รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561

Last updated: 9 พ.ย. 2561  |  2628 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เราทุกคนคงได้เห็น ได้ชื่นชมธงชาติไทยโบกสะบัด เหนือธงชาติอื่นอีกครั้ง ด้วยความสำเร็จสูงสุดในชีวิตของ น้องมิลค์ ด.ญ.วัลยา วรรณพงษ์ วัย 11 ปี ในการชนะเลิศ อันดับ 1 จากการแข่งขัน World Drone Racing Championships ประเภทหญิง ที่ประเทศจีน โดยสามารถเอาชนะคู่แข่งที่มีอายุมากกว่า หลายร้อยรายจากทั่วโลก นับว่าเป็นแชมป์โลกโดรน อายุน้อยที่สุด ในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งก็เป็นลูกหลานไทยของเรา ทั้งนี้ การแข่งขันบังคับโดรน หากใครได้ติดตามจะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะแข่งขันเรื่องความเร็วแล้ว ยังต้องบังคับทิศทางหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะและสมาธิสูง ในระหว่างการแข่งขัน รวมทั้งต้องมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสำคัญ สิ่งที่ผมประทับใจในตัวน้องมิลค์ นอกเหนือจากชัยชนะในครั้งนี้แล้ว ยังมีอีกหลายประการ อาทิ ความมีวินัยและรู้จักแบ่งเวลาเรียน - เวลาฝึกซ้อม ทั้งการซ้อมตอนเย็นหลังจากทำการบ้านเสร็จ ทั้งการซ้อมอย่างต่อเนื่องในช่วงปิดเทอม การมองไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น และมีเป้าหมายที่ชัดเจน แล้ววางแผนการปฏิบัติการฝึกฝนการแข่งขันเพื่อจะพิชิตความฝันที่จะเป็นแชมป์โลก ในทุกสนามที่น่าสนใจก็คือ การให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ 

คุณสมบัติเหล่านี้ผมถือว่า เป็นเรื่องที่น่ายกย่องสำหรับตัวเยาวชนเอง และผู้ปกครองที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ด้วยเช่นกัน จากเรื่องราวของสาวน้อยมหัศจรรย์น้องมิลค์นี้ ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทย แสดงความชื่นชมในความสามารถ และความสำเร็จครั้งนี้ โดยขอให้รักษาระดับมาตรฐานของตน พร้อมทั้งพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ผมคิดว่า น้องมิลค์น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน ที่กำลังพยายามทำอะไรอยู่ก็ตาม อย่าให้ความท้อแท้มาเป็นอุปสรรคของชีวิต เพราะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เราต้องลงมือทำ ต้องค้นคว้าหาความรู้ ต้องมีแผนการและดำเนินการอย่างเป็นขั้น เป็นตอน นอกจากนี้ เราต้องอย่าหยุดยั้งที่จะพัฒนาตนเอง เพราะชีวิตคือการเรียนรู้

พี่น้องประชาชนที่เคารพ

จากเรื่องราวความสำเร็จที่กล่าวมา วันนี้ผมมีเรื่องที่จะพูดคุยกับพี่น้องประชาชน 2 เรื่อง ที่มีความเชื่อมโยงกันได้แก่ การศึกษาและวิทยาศาสตร์ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และประเทศชาติ เรื่องแรกการศึกษาเราอาจมองปัญหาได้ ในหลายมิติ อาทิ ผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหาร และสถานศึกษา ซึ่งหมายรวมถึง หลักสูตร และโครงสร้างพื้นฐานด้วย ซึ่งก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง สะสมมานานนับสิบปีที่รอการปฏิรูปทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการในลักษณะแผนแม่บทระยะยาว แต่ในวันนี้ผมขอยกบางส่วนที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 50 คน โดยเฉพาะระดับประถมศึกษานั้น ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่าง รวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนครูเฉลี่ยต่ำกว่า 1 คนต่อห้องเรียน พูดง่ายๆ คือ โรงเรียนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีครูไม่ครบชั้นหรือครู 1 คน ต้องรับภาระการสอนในหลายชั้น และหลายวิชา ส่งผลทางลบเรื่องคุณภาพการศึกษาต่อเด็กนักเรียน อีกทั้งโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นชนบทห่างไกล นักเรียนส่วนใหญ่ก็ขาดโอกาสในการได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบาย 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพที่เน้นการพัฒนาโรงเรียนเหล่านั้น ให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง สร้างความเท่าเทียมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำด้านการจัดการศึกษาของประเทศ เป็นการสร้างโรงเรียนให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน มีอุปกรณ์ครบครันและ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มีผู้บริหารและครูที่มีประสิทธิภาพ และทุกภาคมีส่วนร่วมในการสนับสนุนซึ่งถือเป็นหลักประกันให้กับชุมชนว่า โรงเรียนคุณภาพเหล่านี้ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหลานได้รับความรู้ กระบวนการ และทักษะ ที่จำเป็นต่อการธำรงตนดำรงชีวิต ในการเป็นพลเมืองไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยในปีงบประมาณ 2562 จะเริ่มดำเนินการขับเคลื่อน โรงเรียนระดับประถมศึกษาในระดับตำบลก่อน แล้วพัฒนาไปสู่โรงเรียนมัธยมศึกษา ในระดับอำเภอ และ โรงเรียนพื้นที่พิเศษตามลำดับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาระบบการศึกษาไทยเชิงระบบอย่างแท้จริง ไม่ต้องคอยช่วยกันทำต่อๆ ไปก็จะเร็วขึ้น นโยบาย 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ หรือโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลนี้ จะทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในชุมชน หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน สร้างโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่ได้เข้ามาพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม และเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของสร้างความเชื่อมั่น และศรัทธาในการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน มีความเชื่อมั่นที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน นำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง 

ทั้งนี้ โรงเรียนและชุมชนจะร่วมกันจัดกิจกรรมทางการศึกษา ที่เป็นประโยชน์ เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับชุมชน ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียน มีความรู้ สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีเจตคติที่ดี มีจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตย มีสมรรถนะที่สำคัญ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีสุขภาวะทางร่างกาย มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ รัฐบาลก็ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปีงบประมาณ 2562 - 2564 ดังนี้ ระยะที่ 1 ตรวจสอบและเปิดรับ เป็นการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล บนสภาพพื้นฐานของโรงเรียนเอง โดยเริ่มจากการประเมินตนเองของโรงเรียน (SAR) เทียบกับมาตรฐานการศึกษา สร้างการรับรู้และปรับทัศนคติให้กับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้ตรงกัน และการสร้างเครือข่ายการพัฒนาโดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานในท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ระยะที่ 2 เป็นการเสริมความรู้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนและชุมชน ในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการศึกษาและการบริหารการศึกษา การยกระดับขีดความสามารถของผู้บริหารของโรงเรียน ให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบันการส่งเสริมให้ครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะ การจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่มุ่งผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเอื้อต่อสร้างทักษะชีวิต และทักษะวิชาชีพ การต่อยอดการพัฒนา ทั้งด้านกายภาพ การบริหารจัดการ และการจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุน จากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน การยกระดับเครือข่ายการพัฒนาระหว่างโรงเรียน และหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมไปถึง การสนับสนุนให้มีการสร้างสื่อ และนวัตกรรม ด้านการบริหาร และด้านการจัดการเรียนรู้ เพื่อจะเป็นคลังความรู้ให้กับโรงเรียน และ ระยะที่ 3 พัฒนาสู่โรงเรียนของชุมชนเมื่อโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนแล้ว ทั้งด้านกายภาพ และคุณภาพ แล้ว จำเป็นต้องสร้างทักษะการสื่อสาร และความร่วมมือ ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนของการเป็นโรงเรียนของชุมชน อาทิ การติดตามผลการดำเนินงาน การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนประจำตำบล การขยายผลต่อยอด การดำเนินการระยะที่ 1 และ 2 การพัฒนาคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาโรงเรียน การถอดบทเรียนจากการพัฒนาจากโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลที่ประสบผลสำเร็จ รวมทั้งสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้านแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนประจำตำบล เป็นต้น

ที่ผ่านมา ก่อนจะมีนโยบายดังกล่าว รัฐบาลดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษามาตลอด ได้แก่ การจัดรถโมบายคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ การหมุนเวียนครูเข้าสอน การพัฒนาภาษาอังกฤษ ไอซีที การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความเรียนรู้และแบ่งปันทรัพยากร การใช้สื่อ เทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียม การจัดสรรสื่อ อุปกรณ์ งบประมาณ การส่งเสริมรูปแบบการเรียนการสอนที่ต้องฟังผล เช่น เรียนรวมทั้งโรงเรียน เรียนรวมเป็นช่วงชั้น เรียนรวมบางวิชา เรียนแบบบูรณาการ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการ เพื่อให้สอดรับการยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เร่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ไปสู่โรงเรียนประจำตำบล การเพิ่มงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียน การส่งเสริมการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อีกทั้งสร้างวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ เช่น ส่งเสริมโมเดล แก่งจันทร์โมเดล สามเกลอโมเดล ไตรภาคี ศูนย์ปัญจวิทยาคาร เครือข่ายเรียนร่วมพัฒนา เป็นต้น

ปัจจุบัน รัฐบาลได้พัฒนาการขับเคลื่อนคุณภาพโรงเรียนประจำตำบล โดยนำฐานข้อมูลโรงเรียนต้นแบบต่างๆ ในแต่ละจังหวัดมาพิจารณา อาทิ โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนดีประจำตำบล เป็นต้น ซึ่งมีการกระจายตัวทุกจังหวัด และมีโครงการที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยสร้างความเข้มแข็งของโรงเรียนที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาด้านการจัดการศึกษา และสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้ในอนาคต รับเรื่องการพัฒนาการศึกษาเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวพันหลายภาคส่วนด้วยกัน โดยเฉพาะตัวนักเรียนต้องสนใจการเรียนรู้ให้มากขึ้น เพราะถ้าเราพัฒนาโรงเรียน พัฒนาครู พัฒนา ยิ่งถ้าสอนไปแล้วนักเรียนไม่สนใจ เวลาเรียน หรือสนใจอย่างอื่นมากกว่าการเรียนการศึกษา อันนี้เราไม่อาจไปยุ่งได้ทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น ขอฝากไปยังนักเรียนด้วย อันนี้ครูต้องเน้นการสอนที่สอดคล้องกับเด็กในยุคปัจจุบัน เพราะไม่งั้นจะไม่สำเร็จซักเรื่อง และถูกตำหนิต่อว่าเรื่อยๆ กระทรวงการศึกษา และหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ตั้งแต่ อนุบาล ประถม มัธยมศึกษา อาชีวะ เหล่านี้ หรือโรงเรียนพิเศษอื่นๆ เรามีหลายกลุ่มด้วยกัน 

สำหรับคนรุ่นใหม่ และปัจจุบันด้วย อย่าลืมภาษาอังกฤษ หาวิธีการสอนใหม่ๆ ที่ครู นักเรียน นักศึกษา จะมีความสนใจและมีส่วนร่วมไปด้วยกัน เราจะได้ประสบความสำเร็จซะทีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการศึกษาที่ผมกล่าวแล้วนั้น ผมคาดหวังว่า จะช่วยเสริมสร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาของไทยได้ในวันข้างหน้า เพื่อให้เด็ก เยาวชน คนไทย ได้รับโอกาสพัฒนาตนเอง และร่วมแรงร่วมใจสร้างไทยไปด้วยกัน 

พี่น้องประชาชน สำหรับเรื่องที่ 2 คือ การสร้างคนคนสร้างชาตินั้น เห็นได้ว่า ประเทศที่มีรายได้สูงล้วนขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ต่อเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ สู่ภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เลยแบ่งการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ออกเป็น 3 กลุ่ม งานหลัก ขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ 1.เกษตรกรยุคดิจิทัล เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน ให้เกษตรกรประกอบการใช้นวัตกรรมด้านการเกษตรมากขึ้น เพื่อนำสู่การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการนำความอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีไอโอทีมาช่วยบริหารและสนับสนุนการตัดสินใจ อาทิ การติดตามสภาวะแวดล้อม และการให้น้ำแก่สวนผลไม้ ระบบเก็บบันทึกข้อมูล เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มแสง จะช่วยให้การบริหารจัดการฟาร์มประหยัดน้ำ และลดค่าไฟ จากการให้น้ำเกินความจำเป็น เป็นต้น 

2.ยุทธศาสตร์เพื่อชุมชน เป็นการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้ชุมชน เช่น การวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน ในการบริหารจัดการน้ำ ให้ชุมชนนอกเขตชลประทาน โดยการใช้เทคโนโลยี และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสำรองสะสม ลดผลกระทบจากภัยแล้ง และเพิ่มผลผลิตการเกษตรในฤดูแล้ง ที่ผ่านมา มีการขยายผลกว้างขึ้น ดำเนินการแล้วเกือบ 1,500 หมู่บ้าน ลดผลกระทบจากภัยแล้งได้ราว 350,000 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะกับชุมชน เช่น การสร้างเตาชีวมวล การใช้วัตถุดิบเศษไม้ในพื้นที่ ที่่ช่วยลดการใช้ก๊าซหุงต้ม การสร้างเครื่องกรองน้ำ เพื่อประหยัดการซื้อน้ำบรรจุขวด และการถ่ายทอดวิธีการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะกับพืชแต่ละชนิด หรือชีวพันธุ์ ในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อลดการใช้น้ำยาเคมี อีกทั้งส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมแปรรูปให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่นการใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า ทำให้ผ้าสีไม่ตก เป็นต้น ซึ่งกลไกทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ครอบคลุมทั่วประเทศ 

3.การยกระดับสู่ประเทศผู้ผลิตโดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ส่งเสริมให้เยาวชนคิดค้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งเยาวชนจะได้เรียนรู้ถึงเครื่องมือการเรียนรู้แบบใหม่ และมีโอกาสในการสร้างผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อจะต่อยอดการเรียนรู้แบบเรียนและเล่นไปด้วยกัน หรือเรียกว่าเพลิน เพื่อความสนุกสนานในการประดิษฐ์ชิ้นงานใหม่ จากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไร้ข้อจำกัด โดยรัฐบาลได้สร้างโรงพลังงานต้นแบบทางวิศวกรรมในโรงเรียน 150 แห่ง มีการสร้างระบบชมรมนักประดิษฐ์ และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยจะกระจายให้ประชาชนมีโอกาสและเข้าถึงการเรียนรู้ จากอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ที่มีการแพร่หลายในต่างประเทศ 

4.วิชาชีพแห่งอนาคต ที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ในการเรียนรู้ของเยาวชนให้เห็นถึงการก้าวหน้าในสายงานอาชีพทางวิทยาศาสตร์ หรือรัฐบาลได้มีการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งใหม่ อาทิ ฟิวเจอร์เรียม พิพิธภัณฑ์พระราม 9 ขยายมหกรรมวิทยาศาสตร์ และคาราวานวิทยาศาสตร์ไปสู่ทุกภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเตรียมคนไทยในศตวรรษที่ 21 สำหรับทักษะการทำงานที่เหมาะสมกับงานในอนาคตให้กับคนวัยแรงงานในปัจจุบัน 

5.การจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ เช่น คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการคาดการณ์และสนับสนุนการวางแผนบริหารจัดการที่ดี การบริหารจัดการพื้นที่ อีกทั้งควบคุมการผลิต รวมถึงสนับสนุนข้อมูลการบริหารจัดการในสถานการณ์วิกฤต เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที 

โดยมีการพัฒนาเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน Thai Water เพื่อให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและอากาศได้ด้วยตนเอง 

6.โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับผลิตภัณฑ์ และการบริการของอุตสาหกรรมอาหาร การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจและเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และบริษัทข้ามชาติ ที่อยู่ในวงจรห่วงโซ่อาหาร สำหรับเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการดึงดูดให้หน่วยงานวิจัย ภาครัฐ และเอกชน ทั้งใน และต่างประเทศ เข้ามาลงทุนด้านการวิจัยในประเทศ ณ พื้นที่แห่งนี้ 

ซึ่งในอนาคตก็มีแผนที่จะขยายเมือง นวัตกรรมอาหาร เพิ่มอีก 15 แห่งทั่วประเทศ มีมูลค่าการลงทุนรวมมากกว่า 3,200 ล้านบาท 

7.เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก ที่เป็นการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม รวมทั้งห้องปฏิบัติการวิจัย ทั้งภาครัฐ และเอกชน โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิต โดยพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศ 

8.สตาร์ทอัพเนชั่น ได้แก่ การสร้างธุรกิจทางเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงการสร้างนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ เพื่อจะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ ให้ก้าวสู่เศรษฐกิจที่เป็นนวัตกรรมมากขึ้น 

พี่น้องประชาชนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือสามารถต่อยอดจากภูมิปัญญาของท้องถิ่นเดิม ก็จะมีโอกาสสร้างธุรกิจของตัวเองได้ นักเรียนที่เพิ่งจบ หรือนักวิจัยที่มีสิ่งประดิษฐ์ ก็มีโอกาสที่จะเริ่มธุรกิจได้ด้วยตนเอง โดยโครงการนี้ รัฐบาลตั้งใจสร้างโอกาสให้ทุกคน ในการเอาความคิด มาทำให้เกิดเป็นธุรกิจได้จริง

พี่น้องประชาชนครับ

เพื่อให้ได้เห็นโครงการต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และรับฟังความเห็นในการช่วยสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มคนที่จะร่วมขับเคลื่อนอนาคตของประเทศหลายกลุ่ม ทั้งนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่แสดงความมุ่งมั่นจะร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ

กลุ่มแรกที่ผมได้พบ คือ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ก็เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ได้มีโอกาสได้เข้ายื่นสมุดปกขาวเรื่องของการวิจัยขั้นแนวหน้ากับนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกำหนดอนาคตประเทศ ผมเองรู้สึกดีใจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ โดยที่ไม่ลืมความเป็นไทย และสภาพบ้านเมืองของเรา 

ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ต้องไม่ลืมพี่น้องประชาชนคนบางส่วน ที่ยังค่อย ๆ ปรับตัว ซึ่งเราก็มีทั้งคนไทย 1.0, 2.0 และ 3.0 ในสังคม ในระบบเศรษฐกิจ เราต้องดูว่าจะพัฒนาอะไร อย่างไร เพื่อช่วยแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม เช่น วิทยาศาสตร์เพื่อปากท้อง ก็ต้องทำให้เร็ว ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ได้ทันการณ์ 

ส่วนการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ก็ต้องคิด ต้องทำ เป็นขั้นเป็นตอน และต้องทำต่อเนื่อง ขาดช่วงไม่ได้ เพราะการทำงานต่าง ๆ นั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ที่แท้จริงในด้านนี้มาสนับสนุนโดยข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักเท่านั้น ที่จะช่วยลดความขัดแย้งและความแตกต่างที่ไม่สร้างสรรค์ลงได้ ซึ่งผมก็ได้แนะนำให้เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว แล้ววางแผนไปสู่สิ่งที่เราต้องการในอนาคต เช่น ระบบเตือนภัยสึนามิ ที่เราน่าจะสามารถพัฒนาได้เองในอนาคต 

สำหรับประเด็นวิจัย ก็ต้องวางแผนว่าจะนำไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ในครั้งนี้ มีการเสนอประเด็นวิจัยมาใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารเพื่ออนาคต 2. การแพทย์และสาธารณสุขขั้นแนวหน้า 3. พลังงานแห่งอนาคต และ 4. การรับมือความเสี่ยง และสร้างโอกาส ในอนาคต ผมก็ได้ให้กำลังใจและแจ้งไปว่ารัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุน

กลุ่มที่ 2 เป็นประชาคมวิจัยด้านเศรษฐกิจ BCG (Bio - Circular - Green Economy) ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ที่มีหลักคิดสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เนื่องจากเน้นการใช้ประโยชน์ความเข้มแข็งจากภายในและศักยภาพของประเทศ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ร่วมกับการใช้องค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ 4 กิจกรรมของประเทศคือ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.วัสดุและพลังงาน รวมทั้ง 4.การท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานกว่า 16.5 ล้านคน 

โดยคาดว่า BCG จะเป็นฐานให้กับเศรษฐกิจหลักที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากปัจจุบัน 3 ล้านล้านบาทต่อปี เป็น 4.3 ล้านล้านบาทต่อปี ให้ได้ภายใน 5 ปี ที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้วิจัย BCG ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตัวอย่างที่ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรม ก็คือ โมเดล อีสาน 4.0 ที่ใช้การวิจัยในการแก้ปัญหา และช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นต้น

และ กลุ่มที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญมากก็คือ กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ด้วยทักษะความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผมได้พบปะกับผู้แทนสตาร์ทอัพ และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ รวมทั้งเยาวชน นิสิต นักศึกษา จาก STARTUP Thailand League ที่มาร่วมกันยื่นข้อเสนอ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายสู่ประเทศแห่งสตาร์ทอัพ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยผมได้ชี้ให้เขาเห็นว่า ยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทต่างๆ จะเป็นโอกาสที่ดีของสตาร์ทอัพในการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศ โดยรัฐบาลยินดีช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบ้านเมืองของเรา

เป็นที่น่ายินดีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพได้ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ได้แก่ เกิดเม็ดเงินลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ได้แก่ เกิดเม็ดเงินลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพ 6 พันล้านบาท มีการจัดตั้งกองทุนร่วมเสี่ยง CVC ถึง 5 หมื่นล้านบาท เกิดการจ้างงานในธุรกิจสตาร์ทอัพมากกว่า 15,000 ตำแหน่ง รวมทั้งการได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรุงเทพมหานครได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่ดีที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพ อันดับที่ 1 ในเอเชีย และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก

ผมชื่นชมที่ทั้ง 3 ประชาคม ได้ร่วมกันผนึกกำลังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของประเทศ 

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะที่ประชาคมทั้ง 3 กลุ่ม ได้นำมาเสนอให้ผมนั้น รัฐบาลยินดี และพร้อมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง โดยจะนำไปวางแผนกำหนดนโยบายตามความเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานของระดับประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ผมได้เน้นย้ำให้ประชาคมให้ความสนใจเป็นพิเศษ กับการทำความเข้าใจกับปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อจะช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไปสู่เป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ และต้องให้ประชาชนได้รับประโยชน์เป็นสำคัญ ซึ่งผมได้ขอให้ประชาคมไปช่วยกันคิด และเสนอแนวทางเข้ามายังรัฐบาล รัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนประชาคมทั้ง 3 กลุ่มนี้ รวมทั้งกลุ่มพลังสร้างสรรค์อื่นๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศ 

ที่พูดมาทั้งหมดนี้คือ การที่เราจะนำพาประเทศของเรา ไปสู่วิสัยทัศน์ความมั่นคงยั่งยืนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นกรุณาฟังในส่วนที่รัฐบาลพูด ว่าทำไปมากมายหลายอย่างฉะนั้นอาจจะมีการพูดจากใครก็แล้วแต่ พูดออกมาว่าจะทำนี่ทำนู้น โดยที่ไม่พูดถึงวิธีทำวิธีการ อันนั้นคือปัญหา ถ้าเราไปคาดหวังผลสำเร็จ โดยที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้กับเรามาก่อน บางทีก็เกิดปัญหา มีปัญหาเรื่องงบประมาณตามมา ความเร่งด่วนตามมา ความต่อเนื่องตามมาอีก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดจะตอบคำถามเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ แล้วพร้อมที่จะส่งต่อให้ทำต่อไป

สุดท้ายนี้มีอีกเรื่องที่น่ายินดีคือ ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของปี 2019 มาแล้ว โดยประเทศไทยยังอยู่ใน 30 อันดับแรก จาก 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 27 ในขณะที่ปีที่แล้ว เราอยู่ในอันดับที่ 26 แต่ถ้าดูจากผลคะแนนรวมแล้ว เราจะเห็นได้ว่าเรายังคงมีพัฒนาการ หรือมีการก้าวไปสู่แนวปฏิบัติที่ดีของโลก เห็นได้จากคะแนนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน อย่าไปดูแค่ลำดับอย่างเดียว 

นอกจากนี้ ไทยยังถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีการปฏิรูปด้านกฎระเบียบสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ด้วย โดยมีความคืบหน้าใน 4 ด้าน ได้แก่ 

1.ด้านการเริ่มต้นธุรกิจที่ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น และมีต้นทุนลดลง
2.ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ที่มีการปรับลดขั้นตอน และเพิ่มความโปร่งใสผ่านการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม
3.ด้านการชำระภาษีที่มีการปรับปรุงระบบการคำนวณ และการยื่นแบบภาษีรายได้นิติบุคคลทางระบบออนไลน์
และ 4.ด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้ในการควบคุมตู้สินค้า ซึ่งลดระยะเวลา และต้นทุนการขนถ่ายสินค้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลายด้านที่เรามีการปรับปรุงให้ดีขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจได้เพิ่มขึ้น แต่เรายังมีอีกหลายด้านที่ยังต้องเร่งปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อๆ ไปเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลมีทั้งมาตรการเร่งด่วนระยะสั้น เช่น การยกเลิกสำเนาเอกสาร เมื่อมีการติดต่อกับราชการ รวมถึงการมี OSS กลางของภาครัฐ ส่วนมาตรการระยะยาวภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศนั้น จะช่วยให้การปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากขึ้นในระยะต่อไปขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพกายที่สมบูรณ์ สุขภาพจิตที่เข้มแข็ง และทุกครอบครัวมีความสุข ปลอดภัยทุกๆ วัน นะครับ สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้