ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย 2565 รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์

Last updated: 4 เม.ย 2565  |  5314 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย 2565 รณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์

สสส.-สคอ.-มหาดไทย-กรมขนส่งทางบก ผนึกกำลังลดอุบัติเหตุสงกรานต์ 65 เข้มตรวจสารเสพติดผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ เป่าแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ เผยอุบัติเหตุขับเร็ว ดื่มแล้วขับ มาอันดับต้นๆ ชวนคนไทย “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ดื่มไม่ขับ-ลดความเร็ว-คาดเข็มขัด-สวมหมวกนิรภัยก่อนขับขี่ ลดเสี่ยง ลดตาย

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 เวลา 13.00 น. สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายในการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท” สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย 2565 เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์  ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเต็ล อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ทาง สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการให้องค์ความรู้เรื่องดูแลและป้องกันโควิด-19  และช่วงสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวหลายวัน ยิ่งต้องเน้นย้ำเรื่อง ดื่มไม่ขับ ลดความเร็ว และ งด เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องขับขี่ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และจำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุด สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 เกิดอุบัติเหตุ 2,365 ครั้ง บาดเจ็บ 2,357 คน เสียชีวิต 277 ราย ช่วงวันที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ วันที่ 12-13 และ 14 เมษายน เป็นวันที่มีการดื่มฉลองอย่างหนัก พบผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 69 ราย 43 ราย และ 40 ราย ตามลำดับ นอกจากนี้สาเหตุหลักการเสียชีวิต ได้แก่ ขับรถเร็ว 48.93 ดื่มแล้วขับ 21.29 ตัดหน้ากระชั้นชิด 16.74

“สงกรานต์ปีนี้ สสส.ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ผลิตสื่อสปอตและคลิปวิดีโอ สื่อสารผ่านสื่อหลักและออนไลน์และ เพื่อชวนคนไทยตั้งสติ ลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” ที่แอลกอฮอล์ในเลือด 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุถึง 40 เท่า, “ขับรถเร็ว” หากเกิดการชนที่ความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง = ตกตึก 5 ชั้น, “สวมหมวกนิรภัย” ลดการเสียชีวิตได้ถึง 39% และ “คาดเข็มขัด” ช่วยลดการบาดเจ็บทั่วไปถึง 50%  เพื่อให้กลับไปถึงบ้าน กลับไปหาคนที่รักอย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ยังรณรงค์เที่ยวสงกรานต์วิถีใหม่ ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า การดำเนินงานในช่วงสงกรานต์ สคอ.มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นเน้น ควบคุมขับเร็ว ดื่มแล้วขับ การจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นดูแลพิเศษห้ามขายให้เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นอกจากนี้จุดตรวจ-จุดบริการ เสนอปรับเป็นหน่วยลาดตระเวน-เฝ้าระวังงานเลี้ยงสังสรรค์ สกัดคนดื่มแล้วขับ เตือนลดความเร็ว เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางโดยเฉพาะคนขับ ควรงดดื่มก่อนการเดินทางอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้เต็มที่ ส่วนคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยต้องมีส่วนช่วยระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะหากผิดพลาดมีความสูญเสียเกิดขึ้น ทุกคนที่อยู่ในรถ ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ขอให้ “ตั้งสติ ก่อนสตาร์ท” เพื่อเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์พร้อมกันอย่างปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน

นายวิทยา จันทร์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า  ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในฐานะเป็นองค์กรหลักของรัฐบาลในการบูรณาการงานป้องกันและลดอุบัติหตุทางถนนของประเทศ เน้นการบริหารจัดการร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน อาสาสมัคร และประชาชนเข้ามีส่วนร่วม เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ได้กำหนดตัวชี้วัด 3 ระดับคือ ระดับภาพรวม เช่นจำนวนผู้เสียชีวิตในพฤติกรรมเสี่ยงหลักได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ลดลงไม่น้อยกว่า 5% ในระดับหน่วยงาน จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บที่เกิดบนถนน อปท. จำนวนรถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิต

รวมทั้งจำนวนเด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีจากการดื่มสุราแล้วขับขี่ยานพาหนะ ลดลงไม่น้อยกว่า 5% และระดับพื้นที่ อำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง 24 อำเภอ สีส้ม 115 อำเภอ สีเหลือง 378 อำเภอ และสีเขียว 411อำเภอ จำนวนผู้เสียชีวิตในอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง และจำนวนผู้เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุของจังหวัด ลดลงไม่น้อยกว่า 5 %  เน้นย้ำจำนวนผู้ขับขี่ที่ถูกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วทำให้มีผู้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต

นางวิลาวัลย์ คันโททอง นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิเศษ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ กรมการขนส่งทางบกได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการตรวจหาสารเสพติดของพนักงานขับรถโดยสารก่อนนำรถออกให้บริการทุกครั้ง มีการตั้งจุดตรวจตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้ตรวจการขนส่งประจำ ณ จุดตรวจ เพื่อตรวจสอบความพร้อมของรถและพนักงานขับรถ การใช้ความเร็ว ชั่วโมงการทำงานอุบัติเหตุ  เพื่อให้คนขับรถทุกคันจะต้องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งสถิติการตรวจตรวจความพร้อมรถและพนักงานขับรถ ณ จุดตรวจ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564-31 มีนาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 347,385 คัน/ราย รถผ่านการตรวจรวม 344,648 คัน คิดเป็น 99.21 % รถไม่ผ่านการตรวจรวม 2,737 คัน คิดเป็น 0.79 % พนักงานขับรถผ่านการตรวจรวม 347,376 ราย คิดเป็น 99.99 % ไม่ผ่านการตรวจรวม 9 ราย คิดเป็น 0.01 %

“หากพบความผิดกรณีไม่ปฏิบัติตามหรือพนักงานขับรถบกพร่อง จะตักเตือน เปรียบเทียบปรับ ออกคำสั่งผู้ตรวจการ นำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป และกรมการขนส่งทางบกยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจัดกิจกรรม “ตรวจรถฟรี ขับขี่ปลอดภัย” ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 15 เมษายน 2565 เพื่อให้บริการตรวจสภาพความพร้อมของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยไม่คิดค่าบริการ เช่น การตรวจสภาพยาง เบรก การทำงานของเครื่องยนต์ หม้อน้ำและรอยรั่ว และไฟสัญญาณ เพื่อให้ทุกท่านมีความปลอดภัยในการเดินทาง” นางวิลาวัลย์ กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้