ป.ป.ช. ลงดาบชี้มูลอดีตผู้ว่าการ ททท. ร่ำรวยผิดปกติ ลุยริบทรัพย์กลับคืนแผ่นดิน

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  3617 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช. ลงดาบชี้มูลอดีตผู้ว่าการ ททท. ร่ำรวยผิดปกติ ลุยริบทรัพย์กลับคืนแผ่นดิน

เผยเส้นทางเงินคดีรวยผิดปกติ ‘จุฑามาศ’ ซุกในบัญชีลูก 4 ประเทศ 65 ล้าน

“…ทำให้คดีนี้เป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ และเป็นคดีตัวอย่างของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะมุ่งมั่นในการปราบปรามปัญหาการทุจริตข้ามชาติ โดย ป.ป.ช. จะไม่เพียงแต่มุ่งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ยังเน้นถึงการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกลับคืนสู่แผ่นดินด้วย…”

วันนี้ (24 มีนาคม 2560) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรอันสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจ้างนักธุรกิจชาวอเมริกันในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพและโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท.

กรณีดังกล่าวได้มีการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จนปรากฏตามพยานหลักฐานว่านางจุฑามาศ มีทรัพย์สินเป็นเงินที่ฝากอยู่ในบัญชีประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซีย์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีบุตรสาวเป็นผู้ถือครองแทน และการชี้แจงถึงที่มาของเงินดังกล่าวไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ ทั้งนี้ ทรัพย์สินดังกล่าว ป.ป.ช. ได้ประสานกับทางการสหรัฐอายัดไว้แล้ว และทางการสหรัฐมีพันธกรณีที่จะต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้รัฐไทยตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 และสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องเนื่องจากเป็นทรัพย์สินของรัฐไทยที่เกิดจากการทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช. จะได้ประสานกับทางการสหรัฐ เพื่อติดตามทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็วโดยอาจทำเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐ หรือกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้คดีนี้เป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ และเป็นคดีตัวอย่างของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการปราบปรามปัญหาการทุจริตข้ามชาติ โดย ป.ป.ช. จะไม่เพียงแค่มุ่งนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษแต่ยังเน้นถึงการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกลับคืนสู่แผ่นดินไทย

ทั้งนี้ ในส่วนของคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนางจุฑามาศและบุตรสาวเป็นจำเลยจาก การทุจริตเรียกรับสินบนและเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจชาวอเมริกันในการดำเนินโครงการภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ พ.ศ. 2546 – 2550 และโครงการอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น ศาลอาญาได้ทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้วและมีนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 29 มีนาคม 2560 เวลา 09.00 น.

ในส่วนของการดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินคดีกับนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเชีย กรีน สองสามีภรรยานักธุรกิจชาวอเมริกันในความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ อันเป็นความผิดตามกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐอเมริกา โดยจำเลยทั้งสองได้รับโทษถึงที่สุดแล้ว และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับนางจุฑามาศ และบุตรสาว ในความผิดฐานฟอกเงิน และดำเนินการริบทรัพย์ทางแพ่ง มีการอายัดเงินในบัญชีธนาคารต่าง ๆ ในต่างประเทศของบุตรสาวคือ ในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซีย์ และสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่ารวม 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 65 ล้านบาท โดยปัจจุบันทางการสหรัฐอเมริกาได้พักคดีดังกล่าวไว้ เพื่อรอผลการพิจารณาคดีอาญาของศาลในประเทศไทย

ส่วนคดีอาญาในประเทศไทย ในวันที่ 29 มี.ค. 2560 ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ และบุตรสาว ในคดีการรับสินบน

คดีนี้ ป.ป.ช. จะประสานกับทางการสหรัฐฯ เพื่อติดตามทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ในต่างประเทศกลับคืนสู่ไทยโดยเร็ว โดยอาจทำเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐฯ หรือกับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้คดีนี้เป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจากต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ และเป็นคดีตัวอย่างของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะมุ่งมุ่นในการปราบปรามปัญหาการทุจริตข้ามชาติ โดย ป.ป.ช. จะไม่เพียงแต่มุ่งน้ำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ยังเน้นถึงการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกลับคืนสู่แผ่นดินด้วย

อนึ่ง พฤติการณ์ของนางจุฑามาศในคดีเรียกรับสินบน เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ศาลสหรัฐฯ และเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act) หรือ FCPA ของสหรัฐฯ กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. กระทั่งปลายปี 2553 ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย 6 เดือน จากนั้นกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน จ่ายเงินชดใช้ 2.5 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท โดยนอกเหนือจากนางจุฑามาศ แล้วยังกล่าวหาบุตรสาวนางจุฑามาศด้วย

ขณะเดียวกันสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเร่งด่วน โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI เป็นข้อมูลเอกสารกว่า 2,200 แผ่น พร้อมทั้งเส้นทางการเงินที่นางจุฑามาศนำไปฝากที่ต่างประเทศด้วย และเชิญนางจุฑามาศ และบุตร เข้ามาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.

กระทั่งในปี 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ และบุตร ถูกกล่าวหาเรียกรับสินบนสองสามีภรรยาชาวสหรัฐฯ วงเงินประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 60 ล้านบาท (ค่าเงินขณะนั้น) และส่งสำนวน พร้อมความเห็นให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) อย่างไรก็ดี อสส. เห็นว่า ยังมีข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ในคดีอยู่ จึงประสานมายัง ป.ป.ช. เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดี

ผ่านมาประมาณ 3 ปี ประมาณปลายปี 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแถลงผลการประชุมคณะทำงานร่วมฯว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อไม่สมบูรณ์เสร็จแล้วว อสส. จึงนำตัวนางจุฑามาศ และบุตร ส่งฟ้องต่อศาลอาญา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้