Last updated: 20 ก.ค. 2561 | 2807 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม ศกนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และแสดงความจงรักภักดี รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน เข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ พิธีบำเพ็ญพระราชกุศล อุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งเจริญพระพุทธมนต์ ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 21 กรกฎาคม พรุ่งนี้ เวลา 18 นาฬิกา ณ พระลานพระราชวังดุสิต สำหรับในวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม นี้ “ช่วงเช้า” เวลา 6 นาฬิกา จะมีพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แด่พระสงฆ์และสามเณร ทั้งในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัด และวัดไทยทั่วโลก “ช่วงเย็น” เวลา 19 นาฬิกา จะมีพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล อย่างพร้อมเพรียงกัน “ทั่วประเทศ” โดยส่วนกลาง ณ ท้องสนามหลวง และส่วนภูมิภาค ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่จังหวัดกำหนด รวมทั้งในต่างประเทศ ณ เวลาและสถานที่ ที่สถานเอกอัคร ราชทูต “ทั่วโลก” กำหนด
ในโอกาสเดียวกันนี้ รัฐบาลได้ประกาศให้ ช่วงวันที่ 22 - 28 กรกฎาคม ศกนี้ เป็น “สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา” เนืองในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา” โดยมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา จะสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ที่มีอย่างยาวนานถึง 1,400 ปี และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช ของไทยทุกพระองค์ ตลอดจน เทิดทูนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นพุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก โดยทรงปกครองบ้านเมืองด้วย “หลักทศพิธราชธรรม”
ทั้งนี้ กิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัด 11 ริ้วขบวน“พระบรมธาตุพุทธศิลป์ แผ่นดินพระทรงธรรม” นับเป็นครั้งแรก ที่จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่สมัยทวารวดีถึงรัตนโกสินทร์ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มาให้ประชาชนได้เรียนรู้ ถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสถาบันกษัตริย์ และพุทธศาสนิกชน ได้ช่วยกันทำนุบำรุงและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ก็ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ได้ร่วมแต่งกาย “ชุดสีขาว” เพื่อชมความงดงามตระการตาของริ้วขบวนดังกล่าว ซึ่งจะเคลื่อนจากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 22 กรกฎาคม อีกทั้ง ยังมีการร่วมกันสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม เพื่อน้อมสักการะถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองด้วย
นอกจากนั้น รัฐบาลขอเชิญชวนปวงชนชาวไทย ทุกหมู่เหล่า ได้รวมพลังแสดงความจงรักภักดี และร่วมสดุดีพระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นแบบอย่างของความกตัญญู โดยทรงมีพระราชปณิธานในการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศาสตร์พระราชา และเจริญรอยตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ปวงพสกนิกรของพระองค์ ด้วยการร่วมกันประกอบกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม ตามเวลาและสถานที่ที่ได้นัดหมายกันไว้
สำหรับ "วันเข้าพรรษา" ของทุกปี เราถือว่าเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" ด้วย ซึ่งการดื่มสุรา – เครื่องดองของเมา นอกจากจะเป็นการละเมิด "ศีล 5" แล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียอื่น ๆ อีกมากมาย ตามมาต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ทั้งในเรื่องของสุขภาพ จะก่อให้เกิดโรคภัย กว่า 200 ชนิด ประสิทธิภาพในการทำงาน ไปจนถึง "อุบัติเหตุ" ที่สร้างความสูญเสีย ทั้งชีวิต และทรัพย์สิน โดยเฉพาะ "ทรัพยากรมนุษย์" ที่สำคัญที่สุด ต่อการพัฒนาประเทศ ผมได้กำหนดให้คำขวัญวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ในปีนี้ ว่า "ลด ละ เลิกสุรา พาครอบครัวเป็นสุข" ขอเชิญชวนให้ใช้โอกาสการเข้าพรรษา 3 เดือนนี้ ร่วมกันปฏิญาณตน "งดดื่มเหล้า" และ ขยายเวลาการสร้างกุศลนี้ ออกไปอีกให้มากที่สุด
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
สำหรับปัญหามลพิษทางน้ำที่เกิดจากการปล่อยน้ำเสีย จากบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยว วันนี้ประเทศไทย มีระบบการบำบัดน้ำเสีย อาจจะยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำเสียจากชุมชน ที่มีปริมาณราว 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอยู่ 100 แห่งทั่วประเทศนั้น สามารถบำบัดน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบ ได้เพียง 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นเหตุให้มีน้ำเสียลงสู่ธรรมชาติกว่า 7 ล้านลูกบาศก์ เมตรต่อวัน ส่งผลให้ปัญหานั้น จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลจึงได้ริเริ่ม โครงการจิตอาสา เพื่อการพัฒนาลำน้ำกับชีวิต บนวิถีแห่งความพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ มีเป้าหมายก็เพื่อจะปลูกจิตสำนึก จิตสาธารณะ ให้ประชาชนร่วมแรงร่วมใจ ในการรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว สร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ชุมชนและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมนะครับ เหนือประโยชน์ส่วนตน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้สังคมมีความสุข อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน นอกจากนั้นจะเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ให้แก่ชุมชนด้วย สร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วน ตามหลักการของ “ศาสตร์พระราชา” ที่เราต้องแก้ปัญหาจากฐานราก จากกระบวนการภายใน โดยการพึ่งตนเอง ทำให้ชุมชนและหมู่บ้านมีพื้นฐานที่มั่นคง ในครั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างพร้อมเพรียงกัน “ทั่วประเทศ” จึงจัดให้ดำเนินโครงการต่าง ๆ มากมาย ที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำ กว่า 606 โครงการ นะครับ ครอบคลุม 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อเราทำแล้ววันนี้ จะต้องมีความก้าวหน้า มีความต่อเนื่อง ชุมชนต้องดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสวยงาม ไม่ว่าจะหน้าบ้าน หรือหลังบ้าน ที่มีคลอง ลำน้ำ มีถนน ก็ต้องช่วยรักษาความสะอาด สุขอนามัย ทำให้สวยงาม ก็อยากให้ทุกคนได้สืบสานสิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็ขอให้ทุกคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐ - ท้องถิ่น - ภาคประชาชน ได้ติดตาม กำกับดูแล และขอความร่วมมือ ในเรื่องการระบายน้ำเสียลงสู่ลำน้ำสาธารณะ ให้มีที่ดักไขมัน หรือกรองน้ำเสียก่อน ตามกฎหมาย เราต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของเรา คนละไม้ คนละมือ หวังให้รัฐแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่มีวันประสบความสำเร็จ “สมบูรณ์” ได้ ต้องร่วมมือกัน
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ผมอยากให้พวกเราทุกคน ได้ใช้โอกาสมหามงคลนี้ เป็น “จุดเริ่มต้น” ที่เอาจริงเอาจัง ในการร่วมกันทำกิจกรรม “จิตอาสา” ที่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเราร่วมกับชาวโลกอีกกว่า 7,000 ล้านคน ในการจะป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและโฟม 20 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร เกือบ 7,000 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เกือบ 10,000 ล้านใบต่อปี ทั้งนี้ เราทุกคนต่างก็รู้ดีว่า พลาสติกและโฟม นั้นเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก และใช้เวลาหลายร้อยปี หากไม่มีการบริหารจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วตั้งแต่วันนี้ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกและทางทะเลในภายหลัง ที่เกินกว่าจะควบคุมดูแล สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ถูกระบุว่ามีปัญหาขยะทางทะเล เป็นอันดับ 6 ของโลก และตามที่ปรากฏในข่าวว่า มีวาฬและเต่าทะเล “ตาย...เพราะกินถุงพลาสติก” ที่ลอยในทะเล เป็นต้น คงไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะมนุษย์เท่านั้นนะครับ สัตว์บก สัตว์น้ำ มีผลกระทบทั้งสิ้น อันตราย
ที่ผ่านมานั้น รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้รณรงค์เพื่อการลดขยะและพลาสติก ไม่ให้ลงมาในแม่น้ำ ลำคลอง และทะเล อาทิ การลดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด (แคปซีล) การติดตั้งทุ่นลอยดักขยะปากแม่น้ำและลำคลอง รวมทั้งมาตรการชายหาดปลอดบุหรี่ ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล เป็นต้น
วันนี้ ผมขอขยายผลการดำเนินงานทั่วประเทศ ในการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟมบรรจุอาหาร อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” โดยบูรณาการ “พลังประชารัฐ” ร่วมไม้ ร่วมมือ ร่วมใจกัน ภาครัฐ - เอกชน - และประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาพลาสติก ให้เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ รัฐบาลได้กำหนดให้ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป เช่น
(1) กิจกรรมการลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนและภาคเอกชน
(2) กิจกรรม “ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” โดยส่งเสริม ห้างสรรพ สินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสดทั่วประเทศ ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหาร พร้อม ๆ กับการสร้างความรู้ - ความเข้าใจกับประชาชน “ผู้บริโภค” เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้บรรจุภัณฑ์ หรือภาชนะที่ใช้ซ้ำได้เช่น การพกถุงผ้ามาจ่ายตลาด การใส่ของรวมกันในถุงเดียวเพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก
(3) กิจกรรมการลดใช้ถุง - ขวดน้ำ - แก้วน้ำพลาสติก และกล่องโฟม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และสวนสัตว์ ทั่วประเทศ รวมทั้ง จัดให้มีการคัดแยกขยะมูลฝอยด้วย
และ (4) กิจกรรมการจัดการขยะบกสู่ทะเล ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล เป็นต้น
ผมขอเชิญชวนทุกท่านร่วมทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก ในตลาดสดซึ่งจะเริ่มพร้อมกัน ทั่วประเทศ “พรุ่งนี้” วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม นี้ เป็นต้นไป การรณรงค์แยกขยะและการลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นนี้ นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย ยังจะช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณในการกำจัดขยะมูลฝอยอีกด้วย ปี ๆ หนึ่ง รัฐบาลต้องใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาทในการจัดการขยะมูลฝอย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บค่าจัดการขยะได้ปีละเพียง 3,000 ล้านบาท เราจะได้มีเงินเหลือ มาใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็น “ฝ่ายผู้บริโภค”ในขณะที่ผมเห็นว่า “ฝ่ายผู้ให้บริการ” แม่ค้า ร้านขายปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงห้างร้าน ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เราสามารถร่วมรับผิดชอบกับสังคม และโลกของเรา ได้ด้วยเช่นกัน
เราอาจจะหามาตรการจูงใจ กระตุ้นการ “ลดรับถุงพลาสติก” เช่น การลดราคาให้บ้าง การสะสมคะแนน หรือมีการโปรโมชั่นอื่นๆ ตามที่จะริเริ่มสร้างสรรค์กันขึ้นมาได้ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว และอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะตามมาได้อีกแล้ว
นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย “ทั้งระบบ” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ที่ชัดเจนได้โดยเร็ว เป็นการจัดตั้ง “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย แบบครบวงจร” ในทุกกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,800 กว่าแห่ง ที่มีการรวมกลุ่มเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย - ภูเขาขยะ 324 ลูก ทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนโดยขอให้พิจารณาขนาด และที่ตั้ง ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ของแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ อีกทั้งให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ จะดีขึ้น แต่ปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือน ในประเทศไทย ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 นั้น เรายังถือว่า “ทรงตัว” จากช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ตัวเลขสัดส่วนมูลค่าหนี้ครัวเรือน เมื่อเทียบกับ GDP หรือ “รายได้รวมของประเทศ” จะลดมาเพียงเล็กน้อย จากร้อยละ 78 เหลือร้อยละ 77.6 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของพี่น้องประชาชนนั้น ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะสัดส่วนหนี้เสียยังไม่ปรับตัวลดลง ภาครัฐเองก็มีความห่วงใย เพราะถือเป็นภาระในการดำรงชีวิตของประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ติดตามประเด็นนี้ อย่างใกล้ชิด และได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มที่เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินและ หนี้นอกระบบ ที่เป็นภาระและส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก
การแก้ไขปัญหา “หนี้นอกระบบ” นั้น รัฐบาลและ คสช. ได้เร่งดำเนินการอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดสร้างกลไกการทำงานแบบบูรณาการ ของ กอ.รมน. - ตำรวจ - ทหาร และส่วนราชการในพื้นที่ลงไปเพื่อจะลงไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้ตรงจุดมากขึ้น เพื่อจะให้ความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ที่ผ่านมาก็มีสถิติจำนวนนายทุนปล่อยหนี้เงินกู้นอกระบบ ทั้งสิ้น 15,000 กว่าราย มีลูกหนี้รวม มากกว่า 350,000 ราย คิดมูลค่าหนี้ทั้งหมดเกินกว่า 21,000 ล้านบาท การแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เราจะต้องเริ่มจากการจำแนกสภาพหนี้ เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ย หรือทำการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างของหนี้ และการชำระหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาชำระให้ยาวนานออกไป หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยยึดหลักการว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ หากลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทางทีมงาน ก็จะประสานขอสินเชื่อจากภาครัฐให้ ในขณะที่เจ้าหนี้ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการสร้างความเป็นธรรม จะใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ ที่ประสบปัญหา เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้อาจต้อง “ขายฝาก” โฉนดที่ดินกับเจ้าหนี้นอกระบบ เมื่อมีปัญหาในการชำระหนี้ ก็จะลุกลามเป็นภาระมากขึ้น ไม่สามารถใช้ที่ดินทำมาหากินได้ เช่นเดิม ลูกหนี้อีกส่วนหนึ่ง เป็นกลุ่มที่กู้เงินมาใช้จ่าย ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่พอเพียง ไม่เป็นการลงทุน หรือสร้างรายได้ในอนาคต ก็ทำให้ยากที่จะนำเงินมาชำระหนี้ ได้ตามกำหนด ทั้งนี้ จากลูกหนี้นอกระบบทั้งหมดในฐานข้อมูลของภาครัฐ ประมาณ 350,000 ราย ได้รับการช่วยไกล่เกลี่ยไปแล้ว หรือทำข้อตกลงประนอมหนี้ไปแล้ว กว่า 55,000 ราย ที่เหลือก็จะได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ต่อเนื่อง รายที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ก็มีการติดตามดูแล ไม่ให้กลับมาเป็นหนี้จนเกินตัวอีก ดังนั้น พี่น้องประชาชนที่ยังเป็นหนี้นอกระบบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องการความช่วยเหลือและ ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็สามารถติดต่อ ณ ศูนย์ดำรงธรรม หรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ได้นะครับ
สำหรับด้าน “หนี้ในระบบ” ธนาคารปัจจุบันนั้น ภาครัฐมีโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน จนกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภายใน 90 วัน และเป็นหนี้เสียอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ก็สามารถมาขอรับความช่วยเหลือในการประนอมหนี้ เพื่อดูแลปัญหาให้ได้ข้อยุติในคราวเดียวได้ รวมถึงเพื่อให้สามารถบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามความสามารถที่แท้จริง ควบคู่กับการได้รับความรู้ เสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีต่อไป เป็นเรื่องน่ายินดีว่า ล่าสุดได้มีการปรับคุณสมบัติของผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ให้สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ “มากขึ้น” อาทิ ให้ครอบคลุมผู้ประกอบ “อาชีพอิสระ” ที่มีรายได้ด้วย และขยายขอบเขตให้ครอบคลุม “หนี้เสีย” ที่เกิดขึ้นก่อน 1 เมษายน 2561 นี้ อีกทั้ง ผ่อนผันให้ลูกหนี้ ที่แม้จะถูกดำเนินคดีแล้ว แต่ยังไม่มีคำพิพากษา ก็สามารถสมัครเข้าโครงการได้เช่นกัน โดยผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ หรือต้องการข้อมูลความรู้ทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้ รวมถึงการออม สามารถติดต่อสอบถาม ตามรายละเอียดที่แสดงอยู่บนหน้าจอนี้ได้
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการคลินิกแก้หนี้ เราจะไม่ทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้เพื่อนำไปชดใช้หนี้ที่ค้างชำระ แต่ให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระได้ตามกำลังของตนเอง โดยมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) เป็นหน่วยงานกลาง คิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 4 - 7% ต่อปี ด้วยระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้สูงสุด ไม่เกิน 10 ปี อีกทั้ง การให้ความรู้ด้านการเงิน เพื่อนำไปเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับตนเอง และไม่กลับมาอยู่ในวังวนปัญหาหนี้สินเหล่านี้อีกในอนาคต
นอกจากโครงการคลินิกแก้หนี้ดังกล่าวที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้ของพี่น้องประชาชนทั่วไป รัฐบาลยังพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ของผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอีกด้วย อาทิ หนี้ใน “กลุ่มครู” ที่เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และ การปฏิรูปการศึกษา เพื่อจะลดความกังวล และภาระ ในการดำรงชีวิต ที่สามารถทำหน้าที่การเป็น “แม่พิมพ์” ที่ดีของเด็ก ๆ ได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ามีครูเป็นหนี้ ทั้งในและนอกระบบ และมีมูลค่าหนี้อยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นหนี้สิน ของโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่มีผู้กู้อยู่กว่า 5 แสนราย คิดเป็นเงินกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้เสีย มากกว่า 5,000 ล้านบาท
ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระ ให้กับ “แม่พิมพ์ของชาติ” ที่มีหนี้ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการลดภาระหนี้ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยการให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 เพื่อนำไปชำระหนี้โครงการ ช.พ.ค. เดิม และเพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือน แต่ยังมีผู้มาร่วมโครงการไม่มากนัก นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ก็มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ ที่มีปัญหาผ่อนชำระจนกลายเป็น “หนี้เสีย” สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ แล้วก็พักชำระ “เงินต้น” ไม่เกิน 3 ปี แต่ยังชำระ “ดอกเบี้ย” บางส่วน หรือเต็มจำนวน เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ได้ให้ธนาคารออมสิน นำเงินสนับสนุนที่เคยได้รับจากโครงการ ช.พ.ค. ไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยดี ไม่มีหนี้ค้างชำระ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดิม ร้อยละ 0.5 - 1.0 คิดเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ด้วย
สำหรับโครงการคลินิกแก้หนี้ และ มาตรการแก้ไขหนี้ต่าง ๆ ที่รัฐบาลนี้ ได้ริเริ่มขึ้นนั้น เป็นเพียงการพยายามแบ่งเบาภาระ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ “ปลายเหตุ” เท่านั้น ด้วยการช่วยเข้าไปผ่อนผัน ให้สามารถชำระหนี้ได้ตามความสามารถ โดยไม่ได้รับความเดือดร้อนจนเกินไป แต่ก็ยังคงเป็นภาระของพี่น้องประชาชนในการดำรงชีวิตอยู่ดี ดังนั้น การแก้ปัญหาการก่อหนี้เกินตัวที่ “ต้นเหตุ” จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะไม่ส่งผลเสียอื่นๆ ลุกลามเป็นลูกโซ่ คือการพยายามไม่เข้าสู่ “วงจร” การเป็นหนี้ โดยต้องเริ่มจากตัวเราทุกคนเอง ภาครัฐก็จะมีบทบาทในการสนับสนุนอีกแรงหนึ่งนะครับ ทั้งนี้เราต้องยอมรับกันว่า การก่อหนี้ในหลายกรณีเป็นความจำเป็น โดยเฉพาะจากความเดือดร้อนที่เป็นผลจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตเสียหาย เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ภาครัฐเองก็ได้พยายามเข้าไปดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา แต่ยังมีกรณีการกู้ยืมทั่วไป ที่อาจไม่ใช่เพื่อการใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งทำอย่างไร เราจะป้องกันการเป็นหนี้ในลักษณะเช่นนี้ ที่อาจกลับมาเป็นภาระกับเรา “โดยไม่จำเป็น”
หลาย ๆ คนพูดกันถึงเรื่องการมีวินัยทางการเงิน และการออมเพื่อวันหน้า แต่สำหรับหลายครัวเรือน ของผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ฟังดูเหมือนจะทำได้ยาก สำหรับผม สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ศาสตร์พระราชา” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้กับปวงชนชาวไทย มาใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต เริ่มจากการมีสัมมาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ และหาทางเพิ่มรายได้ เมื่อมีโอกาส พยายามใช้จ่ายอย่างพอเพียง เท่าที่จำเป็น มีการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวเห็นรายได้ และรายจ่ายแต่ละรายการ สามารถจะวางแผนการใช้จ่ายและ การสร้างรายได้ ในอนาคตได้ แล้วก็เตรียมการเรื่องเงินออมด้วย
สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนมองว่า ความแน่นอน ก็คือความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่มีใครรู้ได้ว่าจะมีเหตุ ให้ต้องจับจ่าย เจ็บป่วย ในเรื่องฉุกเฉินใช้สอยต่าง ๆ เมื่อใด การรู้จักใช้ รู้จักออม จะช่วยให้เราสามารถรองรับความไม่แน่นอนของชีวิตได้ดีขึ้นหากเราไม่เป็นหนี้ พอมีสินทรัพย์ พอมีเงินออม ก็อาจทำให้เราสบายใจ นอนหลับได้สบายขึ้น หากมีเหตุสุดวิสัย ก็พอมีทุนรอนพอรองรับไปได้บ้าง การออมนี้สามารถทำได้หลายแบบ ทั้งการออมเงินสดในบัญชี การซื้อหุ้น การซื้อประกันชีวิต หรือแม้กระทั่ง การปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันให้มีกฎหมายรองรับให้ถือเป็นสินทรัพย์ และหลักประกันได้ ลองมอง และวางแผนชีวิตให้ยาวขึ้นดู
สุดท้ายนี้ ผมอยากให้พี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ตามป่าเขา - น้ำตก - ทะเล ได้ติดตามพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตอนิยมวิทยาด้วย เนื่องจากมีพายุโซนร้อน “เซินติญ” จากทะเลจีนใต้ ที่ส่งผลกระทบต่อฟ้าฝน - ลมฟ้าอากาศบ้านเรา อาจมีน้ำท่วมฉับพลัน - น้ำป่าไหลหลาก - คลื่นลมแปรปรวน ได้เสมอ ในกรุงเทพมหานครก็ด้วย ระมัดระวังแผ่นป้ายโฆษณาต่าง ๆ หลังคาตามบ้านต่าง ๆ ด้วย ส่วนหน่วยงานภาครัฐ ก็ขอให้เตรียมการในเรื่องการช่วยเหลือ - กู้ภัย มีแผนเผชิญเหตุ ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า สามารถปฏิบัติได้อย่างทันท่วงทีด้วย
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” รักษาสุขภาพ และ “ทุกครอบครัว” มีความสุข ช่วยกันทำความดีด้วยหัวใจ ต่อ ๆ ไป เพื่อความสุข สงบ ยั่งยืนและปลอดภัยของทุกคน สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard