Work from Home อย่างไร ไม่ให้ปวดร้าว

Last updated: 7 เม.ย 2563  |  1681 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Work from Home อย่างไร ไม่ให้ปวดร้าว

เคล็ดลับง่ายๆ ในการที่จะเป็นตัวช่วยปรับโต๊ะทำงานจำเป็นสำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ Notebook เพื่อลดอาการปวดในระหว่างการ Work from Home

เชื่อว่า ขณะนี้หลายๆคน อยู่ในช่วงของการ Work from Home ปฏิบัติการเปลี่ยนบ้านให้เป็นที่ทำงาน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ เราต้องเปลี่ยนโต๊ะรับแขก โต๊ะรับประทานอาหาร โต๊ะอ่านหนังสือ โต๊ะเครื่องแป้ง หรือแม้กระทั่งโต๊ะญี่ปุ่นเล็กๆ ที่เราเคยใช้วางถ้วยบะหมี่ กลายมาเป็นโต๊ะทำงาน ในยามจำเป็นแบบนี้ ทั้งในบ้านหรือคอนโดมิเนียม เพื่อวางคอมพิวเตอร์ Notebook 1 ตัว

และยังเชื่อเหลือเกินว่า 2-3 วันหลังจากที่เรา Work From Home กันไม่นาน สิ่งที่ตามมากับหลายๆคนนั่นก็คือ อาการปวดที่ร้าวไปทั้งร่าง ไล่มาจาก คอ บ่า ไหล่ หลัง ลามมายังก้น เข่าและขา บางคนก็พยายามหาหมอนหลายๆใบ มารองที่นั่ง หลัง จนเต็มไปหมด 

ด้วยเหตุที่ว่าไม่ใช่ทุกบ้าน ที่พร้อมจะปรับให้เป็นที่ทำงานได้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ถูกเลือกซื้อมาเพื่อการพักผ่อนมากกว่าการมานั่งทำงาน แต่ที่ทำงานของเราไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ต่างๆ จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการทำงานตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยว่า ทำไมเราถึงมีอาการปวดรวดร้าวได้ถึงเพียงนี้ ถึงกับได้ยินเสียงบางคนบ่นกันดังๆในใจว่า ขอกลับไปทำงานที่สำนักงานได้ไหม แต่ด้วยภาวะเช่นนี้ เราต้องให้ความร่วมมือ 

เพื่อที่ฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน โดยการช่วยชาติง่ายๆ แค่ “อยู่บ้าน” ฟังดูแลแล้วเหมือนจะง่าย แต่พอเอาเข้าจริงแล้วมัน “ไม่ง่าย” อย่างที่เราคิดกัน เพราะเราไม่ได้หยุดอยู่บ้านเฉยๆ เรายังคงต้องทำงาน 

บางทีพบว่าเราใช้เวลามากกว่าทำงานที่สำนักงานเสียอีก ทั้งการประชุมทางไกลที่ต้องเข้าร่วมประชุมกันแบบรัว ๆ ทั้งวัน ชีวิตในช่วงนี้ก็เลยมีสถานที่ไม่กี่แห่งที่เราเจอ นั่นคือ โต๊ะทำงาน ห้องครัว ห้องน้ำและห้องนอน วนกันไป

ในเมื่อสถานที่และอุปกรณ์การทำงานเปลี่ยนไม่ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือเราก็จะปรับของร่างกายของเราไปตามโต๊ะทำงานจำเป็นที่เรามีโดยไม่รู้ตัว เช่น การนั่งก้มคอ เอี้ยวตัว หลังงอ ยกไหล่ แล้วนั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 2 ชั่วโมง อาการปวดตามมาอย่างที่เราเจอกัน

เราจึงมี Tips ง่ายๆ ในการที่จะเป็นตัวช่วยปรับโต๊ะทำงานจำเป็นสำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ Notebook เพื่อลดอาการปวดในระหว่างการ Work from Home นี้

1. โต๊ะ

สำหรับวางคอมพิวเตอร์ Notebook ควรมีความมั่นคง แข็งแรง ไม่แนะนำโต๊ะญี่ปุ่นเมื่อต้องทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน หลายชั่วโมง พื้นที่บนโต๊ะควรจะว่าง ไม่มีสิ่งของมากีดขวาง ที่ทำให้เราต้องเอียงตัวขณะปฏิบัติงาน จะช่วยลดอาการปวดบริเวณหลัง เอวและขาได้มาก

2. เก้าอี้

ควรเป็นเก้าอี้ที่สามารถปรับระดับสูงต่ำได้ ตามหลัก Ergonomics หรือตามสรีระร่างกายของแต่ละคน แต่เมื่อเราหาไม่ได้ ควรเป็นเก้าอี้ที่มีพนักพิง มีเบาะนั่งที่นุ่ม แต่ไม่นุ่มจนเกินไป จนทำให้เรานั่งจมลงไปหลังงอโดยไม่รู้ตัว ทำให้เรานั่งหลังตรงได้ เท้าไม่ลอย เวลานั่งเข่าและขาทำมุม 90 องศา ข้อพับด้านในเหลือพื้นที่จากขอบเก้าอี้ประมาณ 2 นิ้วมือสอดได้ ไม่ควรให้ขอบเก้าอี้กดทับข้อพับ จะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก บางคนเกิดอาการชาที่ขา หรือเวียนหัวได้เมื่อลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. หากเก้าอี้สูงเกินไป

ปรับไม่ได้หรือเท้าลอย เราสามารถหาเก้าอี้เล็กๆ มาวางเป็นที่พักเท้าแบบชั่วคราวได้ แต่อย่าให้เข่าเรายกสูง ไม่ทำมุม 90 องศาเวลานั่ง (จากภาพด้านบน เป็นเก้าอี้ที่ปรับระดับอะไรไม่ได้ ไม่เหมาะกับการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นระยะเวลานานๆ)

4. คอมพิวเตอร์ Notebook

เมื่อวางอยู่บนโต๊ะ หรือบางคนเรียกว่าคอมพิวเตอร์แบบพกพา คือนำติดตัวไปด้วยได้ เหมาะกับการใช้งานในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อการประชุม นำเสนอ แต่ในยามนี้เรามาใช้กันเป็นระเวลานาน แนะนำว่าควรมีจอภาพเสริม พร้อมกับแป้นพิมพ์ (Keyboard) และ เมาส์ (Mouse) จะเป็นแบบมีสายหรือไร้สายก็ได้ เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ Notebook เพื่อขยายหน้าจอให้ใหญ่ ไม่ยกข้อมือ ทำให้ปวดข้อมือ ลามไปถึงขั้นผ่าตัดได้

จอภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้เราไม่ต้องเพ่งสายตา หรือก้มหน้าเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ Notebook มากเกินไป จนทำในเราเกิดอาการปวด คอ บ่า ไหล่ ระยะห่างจากจอถึงตัวเราคือนั่งแล้วยื่นแขนมาข้างหน้า ปลายนิ้วแตะหน้าจอพอดี คือระยะที่เหมาะสม และหน้าจออยู่ในระดับสายตา หากต่ำกว่าเราสามารถหาหนังสือมารองให้สูงขึ้นได้

5. ระดับของแป้นพิมพ์ (Keyboard)

บนโต๊ะต้องไม่สูงจนทำให้เรายกไหล่ แสงสว่างเพียงพอต่อการมองเห็นตัวอักษรบนแฟ้นพิมพ์ ไม่สะท้อน และวางตรงกลางของตำแหน่งการนั่ง มีเคล็ดลับว่าให้อักษร G กับ H อยู่ตรงบริเวณสะดือเราพอดี แป้นพิมพ์ก็จะได้ระดับ เราจะไม่นั่งไม่เอียงตัวเพราะการวางแป้นพิมพ์ ส่วนใหญ่เราจะใช้แป้นพิมพ์ตัวเลขน้อย นอกจากคนที่ทำงานด้านบัญชี

6. Mouse

ที่ใช้งานควรวางอยู่ด้านขวา และมีแผ่นรองเพื่อไม่ให้ข้อมือของเราต้องเสียดสีโดยตรงกับพื้นโต๊ะ

มาถึง 6 ข้อนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงบอกว่า ทำไมมันมากมายอย่างนี้ หากนั่งหลังตรง ไหล่ตรงแบบนี้ก็ปวดนั่งได้ไม่นานแน่ๆ แน่นอนว่า ร่างกายของเราคือธรรมชาติ ร่างกายไม่เคยโกหกเรา ปวดตรงไหน บอกเราตรงนั้น ว่าให้ “พักก่อน” 

แต่เราต่างหากที่ไม่เคยฟังเสียงของร่างกาย ที่คอยบอกเรา เตือนเราเลย แต่เรายังคงฝืนทำต่อ เอียงตัวไป ก้มไป จนถึงวันเมื่อสาย ที่เราต้องพบแพทย์ กินยา ผ่าตัด เราไม่มาดูสาเหตุแท้จริง หรือมาหันมามองที่วิธีการป้องกันที่จะแก้ไขที่สาเหตุ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการแก้ที่ปลายเหตุ

วิธีที่ดีและง่ายขึ้น ก็คือการเปลี่ยนอิริยาบถ สลับจากการนั่งเป็นการยืน หรือเดินไป-มาบ้าง ทุกๆ 20 นาที ยิ่งอยู่ที่บ้าน น่าจะทำง่ายขึ้น ไปดื่มน้ำ ไปเข้าห้องน้ำ นอกจากจะทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้นแล้ว ยังช่วยไม่ให้เราเกิดอาการปวดเมื่อยเรื้อรังได้อีกด้วย เพราะเมื่อไรที่เรารู้สึกเมื่อย นั่นแหละคือสิ่งที่ร่างกายกำลังบอกเราว่า “พักก่อน” และอย่าฝืน 

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก https://www.techsauce.co/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้