กสทช. 'ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ' ประสานมือยกระดับกิจการกระจายเสียงของไทยไปสู่มาตรฐานสากล

Last updated: 28 ส.ค. 2566  |  6403 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กสทช. 'ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ' ประสานมือยกระดับกิจการกระจายเสียงของไทยไปสู่มาตรฐานสากล

งานเสวนา “ความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานภายใต้กิจการกระจายเสียง ประจำปี 2566” เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ประจำปี 2566

          วันพฤหัสบดี ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566 รองศาสตราจารย์ (คลินิก) พลเอก นายแพทย์ สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านกิจการกระจายเสียง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับ สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ประจำปี 2566 และร่วมกันจัดงานเสวนา “ความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานภายใต้กิจการกระจายเสียง ประจำปี 2566” ณ ห้อง Somerset ชั้น 5 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูนํ้า กรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมปัญหา อุปสรรค และความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานภายใต้กิจการกระจายเสียงในปี 2566 ซึ่งเป็นวาระเริ่มต้นของโครงการฯ โดยเป็นการเสวนาเชิงระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงในประเทศไทย ในระบบใบอนุญาตของสำนักงาน กสทช. โดยเวทีเสวนาในวันนี้ แบ่งออกเป็น 2 เวที ดังนี้

          เวทีที่ 1 รองศาสตราจารย์ (คลินิก) พลเอก นายแพทย์ สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการกระจายเสียง และ พลอากาศโท ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ได้แสดงความคิดเห็นต่อมุมมองด้านนโยบายและ ความเคลื่อนไหวของการดำเนินกิจการกระจายเสียง ประจำปี 2566 รวมถึง Roadmap ที่เกี่ยวเนื่อง และให้ความเห็นต่อภาพรวมของการบริหารจัดการกิจการกระจายเสียงในประเทศไทย อันสืบเนื่องจากเจตนารมณ์ของ พรบ.องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ฯ และพรบ. ประกอบกิจการฯ ของสำนักงาน กสทช.


          เวทีที่ 2 กลุ่มประกอบกิจการภายใต้ระบบใบอนุญาตและทดลองออกอากาศ ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นการติดตามและประเมินผล 5 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2563-2568) (ฉบับปรับปรุง) ประเด็นที่ 2 (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ ประเด็นที่ 3 (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการจัดให้มีบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2566-2568) ประเด็นที่ 4 การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็มกำลังส่งตํ่า สำหรับการให้บริการกระจายเสียงประเภทกิจการบริการสาธารณะ และประเภทกิจการบริการชุมชน และประเด็นที่ 5 เป็นประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง โดยมีนายบุญมา ศรีหมาด นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และพลเอก มโน นุชเกษม หัวหน้าสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กองทัพบก เป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงประเภทบริการสาธารณะ นายอภิสิทธิ์ ปุณณะนิธิ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกรีนเวฟ FM 106.50 MHz เป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงประเภทบริการทางธุรกิจ นายทัศนพงศ์ ล.สุวรัตน์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชนยอดคน FM 92.00 MHz และนายสมชาย ธัญญะเจริญ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุคลื่นคนสีบัวทอง FM 107.75 MHz เป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบเอฟเอ็มกำลังส่งตํ่า สุดท้ายนายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด เป็นผู้แทนจากกลุ่มผู้ทดลองออกอากาศ

          จากประเด็นการแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง ในประเทศไทย ทั้งในระดับผู้กำหนดนโยบายและผู้อยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตของสำนักงาน กสทช. นั้น จะใช้เป็นข้อมูล ในการตั้งประเด็นศึกษาและใช้ดำเนินการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ เพื่อจัดทำรายงานและเสนอต่อรัฐสภา พร้อมรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กสทช. และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อ กสทช. และสำนักงาน กสทช.

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้