Last updated: 6 เม.ย 2561 | 2386 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 63 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน ศกนี้ พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้พร้อมเพรียงกันเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย อีกด้วย ในฐานะที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจทั้งปวงด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะล้ำเลิศ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน นานาประการ ในการธำรงไว้ซึ่งความเป็นไทยและทรงเป็นแบบอย่างการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรอันงดงาม โดยทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์มรดกของชาติ ให้ยั่งยืนตกทอดถึงลูกหลานไทย อันสอดคล้องกับพระราชปณิธาน ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขมวลประชา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกด้วย
ในการนี้ ผมขอเชิญชวนปวงชาวไทยทุกคน พร้อมใจกันรำลึกพระเกียรติคุณและพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ทรงบำเพ็ญและจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติ ให้คงอยู่คู่บ้านเมืองตราบนานเท่านาน และขอให้ร่วมกันหมั่น ทำความดี ด้วยหัวใจ ในทุกโอกาส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ปัจจุบัน บรรยากาศไทยนิยมยังคงอบอวลทั่วไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และผมขอสนับสนุนให้คงอยู่เช่นนี้เรื่อยไปนะครับ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ความเป็นไทย ด้วยการแต่งกายแบบไทยๆ ไปทำงานก็ดี หรือเพื่อการท่องเที่ยวก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ก็อย่าให้เดือดร้อน บางกิจกรรมมีนโยบายลดราคา หรือให้บริการฟรี สำหรับผู้ที่แต่งกายย้อนยุค ก็ถือว่าเป็นกุศโลบายที่น่าส่งเสริม ส่วนนักท่องเที่ยวเอง การปฏิบัติตัว ณ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ ก็ขอให้เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เคารพสถานที่ ช่วยกันดูแลรักษา ไม่ปีนป่าย ไม่ทำในสิ่งอันไม่สมควร เพื่อเก็บไว้ให้ชนรุ่นหลังได้สัมผัส ได้ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ขอความร่วมมือด้วย
พี่น้องประชาชนที่รักครับ จากสัปดาห์แล้วที่ผมกล่าวถึงเรื่องคุณอำนาจ พรหมภินันท์ นักวิ่งทางดิ่ง วัย 66 ปี เป็นนักวิ่งหนึ่งเดียวจากประเทศไทย ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมรายการวิ่งขึ้นหอไอเฟล ซึ่งมีความเป็นมายาวนานนับ 100 ปี ผมอยากชวนทุกฝ่ายช่วยกันคิดต่อยอด ให้มองภาพที่ใหญ่ขึ้น คำถามคือทำอย่างไรให้การวิ่งนั้นสร้างเศรษฐกิจ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ และดึงรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และอื่นๆ ไม่ใช่แค่การจัดงานวิ่งแล้วก็จบไป เหมือนงานอีเวนต์หนึ่งๆ เท่านั้น แต่จะเป็นอีกอุตสาหกรรมใหม่ของเรา รวมทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็เหมือนกัน ที่สามารถจะสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือต่อยอดจากการท่องเที่ยวได้หลายเท่าตัว
ผมขอยกตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับงานวิ่งมาราธอน ที่จัดในเมืองใหญ่ทั่วโลก และได้รับการยอมรับมากที่สุด ที่เรียกว่าระดับ Majors มี 6 สนาม ได้แก่ บอสตัน จัดมา 121 ปี รองลงมา นิวยอร์ก ซิตี 48 ปี เบอร์ลิน 44 ปี ชิคาโก 41 ปี ลอนดอน 37 ปี และ โตเกียว 36 ปี ยังมีสนามอื่นๆ อีกมากมาย ที่จัดขึ้นทั่วโลก งานเหล่านี้จะมีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 35,000 คน สนามใหญ่ๆอย่าง นิวยอร์ก ซิตี้มาราธอน มีคนวิ่งจบ 50,000 กว่าคน มากกว่าโอลิมปิกที่มีนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ราว 11,000 คน เท่านั้น ตัวอย่างของผลพลอยได้ที่จะตามมาก็คือ เม็ดเงินมหาศาลจะไหลเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพเพราะนักวิ่งจากทั่วโลกเหล่านี้เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว วิ่งด้วย เที่ยวด้วย จับจ่ายใช้สอย ที่พัก อาหาร ของฝาก
การจัดงานระดับประเทศ ถ้าหากได้รับความนิยมก็ถูกยกเป็นระดับโลก ช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เคยมีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัดชิคาโก มาราธอน ในปี 2016 เฉพาะในเมืองชิคาโก ก็สูงถึง 9,000 ล้านบาท ส่วนลอนดอน มาราธอน เมื่อปีที่แล้ว ก็สามารถหาเงินเข้าองค์กรการกุศลได้มากถึง 2,700 ล้านบาท แล้วก็ถือเป็นสถิติโลกด้วย เราลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ผมก็ประหลาดใจอยู่เหมือนกัน ว่าประเทศไทยเราก็จัดมีการจัดวิ่งมาราธอนไม่แพ้เขา จัดมานาน 30 กว่าปี พอๆ กับที่ลอนดอนและโตเกียว เท่าที่ทราบสนามแข่งขันมี 6 สนามที่เป็นสมาชิกเอมส์ ซึ่งเป็นสมาคมที่รับรองว่าการวัดระยะในสนามแข่งขันมีความถูกต้อง ทำให้สถิติของนักวิ่งได้รับการรับรองและสามารถเอาไปใช้สมัครเพื่อแข่งขันในสนามระดับโลกได้ แต่เรายังไม่มีสนามใดเลยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก IAAF Label ซึ่งมีข้อกำหนดอีกมากที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น ต้องมีระบบการแพทย์ดูแลนักกีฬา หากมีคนล้มในสนามต้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว หากเรายกระดับการจัดเข้าสู่มาตรฐานดังกล่าวได้ ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาได้ในที่สุด ผมเห็นหลายประเทศเขาดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิ โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนมาช่วยจัดงาน และหน่วยงานของรัฐก็เข้าไปสนับสนุน อำนวยความสะดวก สรุปแล้ว ก็เป็นกลไกหนึ่ง ที่ประชารัฐในแต่ละท้องถิ่นสามารถจะทำได้ ตามนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน ที่สามารถประสบความสำเร็จมาแล้วหลายกิจกรรม เช่น ประชารัฐ พีพี โมเดล ช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ทำให้สามารถจัดเก็บรายได้ที่ไม่เท่าไหร่ แต่ปี 57 เก็บได้ 700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 60 เก็บได้ 2,400 ล้านบาท และปีนี้ คาดว่าจะถึง 3,000 ล้านบาท ก็ขอให้รักษาระบบนิเวศน์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ด้วย รายได้ที่ได้มาก็ไม่ได้ไปที่ไหน ก็จะอยู่ที่ชุมชนที่เป็นเจ้าภาพ จากการมีส่วนร่วมของประชาชนและอาสาสมัคร
สำหรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายตั๋วจากผู้สนับสนุน ก็สามารถนำไปส่งเสริมนักวิ่ง กีฬาให้กับเยาวชน ทำการกุศล เป็นกองทุน ได้อีกด้วย ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันคิด ให้เป็นระบบ ต้องทำตามมาตรฐานสากลให้ได้โดยเร็ว ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราสามารถจัดงานวิ่งมาราธอน ที่มีเส้นทางที่สวยงามน่าประทับใจไม่แพ้ที่ใดในโลก ทั้งเส้นทางวิ่งชมวัฒนธรรม ชุมชน วัดวาอาราม สถาปัตยกรรม สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หรือเส้นทางธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง ชายทะเล ภูเขา ป่าไม้ เรามีครบหมด นอกจากนั้นก็เส้นทางสายไหม เส้นทางผ้า เส้นทางอาหาร เส้นทางต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันได้ ในท้องถิ่น ในชุมชน เมืองหลัก เมืองรอง เราทำได้ ทั้งหมด ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันคิด และช่วยกันทำอย่างจริงจัง สร้างชื่อเสียง สร้างคุณค่า เอาไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานของเรา ใช้สปิริตของการกีฬา มาสร้างชาติ สร้างสังคมที่ดีขึ้นด้วยกัน
พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ มีเรื่องราวมากมายที่ผมอยากหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในคืนนี้ เพื่อสร้างเข้าใจที่ตรงกัน อาทิ
1. การทำประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ในน่านน้ำ นอกน่านน้ำ ทั้งประมงในประเทศ และประมงต่างประเทศ ทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์ที่ยั่งยืน จากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่เสียหายทุกคนต้องเคารพในกฎหมาย เคารพกติกาสากล อาจเป็นภาระในช่วงแรกๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลง ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ก็ค่อยเป็นค่อยไป รัฐก็จะเข้าไปสนับสนุนการปรับตัว เราต้องหาวิธีการปฏิบัติที่สร้างความเสียหายน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์แก่ท่าน ลูกหลาน การประมงไทย และประเทศชาติในระยะยาวด้วย ขอความร่วมมือจากทุกท่าน
2. ในเรื่องยางนั้นคงต้องเร่งการนำยางไปใช้ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่ต้องต่อๆ ไปในวันข้างหน้าด้วย เราต้องสร้างระบบกลไกการบริหารจัดการที่ยั่งยืน การใช้งบประมาณท้องถิ่น การทำถนนด้วยยางข้น หรือยางสดอะไรที่ดีกว่า หรือการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ การดูแลกลไกการตลาด ซึ่งเราทำทุกมิติอยู่ในเวลานี้
3. ไทยนิยมรอบ 1 รอบ 2 ผลออกมาดี น่าพึงพอใจ เน้นการให้ความรู้ ฝึกในการใช้เทคโนโลยี สร้างอาชีพ เข้าถึงตลาดออนไลน์ เข้าถึงแหล่งทุน ไม่ใช่การปล่อยกู้ อาจเป็นการลงทุนเพื่อส่วนรวม จัดหาเครื่องมือ พัฒนาพื้นที่ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้น อาจจะต้องไปใช้งบประจำ งบท้องถิ่นอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ที่หนองบัวลำภู ต้องการไฟจราจร สร้างสะพานทางข้าม ทางลอด หรืออุโมงค์ สำหรับอีแต๋น รถเกษตรกรให้กลับรถได้ หลังจากไปไร่นานั้น ผมได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล และดำเนินการแล้ว ว่า อย่างไรจะเหมาะสม และตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนได้อย่างไร
เรื่องที่ 4. เรื่องป่าไม้ การใช้พื้นที่ของส่วนราชการ หากเป็นตามอนุมัติเดิมเรื่องที่ก่อนที่เราจะเข้ามา เราต้องหาวิธีการแก้ไข หรือหาทางออกที่เหมาะสมเรื่องที่ เช่น กรณีที่เชียงใหม่เราจะทำอย่างไรเรื่องที่ จะแก้ปัญหาที่ประชาชนเป็นกังวลได้อย่างไร ต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งดำเนินการไปมากแล้วเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดินด้วย แม้รัฐบาลและ คสช.ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ แต่ต้องรับผิดชอบในเวลานี้ จะต้องช่วยกัน พยายามหาทางแก้ไขให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่อยากให้เป็นประเด็นขัดแย้ง ประเด็นการเมืองขยายลุกลามบานปลายปอีก
เรื่องที่ 5.ข้าราชการต้องมีการปฏิรูปตนเอง เนื่องจากวันที่ 1 เมษายนของทุกปี จะเป็นวันข้าราชการพลเรือน ขอให้ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ว่า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เราทุกคนเมื่อถอดเครื่องแบบ ถอดหัวโขน คือประชาชนเหมือนกัน
สำหรับการพัฒนาศักยภาพข้าราชการนั้น ผมอยากจะขอยกตัวอย่างหลักสูตรของกรมการพัฒนาชุมชนที่มุ่งสร้างเพื่อนคู่คิดให้กับชาวบ้าน ด้วยการให้หลักคิด มีความเป็นผู้นำ และช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ลักษณะเด่นของหลักสูตรคือ มีทั้งภาควิชาการ ภาคปฏิบัติ และการลงพื้นที่ คลุกคลีตีโมง เข้าถึงความคิด ความทุกข์ และจิตใจของชาวบ้าน ที่ผ่านมามีพัฒนากรประจำพื้นที่ทั่วประเทศเกือบ 4,000 คนลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูล และความต้องการของประชาชนในทีมปฏิบัติการไทยนิยมยั่งยืนด้วย ผมอยากเห็นข้าราชการทุกหน่วยงานมีการฝึกอบรมเช่นนี้ เพื่อผลในการปฏิบัติงาน ผมทราบว่าหลายหน่วยงาน อาจจะทุกหน่วยงานก็ได้ ได้มีการฝึกอบรมเช่นนี้ ขอให้ไปทบทวนดูถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลในการอบรมดังกล่าว ว่า นำไปใช้งานได้จริงหรือไม่ การทำงานใกล้ชิดประชาชนนั้น ต้องทำใจให้เสมือนเป็นญาติพี่น้องให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันแก้ปัญหามากกว่าใช้อำนาจ หรือการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่ากฎหมายนั้นมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่สร้างภาระ แล้วทำให้สังคมนั้นเป็นปกติสันติสุข
6. การปฏิรูประบบราชการ การบริหารราชการแผ่นดิน เราควรคำนึงถึงการเรียกร้องที่ให้เกิดการกระจายอำนาจให้มากยิ่งขึ้น ผมเองไม่ได้ขัดข้องอะไร เราต้องใคร่ครวญให้รอบคอบถึงความพร้อมก่อน ไม่ว่าจะส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือ ประชาชนจะต้องพัฒนาตนเองไปด้วยน เราต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง เราจึงจะพัฒนาประเทศได้ และใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด การกระจายอำนาจนั้น อยากให้เข้าใจว่า ไม่ใช่คำนึงถึงแต่เรื่องของงบประมาณหรืออำนาจ มันควรจะพิจารณากันถึง ประสิทธิภาพ และความพร้อมของข้าราชการ ของหน่วยงาน ของทุกกระทรวง มีความพร้อมเพียงใด หากเรากระจายอำนาจไปมากๆ ด้วยการกระจายงบประมาณลงไปเท่านั้น แล้วเราไม่สร้างให้เกิดความพร้อม มีความรู้การบริหารจัดการแผนงาน งบประมาณ โครงการต่างๆ การแบ่งสรรปันส่วนงบประมาณลงไปนั้น จะถูกใช้ให้หมดไป โดยไม่เกิดประโยชน์ หรือไม่คุ้มค่า ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์สูญเปล่า แล้วเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการอีกด้วย
วันนี้ท่านคงเข้าใจว่า มีการกระจายอำนาจไปท้องถิ่นอยู่มากแล้ว เป็นร้อยๆ กิจกรรม แต่ยังไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควรในบางกิจกรรม เนื่องจากท้องถิ่น อปท. หลายแห่งยังขาดความพร้อมที่ต้องพัฒนาไปด้วยกันทั้งระบบ ประสิทธิภาพ งบประมาณ คน ทรัพยากรมนุษย์ในระบบ เพื่อจะทำให้เกิดการบริหารแผนงานโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีทราบกันอยู่แล้ว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 ผ่านรัฐบาลหลายรัฐบาล แต่มีปัญหาการทุจริตและถูกตรวจสอบจนไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 ขสมก.สามารถเปิดตัวรถเมล์ อ็นจีวี 100 คันแรก โดยเริ่มให้บริการ 5 เส้นทางใน กทม. และปริมณฑล
นอกจากนี้ ขสมก.จะรับมอบจนครบ 489 ในอีก 3 เดือนข้างหน้า มิถุนายน 2561 แล้วเราก็จะจัดหาต่อไป เพิ่มเติมในอนาคต เพื่อจะทดแทนของเดิมนะครับ รถเมล์แดง รถร้อนของ ขสมก. ที่ให้บริการในปัจจุบันนั้น ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2534 เกือบ 30 ปีมาแล้ว แต่ยังคงมีความจำเป็น และผมเห็นว่าสำคัญมากสำหรับพี่น้องประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐจะต้องจัดหาบริการสาธารณะให้กับประชาชนให้มีความสะดวกสบายและทั่วถึง โดยรัฐบาลนี้ได้ยกเลิกบริการฟรีแบบเหวี่ยงแห สร้างระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาทดแทน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับผู้ที่มีบัตร ผู้มีรายได้น้อย เพื่อจะนำเงินส่วนที่เคยต้องแบกภาระมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขสมก.เองจะสามารถลงทุนใหม่ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ขอร้องผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ต่อไป อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ท่านต้องเห็นใจคนจน เห็นใจรัฐบาล เห็นใจ ขสมก.ด้วย ซึ่งมีภาวะการขาดทุนมากพอสมควร
7.รื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานในสังคมไทย เป็นสนิมในสังคมในระบบราชการของเรา ปัจจุบันนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการตรวจสอบจากภาคประชาชน สื่อมวลชน สื่อโซเชียล ขอบคุณนะครับ ที่ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของชาติ รัฐบาล และ คสช.เองเปิดกว้าง เพื่อจะเปิดช่องทางรับเรื่องราวร้องเรียนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีที่เป็นข่าวนั้น ผมได้สั่งการให้ขยายผลไปทุกที่ ทุกกองทุน ทุกโครงการที่หลักฐานจะพาไป แล้วขอให้ประชาชนทุกคนช่วยให้เบาะแสมาด้วย
นอกจากนี้ คสช.ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เข้มงวดขึ้น ในการประพฤติมิชอบในระบบราชการ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาทิ (1.) ในกรณีที่มีการร้องเรียน มีข้อร้องเรียน ให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหรือทางอาญาโดยเร็วให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
(2.) กรณีที่มีเหตุน่าเชื่อถือ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ หรือสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด ให้พิจารณาปรับย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ ก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ต้องตรวจสอบกันต่อ
(3.) หากพบว่ามีหลักฐานชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิดแล้ว นอกจากจะต้องถูกดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดโดยเร็วแล้ว อาจพิจารณาให้ออกจากตำแหน่งหรือออกจากราชการไว้ก่อนตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งอาจมีการเอาผิดทางอาญาอีกด้วย โดยต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดำเนินคดีโดยทันที
4. กรณีที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อถูกย้ายพ้นจากตำแหน่งเดิมไปแล้ว ห้ามปรับย้ายกลับไปดำรงตำแหน่งในลักษณะเดิม หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นภายในเวลา 3 ปี
5. สำหรับผู้ที่ปฏิบัติราชการเกิดความล่าช้า หรือไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ปล่อยปละละเลย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน อาจถูกพิจารณาให้มีการย้ายหรือการโอนไปดำรงตำแหน่งอื่น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ
6. ให้มีมาตรการคุ้มครองพยาน ผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสในการตรวจสอบอย่างเหมาะสม เพื่อให้การได้รับข้อมูล และหลักฐานในการดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต และประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการจงใจให้ข้อมูลเพื่อใส่ร้ายหรือบิดเบือนข้อมูลที่เป็นผลร้ายต่อผู้อื่น บุคคลอื่น ก็ให้พิจารณาดำเนินการลงโทษบุคคลดังกล่าวอย่างเด็ดขาดอีกด้วย ทั้งในทางโซเชียลมีเดียด้วย
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กระบวนการยุติธรรม และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสร้างความเชื่อมั่นเกิดความไว้วางใจแก่ประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของประเท อีกด้วย
พี่น้องประชาชนที่เคารพ สิ่งที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ก็คือการเมืองและประชาธิปไตย ตลอดเวลารัฐบาลและ คสช. ก็ไม่เคยเข้าไปทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือไปจำกัดสิทธิเสรีภาพมากจนเกินไป
แม้กระทั่งโรดแมปก็พยายามจะต้องทำให้ได้อย่างนั้น ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะมาโจมตีเร่งรัด กดดันกันมากเกินไปเพื่ออะไร อาจจะมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ก็ขอให้สังคมช่วยกันพิจารณาด้วย
ก็มีเรื่องเกี่ยวกับการเมืองหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน
เรื่องที่ 1. ทำไมเราถึงต้องใช้คำว่าเล่นการเมือง ผมว่าต้องเลิกใช้คำว่าเล่นการเมือง ทุกคนก็รู้ว่า การเมืองไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่น ไม่ใช่การทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องอำนาจหรือผลประโยชน์ แต่เป็นการบริหารบ้านเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ และประชาชน เพราะทุกคนใช้คำว่าอาสาสมัคร เข้ามา เพื่อให้ประชาชนนั้นเกิดความเข้าใจแล้วเลือกเข้ามา เพราะฉะนั้นเราทำเล่นๆ ไม่ได้
2. ทำไมจึงมีการรังเกียจ การเป็นนักการเมือง อยู่พอสมควรทั้งในอดีตและในปัจจุบัน เพราะในเมื่อเราเลือกระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาแล้ว ทำไมไม่มีใครอยากเข้ามาทำงานการเมือง นอกจากคนเดิมๆ กลุ่มเดิมๆ เราก็ไม่สามารถจะได้อะไรใหม่ๆ ดีขึ้น หรืออาจจะดีขึ้นไม่มากนัก ผมไม่ได้ไปดูถูกใครนะ ส่วนพรรคการเมืองใหม่นั้นก็คงต้องพิจารณากันอีกที ว่าน่าจะต้องมีความคิดไม่ล้มล้างจารีตประเพณีไทยและวัฒนธรรมไทยที่มีมายาวนานด้วย ก็ขอให้ติดตามพฤติกรรมด้วย
3. เราเข้าใจ และใส่ใจ ในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินกันมากน้อยเพียงใด ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน ทั้งรัฐ และประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย ที่มีกฎ กติกา กฎหมายมากมาย หากเราไม่เข้าใจ ก็จะเกิดการสับสนอลหม่าน ทั้งความคิด และคำพูด ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการตรวจสอบ ในเรื่องของการลงโทษ ลงทัณฑ์ ทำให้เกิดความวุ่นวายไปหมด ขึ้นอยู่กับความเชื่อของสังคมด้วย
ผมอยากให้เชื่อกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก และระเบียบระบบการทำงานของราชการด้วยผมก็หวังว่ารัฐบาลหน้าของเรานั้นจะต้องไม่มีเรื่องดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอีก
เรื่องที่ 1. คือการใช้นโยบายที่เกิดผลเสียหายในระยะยาว เพื่อการหาเสียง หรือมีสัญญาว่าจะให้ หรือใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างไร้วินัยการเงิน การคลัง
2. ไม่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการในการเอื้อประโยชน์หรือลบล้างความผิดให้กับบุคคลกลุ่มใดๆ
3. ไม่เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน
4. ไม่ปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ก็ต้องพยายามแก้ให้ได้มากที่สุดให้หมดไป
5. ไม่ปล่อยปละให้มีการบุกรุกป่าไม้อย่างมโหฬาร ที่ผ่านมาปล่อยปละละเลยกันจนกระทั่งต้องมารื้อกันทั้งระบบ เวลานี้ก็เกิดความเดือดร้อน ประชาชนที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมายจำนวนมากก็เดือดร้อน เขาคิดว่าเขาอยู่กันมาได้อยู่มานาน รัฐบาลนี้มาแก้ปัญหากลายเป็นว่ารัฐบาลนี้มารังแกเขา เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาเกิดกรณีอย่างนี้มา
6. ไม่ปล่อยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพล พวกนอกรีตนอกกฎหมายใดๆ รวมทั้งแหล่งอบายมุข บ่อน การค้าประเวณีเหล่านี้เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลและ คสช.ใช้ความพยายามทำทุกอย่างแม้ไม่อาจกล่าวได้ว่า 100 เปอร์เซ็น แต่ก็ทำทุกเรื่อง และอาจจะทำได้มากกว่าทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมา
ที่ผมบอกว่าแก้ปัญหาได้ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของศูนย์ดำรงธรรม ปัญหาของประชาชนความเดือดร้อนนี่เป็นล้านๆปัญหาเราก็แก้ได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์
ผมไม่ได้หมายความในเรื่องของการทุจริตแก้ไป 90 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ก็มีคนเอาประเด็นนี้มาโจมตีรัฐบาลนี้อยู่ ก็ไปเปรียบเทียบดูแล้วกันว่าวันนี้กับที่ผ่านมา แก้ได้อย่างไร จำนวนคดี การเข้าสู่การพิจารณามีมากน้อยเพียงใด
การแก้ปัญหาเรื่องน้ำการปรับปรุงกฎหมาย การปฏิรูปการค้าการลงทุน การดูแลช่วยเหลือสนับสนุนไมโครเอสเอ็มอี การพัฒนาระบบดิจิตัล
เราก็จะต้องพยายามใช้งบประมาณให้ตรงความต้องการ ไม่เหวี่ยงแหใช้นโยบายไทยนิยมยั่งยืน และกลไกประชารัฐ เพราะว่าทุกคนมีขีดควาวมสามารถที่แตกต่างกันอยู่ คนที่พอจะมีสตางค์ มีเงิน ก็ต้องช่วยรัฐบ้าง ถ้าทุกคนต้องการเท่ากันหมด ประเทศชาติล่มจมแน่นอน
ข้าราชการที่ไม่ดีก็อาจยังคงมีอยู่ เพราะว่าอยู่ในระบบมายาวนาน เราต้องให้กำลังใจข้าราชการที่ดีๆ ข้าราชการรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำงานเพราะได้มีการแต่งตั้งกันมานานแล้ว วันนี้ก็มีการปรับย้าย มีการเกษียณอายุ มีอะไรต่างๆ ก็สนับสนุนคนดีขึ้นมาดูแลบ้านเมือง ระบบเราจะได้ไม่ถูกกลืนกินไปมากกว่านี้อีกต่อไป
รัฐบาลนี้เปิดกว้างให้มีการตรวจสอบ มีช่องทางร้องเรียนมากมาย จึงมีการตรวจสอบและลงโทษ หลายๆคดี ทั้งผู้ต้องหา คดีสำคัญ คดีทั่วไป ยาเสพติด ต่างๆ เหล่านี้
ที่ผ่านมานั้นมีน้อยมาก ก็ไปดูสถิติดูแล้วกัน ในเรื่องของการใช้อาวุธ การสะสมอาวุธ ปัญหาจราจร ก็ปัญหาก็ค้างคามาบางทีก็ 8-9 ปี จะ 10 ปีอยู่แล้ว วันนี้พอเอาออกมาก็กลายเป็นว่าไปรังแกเขา ก็ที่ผ่านมา 9 ปี ทำอะไรกันอยู่ ก็เป็นเรื่องของขั้นตอนการตรวจสอบ การดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม รัฐบาล คสช. ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตรงนี้
เรื่องปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การจราจร การบาดเจ็บ สูญเสีย เกิดจากการใช้รถใช้ถนน วันนี้ รัฐบาล และ คสช. ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขทุกประเด็น มีการลงโทษ มีการกำหนดมาตรการใหม่ๆ ออกมา แล้วก็ให้มีการผลักดันคดีต่างๆ เข้าสู่ศาล ให้ศาลพิจารณาคดีโดยอิสระ ให้มากขึ้นตามลำดับ แล้วก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดวงจรใหม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ยังคงมีอยู่
เราต้องช่วยกันหากันต่อไป ขอบคุณน้องๆ เด็กๆ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ส่งมาเถอะ ผมก็จะดูแลพยายามให้และคุ้มครองไม่ให้เดือดร้อน ไม่อยากให้เป็นการทำงานเหมือนไฟไหม้ฟาง เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นอีกก็ทำอีก ลงโทษอีก จนกว่าจะเข็ดหลาบกันไป เราต้องร่วมมือกัน
ในเรื่องของการ เดินตามโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งนั้น วันนี้ก็มีความชัดเจนพอสมควรแล้ว อย่าบิดเบือน อย่าต่อต้านกันไปอีกเลย คำสั่ง ข้อห้าม ของ คสช. ที่เราจำเป็นต้องมีไว้บ้าง เพราะเราเคยมีบทเรียนมาบ้างแล้ว ไม่อยากให้มองว่าไปคุกคามใคร ไปรังแกใคร ไปเอาเปรียบ เอาประโยชน์จากใคร ใครไม่ผิด ไม่พยายามทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องเดือดร้อนทำไม เว้นแต่คนมีเจตนาไม่บริสุทธิ์เท่านั้น
หลายพรรคการเมืองก็ไม่มีปัญหา มีอยู่ไม่กี่พรรค ที่ผ่านมาก็มีส่วนในการทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งสิ้น ทำไมไม่มีการแปลงแปลงตัวเองบ้าง ช่วยกันคิดช่วยกันพูดในอันที่มีประโยชน์ มากกว่ามาติติงในเวลานี้จนมากมายเกินไป แล้วก็ลืมไปว่าสมัยอยู่มาก่อนนั้นทำอะไรไปแล้วบ้าง ประชาชนต้องช่วยกันติดตาม ช่วยกันทบทวนด้วย รัฐบาลและ คสช.ไม่อาจจะไปตอบโต้ได้ ผมไม่อยากจะไปขัดแย้งกับท่านอีก แต่ท่านก็พยายามที่จะหาเรื่อง โจมตี คสช.หรือรัฐบาลมาทุกเรื่องไป กลายเป็นว่ารุมสกรัมรัฐบาล ผมว่าไม่ถูกต้องนะ ผมพยายามไม่ไปก้าวล่วงใครอยู่แล้ว เพราะว่าเราทุกคนมุ่งหวังไปสู่การเลือกตั้งที่สงบ สันติ ถ้ามันสันติไม่ได้ สงบไม่ได้ ก็จะเลือกตั้งได้ไหม เลือกตั้งแล้วจะอยู่กันได้หรือเปล่า ไปคิดตรงโน้นนะครับ เราต้องการรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อสถาบัน ทำงานเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนสืบไป
สำหรับการเรียกร้องจากองค์กรภาคประชาชนนั้น ทราบว่าทุกเรื่องก็มีเจตนาบริสุทธิ์ เป็นไปตามหลักสากล ขอให้รัฐดำเนินการอย่างเดียว ให้หางบประมาณมาสนับสนุนทุกอย่าง เราต้องคำนึงถึงงบประมาณภาครัฐที่เรายังไม่ได้เพิ่มมากนักในเวลานี้ การดูแลคนทั่วไปทุกกลุ่ม กลุ่มมีรายได้น้อย มีภาระ และกิจการต่างๆ สังคมผู้สูงวัย ก็ยังมีอยู่มาก และอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อยากให้ช่วยหาวิธีการทั้งสองทาง ก็คือให้รัฐบาลและประชาชนต้องร่วมมือกัน อย่างไร อย่าผลักภาระกันไปมา รัฐบาลก็ผลักให้ใครไม่ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วก็เข้าใจ อดทน ช่วยเหลือรัฐบาลในการแก้ปัญหาระยะแรก ถ้าระยะแรกไม่เกิด ปานกลาง-ระยะยาวก็เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งสิ้น ก็แก้อะไรไม่ได้ ก็กลับไปที่เดิมทั้งหมด และนับวันมันจะมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะมันมีบทเรียนมาแล้ว
ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการขับเคลื่อนประเทศนี้ ก็อยากให้เข้าใจระบบภาษี ซึ่งเป็นรายได้ของภาครัฐที่ทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อากรขาเข้า ภาษีท้องถิ่น ที่จะจัดเก็บจากพี่น้องประชาชน รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการ ทั้งหมดนี้ถือเป็นรายได้ของภาครัฐที่จะถูกจัดสรรลงไปเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เราต้องทำให้ได้อย่างสมดุล ตรงกับความต้องการของพื้นที่ ตรงความต้องการของประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย
ในเรื่องการนำภาษีที่จัดเก็บมาได้ไปใช้จัดทำงบประมาณเพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆ นี้ รัฐบาลต้องการให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เราก็ได้จัดทำเว็บไซต์ "ภาษีไปไหน?" เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชนเข้าไปตรวจสอบกันดู
ในโอกาสนี้ ผมขอย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพัฒนาระบบ จัดทำช้อมูล กระบวนการคัดกรองการใช้จ่ายงบประมาณในเว็บไซต์ ง่ายๆ ให้ครบถ้วน และทันสมัย อย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนเข้าใจ สามารถตรวจสอบได้ และสามารถให้ข้อเสนอกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ต่อไป ไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจกันไป-มา ว่ารายได้รัฐบาลมีเท่าไร มาจากไหน ใครมีส่วนร่วมตรงไหนบ้าง
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงก็คือ การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลก ในวันที่ 26 มีนาคม ถึง 4 เมษายนนี้ เป็นช่วงที่คณะทำงานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่ประกอบไปด้วย คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน บรรษัทข้ามชาติ และองค์กรธุรกิจอื่นๆ ของสหประชาชาติ เดินทางมาเยือนไทยตามคำเชิญของทางการไทย เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นการดำเนินงานทางธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจไทย ก็จะเป็นการพูดคุย เรียนรู้ และทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นของสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนหลักปฏิบัติสากล และการดำเนินงานในประเทศไทยด้วย
นอกจากจะทำให้ฝ่ายภาครัฐ ภาคธุรกิจไทย ได้รับฟังข้อมูลความคิดเห็นของคณะทำงานฯ แล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมการตระหนักรู้ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของไทย ในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านการทุจริต การดูแลแรงงาน ตลอดจนการเพิ่มการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รัฐบาลนี้ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ และเชื่อมโยงการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศด้วย การเชิญคณะทำงานฯ มาเยือนไทยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมและความจริงใจของรัฐบาลและภาคเอกชนไทย ที่จะรับฟังความคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกัน และนำข้อเสนอแนะจากคณะทำงานฯ มาใช้ปรับปรุงการดำเนินงานของไทย โดยจะต้องให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก ของหลักการชี้แนะของสหประชาชาติในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ได้แก่
1. ปกป้อง คือ รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษชน
2. เคารพ คือ บริษัทเอกชนรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชน และ
3. เยียวยา คือ ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผล
ผมได้เคยกล่าวในรายการนี้แล้ว เพื่อจะสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมไทย และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทราบว่าคณะทำงานฯ มีความประทับใจในความมุ่งมั่น จริงใจ ของรัฐบาลนี้ที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนทั้ง 3 หลักการดังกล่าว จนเห็นผลเป็นรูปธรรม อาทิ การแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มข้น มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ งบประมาณ และขยายขอบเขตการทำงานกับพันธมิตรประชาสังคมมากขึ้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์มากกว่า 302 คดี รวมถึงการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนร่วม เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ จำนวน 11 คน ซึ่งเป็นปีแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ถูกพิจารณาลงโทษอย่างหนัก ไม่ใช่แค่ย้ายอย่างที่เป็นข่าวอย่างเดียว ต้องสอบสวน ผิดก็ต้องเอาออก ดำเนินคดีอาญาต่อไปอีก ไม่ใช่ย้ายแล้วก็จบอย่างที่มีการกล่าวอ้างกันอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ ผมยังได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะนี้ ระหว่าง 7 หน่วยงานของรัฐ เอกชน กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการจัดทำ "แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้
เราต้องยอมรับว่า แม้ได้เร่งดำเนินการในมาตรการต่างๆ มากมาย จนเห็นผลในหลายๆ เรื่อง แต่การทำธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนนั้น ยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการอยู่ การหารือครั้งนี้เราจะต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ที่พร้อมจะเปิดรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์จากภายนอก นำมาปรับใช้ สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้กับสังคมไทย อันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ และจะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นด้วย ในการแสดงจุดยืนและความพร้อมของไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่จะทำงานร่วมกับสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง เพื่อขับเคลื่อนประเทศ และปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสากลต่อไป อย่าไปมองในเรื่องของการเมืองอย่างเดียว ระมัดระวังด้วย
สุดท้ายนี้ การเตรียมการต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด "สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภัย" ขอให้ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ให้ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ฝืน ดูแลทั้งรถ ทั้งคนขับให้พร้อม ขับขี่มีน้ำใจกับผู้ร่วมทาง อากาศร้อนก็อย่าใจร้อนตาม เอาน้ำเย็นเข้าลูบ และรักษาวินัยจราจรทุกคน ถึงช้าแต่ปลอดภัยย่อมดีกว่า พลขับ คนขับรถ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัวตัวเอง และครอบครัวคนอื่นเขาด้วย อย่าไปใช้ยาเสพติดโดยเด็ดขาด จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคน ทุกครอบครัว มีความสุข สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard