รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1787 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2560 เวลา 20.15 น.

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2560 ก็ผ่านพ้นมาแล้วด้วยดี ในปีนี้นอกจากรัฐบาลจะมุ่งรณรงค์ ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้ คุณค่าทุกชีวาปลอดภัย” แล้ว รัฐบาลก็ยังมีนโยบายที่จะยกระดับประเพณีสงกรานต์ของไทยให้เป็นงานระดับโลก (World Event) โดยจัดให้มีขบวนพาเหรดประชาสัมพันธ์งานนี้ไปทั่วโลก และมีการประกวดเทพีสงกรานต์นานาชาติเป็นครั้งแรกของประเทศ เพื่อสืบสานแนวคิดแบบไทย ๆ สู่สากล

ผมเองรู้สึกปลาบปลื้มใจ ที่ได้เห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่งชุดไทย ทักทายด้วยการไหว้และยิ้มแบบไทย ๆ บนเวทีประกวดเทพีสงกรานต์ในครั้งนี้ด้วย นอกจากนั้น ยังมีการเชิญคณะทูตานุทูตและภริยาจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมงานสงกรานต์ที่วัดปทุมวนาราม มีการร่วมจัด “สงกรานต์อาเซียน” ณ จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะสานความสัมพันธ์ร่วมกันด้วยมิติทางวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดงานสงกรานต์ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย เป็นต้น ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมกิจกรรมสงกรานต์นั้นคงไม่ใช่เพียงมาร่วมการละเล่น รดน้ำ เพื่อความสนุกสนาน คลายร้อนเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การได้สัมผัส ซึมซับประเพณีอันงดงามของเรา ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันในรายละเอียด ในแต่ละท้องถิ่น ที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมายาวนาน ควรค่า
แก่อนุรักษ์การศึกษา และสืบสานให้คงอยู่คู่สังคมไทย ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป

สำหรับรัฐบาลแล้ว “ความสำเร็จ” ในการจัดงานเทศกาลสงกรานต์นั้น นอกจากจะเป็นการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวของไทยแล้ว อีกภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากคือ การอำนวยความสะดวกและการสร้างบรรยากาศความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับทุกคน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัญจรของพี่น้องประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาและนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวนี้

ผมไม่อยากจะกล่าวซ้ำเรื่องสถิติการสูญเสียว่า มากขึ้น หรือน้อยลง เพราะการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จากความประมาท ที่เราน่าจะสามารถป้องกันได้นั้น มีเพียงรายเดียวผมยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ ผมได้ให้เก็บข้อมูลทางสถิติที่มีรายละเอียด และหลากหลายมิติ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปทำงานแก้ไขอย่างบูรณาการกัน บนข้อมูลพื้นฐานชุดเดียวกัน สำหรับในการปรับปรุงสภาพถนน พื้นผิวจราจร สัญญาณไฟ ป้ายเตือน ทางแยก ทางร่วม ทางโค้ง สะพาน จุดกลับรถ จุดตัดทางรถไฟ และอื่นๆ ให้มีความเหมาะสม ตามหลักวิชาการ และที่สำคัญ แล้วก็เป็นประเด็นสังคมในช่วงที่ผ่านมา คือ การพิจารณากฎหมายทั้งปวง ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัย ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความเป็นจริงทางสังคม

ผมเองเข้าใจว่า การจะอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุขนั้น เราต้องอาศัย ทั้ง “กฎหมายจารีตประเพณี” และ “กฎหมายลายลักษณ์อักษร” โดยกฎหมายจารีตประเพณี ก็คือ แนวทางหลักปฏิบัติที่ดี ที่ทำต่อ ๆ กันมาสม่ำเสมอและนมนาน ด้วยรู้สึกว่าถูกต้อง จึงปฏิบัติตามกัน โดยไม่รู้สึกผิด แต่ถ้าเรื่องใดที่กฎหมายจารีตประเพณี ไม่สามารถรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยแล้ว ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรเข้ามาบังคับใช้เพิ่มเติม

ดังนั้น ผมเห็นว่าเราน่าจะมาถึงจุดที่ควรจะต้องทบทวนกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความสมดุล และเป็นไปได้ ในโลกของความเป็นจริง ที่ต้องเหมาะกับสังคมบ้านเราด้วย มีเวลาในการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไปสู่จุดหมายสุดท้ายที่เราต้องการ ก็คือ การอยู่ร่วมกันโดยสวัสดิภาพ และเมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว สิ่งที่เราจะต้องร่วมกันทำต่อไป คือเรื่องของ การปลูกจิตสำนึก และการสร้างวินัยจราจร ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ได้รับการยอมรับ เชื่อถือจากประชาชนด้วย

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลและยั่งยืนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามแนวทาง “ประเทศไทย 4.0” ที่ผ่านมา การพัฒนาของเรานั้น อาจจะมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก โดยอาจจะลืม “มิติสิ่งแวดล้อม” ไม่มากเท่าที่ควร จนนำไปสู่การเสียสมดุลในปัจจุบัน วันนี้ ผมได้เห็นพัฒนาการที่ดี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่รัฐบาลไม่ได้มีเพียงมาตรการเข้มงวดด้านการจราจรเท่านั้น แต่ยังกำหนดมาตรการจัดระเบียบสังคมอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของ“ขยะ” รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ได้ประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การที่เราสามารถกำจัดขยะมูลฝอย ตกค้าง สะสมมานานมากกว่า 20 ล้านตัน จากทั้งหมด 30 ล้านตัน การกำหนดพื้นที่รวบรวมของเสียอันตราย 83 แห่งทั่วประเทศ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ถูกหลักวิชาการ และการรณรงค์เพื่อลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอย ในภาพรวมของประเทศ เฉลี่ยให้ลดลง ร้อยละ 5 หรือไม่เกิน 23 ล้านตันต่อปี เป็นต้น เหล่านี้ต้องร่วมมือกันให้มาก

วันพรุ่งนี้ 22 เมษายน เป็นวัน “คุ้มครองโลก” ซึ่งเป็นวันสำคัญทางสิ่งแวดล้อมเพื่อเตือนใจให้ “ชาวโลก” ทุกคนมีจิตสำนึกช่วยกันปกป้องดูแลโลกของเรา ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติและหายนะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผมถือโอกาสนี้ เชิญชวนประชาชน “ชาวไทย” ทุกท่าน ได้ร่วมกันลด “ก๊าซเรือนกระจก” อย่างจริงจัง บางคนอาจคิดว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องไกลตัวไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับท่านเลย หรือเข้าใจผิดว่าท่านไม่ได้เป็นคนปล่อยก๊าซเรือนกระจก แล้วกลับเห็นว่าการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นเรื่องของภาครัฐ ที่ต้องหาทางควบคุมโรงงาน กิจกรรมที่ปล่อยก๊าซนี้ออกมาในปริมาณมาก ๆ ให้เหลือในปริมาณที่เหมาะสม

ผมอยากเรียนทำความเข้าใจกับท่านเหล่านั้น ขอความร่วมมือจากทุกคน ในอนาคตต่อไป สิ่งที่เราควรรู้คือ เราทุกคนนั้นต่างปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่ชั้นบรรยากาศไม่มากก็น้อย ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะขับรถ เปิดน้ำ เปิดไฟ ต่างเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ไม่ทางตรง หรือทางอ้อม ยิ่งการผลิตไฟฟ้า การผลิตสิ่งของต่าง ๆ ในโรงงาน การขนส่งที่ใช้พลังงานมากก็จะยิ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากและสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากตามไปด้วย ก็จะส่งผลให้เกิดภัยต่าง ๆ ตามมาภายหลัง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ หรืออากาศร้อนจัด หนาวจัด เหมือนที่เราสัมผัสได้ในทุกวันนี้

ประการต่อไป คือคนไทยส่วนมากอาจจะไม่รู้ว่า องค์กรสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี ได้จัดอันดับให้ประเทศของเรา เป็น “1 ใน 10” ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดในโลก ดังนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่ป้องกัน ไม่ร่วมมือ ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราบ้าง อนาคตอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า เราอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติที่มากขึ้น บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

ประการต่อไปประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ 21 ของโลก แม้เรานั้นจะไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของ
โลก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะปล่อยก๊าซ “เพิ่มมากขึ้น” ในอนาคต รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ แล้วได้เริ่มลงมือลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง และนับตั้งแต่ผมได้ไปแสดงเจตจำนงไว้ที่กรุงปารีส ในปี 2558 ว่า ไทยนั้นจะมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20–25 ภายในปี 2573 ซึ่งจะช่วยในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้เกิดภัยพิบัติในอนาคตแก่โลกใบนี้

อันที่จริงแล้วเรื่อง “ก๊าซเรือนกระจก” นี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทั้งยังมีพระราชดำริในเรื่อง “โลกร้อน” มาตั้งแต่ปี 2532 ที่เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นและสิ่งแวดล้อมแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อไทยและต่อโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงได้พระราชทาน “ศาสตร์พระราชา” และโครงการตามแนวทางพระราชดำริ หลาย ๆ เรื่อง ให้รัฐบาลและปวงชนชาวไทย ได้น้อมนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวแต่เนิ่น ๆ อย่างมีความรับผิดชอบ

ในส่วนของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเร่งด่วนกับภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปริมาณมากก่อน ได้แก่ ภาคพลังงานและภาคคมนาคมขนส่ง ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมให้ผลิตและใช้พลังงานทดแทน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน การลดการขนส่งทางถนน และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งระบบทางรางให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฮบริด รถพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมให้ใช้ไบโอดีเซล และเอทานอล ในภาคขนส่งเหล่านี้ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังได้เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปกป้องธรรมชาติอย่างสมดุล ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก ไม่ให้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศ ถ้าประเทศไทย มีพื้นที่ป่าไม้มาก ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ แต่การลดก๊าซเรือนกระจกเฉพาะเพียงภาครัฐ คงทำอะไรไม่ได้มากนัก ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในลักษณะของ “ประชารัฐ” ไปด้วย

สำหรับภาคประชาชน ชุมชนนั้น ผมขอยกย่อง หมู่บ้านป่าเด็ง ตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นตัวอย่างในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยยึด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเดิมทีนั้น หมู่บ้านแห่งนี้ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง จึงต้องใช้เครื่องปั่นไฟ สิ้นเปลืองน้ำมันมาก และต้องตัดไม้มาทำฟืนหุงหาอาหาร ต่อมาสมาชิกหมู่บ้านได้รวมตัวกันเพื่อหาแนวทาง แก้ไขปัญหาร่วมกันโดยตั้ง “เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ” จากการระดมสมอง โดยเห็นว่าในหมู่บ้าน มีการเลี้ยงวัวนมตามโครงการพระราชดำริ ทำให้มีมูลวัวมากมาย อีกทั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม มีขยะอินทรีย์เป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้มูลวัวและขยะอินทรีย์มาทำ “ก๊าซชีวภาพ” เพื่อหุงต้มและผลิตไฟฟ้าบางส่วน

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนำพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ผลิตไฟฟ้า จากแผงโซลาร์เซลล์เก่า เก็บมาซ่อมเพื่อใช้ใหม่ ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านป่าเด็ง มีไฟฟ้าใช้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าไฟแม้แต่บาทเดียว และประหยัดรายจ่ายจากค่าก๊าซหุงต้มอีกด้วย ปัจจุบัน “เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ” ของชาวบ้านป่าเด็งนี้ ได้ยกระดับไปสู่ “สถาบันเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและพลังงานทางเลือก” ทำหน้าที่เป็นผู้แบ่งปันองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนอื่น เป็นหลักปฏิบัติ ซึ่งก็คงไม่ใช่เป็นเพียงหลักการ หรือหลักวิชาการในตำรา นี่คือชุมชนตัวอย่างที่ไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐ มีความยั่งยืน มีความสุข จากการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

พี่น้องชาวไทยที่เคารพรักทุกท่าน ปัญหาเรื่องการต่อสู้ปัญหาภาวะโลกร้อนและการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การจัดการขยะของเสียตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ดังนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่อง “1 ใน 27” วาระการปฏิรูปประเทศ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลให้ความสำคัญจะต้องนำไปสู่ความ สำเร็จให้จงได้ ทั้งนี้ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา มีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ดีและปลูกจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง ชุมชน เทศบาล หรือหมู่บ้าน ก็ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องเหล่านี้เช่นกัน คือคงไม่ต้องรอให้ใครมาบอก มาสั่ง ก็ต้องริเริ่มแล้วก็เป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับลูกหลาน ขยายกันออกไปให้กว้างขวาง ร่วมมือร่วมใจกันทำอย่างจริงจัง ก็จะช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดภาวะโลกร้อน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

พี่น้องประชาชนครับ

แม้ว่าการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืนตามกระแสสากลนั้นจะมีความสำคัญอย่างมาก แต่ก็ไม่ควรทำให้เราหวาดกลัวจนเกินเหตุ จนไม่กล้าไม่ยอมรับโครงการพัฒนาใด ๆ ผมเห็นว่าเรายังคงสามารถรักษาสมดุล สำหรับการวางรากฐานอนาคตของประเทศ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ได้ เพื่อให้ประเทศชาติ และประชาชนมีความมั่นคงทางรายได้ เศรษฐกิจขนาดใหญ่ กลาง และฐานรากจะต้องเจริญ เติบโตไปด้วยกัน ลดความเหลื่อมล้ำ และสามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศในภูมิภาคหรือในโลกได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา

ผมขอให้ลองนึกถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดยั้ง จนเข้ามาเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของเราทุกคน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศ และปัญหาทางการเมืองหลาย ๆ จุดในโลกที่พร้อมขยายวงกว้าง และส่งผลต่อมิตรประเทศ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้เราต้องตระหนักว่า เราจะอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ หรืออยู่กับที่ไม่ได้ เราต้องก้าวตามให้ทัน หรือก้าวไปให้ไกลกว่า เพื่อเตรียมพร้อมต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือสิ่งที่คาดไม่ถึง รัฐบาลจึงได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ พร้อมกันในหลายด้าน เพื่อจะวางรากฐานให้กับอนาคตของประเทศตั้งแต่วันนี้ ให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะมีความแข็งแกร่ง ตั้งแต่ระดับฐานราก โดยยึดมั่นแนวทาง “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นยุทธศาสตร์พื้นฐานของทุก ๆ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

ในวันนี้ ผมขอยกตัวอย่างในเรื่องที่ถือเป็นการมองอนาคต เพื่อปลูกฝังรากฐานสำคัญ ซึ่งก็คือเรื่อง “คน” เพื่อเตรียมการรองรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น เราทุกคน ต้องปรับตัวก่อน และต้องสร้างลูกหลานของเราให้พร้อม โดยรัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุน ล่าสุดคณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติโครงการสร้าง “ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต” หรือเรียกว่า Futurium ขึ้น ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ของเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยจะกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ และนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และโลกใบนี้ได้ เช่น นวัตกรรมการขนส่ง นวัตกรรมหุ่นยนต์ นวัตกรรมพลังงานทางเลือก และนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการจัดระบบงานวิจัย ให้เชื่อมโยงกับภาคเอกชน เพื่อสร้างบรรยากาศในการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพสายวิทยาศาสตร์ ให้ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนด้วย ขณะที่เยาวชนเอง ก็จะสามารถเรียนรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ตนถนัด หรือชื่นชอบ และเลือกที่จะพัฒนาตนเองเข้าสู่สายอุดมศึกษาหรือสายอาชีพต่าง ๆ ต่อไป ได้อย่างเหมาะสม ส่วนภาคเอกชนนั้นก็จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพเข้าไปช่วยงานและสร้างผลิตภาพ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยนะครับ

โครงการนี้ คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2564 และมีระยะเวลาโครงการ 31 ปี โดยจะมีการพัฒนา Futurium ไปสู่การเป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” มีเนื้อหาสาระของนิทรรศการที่สามารถปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและภาคเอกชน เพื่อให้ Futurium นั้น เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น การสร้างและบริหารจัดการ Futurium นี้ จะเป็นการร่วมมือกัน ระหว่างภาครัฐโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และภาคเอกชน ขณะนี้มีหลายธุรกิจเอกชน สนใจที่จะร่วมลงทุนกับภาครัฐ เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา มุ่งสู่อาชีพสมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นการเตรียมกำลังคนของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และนำพาประเทศก้าวพ้นกับดัก “ประเทศรายได้ปานกลาง” ไปสู่ “ประเทศพัฒนาแล้ว” ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรายได้ที่สูงขึ้นในเร็ววันนี้

ทั้งนี้ โครงการ Futurium นอกจากจะตอบโจทย์ในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรของประเทศแล้ว ยังจะเป็นโครงการที่สอดรับกับการขับเคลื่อนระบบ “สะเต็มศึกษา” หรือ STEM Educationของประเทศอีกด้วย ซึ่งระบบนี้เป็นแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 วิชา จากคำว่า STEM วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เข้าด้วยกัน รูปแบบของ Futurium นั้น จะช่วยการสอนให้นักเรียนเข้าใจวิชาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพราะได้ลงมือปฏิบัติเอง และเห็นภาพจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับนั้นไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ หรือสามารถนำไปพัฒนากระบวนการหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงานได้ ก็นับได้ว่าจะเป็นทักษะในการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 นี้ ได้เลย สำหรับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ก็มีนโยบายให้นำ STEM Education มาใช้ แล้วพบว่านักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ มีการพัฒนาชิ้นงานได้ดี หากยิ่งเริ่มเร็วเท่าใด ก็ยิ่งจะเพิ่มความสามารถและศักยภาพของนักเรียนได้มากขึ้น เป็นเงาตามตัว

สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มมีการนำ “สะเต็มศึกษา” มาใช้ตั้งแต่ปี 2559 โดยเป็นการร่วมมือกันของกระทรวงศึกษาธิการ กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นนโยบายเชิงรุก ในการนำสะเต็มศึกษาเข้าบรรจุไว้ในเนื้อหาวิชาต่างๆ รวมถึงกิจกรรมนอกชั้นเรียน ปัจจุบันครอบคลุมไปในทุกพื้นที่เขตการศึกษาแล้วอีกทั้งยังมีการจัดตั้ง “ศูนย์สะเต็มศึกษา” และเครือข่ายในการพัฒนาหลักสูตร รวมถึง “ครูพี่เลี้ยง” ที่จะช่วยพัฒนาครูผู้สอน ที่กระจายไปทั่วประเทศอีกด้วย ผมขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกคน และขอให้ช่วยกันผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ในวงกว้างขึ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อจะช่วยกันพัฒนาลูกหลานของเราให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญของชาติ เป็นอนาคตของชาติต่อไป

ในการนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักที่จะเป็นรากฐานการพัฒนาสู่อนาคต โดยเมื่อวานนี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการรายงานความก้าวหน้าของโครงการเน็ตประชารัฐ ที่จะติดตั้งอินเตอร์เน็ตให้กับพี่น้องประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ 74,965 หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนไปสู่ Thailand 4.0 ด้วย และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดใช้งานเน็ตประชารัฐ 99 หมู่บ้าน เพื่อเป็นการนำร่องทั่วประเทศไปแล้ว และมีเป้าหมายจะติดตั้งให้ได้ทั้งหมด 24,700 หมู่บ้านให้ได้ภายในสิ้นปี 2560 เพื่อเป็นช่องทางให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ข่าวสาร เข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และสามารถยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนั้น ยังมีโครงการดิจิทัลชุมชน ที่จะเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน ได้เพิ่มรายได้ ผ่านการพัฒนานำระบบดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในระดับหมู่บ้านเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ผ่านธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า e-Commerce โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการผ่านกลไกประชารัฐ และมีการวางระบบขนส่งผ่านไปรษณีย์ไทย ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้วซึ่งก็จะเพิ่มความสามารถให้กับผู้ซื้อและผู้ขายในเรื่องของการโอนเงิน ขนส่งสินค้า และการรับประกันการซื้อขาย เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับสินค้าตรงตามที่ต้องการ และช่วยป้องกันการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐจะเร่งบูรณาการการทำงานให้มีการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความมั่นใจ และเข้ามาใช้ประโยชน์ในโครงการให้ได้มากขึ้นต่อไปด้วย

อีกด้านหนึ่งของการพัฒนาสาธารณูปโภคด้านดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างรากฐานสู่อนาคตก็ได้มีการหารือในการประชุมครั้งนี้ คือการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือDigital Park Thailand ที่อำเภอศรีราชาซึ่งจะเชื่อมโยงกับพื้นที่ EEC และสนับสนุนกิจกรรม
ต่าง ๆ ใน EEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Digital Park นี้ จะเป็นพื้นที่ของการสร้างนวัตกรรมของประเทศ โดยจะมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการจัดตั้งสถาบันพิเศษด้านดิจิทัล เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญให้ตรงกับความต้องการ และยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่
รวมทั้งจะมีการขยายศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับการเป็น data hub ของอาเซียน ซึ่งโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนพื้นที่ส่วนหนึ่งและสาธารณูปโภคด้านเครือข่ายจาก CAT และจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับstartup ของไทยในการสร้างรายได้ด้วย ผมขอชื่นชมและสนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะพยายามเร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เนื่องจากโครงการเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไปด้วย

ตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่อนาคตในด้าน “การผลิต” ประเทศไทยกำลังจะมี “ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่”ภายใต้โครงการศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งจะเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ทั้งด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน สถานีประจุไฟฟ้าต้นแบบ รวมถึงการเก็บฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ เพื่อที่จะรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เนื่องจากเราเล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ทำรายได้ให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 นี้ คาดว่าไทยจะมียอดการผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านคัน ซึ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน ส่งออกถึง 1.2 ล้านคัน ที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ผ่านการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เช่น รถอีโคคาร์ รถที่ปล่อย CO2 น้อยและมีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยสูงจะมีภาระภาษีลดลง ขณะที่มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศภายใต้ BOIจะช่วยให้ไทยมุ่งไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเริ่มศึกษาและพัฒนากันตั้งแต่วันนี้ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการเป็น “ผู้นำการผลิตรถยนต์” ของไทยในภูมิภาคไว้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต ในภาพรวมของประเทศ รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0” ระยะ 20 ปี ขึ้น ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีแผนการดำเนินการหลัก ๆ ได้แก่

1. การยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศรายได้สูงโดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เป้าหมายที่เป็น อุตสาหกรรม อนาคตหรือ S-curve ทั้งการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นทั้งการผลักดันให้เกิดการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตั้งจุดมุ่งหมายให้ประเทศไทยกลายเป็น“ศูนย์กลางการผลิต” ในอาเซียน และเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารที่มีมูลค่าสูงสุดของโลก รวมทั้งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่ผมเพิ่งกล่าวถึงไปแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมกว่า 180,000 ไร่ ซึ่งเราคาดหวังว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี ต้องไม่ได้รับผลกระทบต่อชุมชนด้วยนะครับ ต่อประชาชน

2. การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนา SMEs ที่มี Idea ให้เป็นผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ ที่มีนวัตกรรม และสามารถนำต้นแบบงานวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้ digital เพื่อให้ธุรกิจปรับเข้าสู่ “SMEs ยุค 4.0” สำหรับเศรษฐกิจฐานราก จะมีการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ รวมทั้งมีการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อจะเชื่อมโยงการผลิตจากท้องถิ่นมาสู่มือของผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ อีกด้วย

3. การสร้างความสมดุลในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม โดยระดับสถานประกอบการ ก็ต้องได้การรับรองเครื่องหมาย“อุตสาหกรรมสีเขียว” ส่วนระดับเมือง ก็มีโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งปัจจุบัน
มีโครงการนำร่องใน 15 จังหวัด และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 59 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานตามแผนทั้ง 3 ข้อ กระทรวงอุตสาหกรรม ก็มีแผนจะปรับบทบาทและโครงสร้างของกระทรวงฯ และสถาบันเครือข่ายทั้ง 11 แห่ง ให้เน้นบทบาทของการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน S-Curve และ SMEs ตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำหรับช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ให้มีความเข้มแข็งจากภายใน สามารถขยายตัวสอดคล้องกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ในการผลักดันประเทศให้ก้าวเดินสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วย

พี่น้องประชาชนครับ เพื่อจะช่วยกันผลักดันแผนการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมข้างต้น ผมขอประชาสัมพันธ์ว่า ระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม ศกนี้ จะมีการสำรวจสถานประกอบการอุตสาหกรรมการผลิตทั่วประเทศ โดยจะมีการลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเพื่อเก็บข้อมูล รวบรวม เช่น ประเภทอุตสาหกรรม ชนิดของผลิตภัณฑ์ จำนวนคนทำงาน ค่าตอบแทนแรงงาน เป็นต้น โดยฐานข้อมูลที่ได้นั้น จะนำไปใช้ในการวางแผนและเป็นใช้เป็นการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิต ในการที่จะเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินกิจการ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และจัดทำแผนวิเคราะห์สถานการณ์ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย ผมจึงอยากขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทั้งนี้ ขอรับรองว่าข้อมูลจากการสัมภาษณ์ดังกล่าวจะไม่มีการรั่วไหล ไม่มีการเกี่ยวพันกับข้อกฎหมาย และไม่โยงใยไปถึงเรื่องภาษีและอื่น ๆ แน่นอน

นอกจากนั้น วันนี้ผมมีข่าวดี ๆ เป็นที่น่ายินดีว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยของผู้บริโภคในเดือน มีนาคมที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 4 และถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อีกทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ก็ปรับตัวดีขึ้นนะครับ ซึ่งก็จะช่วยให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่เป็นเกษตรกรมีมากขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยสนับสนุนให้คนไทยสามารถจับจ่ายใช้สอยและเดินทางท่องเที่ยวได้มากขึ้นด้วย เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดีขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เศรษฐกิจไทยจะเจริญเติบโตได้ดี มีความเข้มแข็ง และส่งผลดีต่อรายได้ของพี่น้องประชาชนในทุกกลุ่ม ทุกอาชีพด้วย รัฐบาลจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเติบโตนี้ มีต่อไปได้อย่างยั่งยืน

มีอีกข่าวที่เป็นข่าวดี คือการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ประจำปี 2017 ของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UNSDSN) ที่จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดอันดับ 2 ของอาเซียนและอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย โดยการจัดอันดับจะวัดจาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) อายุขัยเฉลี่ยของประชากร เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตและทำงาน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในสังคม ความโปร่งใส ฯลฯ ในปีนี้ประเทศของเราขยับดีขึ้น 1 อันดับและดีกว่าประเทศอื่น ๆ ของโลกอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ไทยเรา เป็นแชมป์ประเทศที่มี “ความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก” ด้วย

พี่น้องประชาชนครับ เราไม่จำเป็นต้องพอใจในตำแหน่งนี้ เพราะผมรู้ว่าเรายังสามารถร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมพลังความสามัคคี พลัง “ประชารัฐ” ทำให้ประเทศมีคะแนน หรือมีอันดับที่สูงกว่านี้ได้ เพียงแค่เราต้องปรองดองกัน เพื่อไปสู่ความสุข ความยั่งยืนของคนไทยทุกคน เราจะต้องรับฟังความเห็นต่างที่สร้างสรรค์ โดยพยายามเข้าอกเข้าใจกัน และร่วมกันแก้ไขปัญหา เข้าใจอุปสรรค ขวากหนาม ที่มีอยู่ ตั้งแต่ในอดีต และเราต้องไม่สร้างกำแพงขึ้นมาใหม่ เราต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ ช่วยกันทำสังคมของเราให้น่าอยู่ โดยเริ่มจากตัวเราเองก่อน สังคมใกล้เราก่อน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เป็นพลเมืองดี แล้วหันไปมองผู้อื่นด้วยใจที่เป็นธรรม จดจำแต่ความดีของเขา และมองข้ามความผิดพลาดถึงเขาจะต้องแก้ไข ถ้าเราทุก ๆ คนทำได้เช่นนี้แล้ว ใครก็จะจัดให้เราอยู่อันดับไหน ก็คงไม่มีความสำคัญแล้ว เพราะเรามีความสุขกันแล้ว

ผมไม่อาจจะกล่าวอ้างได้ว่าผม ในนามของนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. หรือ รัฐบาล ใน คสช. จะทำอะไรได้ดีกว่าใคร ได้ดีกว่ารัฐบาลไหนก็แล้วแต่ เป็นเรื่องที่ประชาชน ประเทศชาติในปัจจุบัน อนาคตจะเป็นผู้สรุปและประเมินผล แต่ผมก็อยากจะกล่าวได้ว่าผมได้ทำอะไรไปบ้าง ที่อาจจะไม่ได้ทำมาหลายอย่าง เช่น

1. การสร้างพื้นฐานอนาคตที่ยั่งยืน ไม่ใช่ประเดี๋ยวประด่าว

2. บังคับใช้กฎหมายที่จำเป็น ก็ทราบอยู่แล้ว อันไหนจำเป็นก็ต้องใช้

3. นำเรื่องสำคัญเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดความบิดเบือน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของเรา ก็สุดแล้วแต่ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมท่าน

4. การปรับปรุงกฎหมายจำนวนหลายฉบับ ทั้งกฎหมายประชาชน กฎหมายการค้าการลงทุน กฎหมายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ผู้ยากไร้ ยากจน กองทุนยุติธรรม

5. การจัดทำแผนแม่บทในการบริหารจัดการที่ดิน หาที่ทำกิน ขจัดการบุกรุกป่า การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งมีผลทยอยดีขึ้นมาตามลำดับ วันนี้อาจจะลดปัญหาของการขาดแคลนหรือภัยแล้งลงไปได้บ้าง อาจยังไม่ทั่วถึง เพราะต้องใช้เวลางบประมาณจำนวนมากในการทำให้เต็มทั้งระบบ

6. การแก้ปัญหาบุกรุกทำลายป่าเราต้องแก้ไขอย่างยั่งยืน ให้เป็นระบบ เราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่หรือรัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนทุกคนจะต้องช่วยกันดูแล

7. การแก้ปัญหาการเกษตรทั้งระบบ พืชเศรษฐกิจทุกชนิด เราต้องนำมาสู่การแก้ปัญหาทั้งสิ้น ทั้งในประเทศทั้งต่างประเทศ กลไกต่าง ๆ มากมายเปลี่ยนแปลงทั้งหมด มีการปรับรูปแบบการทำการเกษตรที่เขาทำแล้วได้ผลดีมีรายได้สูงขึ้นเป็นจำนวนมาก เราต้องสร้างการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งด้วยตัวเอง นอกจากการที่รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณในการจ่ายขาดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ยั่งยืน วันนี้เรามีทั้งจ่ายขาดก็มี เงินกู้ยืมก็มี เงินสร้างความเข้มแข็งก็มี มีอีกหลายอย่าง ให้อย่างเดียวก็ใช้ได้ ก็ใช้หมดไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ก็ต้องผสมผสานกันไป ก็เลยอาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ต้องไปดูกัน

8. เรื่องเตรียมการรองรับการสาธารณสุข สังคมสูงวัย อันนี้จำเป็นมากเลย เพราะเราใช้ในเรื่องของการศึกษา เรื่องสาธารณะสุขเป็นจำนวนมาก เราต้องปฏิรูปทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น และเราต้องระมัดระวังเรื่องของปัญหาด้านงบประมาณ เราถึงบอกว่าเราต้องหารายได้เพิ่มให้กับประเทศเพิ่มขึ้นยังไง โดยเฉพาะเรื่องของการ รัฐสวัสดิการทั้งหมด

9. การแก้ปัญหาการขนส่งมวลชน ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เป็นระบบ อาจจะไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาการจราจรมากมาย วันนี้ก็เริ่มแก้มา เริ่มแกะออกมา เริ่มแก้มา เริ่มต่อระยะออกมา อะไรมา ก็แก้ปัญหาได้พอสมควร แต่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องใช้เวลาหลาย ๆ ปี ที่ผ่านมาอาจจะช้าไปนิดนึง การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนน รถไฟฟ้า รถไฟ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และอื่น ๆ ก็อยู่ในแผนงานโครงการทั้งสิ้น ก็ทำระยะที่ 1 ไปก่อน เพื่อเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

10. การดำเนินการจัดทำพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เพื่อเป็นแหล่งที่มีรายได้สูง มีศักยภาพในการแข่งขัน มีการส่งเสริมเทคโนโลยี อาทิเช่น เรื่องของระบบ EEC เรื่องของอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษ

11. การปฏิรูปการศึกษาผมกล่าวไปหลายครั้งแล้วนะครับว่ามันมีปัญหาทับซ้อนอยู่มากมาย หลายอย่างอาจจะยังไม่เห็นผลการประเมินที่ชัดเจน อาจจะยังมีผลมาถึงประชาชนได้ไม่มากนัก แต่มันก็เป็นปัญหามายาวนานและก็เป็นระยะแรกของการแก้ปัญหาของเรา ก็มีแนวโน้มให้สิ่งที่ดีขึ้น ทุกคนก็ตั้งใจทำเต็มที่ กระทรวงการศึกษาก็พยายามปรับแก้ปรับระบบของตัวเองมากมาย

12. การบูรณาการภาครัฐ ประชาชน เอกชน ประชาสังคม ในการบริหารราชการแผ่นดิน แบบประชารัฐ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการรับฟังความคิดเห็นจากศูนย์ดำรงธรรม สื่อมวลชน สื่อโซเชียลอันที่เป็นประโยชน์มากมาย ผมได้นำมาสู่กระบวนการแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว มาตลอด

13. การบริหารราชการแผ่นดินในเชิงยุทธศาสตร์ ก็ได้ให้มีการทำยุทธศาสตร์ชาติ คราวนี้ก็ได้อยู่ในการพิจารณาของ สนช. เพื่อให้ทุกรัฐบาลได้มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนขึ้นในอนาคตก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ตามห้วงเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือสถานการณ์ปัจจัยภายในภายนอก

14. หลายอย่างมีการพัฒนาตามลำดับหลาย ๆ เรื่อง ก็อาจจะเป็นร้อยเพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย แต่กล่าวถึงไม่หมดในวันนี้
ผมยกแต่เพียงตัวอย่าง อื่น ๆโดยสรุปแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้พัฒนามาตามลำดับ ซึ่งเป็นแค่เพียงตัวอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบ
งบประมาณ การเงินการคลัง เรื่องการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น

การพิจารณาลำดับของประเทศในเวทีโลก เหล่านี้เป็นความจำเป็นทั้งสิ้น แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการสร้างความมั่นคง สร้างความ
มีเสถียรภาพ และต้องขจัดการทำผิดกฎหมาย คอร์รัปชั่น การบังคับใช้กฎหมายหลาย ๆ อย่าง อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นมันเป็นพื้นฐานในเวลานี้
ในการที่จะเปลี่ยนแปลง ในการที่จะปฏิรูป ในการที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในอนาคต

ผมขอให้ประชาชนคนไทย ขอได้โปรดให้ความเชื่อมั่นในการทำงานของผม ของรัฐบาล ของ คสช. ต่อไป เราจะทำให้ดีที่สุด แน่นอนปัญหา
มีมาก การทำงานก็ต้องมีอุปสรรค มีความคิดเห็นต่างมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากเราทุกคนมุ่งไปสู่ว่าเราจะทำให้ประทศชาติเราปลอดภัยอย่างไร ประชาชนเรามีความสุขได้อย่างไร เหล่านั้นจะทำให้ทุกอย่างที่เป็นความขัดแย้งกลับไปสู่ความร่วมมือให้ได้มากที่สุด

ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ขอขอบคุณ สวัสดีครับ


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้