x-files (10) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ดาบตำรวจ "ก." เรียกรับเงินงบซ่อมถนน 7 แสน

Last updated: 13 ส.ค. 2561  |  2686 จำนวนผู้เข้าชม  | 

x-files (10) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ดาบตำรวจ "ก." เรียกรับเงินงบซ่อมถนน 7 แสน

“...นายดาบตำรวจ ก. กับพวกร่วมกันเรียก รับเงินจากผู้รับจ้าง จำนวน 15% ของงบก่อสร้าง เป็นเงิน 690,150 บาท และหักเงินค่าจ้างซ่อมแซมถนนตามสัญญาเพิ่มเติมเป็นเงิน 74,600 บาท รวมเป็นเงิน 764,750 บาท หากไม่จ่ายก็จะไม่ยอมเซ็นฎีกาเบิกเงินค่ารับเหมาให้ แต่ผู้รับจ้างไม่ยินยอม นายดาบตำรวจ ก. กับพวกจึงได้หักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินค่าก่อสร้างที่เทศบาลตำบลสองต้องจ่ายให้ผู้รับจ้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ...”

x-files : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นตอนที่ 10 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในตอนนี้ เป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดเจ้าหน้าที่รัฐเรียก รับ ผลประโยชน์ จะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

@ ร่วมกันเรียกรับเงินและหักเงินค่าจ้างซ่อมแซมถนน

ข้อเท็จจริง เทศบาลตำบลสองทำสัญญาจ้างกับผู้รับจ้างเพื่อก่อสร้างโครงการท่อระบายน้ำพร้อมฝาปิดคอนกรีตเสริมเหล็กวงเงินค่าจ้างจำนวน 4,601,000 บาท ต่อมามีการทำบันทึกแนบท้ายสัญญาจ้างโดยให้ผู้รับจ้างทำการซ่อมแซมถนนแอสฟัลท์ติกที่ชำรุดเนื่องจากการก่อสร้างตามโครงการ มิฉะนั้นจะต้องชดใช้เงินจำนวน 74,600 บาท ให้แก่ทางเทศบาลตำบลสอง เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและคณะกรรมการได้ตรวจรับงานแล้ว นายดาบตำรวจ ก. กับพวกร่วมกันเรียก รับเงินจากผู้รับจ้าง จำนวน 15% ของงบก่อสร้าง เป็นเงิน 690,150 บาท และหักเงินค่าจ้างซ่อมแซมถนนตามสัญญาเพิ่มเติมเป็นเงิน 74,600 บาท รวมเป็นเงิน 764,750 บาท หากไม่จ่ายก็จะไม่ยอมเซ็นฎีกาเบิกเงินค่ารับเหมาให้ แต่ผู้รับจ้างไม่ยินยอม นายดาบตำรวจ ก. กับพวกจึงได้หักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินค่าก่อสร้างที่เทศบาลตำบลสองต้องจ่ายให้ผู้รับจ้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนายดาบตำรวจ ก. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 นาย ข. และนาย ค. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 73

การกระทำของนางสาว ง. ปลัดเทศบาลตำบลสอง เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสองประกอบพระราชกฤษฎีการะเบียบพนักงานเทศบาล พ.ศ. 2519 มาตรา 5 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

@ เรียกรับเงินเพื่อดำเนินการแก้ไขหลักฐานทะเบียนบุคคล

ข้อเท็จจริง นาย ก. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านทะเบียนราษฎรและทะเบียนทั่วไป กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ให้การช่วยเหลือเปลี่ยนชื่อให้นาย ว. เป็นนาย พ. พร้อมทำการเปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชนโดยมิชอบด้วยระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และได้เป็นผู้อนุมัติให้นาย พ. มีบัตรประจำตัวประชาชน โดยนาย ก. ได้เรียก รับเงิน จำนวน 15,000 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการดำเนินการดังกล่าว การกระทำของนาย ก. จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารได้กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น กระทำการรับรองหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงในเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้อื่นและราชการได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (4) และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 50

@ เรียกรับเงินจากผู้ขออนุญาตประกอบการขนส่ง เพื่อช่วยเหลือให้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถตู้ปรับอากาศ

ข้อเท็จจริง นาย ก. ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ขนส่ง 5 รักษาการหัวหน้าขนส่งจังหวัด ช. ได้ให้ความช่วยเหลือ นาย ข. ซึ่งประสงค์ที่จะนำรถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างอำเภอ โดยได้เรียกเงิน จำนวน 500,000 บาท เป็นค่าตอบแทนในการให้ความช่วยเหลือให้ได้รับอนุญาตประกอบการและหากไม่ได้รับอนุญาตจะคืนเงินให้ทั้งหมด ทั้งที่นาย ก. ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตประกอบการขนส่ง นาย ข. เชื่อว่านาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกมีอำนาจหน้าที่สามารถช่วยเหลือได้ จึงตกลงยินยอมมอบเงินสดให้จำนวน 60,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีอีกจำนวน 440,000 บาท ต่อมา นาย ก. ได้ร่างหนังสือให้ นาย ข. เพื่อนำไปยื่นขออนุญาตประกอบการ และนำหนังสือดังกล่าวไปยื่นที่สำนักงานขนส่งจังหวัด ช. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของทางราชการ โดยมีการนำเรื่องเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกประจำจังหวัด ช. เพื่อมีมติอนุมัติกำหนดเส้นทางโดยสารประจำทาง แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถโดยสารสาย ช – ส มีหนังสือคัดค้านเนื่องจากจะเป็นการเดินรถทับซ้อนเส้นทาง คณะกรรมการ ฯ จึงมติให้รวบรวมข้อมูลแล้วนำเสนอที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเส้นทา
งสาย ช - หให้เป็นเส้นทางรถโดยสารประจำทาง

หลังจากนั้น เมื่อนาย ข. ทราบว่านาย ก. ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน นาย ก. จึงยินยอมคืนเงินทั้งหมดให้ โดยนาย ก. ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการกู้ยืมเงินกัน แต่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123

@ รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม

ข้อเท็จจริง ศาลได้ขายทอดตลาดที่ดินให้กับผู้ซื้อรายหนึ่งในราคาสูงสุดคือ 897 ล้านบาท โดยผู้ซื้อได้วางเงินเป็นค่าซื้อทรัพย์จำนวน 70 ล้านบาทต่อศาลต่อมาผู้ซื้อทรัพย์ไม่สามารถชำระเงินที่ค้างภายในกำหนดได้ หลังจากนั้นโจทย์และจำเลยได้ร้องขอถอนการยึด ศาลจึงได้คิดค่าธรรมเนียมถอนการยึดร้อยละ 3.5 ของราคาประเมินการยึด และได้ส่งเงินคืนมายังกรมบังคับคดี โดยระบุว่าผู้ซื้อทรัพย์วางเป็นค่าซื้อทรัพย์ไว้จำนวน 70 ล้านบาท และยังคงค้างที่ศาล โดยไม่หักค่าธรรมเนียมใดๆ และคู่ความขอให้ส่งมาให้กรมบังคับคดีหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่กรมบังคับคดีที่รับผิดชอบให้ความเห็นว่า ก่อนจ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ให้คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 5 ของจำนวนที่ขายได้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ต่อมานาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดี ผู้รับผิดชอบในขณะนั้น ได้เรียกประชุมนิติกรระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และนาย ข. ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดีได้มีคำสั่งเห็นชอบให้เรียกประชุม ผลการประชุมมีมติว่า เนื่องจากศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาดซึ่งมีผลเท่ากับไม่มีการขาย จึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 5 ไม่ได้ หลังจากนั้นนาย ข. จึงมีคำสั่งเห็นชอบและให้เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีทราบทั่วกัน และจึงมีการคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาทโดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขาดทอดตลาดร้อยละ 5 ซึ่งกรมบังคับคดีมีหน้าที่ต้องหักค่าธรรมเนียมการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 318 และมาตรา 319 จากเงินดังกล่าวก่อนจ่ายเงินที่เหลือให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงิน

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พบว่า ก่อนที่จะมีการสั่งคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาทดังกล่าวนั้น นาย ก. ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหุ้นบริษัท จำนวน 10,000 หุ้นและได้ขายหุ้นดังกล่าวไปได้จำนวนเงิน 865,650 บาทหลังจากนั้นได้สั่งจ่ายเงินครึ่งหนึ่งให้แก่นาย ข. และปรากฏภายหลังว่าได้มีการส่งคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาทเข้าบัญชีของประธานกรรมการบริษัทผู้มอบหุ้นให้นาย ก. เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ซื้อที่ดินต่อจากผู้ซื้อที่ดินพิพาทอีกทอดหนึ่ง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และนาย ข. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 154 และมาตรา 157

@ รับเงินโดยมิชอบทั้งที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบอยู่แล้ว

ข้อเท็จจริง นาย ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเล และในขณะนั้นทางราชการได้มีโครงการจำหน่ายเชื้อเพลิงสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร โดยผู้จำหน่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องจะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ตรวจสอบว่าเรือบรรทุกน้ำมันของผู้ประกอบการที่มาจำหน่ายในเขตต่อเนื่องได้เดินทางไปถึงน่านน้ำเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรด้วยความเรียบร้อยโดยมีน้ำมันครบหรือไม่ หากเรียบร้อยก็จะต้องลงนามในใบกำกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง

ในงานสัมมนาเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ผู้ประกอบการได้เสนอจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษต่อลำและต่อเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปกับเรือ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบ นาย ก. ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการ จึงได้ตกลงรับและดำเนินการตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ

การที่นาย ก. รับเงินจากผู้ประกอบการน้ำมัน และสั่งการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปกับเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อตรวจความเรียบร้อย แม้จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ และมีการนำเงินไปจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงสบทบแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจจริงก็ตาม แต่เป็นการรับเงินไว้โดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ นอกจากนี้ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบราชการอยู่แล้ว

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 123 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91

------------

ตอนหน้าจะมีคดีสำคัญๆ เกี่ยวกับทุจริตเจ้าหน้าที่รัฐเรียก รับ ผลประโยชน์ อะไรอีกบ้าง โปรดติดตามกันต่อไปนะครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้