ก้าวข้ามวิกฤตการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐกับอนาคตประเทศไทย

Last updated: 12 เม.ย 2565  |  5527 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ก้าวข้ามวิกฤตการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐกับอนาคตประเทศไทย

ก้าวข้ามวิกฤตการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐกับอนาคตประเทศไทย : ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวอภิปรายโดยสรุปว่า “วันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2565 อันเป็นวันที่ยกย่องเชิดชูอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้บริสุทธิ์ยุติธรรม และเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรป้องกันและปรามการทุจริต ของประเทศไทย ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย จึงจัดให้มีการอภิปราย ในหัวข้อ “ก้าวข้ามวิกฤตการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐกับอนาคตประเทศไทย” ผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นผู้ร่วมในการอภิปราย จึงได้หยิบยกประเด็นความหมายของการทุจริตคอร์รัปชันตามหลักสากล เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า การทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่โลกนี้รับไม่ได้ แต่บางคนยังเห็นว่าเป็นสิ่งที่รับได้ ความคิดเช่นนั้นจึงเป็นบ่อเกิดของ “ความสุจริตของสังคมที่ทุจริต” (a corrupt society honest) คือเห็นว่าถ้าเขาทุจริต แต่เอาเงินมาแบ่งให้เรา ก็นับว่าเขาเป็นคนดีในสังคมได้ ไม่น่าจะรังเกียจถึงขนาดอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ได้ ทำให้สังคมตกอยู่ใน “วัฒนธรรมแห่งการทุจริต” (cultures of corruption) ซึ่งเป็นกับดักที่ก่อให้เกิด “วงจรอุบาทว์” (vicious cycle) ในกลุ่มคนที่มีความไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่ง และมีความศรัทธาต่อรัฐบาลที่ต่ำอย่างยิ่ง แต่มีการทุจริตที่สูงอย่างยิ่งจนน่าตกใจ

บทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้เกี่ยวกับการทุจริตแม้จะมีอยู่มากมาย แต่ก็ไม่อาจบังคับใช้ได้จริง เพราะคนร่ำรวยมักรอดพ้นจากการบังคับใช้กฎหมายเสมอ นอกจากนี้กฎหมายส่วนใหญ่มักกล่าวถึงเรื่องความผิด แต่ละเลยในการพูดถึงความโปร่งใส ทั้งที่ควรเปิดเผยทรัพย์สินหรือความสุจริตให้รัฐสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน ไม่ควรทำให้สาธารณชนเคลือบแคลงสงสัยในความสุจริตของตนเอง ด้วยการปกปิดหรือหลบซ่อนการกระทำของตนไม่ให้ใครสามารถตรวจสอบได้

ที่สุดแล้วสังคมก็มักมองว่า ทุจริตคอร์รัปชัน ขนาดเล็ก เป็น “สินบนที่สุจริต” (honest graft) หรือ “คอร์รัปชันสีขาว” (white corruption) เพราะไม่ร้ายแรง เนื่องจากทุจริตเป็นเงินที่ไม่สูงนัก เช่น การจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อไม่ต้องถูกจับกุม หรือการให้รางวัลแก่บุคลากรของรัฐเพื่อลัดคิว ทำให้ไม่ต้องต้องรอนาน ซึ่งต่างจากการทุจริตคอร์รัปชันร้ายแรงที่เป็นการทุจริตขนาดใหญ่ (grand corruption ) ที่จ่ายหรือรับสินบนในจำนวนเงินที่สูงมาก จึงถือว่าเป็นสินบนที่ไม่สุจริต (dishonest graft) เช่น การซื้อขายตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งการทุจริตเชิงนโยบาย และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบอาชญากรรมทุจริตเล็กน้อยจึงเกิดความเคยชิน ก่ออาชญากรรมทุจริตที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นทุกที โดยไม่มีความละอาย หรือเกรงกลัวต่อบาป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา การทุจริตจึงเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

อนาคตของประเทศไทยจึงไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนของการทุจริต ด้วยการอาศัยแต่เพียงตัวบทกฎหมายในการปราบปรามเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องใช้หลักความคุ้มค่าในการออกกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมายตามแนวทางเศรษฐศาสตร์ด้วย กล่าวคือหากคนที่โกงแผ่นดิน ทราบว่าการทุจริตคอร์รัปชันที่เขากระทำขึ้นนั้น ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ตามแนวทางของฝ่ายราชทัณฑ์ ทำให้ติดอยู่ในเรือนจำในระยะเวลาอันสั้น ก็ย่อมคุ้มค่าในการโกงหรือทุจริต ผู้กำหนดนโยบายในการบังคับใช้กฎหมาย และการราชทัณฑ์ จึงควรไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะมิฉะนั้นการปราบปรามทุจริตที่หวังไว้ ก็จักล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ควรวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการตรวจสอบด้านการทุจริต ให้ทันสมัย โดยเฉพาะการติดตามเส้นทางเดินของเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทุจริต ตลอดจนใช้ระบบการตรวจสอบภาษีอากรกับคดีทุจริต ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ย่อมทำให้การทุจริตเกิดขึ้นลดน้อยลงในอนาคต”

ก้าวข้ามวิกฤตการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ กับอนาคตประเทศไทย
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้