Last updated: 20 ก.พ. 2567 | 3247 จำนวนผู้เข้าชม |
ที่ประชุมสมาชิกวุฒิสภามีมติ เลือก "ภัทรศักดิ์ วรรณแสง" อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยคะแนนเห็นชอบ 186 คะแนน ไม่เห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 5 คะแนน
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเวลา 10.10 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบ นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. พิจารณาตรวจสอบประวัติเสร็จแล้ว ก่อนส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ โดยเป็นการประชุมลับใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะให้สว.ลงมติลับในการลงคะแนน
ผลปรากฏว่า นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ได้คะแนนเสียงเห็นชอบ 186 คะแนน ไม่เห็นชอบ 2 คะแนน ไม่ออกเสียง 5 คะแนน ถือว่า ได้คะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือ 125 เสียง ทำให้นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ได้รับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวานที่ผ่านมา มติที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ไม่เห็นชอบ "พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง" นั่งเก้าอี้ กรรมการ ป.ป.ช. เหตุขาดคุณสมบัติ ปมตำแหน่ง ผบช.น.ที่ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ดำรงตำแหน่งนั้น สว.หลายคนเห็นว่า ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี แม้จะอ้าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และระเบียบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่า ด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ให้ตำแหน่ง ผบช.น. สามารถเทียบเท่าอธิบดีได้นั้น แต่ สว.หลายคนเห็นว่า พ.ร.บ.และระเบียบ ก.ตร.ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระ
สำหรับการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่ที่เหลือนั้น เมื่อเดือนมกราคม ทีผ่านมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทนนายณรงค์ รัฐอมฤต
ส่วนนายพศวัจณ์ กนกนาก ที่ได้รับการสรรหาแทน พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ
ขณะที่ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ที่ได้รับการสรรหาแทน นางสาวสุภา ปียะจิตติ ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ เช่นกัน