Last updated: 28 เม.ย 2567 | 3334 จำนวนผู้เข้าชม |
พิสูจน์ได้ว่า...ในทุกที่ ที่มีการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ คนรวยและผู้มีอำนาจยึดครองระบบยุติธรรมทั้งหมด ในขณะผู้ที่มีความเปราะบางจะถูกจำกัดการเข้าถึงความยุติธรรม และต้องแลกด้วยการสูญเสียผลประโยชน์เสมอ
เก็บตกจาก องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2566 โดยจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผย เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 บอกให้สังคมไทยได้รับรู้ทั่วกัน ว่า...
ประเทศที่ได้คะแนนโปร่งใสสูงที่สุด คือ 90 คะแนน จัดเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ ประเทศเดนมาร์ก, อันดับ 2 ได้ 87 คะแนน คือ ฟินแลนด์ อันดับ 3 ได้ 85 คะแนน คือ นิวซีแลนด์
ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ประเทศสิงคโปร์ ได้ 83 คะแนน และถูกจัดคะแนนโปร่งใสอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก
จากมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญในแหล่งข้อมูล กล่าวจำเพาะประเทศไทย รับรู้สภาพว่า ไทยยังคงติดกับปัญหาการจ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อแลกกับการได้รับการอนุมัติ/อนุญาต การอำนวยความสะดวก ในการประกอบธุรกิจ หรือเพิ่มโอกาสและความได้เปรียบในการแข่งขัน
ประกอบกับยังคงปรากฏ กรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริตใช้ตำแหน่งหน้าที่ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การเรียกรับสินบน รวมทั้งการฉ้อฉล เบียดบัง ใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้บริหารหน่วยงานรัฐไร้ธรรมมาภิบาล อยู่เป็นระยะ ๆ
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ที่ผ่านมา ภาครัฐจะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นำระบบเทคโนโลยีมาใช้การพัฒนาการดำเนินงานโดยเฉพาะในเรื่องการอนุมัติ/อนุญาต ออกกฎ ระเบียบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะยังไม่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบ และการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล่าช้า
อีกทั้ง ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่จริงจังของรัฐ ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ย่อมส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ประเมิน เช่นกัน
สอดรับกับข้อสังเกต สำหรับรายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index(CPI) 2023 หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2566 นั้น Transparency International แสดงให้เห็นว่า
การคอร์รัปชันกำลังเฟื่องฟูไปทั่วโลก พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศ มีปัญหาคอร์รัปชันร้ายแรง คะแนนต่ำกว่า 50 จาก 100 คะแนน โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกยังคงติดอยู่ที่ระดับ 43 และประเทศส่วนใหญ่ไม่มีความก้าวหน้า หรือ ลดลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ยิ่งไปกว่านั้น 23 ประเทศ มีคะแนนลดลงมาที่ระดับต่ำสุด
จนถึงปัจจุบันในปี 2567 นี้ แนวโน้มระบบยุติธรรมจะยังคงอ่อนแอต่อไปในทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความรับผิดชอบน้อยลง ซึ่งช่วยให้การคอร์รัปชันขยายตัวมีผลให้ความอยุติธรรมและความยุ่งยากมาแรง
โดยเฉพาะการกระทำทุจริต เช่น การติดสินบนและการใช้อำนาจโดยมิชอบ กำลังแทรกซึมเข้าไปในกระบวนการยุติธรรมและเซาะกร่อนศาลหลายแห่งทั่วโลกเช่นกัน
เห็นได้จากประเทศไทย การต่อสู้อย่างต่อเนื่องกับการคอร์รัปชัน และความขัดแย้งทางการเมือง พฤติกรรมทั้งผู้นำเผด็จการและผู้นำที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย ตลอดผู้นำในองค์กรปราบปรามอาชญากรรมระบบราชการ ยังคงดำรงอยู่ในลักษณะท้าทายประชาคมมากขึ้น
ด้วยการแสดงออกหลากหลายลักษณะการกระทำ ที่ขยายวงกว้างไปถึงนักการเมืองและข้าราชการบางกลุ่มที่มีอำนาจ กระทำทุจริตที่แข็งกร้าวเหิมเกริม เช่น การติดสินบนและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ยังระบุในภาพรวมระดับนานาชาติทั่วไปอีกด้วยว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่มีคะแนนต่ำ - ไม่มีความก้าวหน้า ต่างพยายามบ่อนทำลายความยุติธรรม มีการแทรกแซงเข้าไปในศาลและสถาบันยุติธรรมอื่น ๆ เพื่อทำให้ผู้ทำผิดไม่ต้องรับโทษจากการทุจริตคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีติดอันดับดัชนี CPI สูง ก็มีปัญหาการไม่ต้องรับโทษด้วยเช่นกัน แม้คะแนนจะไม่สะท้อนให้เห็นก็ตาม และมักจะล้มเหลวในการตามล่าผู้กระทำความผิดในการคอร์รัปชันข้ามชาติ ที่พวกเขาสนับสนุน
พิสูจน์ได้ว่า...ในทุกที่ ที่มีการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ คนรวยและผู้มีอำนาจยึดครองระบบยุติธรรมทั้งหมด ในขณะผู้ที่มีความเปราะบาง จะถูกจำกัดการเข้าถึงความยุติธรรม และต้องแลกด้วยการสูญเสียผลประโยชน์เสมอ
วิชชา เพชรเกษม : บทความพิเศษ