เพิกถอนหนังสือ กสทช. ฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2558, ฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ที่ให้บริษัท ไทยทีวี ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่งวดที่ 2 และฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ยกเลิกให้บริษัท ไทยทีวี ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่พร้อมกับให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ให้ใช้คลื่นความถี่ และให้สั่ง กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำนวน 16 ฉบับ
รวมทั้งคืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่บริษัทฯ ได้ชำระไปแล้วเป็นเงิน 365,512,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาทต่อปี นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จสิ้นและค่าเสียหายจากการกระทำของ กสทช.จำนวน 713,828,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด จริง บริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา
แต่วันบอกเลิกสัญญาพ้นกำหนดการจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 2 ที่บริษัทฯ ได้มีการดำเนินการกิจการทีวีดิจิตอลไปแล้วจึงต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 2 จำนวน 258 ล้านบาท ส่วนหนังสือค้ำประกันธนาคารกรุงเทพ จำนวน 16 ฉบับ ซึ่งเป็นค่างวด ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไปให้ กสทช.คืนให้แก่บริษัท แต่ถ้าไม่สามารถคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้เป็นเงินแทน อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางไม่ได้ให้ กสทช.ชดใช้ค่าเสียหายตามที่บริษัทเรียกร้อง เพราะภาวะการขาดทุนเกิดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติ
นางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย พร้อมทีมทนายความ
นางพันธุ์ทิพา พอใจที่ศาลชี้ว่า กสทช.ทำผิดจริง โดยศาลให้ กสทช.คืนแบงก์การันตีให้บริษัท ไทยทีวี ในงวดที่ 3, 4, 5 และ 6 มูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ศาลไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 700 ล้านบาทตามที่ขอไป จึงจะยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติมในส่วนนี้ โดยมั่นใจว่ามีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่า กสทช.ทำผิดสัญญาจนทำให้เกิดความเสียหาย
“เรา ไม่ใช่คนที่อ่อนแอ หรือไม่มีสายป่าน ขาดทุนแล้วจึงเลิก เราเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความสามารถ เพียงแต่สิ่งที่ กสทช.ทำไม่ได้เอื้อ และเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดความเสียหาย ทำธุรกิจเกือบ 40 ปีไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว ทำไมเราจึงจะมาโง่วันนี้ กลายเป็นคนมองธุรกิจไม่เป็น อ่อนแอ เป็นเรื่องที่กระทบภาพลักษณ์มาก ตอนนี้ช่องอื่นๆ ก็ลำบากหมด บางคนครอบครัวแตกแยก ถึงขนาดเกือบฆ่าตัวตาย ล้วนเกิดจากการกระทำของ กสทช.ทั้งสิ้น แม้ว่า กสทช.ชุดที่อนุมัติเรื่องทีวีดิจิตอลจะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ใครทำกรรมอะไรไว้ก็ต้องรับผลกรรมนั้น” นางพันธุ์ทิพากล่าว
ด้าน นายสมบัติ ลีลาพตะ ผอ.สำนักกฎหมาย กสทช. กล่าวว่า ทาง กสทช.จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เนื่องจากเห็นว่าศาลยังไม่ได้นำข้อเท็จจริงบางส่วนมาประกอบการพิจารณา เช่น รายละเอียดในหนังสือชี้ชวน ที่กำหนดว่าโครงข่ายจะมีการขยายได้ปีละเท่าใดและกรณีที่บริษัท ไทยทีวี อ้างว่าโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์มีปัญหา แต่จริงๆ ทางไทยทีวีใช้โครงข่ายของผู้ประกอบการรายอื่น
สำหรับช่องทีวีดิจิทัล อย่าง นายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ให้ความเห็นถึงกรณีนี้ว่า ว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด จริง ทำให้ไทยทีวี จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา โดยคำตัดสินของศาลที่ออกมาในวันนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในอนาคตได้เลย
โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดีที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้สามารถคืนสัญญาหรือคืนช่องได้ เพราะเมื่อทำต่อไม่ไหวด้วยปัจจัยหลายด้าน ก็ควรมีทางออกให้กับผู้ประกอบการได้เลือกตัดสินใจ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนมือเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มาทำแทนเลย หรือจะเป็นหน้าเก่าที่มีช่องในมืออยู่แล้วและมีศักยภาพในการทำช่องก็สามารถมาทำได้
รวมถึงการเปิดโอกาสให้ช่องสามารถปรับส่งสัญญาณภาพจากหมวดหมู่ความคมชัดปกติเป็นความคมชัดสูงได้ หรือการเยียวยาวอย่างอื่นที่เห็นผลชัดเจนมากกว่านี้ ก็จะดีต่อผู้ประกอบโดยรวมอย่างมาก
ทางด้านนายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวให้ความเห็นกรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษา ว่า กสทช.กระทำผิดสัญญาที่ได้ประกาศชี้ชวนไว้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด จริง บริษัท ไทยทีวี จำกัด จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ว่า กรณีนี้คาดว่าจะเป็นตัวอย่างและจะมีทีวีดิจิทัลอีกหลายช่องมองเป็นตัวอย่างได้เพราว่ามีหลายช่องก็แบกรับภาระต้นทุนที่สูงไม่ไหว
ปัจจุบันนี้ทีวีดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตมา 24 ช่อง มีเพียง 22 ช่องที่ดำเนินการอยู่ นอกจากช่องของเจ๊ติ๋ม 2 ช่องที่หยุดดำเนินการไปก่อนหน้านี้นานแล้ว ซึ่ง 22 ช่องที่เหลือ ก็มีแนวโน้มว่า จากนี้ไปอาจจะเหลืออีกไม่ถึง 10 ช่องเท่านั้น และที่ผ่านมาหลายช่องก็มีการเปลี่ยนแปลงนายทุนเปลี่ยนแปลงเจ้าของไปหลายช่องแล้ว เพราะว่าไปไม่รอด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ กสทช. น่าจะดำเนินการจากนี้ คือการยอมรับความจริงและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ด้วยการแก้ไขเงื่อนไขสัมปทานหรือกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น ใบอนุญาตสัมปทาน 15 ปีที่ให้เอกชนไปนั้น ในเรื่องของการจ่ายค่างวดสัมปทานควรจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง หรือการจ่ายค่าMUGสัญญาณ จะลดลงอย่างไรได้บ้าง
กสทช. ผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว ที่เปิดประมูลรวดเดียว 24 ช่อง ซึ่งไม่มีที่ไหนเขาทำกัน ควรจะเปิดเป็นระดับขั้นตอนไป ไม่ใช่เปิดครั้งเดียว การเปลี่ยนถ่ายจากระบบอะนาล็อกต้องค่อยเป็นค่อยไป ทั้งการแจกคูปองแลกอล่องที่ล่าช้า ไม่มีแผนการเรียงช่องที่ชัดเจน ไม่มีการให้ความรู้และการเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนถ่าย การนำสัญญานดิจิทัลภาคพื้นดินไปออกอากาศผ่านดาวเทียม เป็นต้นและอีกหลายอ่าง
“ที่ผ่านมา คนในวงการทีวีดิจิทัล ต้องถูกปลดหรือออกจากงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เพราะการที่ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวของทีวีดิจิทัลหลายช่อง เพราะต้นทุนการประมูลสูงมาก”
ข้อมูลภาพข่าวต้นฉบับจาก Positioningmag