สวนเกษตรเมืองหลวง ‘บ้านสวนอาจารย์พีท’ ศูนย์การเรียนรู้สวนเกษตรในเมืองหลวง หัวใจสำคัญ คือ สร้างโอกาส สร้างคน สร้างสังคมที่แข็งแรง

Last updated: 27 ธ.ค. 2566  |  2494 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สวนเกษตรเมืองหลวง ‘บ้านสวนอาจารย์พีท’ ศูนย์การเรียนรู้สวนเกษตรในเมืองหลวง หัวใจสำคัญ คือ สร้างโอกาส สร้างคน สร้างสังคมที่แข็งแรง

ศูนย์การเรียนรู้เกษตรในเมือง แหล่งเรียนรู้ศาสตร์ STEM EDUCATION คู่หลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชา ความสุขส่งต่อความเข้มแข็งสังคมไทยยั่งยืน

        รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิเทพ ปิติพรเทพิน หรือ อาจารย์พีท อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าของศูนย์การเรียนรู้เกษตรในเมืองบ้านสวนอาจารย์พีท ด้วยวัยเพียงแค่ 40 ปี เปิดศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรในเมืองหลวงท่ามกลางความวุ่นวายของผู้คนในเมืองที่ต่างแย่งกันทำมาหากินเลี้ยงชีพ บ้างก็หาเช้า กินค่ำ แต่ใครจะคิดว่า ใจกลางเมืองหลวง อย่างกรุงเทพมหานคร จะมีพื้นที่เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่สามารถทำเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรสำหรับคนเมือง ที่มีผู้เปิดพื้นที่ส่วนตัวให้เป็นที่สร้างโอกาส สร้างคน สร้างสังคมเมืองให้แข็งแรง

        อาจารย์พีท เล่าว่า บ้านสวนอาจารย์พีท ตั้งอยู่บนพื้นที่อยู่ที่แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร อยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า และสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่แห่งนี้มีขนาด 7 ไร่ เป็นที่ของบรรพบุรุษสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งบรรพบุรุษของอาจารย์พีทเป็นคนจีนอพยพมากับเรือสำเภา และมาตั้งรกรากตรงนี้นานมาก สมัยก่อนสวนแห่งนี้จะทำสวนผักในรูปแบบผักเชิงเดี่ยว คือ ปลูกผัก 1 ร่องต่อผัก 1 ชนิด เป็นร่องผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดหอม และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จนทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงได้ปล่อยให้รกร้างนานนับ 10 ปี

        อาจารย์พีท กล่าวว่า “จากที่รกร้าง ผม น้องสาว ลุงและป้าช่วยกันปรับปรุงให้ที่รกร้างตรงนี้ ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มากขึ้น เราอาศัยหลักกสิกรรมธรรมชาติในการทำเกษตรที่บ้านสวนอาจารย์พีท เช่น เราตัดหญ้ามาห่มดิน เพราะเรารู้สึกว่า ทุกอย่างมาจากดิน ถ้าดินดี อะไรดี ต้นไม้ก็จะเจริญงอกงาม ที่สำคัญ คือ ถ้าดินดี น้ำถึง แดดถึง อากาศดี เราใส่ใจดี ก็จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี เซลล์แข็งแรง เมื่อตัดออกมาก็จะเน่าสลายได้ช้า นี่คือหลักง่าย ๆ ถ้าบำรุงดี เซลล์แข็งแรง ทุกอย่างมันก็จะเจริญเติบโตได้ดี ฉันใดก็ฉันนั้น ตัวเราก็เหมือนกัน ถ้าเรากินดี อยู่ดี ออกกำลังกาย เราก็จะแข็งแรง มีกำลัง อยู่ทำความดีได้ นาน ๆ ดังนั้นบ้านสวนก็สอนอาจารย์พีทในการดำรงชีวิตด้วยเช่นกัน

        ปัจจุบันบ้านสวนอาจารย์พีท มีการปลูกพืช ผัก และผลไม้ที่รับประทานได้จริง ปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ฉีดยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด และยังปลูกไม้ 5 ระดับเพื่อให้มากลายมาเป็นพื้นที่ทำประโยชน์ เป็นปอดคนเมือง เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรในเมืองที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการสวนผักคนเมือง ให้มีแปลงสาธิตที่คนในชุมชนได้มาร่วมกันทำกิจกรรม ดังนั้นจึงตั้งชื่อโครงการว่า ชวนปลูกผัก รักชุมชน พ้นโควิด คือ การที่คนในชุมชนร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน ปรุงดิน เพาะเมล็ด ช่วยกันดูแลจนได้เก็บเกี่ยวผลผลิต และได้นำมาแบ่งปันให้กับคนในชุมชน

        นอกจากนี้บ้านสวนอาจารย์พีทยังได้พัฒนาหลักสูตรนักปลูกหัวใจสะเต็มขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้าน สะเต็มที่นำมาประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตรให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป เนื่องจากอาจารย์พีทเรียนและเป็นอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา และอยากทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการนำศาสตร์ ทั้ง 4 ของสะเต็ม (STEM) ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (S-Science) เทคโนโลยี (T-Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (E-Engineering) และคณิตศาสตร์ (M-Mathematics) นำมาบูรณาการ ประยุกต์ใช้และแก้ไขปัญหาในสวน รวมถึงมีการใช้หลักทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง ศาสตร์พระราชาเพื่อความสุขยั่งยืน ได้แก่ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา (แปรรูป) ค้าขาย และสร้างเครือข่ายให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้สวนเกษตรบ้านสวนอาจารย์พีท เพราะตรงนี้ มันคือพื้นฐานที่จะนำบ้านสวนอาจารย์พีท ให้เป็นสื่อกลางที่เป็นประโยชน์ส่งต่อสิ่ง ดี ๆ ให้ผู้คนทั่วไปนำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดและนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้อย่างยั่งยืน

        อย่างเช่น เราคิดสูตรผสมดินสำหรับปลูกผักคะน้าให้ใบใหญ่และน้ำหนักดี สูตรอาหารไส้เดือนขณะเริ่มต้น (Bedding) เพื่อให้ได้มูลไส้เดือนจำนวนมากและประหยัดต้นทุนแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การคิดสูตรสารไล่แมลงหวี่จากใบกระเพรา แทนการใช้ยาฆ่าแมลง การสร้างจักรยานสูบน้ำเพื่อรดน้ำในแปลงผักเพื่อผ่อนแรง

        จากจุดเริ่มต้นในวันแรก อาจารย์พีทไม่คิดเหมือนกันว่าบ้านสวนอาจารย์พีทจะเดินทางมาถึงวันนี้ ซึ่งยังมีหลายเรื่องราวดี ๆ จากบ้านสวนอาจารย์พีท และแม้การทำสวนจะเป็นเรื่องการทำเกษตร สิ่งที่เป็นเนื้อในของการทำงานยังคงไม่พ้นงานด้านการศึกษา และอาจารย์พีทมองว่า “เราต้องไม่ลืมรากเหง้าทางการเกษตรที่บรรพบุรุษส่งต่อมา ในฐานะลูกหลานและนักการศึกษาอย่างเราต้องนำมาใช้ ต่อยอด และชี้นำสังคมให้ได้”

อรวรรณ สุขมา : ภาพ/ข่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้