นายกฯประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมต้านทุจริต

Last updated: 9 ธ.ค. 2565  |  6706 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นายกฯประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมต้านทุจริต

นายกฯ ประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ชูแนวคิดปลุกจิตใต้สำนึกคนไทยทุกคน “ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เพิกเฉย” กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมต้านทุจริต

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องนนทบุรี 1 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” โดยมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน เพื่อร่วมกันแสดงพลังในการต่อต้านการทุจริต แสดงถึงเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง พร้อมปลุกกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ และทำให้ประชาชนคนไทยรวมทั้งนานาชาติ ได้รับรู้ผลการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย และการแสดงเจตจำนงต่อต้านการทุจริตของทุกภาคส่วน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ทุกคนทราบถึงปัญหาคอร์รัปชันที่ส่งผลเสียหายต่อประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ TI ได้สะท้อนปัญหาการทุจริตที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่สำคัญ คือ ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน ตลอดจนการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน การไม่สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตน และความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตเป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำลายภาพลักษณ์ ทำลายความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนชาวไทยและชาวโลก ซึ่งทุกคนจะต้องไม่ยอมให้การทุจริตเป็นมรดกบาปตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ สร้างกลไกการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้มีการบรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ลงไปถึงการจัดทำแผนระดับรอง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมเป็นภาพรวมของประเทศแล้ว เช่น 1) พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ 2) นโยบาย National e-Payment เป็นต้น ที่ช่วยขจัดโอกาสการทุจริต หักหัวคิว เรียกรับสินบน เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของภาครัฐให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิดและวิกฤตพลังงานที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาคู่ขนาน คือปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ช่วยให้ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และนานาชาติให้การยอมรับถึงความสำเร็จนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เพิ่มช่องการรับเรื่องราวร้องเรียนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส ตรวจสอบการทุจริตในทุกระดับอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม” ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญที่สุดในเรื่องการติดตามนำผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้รับโทษตามกฎหมาย ตามพยานหลักฐานที่มีอยู่โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลในสังคม ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจมุ่งมั่นเพื่อลดละและขจัดการทุจริตให้หมดสิ้นไป โดยพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เปิดกว้างรับฟัง เสริมสร้างความเข้มแข็ง และคงความเป็นอิสระของหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้โครงการพัฒนาประเทศ การค้า การลงทุน การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม สามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่ยอมให้พลังความดี ความถูกต้อง ต้องพ่ายแพ้ต่ออำนาจใฝ่ต่ำ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริตที่มีความก้าวหน้าตามลำดับ เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ทุกคนร่วมกันไม่ทำความผิดไม่เรียกรับผลประโยชน์ใด ๆ ซึ่งปัญหาทุจริตเป็นปัญหาของทุกประเทศ แต่สามารถแก้ไขได้หากทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่เห็นประโยชน์จากการทุจริต มีเกียรติยศ ศักดิ์ศรีตามวัยวุฒิและคุณวุฒิ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันเฝ้าระวัง ดูแลและเป็นหูเป็นตา ในขณะเดียวกันผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่รักษากฎกติกาก็ร่วมกันดูแลรับผิดชอบ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักฐานและกระบวนการตรวจสอบที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้สังคมไม่ไว้วางใจ ซึ่งการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ร่วมกันสร้างจิตสำนึก ช่วยกันระมัดระวัง สอดส่อง ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ทำให้สังคมเป็นสังคมสีขาวปลอดการทุจริตเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและคนไทยทุกคนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนทุกระดับ ขอให้ช่วยกันทำต่อไปเพื่อให้ประเทศชาติมีความปลอดภัยในทุก ๆ เรื่อง พร้อมยืนยันว่าในฐานะผู้รับผิดชอบทางนโยบายจะไม่ให้มีการทุจริตเชิงนโยบายโดยเด็ดขาด การดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และมีประสิทธิภาพ

พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti - Corruption Day) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 183 ของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) ค.ศ. 2003 ประเทศไทยโดยรัฐบาล ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ขึ้น ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศเจตจำนงของผู้นำประเทศ และผู้นำทุกภาคส่วนในการป้องกันแก้ไขและปราบปรามการทุจริต การผสานพลังคนไทยและทุกภาคส่วนให้ตื่นรู้พร้อมต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ เพื่อให้สังคมไทยมีวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ตลอดจนให้คนไทยและนานาชาติรับรู้ถึงความมุ่งมั่นและการแก้ไขปัญหาการทุจริตในประเทศไทย เพื่อผลักดันการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (ค่า CPI) ให้สูงกว่าร้อยละ 50 ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวนำประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ว่า “ข้าพเจ้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ”

ช่วงท้ายของการจัดงานเป็นการเสวนา “มองมุมใหม่การลงทุนในไทยใสสะอาด” โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางวีเบ็คก้า ริสซอน ไรเวอร์ก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งหวังให้ประเทศไทยปราศจากการทุจริต หรือมีน้อยที่สุดและไม่อยากเห็นการทุจริตเป็นเรื่องปกติ เพราะสร้างความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้น คนไทย ทุกคนจะต้องรู้พิษภัยของการทุจริตและพร้อมต้านการทุจริตทุกรูปแบบเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไป ซึ่งการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ถือเป็นวันแสดงสัญลักษณ์ที่ผู้นำประเทศ ผู้นำทุกภาคส่วน และประชาชนไทย จะร่วมกันประกาศเจตจำนงในการลดการทุจริตและ “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” ให้เป็นที่ประจักษ์ของสายตาชาวโลก

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้