Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 1615 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ให้บริการ OTT เสนอ กสทช. ลงทะเบียนผู้ประกอบการ เพื่อคัดกรองผู้ให้บริการ ขณะที่ กสทช. เตรียมเรียกผู้ให้บริการเนื้อหาผ่านยูทูปและเฟซบุ๊ก หารือวันที่ 6-7 มิถุนายนนี้
พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการ OTT ทั้งไทยและต่างประเทศ ประมาณ 30-40 ราย เพื่อวางแนวทางกำกับดูแลและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้ให้บริการ OTT เสนอให้มีการลงทะเบียนเพื่อเก็บข้อมูลผู้ประกอบการในเบื้องต้น และเสนอให้ สำนักงาน กสทช. ออกแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ ให้เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ในวันที่ 6-7 มิถุนายนนี้ กสทช.จะเรียกผู้ให้บริการเนื้อหาผ่านยูทูปและเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านคน ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 100 ยูสเซอร์ อาทิ เพจวู้ดดี้ ยูไลค์ วีอาร์โซ และข่าวสด มาหารือร่วมกัน ก่อนสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ภายในเดือนมิถุนายนนี้
พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top กล่าวว่า หลังจากประชุมกลุ่มย่อยผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือนหรือรายปี (Subscription Video on Demand หรือ SVoD) และผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้หลักจากการโฆษณา (Advertising-Based Video on Demand หรือ AVoD) เช่น ช่อง 7 (Bugaboo) ช่อง 3 (3Live) โมโนแม็กซ์ (Monomaxxx) ไลน์ทีวี และแกรมมี่ ผู้ประกอบการได้เสนอให้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการให้ผู้ให้บริการ OTT เข้าสู่ระบบการกำกับดูแล โดยให้มีการลงทะเบียนผู้ให้บริการเพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ เห็นว่า การลงทะเบียนเข้าสู่ระบบจะทำให้ สำนักงาน กสทช. สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริการ OTT ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดูแลเนื้อหาให้เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชน
นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้เสนอแนะให้ สำนักงาน กสทช. ออกแนวทางการกำกับดูแลผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งควรมีการเตรียมรับมือผู้ให้บริการ OTT ต่างประเทศที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ผู้ชมไทยยังสามารถรับชมได้
ส่วนผู้ประกอบการ OTT รายใหญ่ของไทยต้องการให้ผู้ประกอบการ OTT รายใหญ่จากต่างประเทศให้ความร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. เข้าสู่ระบบการกำกับดูแลเหมือนกับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และช่วยกันพัฒนากิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ในประเทศไทยด้วย
“จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ OTT ในวันนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้ประกอบการต้องการให้เกิดการกำกับดูแลที่เป็นธรรมทั้ง OTT ไทย และต่างชาติ ด้วยการเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง ทุกความคิดเห็นในวันนี้ กสทช. จะนำไปพัฒนาการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยจะเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่เหมาะสม”พันเอก นที กล่าว
พันเอกนที ยืนยัน ที่ผ่านมา กฎหมายกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ครอบคลุมอยู่แล้ว แต่อาจต้องปรับแก้บางส่วนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งนี้ในปี 2559 ธุรกิจ OTT มีรายได้จากการโฆษณาสูงถึง 5,000 ล้านบาท และคาดว่าจะแตะ 10,000 ล้านบาท ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งรายได้ส่วนนี้ ยังไม่รวมค่าบอกรับสมาชิก ซึ่งในปีก่อนอยู่ที่เกือบ 1,000 ล้านบาท
ด้าน นางสาวอาทิมา สุรพงษ์ชัย หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ไอฟลิกซ์ ผู้ให้บริการดูซีรีย์และหนังออนไลน์ รู้สึกพอใจที่ กสทช. เรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือ ก่อนออกแนวทางกำกับดูแล OTT ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือนสิงหาคม โดย กสทช. ได้มอบหมายให้ผู้ประกอบการ OTT ปรับปรุงคอนเทนท์ให้เหมาะสม ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
18 ส.ค. 2567