การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง

Last updated: 30 มี.ค. 2565  |  5948 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง

ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....

บันทึกหลักการและเหตุผล

ประกอบร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..)

หลักการ

          แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดขอบเขตของวิทยุกระจายเสียงให้เหมาะสมและชัดเจน (แก้ไขบทนิยามคำว่า "วิทยุกระจายเสียง" (ร่างมาตรา ๓ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔)

(๒) กำหนดให้ประกาศ กสทช. ที่อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ต้องระบุประเภทของใบอนุญาตตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ (ร่างมาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๑)

(๓) กำหนดให้การขอใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนดโดยแยกตามประเภทของใบอนุญาต (ร่างมาตรา ๕ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๑/๑ มาตรา ๔๑/๒ มาตรา ๔๑/๓ มาตรา ๔๑/๔ มาตรา ๔๑/๕ มาตรา ๔๑/๖ มาตรา ๔๑/๗)

(๔) กำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแต่ละประเภท (ร่างมาตรา ๖ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓)

เหตุผล

          โดยที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติบางประการที่จำกัดความสามารถในการประกอบอาชีพของภาคประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่ และจำกัดความสามารถในการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และเป็นการส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและส่งเสริมภาคประชาชนให้ประกอบกิจการสถานีวิทยุท้องถิ่นชุมชนได้อย่างเสรีและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....


          โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ...."

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า "วิทยุกระจายเสียง" ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"วิทยุกระจายเสียง" หมายความว่า วิทยุที่ส่งหรือแพร่เสียงด้วยคลื่นความถี่หรือคลื่นแฮรตเซียนเพื่อให้บุคคลทั่วไปรับได้โดยตรง แต่มิให้หมายความรวมถึงวิทยุคมนาคม"

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"มาตรา ๔๑ ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนด โดยประกาศดังกล่าวต้องระบุแยกประเภทของใบอนุญาต ตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่"

มาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๑/๑ มาตรา ๔๑/๒ มาตรา ๔๑/๓ มาตรา ๔๑/๔ มาตรา ๔๑/๕ มาตรา ๔๑/๖ และมาตรา ๔๑/๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิหยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

          "มาตรา ๔๑/๑ ใขอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการประเภทเพื่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยสาธารณะ ให้ออกสำหรับกิจการกองบัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพอากาศ หรือหน่วยงานในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานในสังกัด สำนักพระราชวัง กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดวิทยุการบินต่าง ๆ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารบริการสาธารณะ"

          "มาตรา ๔๑/๒ ใบอนุญาตประกอบกิจการวิหยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมประเภทเพื่อสาธารณะประโยชน์ ให้ออกสำหรับกิจการเพื่อส่งเสริมความรู้ การศึกษา การศาสนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การเกษตร อุตสาหกรรม สุขภาพอนามัย การกีฬา การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นรวมทั้งกิจการเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย และกิจการบริการและกระจายข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน"

          "มาตรา ๔๑/๓ ใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ประเภทเพื่อบริการชุมชน ให้ออกสำหรับกิจการอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแจ้งเตือนภัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยพิบัติอื่น รวมทั้งกิจการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน การบริการข้อมูลจากภาครัฐสู่ชุมชนการสร้างความเข้าใจอันดีเพื่อให้เกิดความปรองดองในชุมชน การเผยแพร่ศิลปะ วัฒนธรรมของชุมชน การเชิดชูบุคคลที่เป็นตัวอย่างอันดีที่ทำคุณประโยชน์ให้กับชุมชนและประเทศชาติ ตลอดจนกิจกรรมที่มิได้ชัดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบสุขของชุมชน"

          "มาตรา ๔๑/๔ ใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ประเภทเพื่อเสริมสร้างอาชีพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ออกสำหรับกิจการเพื่อเผยแพร่สินค้าอันเกิดจากการรวมตัวกันของภูมิปัญญาท้องถิ่นปราชญ์ชาวบ้าน สินค้าการเกษตรพื้นฐานการรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืนการรักษาต้นน้ำลำธาร การปลูกป่า การเพาะเลี้ยงการส่งเสริมและการนุรักษ์รักษาพืชพันธุ์อันหายาก การส่งเสริมและการอนุรักษ์รักษาพันธุ์สัตว์อันหายากการดูแลรักษาสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งธรรมชาติ และสัตว์เร่ร่อน ตลอดจนการส่งเสริมหัตถกรรม และศิลปาชีพหรือการสร้างงาน"

          "มาตรา ๔๑/๕ ในกรณีที่เป็นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเป็นการประกอบกิจการทางธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ให้แยกใบอนุญาตออกเป็น สี่ประเภทดังนี้"

(๑) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับชาติ ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินห้าพันวัตต์

(๒) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับภูมิภาค ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่การให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินสามพันวัตต์

(๓) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับจังหวัด ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่การให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินหนึ่งพันวัตต์

(๔) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับชุมชน หรือชุมชนท้องถิ่น ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่มีพื้นที่การให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินห้าร้อยวัตต์

          การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตาม (๑) (๒) (๓) และ (๔) ให้คำนึงถึงประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า การป้องกันการผูกขาด การส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระของผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจด้วย

          การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่ก่อให้เกิดหรืออาจเกิดการรบกวนหรือทับซ้อน กับคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้วจะกระทำมิได้"

          "มาตรา ๔๑/๖ การยื่นคำขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช. ประกาศกำหนด เว้นแต่การประกอบกิจการทางธุรกิจ ตามมาตรา ๔๑/๕ ให้ถือว่า เป็นการยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมด้วย และเมื่อ กสทช. อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้วให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมด้วย"

          "มาตรา ๔๑/๗ การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นในด้านการศึกษาวัฒนธรรมคว ามมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม และต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะในการส่งเสริมรายการวิทยุกระจายเสียงที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม หรือรายการสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งนี้ให้ กสุทช.กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดเวลาให้รายการดังกล่าวได้ออกอากาศในช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย"

มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิหยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

          "มาตรา ๔๒ ให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดอัตราค่าธรรมนียมใบนุญาตแต่ละประเภทตามมาตรา ๔๑/๑ มาตรา ๔๑/๒ มาตรา ๔๑/๓ มาตรา ๔๑/๔ โดยแยกเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาตและต้องชำระเป็นรายปีในอัตราที่เหมาะสมกับประเภทของใบอนุญาต แต่มีให้เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากยอดสรุปบัญชีประจำปี และนำส่งเป็นรายได้ของสำนักงาน กสทช. เว้นแต่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจ ตาม มาตรา ๔๑/ ๕ ให้ชำระเป็นรายปีในอัตรา ดังต่อไปนี้

(๑) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับชาติ ให้ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราห้าหมื่นบาทต่อปี

(๒) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับภูมิภาค ให้ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราสามหมื่นบาทต่อปี

(๓) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับจังหวัด ให้ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราหนึ่งหมีนบาทต่อปี

(๔) ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่น ให้ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราห้าพันบาทต่อปี

          กสทช. มีอำนาจที่จะประกาศ กำหนด เปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ตามความเหมาะสมของระยะเวลา และตามการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของบ้านเมืองได้ โดยเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบมาตรา ๔๓ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบนุญาตจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ กสทช.ประกาศกำหนด

          ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ต้องประกอบกิจการด้วยตนเองจะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้ เว้นแต่ผู้ได้รับใบอนุญาตตกอยู่ในสถานะตามวรรคหนึ่ง แต่การให้บุคคลอื่นเช่าเวลาดำเนินรายการบางช่วงเวลาอาจกระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด

          ใบนุญาตประกอบกิจการวิหยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมให้มีอายุไม่เกินสิบปี การยื่นขอต่อใบอนุญาตและการพิจารณามีคำสั่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการ กสทช. ประกาศกำหนด

          ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมผู้ใดมิได้ประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่นั้นภายในระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด หรือนำคลื่นความถี่ไปใช้ในกิจการนอกวัตถุประสงค์ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกอบกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ หรือกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในมาตรา ๒๗ (๑๐) และ (๑๕) หรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ให้ กสทช. ดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้องหรือมีคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน"

มาตรา ๗ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


บันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ

ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.....

          โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๗๔ กำหนดให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นองค์กร ตามมาตรา ๖0 วรรคสาม มีอำนาจจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะการดำเนินการต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทั้งนี้ กฎหมายที่นำมาใช้บังคับ ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญก่อให้เกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วน สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบกิจการ หรือการให้บริการและการใช้บริการของประชาชน อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการ หรือการประกอบอาชีพและลิดรอนเสรีภาพสี่อ โดยไม่มีความเสมอกันในกฎหมายและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งมิได้บัญญัติให้มีการแข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในการดำเนินการหลายประการ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศซาติ จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๒ ดังนี้

          ๑. โดยเนื้อหาสาระเริ่มจากบทนิยาม ความหมายของคำว่า "วิทยุกระจายเสียง" ตามมาตรา ๔ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มิได้สอดคล้องกับความหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๖๐ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ แต่บัญญัติให้เชื่อมโยงโดยการนำเอาพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาใช้บังคับทั้งที่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุคมนาคมเป็นคนละประเภท

          ๒. การบัญญัติให้มีวิธีคัดเลือกโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง บางประเภท ถือว่าเป็นการแข่งขันโดยผิดวิธีและผิดหลักการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบกิจการบางกลุ่มที่มีจำนวนทุนทรัพย์น้อยไม่ถึงเพดานขั้นสูงในการประมูล ไม่มีโอกาสขนะการประมูล ทำให้หมดโอกาสในการมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อสารมวลชนสาธารณะ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ โดยอาจนำมาซึ่งความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติได้

          ๓. พระราชบัญญัติดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เนื่องด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประมูลกิจการด้านโทรคมนาคม (๓ G) ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ามีพฤติกรรมเข้าลักษณะฮั้วการประมูล มีผลกระทบต่อรายได้ การเงิน และการคลังของประเทศอย่างรุนแรงรวมทั้งมีผลกระทบต่อสภาพการจ้างงาน

          ๔. อัตราโทษที่จะลงกับผู้ประกอบกิจการแต่ละประเภทก็ไม่ชอบธรรม โดยตามความเป็นจริงการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงจะแตกต่างจากกิจการวิทยุโทรทัศน์มาก ทั้งเรื่องที่มาของรายได้ที่ได้รับจากการประกอบกิจการ เช่น อัตราค่าโฆษณา ค่าเช่าเวลา รวมทั้งสถานที่ตั้ง บุคลากร จำนวนทุนทรัพย์ ระยะพื้นที่ส่งสัญญาณการให้บริการคลื่นความถี่ รวมทั้งผลประโยชน์ที่ได้รับอื่น ๆ แต่ทั้งสองกิจการจะได้รับโทษเท่ากันทั้งทางปกครอง และทางอาญา ทั้งที่วิทยุโทรทัศน์ บางสถานีมีอัตราค่าโฆษณานาทีละหลายแสนบาทผลกระทบจากค่าปรับย่อมน้อยกว่า และระยะเวลาการได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการก็ไม่เท่ากัน วิทยุกระจายเสียงได้รับอนุญาตไม่เกิน ๗ ปี วิทยุโทรทัศน์ได้รับอนุญาตไม่เกิน ๑๕ ปี เป็นต้น แต่อัตราโทษกลับให้รับเท่ากัน ที่ผ่านมา กสทช. มีความสามารถเพียงออกใบอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชั่วคราวไม่เกินหนึ่งปี โดยออกให้ไม่กี่สถานี และเป็นการออกประกาศโดยไม่มีอำนาจ แต่ออกโดยอาศัยช่องว่างของพระราชบัญญัติฉบับที่เป็นปัญหานี้

          ๕. พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีหมวดอุทธรณ์ให้กับผู้ประกอบกิจการได้มีโอกาสโต้แย้งคำสั่งของ กสทช. ทุกกรณี ถือว่าเป็นกฎหมายปิดปาก และจำกัดสิทธิการประกอบอาชีพของประชาชน

          ๖. ปัจจุบันประเทศชาติได้มีวิวัฒนาการทางด้านการสื่อสารเป็นอย่างมาก เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร โดยได้มีภาครัฐและภาคเอกชนประกอบกิจการและใช้บริการคลื่นความถี่เป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรให้แยกกิจการวิทยุกระจายเสียง ระบบเอฟเอ็มซึ่งมีมากกว่าหมื่นคลื่นออกจากกิจการวิทยุโทรทัศน์ โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา มาตรา ๖๐ วรรคสามซึ่งกำหนดให้องค์กรภายในของรัฐ ออกมาตรการป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน ซึ่งจะง่ายต่อการกำกับดูแลอย่างทั่วถึง

ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ....

ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          โดยที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติบางประการที่จำกัดความสามารถในการประกอบอาชีพของภาคประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่ และจำกัดความสามารถในการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และเป็นการส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและส่งเสริมภาคประชาชนให้ประกอบกิจการสถานี
วิทยุท้องถิ่นชุมชนได้อย่างเสรีและเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ประเด็นประกอบการพิจารณา

          ๑.) มีการกำหนดบทนิยาม ความหมายของคำว่า "วิทยุกระจายเสียง" ใหม่ เนื่องจากคำนิยามดังกล่าวตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มิได้สอดคล้องกับความหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๖๐ วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ แต่บัญญัติไว้ให้เชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มาใช้บังคับซึ่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุคมนาคมเป็นคนละประเภท

          ๒.) มีการกำหนดแยกประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่

          - เพื่อความมั่นคง

          - เพื่อสาธารณะประโยชน์

          - เพื่อบริการชุมชน

          - เพื่อเสริมสร้างอาชีพและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

          ๓.) มีการกำหนดให้การอนุญาตใช้คลื่นความถี่กิจการวิทยุกระจายเสียง เป็นการประกอบธุรกิจ ให้แยกใบอนุญาตออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่

          - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับชาติ ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินห้าพันวัตต์

          - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับภูมิภาค ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินสามพันวัตต์

          - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับจังหวัด ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินหนึ่งพันวัตต์

          - ใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจระดับ ชุมชน หรือชุมชนท้องถิ่น ออกให้สำหรับกิจการวิทยุกระจายเสียงที่มีพื้นที่ให้บริการคลื่นความถี่ด้วยแรงส่งไม่เกินห้าร้อยวัตต์

          และมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามใบอนุญาตประกอบกิจการธุรกิจดังกล่าว (มาตรา ๔๑/๕)

          ๔.) มีการกำหนดการยื่นคำขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช ประกาศกำหนด แต่ถ้าเป็นการประกอบกิจการธุรกิจ ตามมาตรา ๔๑/๕ ให้ถือว่าเป็นการยื่นคำขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม

          ๕.) มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแต่ละประเภท (มาตรา ๔๑/๑ - มาตรา ๔๑/๔) ให้ชำระเป็นรายปีให้เหมาะสมกับประเภทใบอนุญาตแต่มิให้เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากยอดสรุปบัญชีประจำปีและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ให้ชำระเป็นรายปี ตามร่างมาตรา ๖

          ๖.) มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและบทลงโทษของใบอนุญาตและผู้ได้รับใบอนุญาต

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(๑) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

(๒) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

(๓) สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

(๔) สมาคมสื่อช่อสะอาด

(๕) ประชาชนทั่วไป

 

ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

๑. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับนิยาม คำว่า "วิทยุกระจายเสียง" (ร่างมาตรา ๓)

๒. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแบ่งประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมที่มีลักษณะประเภททั่วไปกับประเภทธุรกิจ (ร่างมาตรา ๕)

๓. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขออนุญาตและการอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจ โดยให้ถือว่าเป็นการยื่นคำขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม

๔. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขของใบอนุญาตและบทลงโทษของผู้ได้รับใบอนุญาต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้