รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  1831 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

  
       สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560 นี้ รัฐบาลขอเชิญชวนปวงชน ชาวไทย ร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นพระมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎร์ตราบกาลนาน
       
       สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2559 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ยังความปลื้มปีติยินดีอย่างยิ่งแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ โดยทรงเป็นหลักชัยและศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย สืบต่อไป
       
       ครั้งที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งพระรัชทายาท ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ และโดยเสด็จไปทรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ กว่า 44 ปี เมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์ ในฐานะพระประมุขของชาติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงปกแผ่พระบารมีเพื่อให้ชาวไทยอยู่ดีมีสุขอย่างถ้วนหน้า อาทิ ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประมุขแห่งสงฆ์ เพื่อดูแลและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคง และเป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชน พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทรงปลูกฝังให้ชาวไทยยึดมั่นในความดีงาม สุจริตเที่ยงตรง ทั้งหน้าที่การงานและการดำรงชีวิต ทรงปลูกฝังให้ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ด้วยทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก โดยทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในประเทศ พระราชทานทุนการศึกษาและอุปกรณ์การศึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มอบถุงยังชีพพระราชทาน พร้อมกระแสพระราชดำรัสความห่วงใย เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยอย่างยิ่ง ทรงเตรียมการป้องกันความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร ด้วยการจัดข้าราชบริพาร รวมทั้งจิตอาสา ลอกคูคลองที่ตื้นเขิน เปิดทางน้ำให้ไหลสะดวก มีความสะอาดงดงาม เป็นระเบียบ เป็นต้น
       
       ด้วยพระราชจริยาวัตรอันงดงาม และพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้นี้ เป็นพลังน้อมนำให้คนไทยสมานฉันท์ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังความร่มเย็นเป็นสุข มั่นคงไพบูลย์แก่ประเทศชาติและประชาชน
       
       ในการนี้ ผมขอน้อมนำลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บนหน้าปก บทเจริญพระพุทธมนต์ 28 กรกฎาคม 2560 ที่พระราชทานแก่ประชาชน ความว่า "ความสุขในตัวเริ่มจากใจและทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่นส่วนรวม และตนเอง สุขในการบำเพ็ญประโยชน์ให้กับผู้อื่นและส่วนรวมมีสุข สุขในการเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น สุขในการให้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีสุข สุขในการพัฒนาร่างกายจิตใจและปัญญาในทางสร้างสรรค์ความเจริญให้ตนเองและผู้อื่น การสวดมนต์และปฏิบัติธรรม ทำให้มีความสงบมีสติ สมาธิ และปัญญา ตลอดจนเป็นกุศลสิริมงคลแก่ทุกคน และจะนำมาสู่ความเจริญ และความสุขที่กล่าวมานั้นแล" ทั้งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเป็นประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวไทยทุกคน
       
       พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน คือ พสกนิกรของพระองค์ทุกหมู่เหล่า ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ ว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณูปการต่อมวลมนุษยชาติ ในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้เข้าเฝ้า ฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ หัวใจของการพัฒนาคน คือการศึกษา ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทรงดำรงพระอิสริยศสยามมกุฎราชกุมาร โครงการในพระราชดำริหลายโครงการ ทรงมุ่งพัฒนาด้านการศึกษา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อจัดสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาในพระราชูปถัมภ์ ในท้องถิ่นทุรกันดาร พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนทุกจังหวัดทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมถึงระดับปริญญาตรี ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่อง เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต และเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย
       
       โดยทรงจัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2552 และนำโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน มีคณะกรรมการมูลนิธิกำกับดูแล และทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธิด้วยพระองค์เอง รวมทั้งพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักเรียนทุนพระราชทานและครูดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยครั้งหนึ่งทรงแนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่นักเรียนว่า "เรียนดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ มีความสุข" เพื่อน้อมนำไปสู่การปฏิบัติต่อไปในอนาคตด้วย
       
       ทั้งนี้ รัฐบาลได้น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของทั้งสองพระองค์ มาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ตลาดแรงงาน และอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และความมั่นคง ที่มีอัตลักษณ์ทางด้านศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศ
       
       โดยเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียกว่า ศปบ.จชต. หรือเรียกว่า เป็นกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า นับเป็นหน่วยงานกลางในการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการในการจัดการศึกษา ตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษา เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี พ.ศ.2560 ถึง 2579 โดยยึดหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึงพัฒนา และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
       
       (1) การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ด้วยเครือข่ายชุมนุมลูกเสือชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมความสัมพันธ์ชุมชน และเสริมสร้างความเข้าใจสถานศึกษาเอกชน
       
       (2) การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น 1 ครูอาสา 1 ปอเนาะ ศาสตร์พระราชาในสถาบันปอเนาะ และการพัฒนาการสอนภาษาไทย เป็นต้น
       
       (3) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษามีโครงการสำคัญ ๆ อาทิ โครงการสานฝันการกีฬา และโครงการห้องเรียนดนตรี
       
       (4) การผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน โดยจัดตั้งศูนย์อบรมอาชีพ ประจำอำเภอ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและส่งเสริมทักษะวิชาชีพ รวมทั้งการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล
       
       (5) การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการธนาคารขยะ และโครงการประหยัดพลังงาน และ
       
       (6) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชารัฐโดยจัดให้มีศูนย์ประสานงานมีการทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาในแต่ละพื้นที่เพื่อพัฒนากลไกการทำงานร่วมกัน ในการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันในสังคม
       
       จากผลงาน 3 ปีที่ผ่านมา เราสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการรับบริการด้านการศึกษาและมีความรู้สึกว่าได้รับการดูแลจากรัฐบาล อย่างใกล้ชิดของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้น โดยผลสำรวจความคิดเห็นความสำเร็จต่อการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลปัจจุบันของสวนดุสิตโพล และมหาวิทยาลัยทักษิณ สะท้อนถึงความพึงพอใจในระดับสูง ร้อยละ 85 เป็นการยืนยันความก้าวหน้าของรัฐบาลในการพัฒนาด้านการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างดียิ่ง แสดงถึงระดับความเข้าใจ ไว้ใจ และร่วมมือ ซึ่งเป็นก้าวแรกที่มั่นคงนำไปสู่ก้าวต่อมาที่มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ต่อ ๆ ไป
       
       พี่น้องประชาชนที่รักครับ การศึกษานั้น นอกจากช่วยพัฒนาความคิด และยกระดับจิตใจ ให้กับปัจเจกชนได้แล้ว ยังเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาสังคมได้ ตั้งแต่ในหน่วยระดับที่เล็กที่สุด คือ ครอบครัว ซึ่งศาสตร์พระราชามากมายที่พระราชทานไว้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับครัวเรือนของไทย เช่น
       
       (1) การรู้จักพอเพียง การจัดทำบัญชีครัวเรือน และการประหยัดอดออม เพื่อการใช้ชีวิตที่ไม่ประมาท และมีชีวิตในวันข้างหน้าที่มั่นคง และ
       
       (2) บวร บ้าน วัด โรงเรียน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายพื้นฐานทางสังคมไทย เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ คู่คุณธรรม
       
       หากจะมองในภาพที่ใหญ่ขึ้นมาเป็นชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศแล้ว ปัญหาปากท้องยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่รัฐบาลนี้ไม่เพียงต้องบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในบรรยากาศแห่งความปรองดองของคนในชาติ โดยปราศจากความขัดแย้งแล้วยังต้องวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งมีการปฏิรูปในทุกมิติ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกด้วย
       
       ทั้งนี้ โจทย์ที่สำคัญคือ การเอาชนะความยากจน และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้ได้ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานราก ได้แก่ การให้การศึกษากับทุกคน ทุกกลุ่มวัย ทุกสาขาอาชีพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกครัวเรือน ให้มีที่อยู่อาศัย ปลอดหนี้ รักการออม และมีหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง เป็นต้น
       
       ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชดำรัสกับคณะรัฐมนตรี ถึงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศและประชาชน สรุปใจความสำคัญได้ว่า การปฏิบัติงานนั้นไม่ว่าจะปฏิบัติงานใด ย่อมมีปัญหาย่อมมีอุปสรรค ซึ่งปัญหาและอุปสรรคนั้นคือบททดสอบ มีอะไรก็ปรึกษากัน หาข้อมูลที่ถูกต้อง และปฏิบัติด้วยความรอบคอบ ให้สมกับสถานการณ์และเหตุผล และตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติ อีกทั้งได้พระราชทานพระราชดำริและพระราชทานแนวทางไว้ ก็ขอฝากให้ได้ศึกษาพระราชดำริ ศึกษาวิเคราะห์พระราชปณิธานและศึกษาพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงปฏิบัติมา ซึ่งผมและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการทุกคน ได้น้อมนำใส่เกล้าใส่กระหม่อม ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างการความผาสุก แก่พี่น้องปวงชนชาวไทยเสมอมา อาทิ ในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยการศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างรอบด้าน
       
       ยกตัวอย่าง ยางพารา พบว่าเราคงต้องลดปริมาณการผลิต เพิ่มการแปรรูป ใช้งานให้มากยิ่งขึ้นภายในประเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งมาตรการนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเรา และเป็นประเทศผู้ผลิตเช่นเดียวกับไทย แต่ไม่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ เพราะประเทศหนึ่ง มาเลเซีย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เขาผลิตยางพาราเกือบล้านกว่าตัน เป็นอันดับหนึ่งของโลก เขาก็คาดการณ์ไปอนาคตแล้วว่า ความต้องในการใช้ยางพาราจะถึงทางตันเพราะมีอย่างอื่นมาแทน เขาตัดสินใจโค่นยางพาราลงตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนเมื่อปี 2545 เขามียางพาราอยู่แค่ 7 แสนตันเท่านั้น และเขาก็เพิ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราในประเทศ อยู่ที่ 4–5 แสนตัน นั่นคือผลิตยางออกมาพอดีกับที่ใช้ภายในประเทศ
       
       อีกประเทศหนึ่ง อินโดนีเซีย เขาปลูกยางพารามาก และใช้ยางในประเทศน้อย ไม่ต่างจากไทย แต่ก็ไม่มีปัญหาเหมือนเรา เพราะยางพาราของเขาเป็นยางที่อยู่ในป่า เป็นยางที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ชาวบ้านเห็นว่าราคาดีก็เลยไปกรีดเอาออกมาขาย ตอนไหนเห็นราคาไม่ดีก็ไม่ไปกรีด เขาก็ไปทำอาชีพอย่างอื่น ดังนั้น แม้ราคายางพาราจะมีการขึ้นหรือลง ก็ไม่เป็นปัญหา สำหรับเพื่อนบ้านเราทั้ง 2 ประเทศผู้ผลิตยางพารา เนื่องจากผลิตให้พอดีกับการใช้ภายในประเทศ ที่เหลือก็ส่งออก พร้อมกับแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
       
       นอกจากนี้ เราต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ โดยประเทศไทย ในปี 2545 มียางพาราอยู่ 3 ล้านตัน ปัจจุบันมี 5.4 ล้านตัน แต่การใช้ยางในประเทศใน 15 ปีที่ผ่านมา เรายังอยู่ที่ 4–5แสนตัน ไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมนัก นั่นก็แปลว่า เราต้องส่งออกมากขึ้น ๆ ทุกปี แต่ถ้าวันหนึ่งโลกนี้ไม่ต้องการใช้ยางพารา มีสิ่งอื่นทดแทนที่ถูกว่าหรือดีกว่า แล้วยางพาราส่วนเกินราว 4–5 ล้านตัน เราจะทำอย่างไร ราคาต้องตกแน่นอนอยู่แล้ว ที่แย่กว่านั้น เกษตรกรชาวสวนยางของเรานั้นจะปรับตัวทันหรือไม่ แรงงานในสวนยางอีกด้วย จะทำอย่างไร หากเราไม่ตระหนัก ไม่รับรู้ในสิ่งเหล่านี้ ที่มีเพียงแต่รัฐบาลนี้ที่กล้าพูดความจริง ถ้าวันนี้เรายังใช้การแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอดไปวัน ๆ หรือ เลี้ยงไข้เพื่อเรียกคะแนนเสียง เพราะยางพารา ไม่ต่างจากสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่กลายเป็นสินค้าการเมือง ไปแล้ว และเกิดขึ้นในบ้านเราเท่านั้น
       
       ข้าวก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ปัจจุบันไทยผลิตข้าว 30 ล้านตัน บริโภคภายในประเทศเพียง 10 ล้านตัน ส่งออก 20 ล้านตัน ซึ่งส่วนเกินของเรานี้จะถูกกำหนดราคาโดยตลาดโลก ทั้งนี้ ถ้าเรายังแก้ปัญหาโดยการหว่านงบประมาณลงไปอุดหนุน ก็ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรได้รู้ถึงการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ได้อยากเลิกปลูกยางพารา หรือปลูกให้น้อยลง โดยเฉพาะในส่วนที่เกินความต้องการ เช่น การปลูกในพื้นที่บุกรุกป่าบ้าง ไม่เหมาะกับการปลูกยางบ้าง แต่เหมาะกับการทำอย่างอื่น ผมคิดว่ามันส่งผลในทางตรงกันข้าม เพราะยิ่งเราใส่เงินลงไป ก็เหมือนใส่น้ำมันเข้าไปในกองไฟเหมือนสนับสนุน หรือชอบให้แห่กันปลูกยาง แล้วปัญหาก็ไม่จบ ขยายตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามที่ผมยกตัวอย่างไว้ หรือถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการประกันราคา พยุงราคา มันก็แค่ชะลอปัญหาเท่านั้น
       
       ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของรัฐบาล คือ (1) ปรับสมดุลของการผลิตกับความต้องการใช้ และ (2) เพิ่มปริมาณการใช้ภายในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการลดการเพาะปลูกในพื้นที่บุกรุก เพื่อลดการผลิตและไม่ละเลยการทำผิดกฎหมาย อีกทั้งเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ หรือตลาดในประเทศ อาทิ ยางพารา ซึ่งรัฐบาลให้ทุกกระทรวงหามาตรการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยล่าสุด สามารถสรุปความต้องการน้ำยางข้น 16,000 กว่าตัน และยางแห้ง 4,500 กว่าตัน คิดเป็นงบประมาณกว่า 17,000 ล้านบาท สำหรับทำแผ่นทางปูพื้นคอกปศุสัตว์ พื้นอ่างเก็บน้ำ สระเก็บน้ำในไร่นา ลานกีฬา สนามฟุตซอล ลู่วิ่ง สนามเด็กเล่น ลานอเนกประสงค์ บล็อกยางพาราเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ที่นอน หมอนยางพารา ยางรถยนต์ใช้ในราชการ และพื้นผิวถนน เป็นต้น วันนี้ ได้ส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานที่จะใช้วัตถุดิบจากภาคการเกษตรของเราให้มากยิ่งขึ้น ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI อีกด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหายังไม่จบแต่เพียงแค่นี้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีแรงงานภาคการเกษตร อาทิ ทำสวน ไร่ นา ประมง ปศุสัตว์ และผู้ประกอบการ หรือทำงานที่เกี่ยวข้อง เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตรอีก รวมกันเกือบครึ่งประเทศ หรือร้อยละ 40 ของประชากรไทยราว 25 ล้านคน หรือ 6 ล้านครัวเรือน แต่เป็นภาคการผลิตที่มีสัดส่วนเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้ง ๆ ที่แผ่นดินไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว หากเราไม่ปลูกพืชในพื้นที่สูง ไม่มีระบบชลประทาน ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องภัยแล้ง แล้วหันมาเพาะปลูก หรือทำเกษตรที่มีคุณภาพ ลงทุนน้อยกว่า ได้ผลผลิตมากกว่า และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด แลกเปลี่ยนค้าขายซึ่งกันและกัน ดังนั้น รัฐบาลนี้ต้องการแก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยปฏิรูปทั้งระบบพร้อม ๆ กัน ทั้งเรื่องน้ำ ที่ดิน สินค้าเกษตร อาชีพเสริม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่สิ่งที่เหมาะสมกว่า ด้วยความสมัครใจ
       
       นอกจากผู้ผลิต คือ เกษตรกรแล้ว ยังมีกลางทาง พ่อค้าคนกลาง การแปรรูป แล้วก็ปลายทาง ในเรื่องของการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผลกระทบจากราคาตกต่ำของผลิตผลทางการเกษตรทั้งสิ้น เราต้องมองให้ครบวงจร เพราะเป็นธุรกิจที่ต่อเนื่องกัน ทั้งในภาคการเกษตร และในธุรกิจห่วงโซ่เหล่านั้น อีกมากมาย
       
       ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวง 2 พระองค์ รัฐบาลจึงได้ริเริ่มโครงการใหม่ของกระทรวงเกษตร ฯ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เลขสามตัวแรก 9 และ 10 คือ รัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 เลขตัวท้าย 1 คือ เริ่มคิดโครงการนี้มาตั้งแต่ปีที่ 1 ของรัชกาลปัจจุบัน โดยมีเป้าหมาย 9,101 ชุมชน ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 1.77 ล้านราย โดยจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์กว่า 7.68 ล้านคน จากโครงการที่คิดและเสนอเอง จากชุมชน หรือสนับสนุนให้ระเบิดจากข้างในกว่า 24,000 โครงการ ด้วยวงเงิน 20,000 กว่าล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติโครงการโดยคณะกรรมการระดับอำเภอแล้วกว่า 87 เปอร์เซ็นต์ โดยงบประมาณที่ลงสู่พื้นที่และถึงมือเกษตรกรโดยตรงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ๆ ละประมาณ 10,000 ล้านบาท เท่า ๆ กัน คือ (1) ค่าวัสดุอุปกรณ์ ซึ่งยังคงเก็บไว้ใช้อย่างต่อเนื่องในการทำกิจกรรมตามโครงการ และ (2) ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และหมุนเวียนในชุมชน
       
       สำหรับกิจกรรมหลัก ๆ ได้แก่ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การผลิตพืชและพันธุ์พืช การปศุสัตว์ การผลิตอาหาร การแปรรูปผลผลิตและการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การทำประมง การทำฟาร์มชุมชน การกำจัดศัตรูพืช การปรับปรุงบำรุงดิน และการทำเกษตรกรรมอื่น ๆ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
       
       ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) ทั้ง 882 ศูนย์ และเครือข่ายแตกแขนงทั่วประเทศ กว่า 10,000 แห่ง จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรที่เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม และส่งเสริมการทำงานแบบประชารัฐในพื้นที่อีกด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาของเกษตรชุมชน สร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ ส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ โดยผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ นำไปปฏิบัติเองได้จริง และทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
       
       พี่น้องประชาชนที่รักครับ วันนี้ผมอยากพูดถึงเรื่องที่มีความสำคัญกับพวกเราทุกคน และที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด คือ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ผมอยากเรียนให้ทราบว่า จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมค่อย ๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจก็ค่อย ๆ ดีชัดเจนมากขึ้น ล่าสุด การค้าขายระหว่างประเทศของไทยปรับดีขึ้น เทียบกับในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งการส่งออกที่เริ่มเห็นว่าดีขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และถือเป็นการเติบโตจากปีก่อนถึงร้อยละ 7.91 ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็สูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน เทียบกับปีก่อน เติบโตได้เกือบถึงร้อยละ 10 ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคสินค้าและบริการในประเทศ หรือการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น
       
       อย่างไรก็ตาม หากเราไปถามพี่น้องประชาชน ก็จะทราบว่า กิจกรรมการจับจ่ายใช้สอยและรายได้ ยงไม่ได้ลงไปสู่ประชาชนฐานรากอย่างทั่วถึง รัฐบาลทราบดี ที่ได้ก็คือคนที่อยู่ร่วมในกิจการส่งออกการผลิต การแปรรูป ในส่วนที่ยังทำเป็นอิสระอยู่จำนวนมากนั้น ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นตามนั้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยอย่างที่เขากล่าวอ้างกัน เราได้รับทราบถึงปัญหา และได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการเข้าไปดูแลพี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร อย่างเช่น โครงการ 9101 ที่กล่าวมา รวมถึง SMEs ที่ยังไม่สามารถจะเติบโตไปกับเศรษฐกิจในภาพรวมได้
       
       ก่อนอื่น ผมอยากให้เราเข้าใจร่วมกันว่าต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจคืออะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ผมมองว่าส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจยังขยายตัว แต่ไม่ทั่วถึงนี้ เราคงต้องย้อนกลับไปว่า ปัจจัยสำคัญปัจจัยแรก ก็คือเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ได้อย่างช้า ๆ เรายังเห็นว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศยังอ่อนแอ ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าและบริการยังน้อยอยู่ การส่งออกของไทยก็เลยฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
       
       นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่วันนี้แม้จะดีขึ้น แต่ก็เนื่องจากอ่อนแอมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ราคาสินค้าเกษตร รวมไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน หรือทอง ลดลงมาในระดับต่ำต่อเนื่องหลายปี ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลาย ๆ ประเภทในบ้านเรา และรายได้ของพี่น้องเกษตรกรไม่สามารถกระเตื้องขึ้นได้เท่าที่ควร
       
       เรื่องเศรษฐกิจโลกก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งของปัญหา คือโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยนั่นเองที่ไม่เข้มแข็ง ที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นพลวัตเท่าที่ควร ศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันก็ยังคงต้องเร่งพัฒนาให้ทันสมัยด้วย ให้ทันต่อสถานการณ์ด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐบาลนี้ต้องการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกระบบ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งรองรับการพัฒนาในอนาคต และแก้ปัญหาประเทศแบบองค์รวมให้ได้ในระยะยาว เราต้องทำพร้อม ๆ กัน ทั้งการผลิต การแปรรูป การจำหน่ายให้เข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ได้ด้วย
       
       ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มาจากทั้งภายในและภายนอก โดยในช่วงที่การจับจ่ายใช้สอยของพี่น้องประชาชนยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ภาครัฐก็ต้องเร่งเสริมการใช้จ่ายเพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปสู่เศรษฐกิจ ลงไปสู่ฐานรากให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการเร่งเดินหน้าเพื่อใช้จ่ายงบประมาณให้ทันตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งด้านรายจ่ายประจำและรายจ่ายเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การใช้จ่ายเหล่านี้ถือเป็นภาระและเป็นหน้าที่สำคัญของภาครัฐด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ของภาครัฐนั้น มีการวางแผนไปข้างหน้า มีการดูรายรับ เทียบกับรายจ่าย และความต้องการของเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยถ้าเศรษฐกิจดี รัฐก็ไม่ต้องลงไปใช้จ่ายมาก ให้เอกชนเป็นผู้นำและก็ใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่แต่ในวันที่เศรษฐกิจอ่อนแรง เอกชนยังไม่มั่นใจ ซึ่งการเมืองก็มีส่วนตรงนี้ด้วย อาจจะมีการบิดเบือนบ้างอะไรบ้าง ให้ร้ายการทำงานของรัฐบาล ทุกอย่างมันช้าไป รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีหน้าที่เข้าไปเสริมและเมื่อมองภาพภาระของภาครัฐในช่วงนี้ไปจนถึงระยะข้างหน้า อีกหลายปี พบว่าหนี้สาธารณะของประเทศก็ยังไม่เกินร้อยละ 60 ที่เป็นเกณฑ์สากล ผมยืนยันว่า เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก และกำชับให้ทุกฝ่ายดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด
       
       ผมขอยกตัวอย่างโครงการที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ ทั้งเพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการสนับสนุนรายได้ในระยะสั้น และการเร่งดำเนินการเพื่อวางรากฐาน ปรับฐานการผลิต สร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับประเทศ ซึ่งได้แก่ มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำแบบครบวงจร ซึ่งผมได้เรียนให้ทราบแล้วข้างต้น โดยเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตั้งแต่การวางแผน การผลิตและการตลาด เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปลงใหญ่ และความร่วมมือในโครงการประชารัฐต่าง ๆ
       
       นอกจากนี้ เรายังเห็นการเร่งรัดโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการคมนาคม ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติการดำเนินงานของรถไฟสายสีม่วงส่วนใต้ เพื่อเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือการเร่งรัดการวางรากฐานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ทั้งในเรื่องการสนับสนุนการศึกษา และปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อดึงการลงทุนที่จะสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย การดำเนินงานในด้านมาตรการของภาครัฐนี้ ผมได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ไม่ใช่เพียงกระทรวงเกษตร ฯ กระทรวงพาณิชย์ แต่ยังมีงานด้านอื่น ๆ ของทุกกระทรวง ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในลักษณะการบูรณาการ สร้างความเชื่อมโยง สร้างห่วงโซ่ทุกกิจกรรมให้ถึงประชาชนและท้องถิ่นให้ได้ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนและประเทศในภาพรวม ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจนสำหรับโครงการต่าง ๆ ที่ให้ไว้ จะต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็ว มีการปฏิบัติงานลงไปสู่ภาคจังหวัด พื้นที่ ชุมชน โดยกระทรวงต่าง ๆ ต้องทั้งทำงานในส่วนงานฟังก์ชั่น และงานบูรณาการกับกระทรวงหรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ให้เกิดผลที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม ซึ่งผมจะประเมินการทำงานของทุกกระทรวงต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดด้วย
       
       ในส่วนของภาคเอกชน รัฐได้เข้าไปช่วยสนับสนุนหรือยกระดับ กระตุ้นในเรื่องของการลงทุนให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยในห้วงครึ่งแรกของปีนี้ มกราคม ถึงมิถุนายน 2560 มีโครงการลงทุนจากเอกชนที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จำนวน 612 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 290,000 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 46 ของโครงการที่ขอจะลงทุน อยู่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน โดยเฉพาะกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมดิจิตอล ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และหากแยกมิติพื้นที่ พบว่าร้อยละ 25 ของโครงการที่ขอ ก็จะอยู่ในพื้นที่ EEC ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
       
       ในห้วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการ BOI ซึ่งผมเป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการลงทุนไปแล้วกว่า 590 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 340,000 ล้านบาท ในกิจการดิจิตอล เกษตรแปรรูป ผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเพิ่มการจ้างงานให้คนไทยกว่า 33,000 ตำแหน่งงาน และล้วนเป็นโครงการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้วในครึ่งแรกของปี 2560 นั้น จะส่งผลให้มีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอีก 21,600 ตันต่อปี และใช้ยางพาราเพิ่มอีกกว่า 900,000 ตันต่อปีด้วย
       
       ผมขอเรียกร้องให้ภาคเอกชนร่วมกันลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ ยิ่งท่านลงทุนเร็วเท่าไร เงินก็จะหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้น พี่น้องประชาชนคนไทยและภาคเอกชนรายเล็ก ๆ จะได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย รัฐบาลมีหน้าที่สร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดี ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุด
       
       อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า ภาครัฐนอกจากจะมีหน้าที่เข้าไปเสริมเม็ดเงินเพื่อช่วยสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้จ่าย การลงทุน ของภาคเอกชน และประชาชนในทุกกลุ่มด้วย ซึ่งภายใต้คณะกรรมการ ป.ย.ป. ในส่วนของการปฏิรูป จะเร่งรัดดำเนินการพิจารณากฎระเบียบ หรือกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคของการทำธุรกิจ การลงทุน หรือการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนเพื่อปรับปรุงให้สมเหตุสมผลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยย่นระยะเวลาและต้นทุนของภาคธุรกิจและของพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งผมมองว่า การปฏิรูปกฎระเบียบหรือกฎหมายนี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปด้านอื่น ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีผลสัมฤทธิ์ด้วย ถ้าทำไม่ได้ ก็ยากที่จะปฏิรูปด้านอื่น ๆ ในส่วนของเกณฑ์สากลที่เราต้องปฏิบัติตาม เช่น ICAO และ IUU เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้เราได้มาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน รัฐบาลจะเดินหน้าดำเนินการอย่างเหมาะสมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนต่อไป สิ่งเหล่านี้ ที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสำคัญกันมากนัก
       
       นอกจากนี้ การทำงานของภาครัฐเอง หรือกระทรวงต่าง ๆ ก็ต้องมุ่งไปในเชิงรุกมากขึ้น รัฐบาลนี้เหลือเวลาอีกไม่นานนักในการปฏิบัติงานตามโรดแมป ผมอยากให้เราได้วางรากฐาน วางแนวคิด แนวปฏิบัติ สร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องไปได้ในระยะยาวหลาย ๆ รัฐบาล เราจะมุ่งสร้างการรับรู้กับพี่น้องประชาชนให้มากยิ่งขึ้นในช่องทางต่าง ๆ จะมีการคุยกันใกล้ชิดให้มากยิ่งขึ้น หารือกัน อธิบายต่อกัน ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะเหตุใด มีปัญหา หรือที่ยังทำไม่ได้นั้นเป็นเพราะสาเหตุใด ซึ่งแผนงานของรัฐบาลและ คสช. จนถึงวันที่ 31 กันยายน 2561 ในด้านนี้ มีทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรการตรวจเยี่ยมพบปะ ประชาชนในภาคกลุ่มจังหวัด จังหวัด ชุมชน ท้องถิ่น ในพื้นที่ เพื่อไถ่ถาม หารือ ถึงสิ่งที่ต้องการ สำหรับจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่โดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหา หรือสร้างงานต่าง ๆ ให้เกิดผลโดยเร็ว
       
       สำหรับพี่น้องประชาชนเอง ก็สามารถติดต่อ พูดคุย แจ้งปัญหาและความต้องการกับรัฐบาลได้หลายช่องทาง นอกเหนือไปจากหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรม (สายด่วน 1567) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับเรื่อง และจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ได้เร็วขึ้น ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการทุจริตของกระทรวงต่าง ๆ และล่าสุดก็ได้มีคำสั่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกองทัพบก ซึ่งรวมไปถึงกองทัพภาคและหน่วยทหารของกองทัพบกในทุกพื้นที่ เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตประพฤติมิชอบ เรียกรับสินบนหรือผลประโยชน์ทุกรูปแบบที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะจะกระทบต่อประชาชนโดยตรง และอาจจะเชื่อมโยงไปสู่การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระชาติด้วยการเปิดตู้ ปณ. และสายด่วน รายละเอียดตามหน้าจอ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้แจ้งข้อมูลเบาะแสต่าง ๆ ได้มากขึ้น สะดวกขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในสังคมมายาวนาน เปลี่ยนประเทศไทยให้ใสสะอาด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน
       
       ทั้งนี้ ผมมองว่า พี่น้องประชาชนฐานรากไม่ได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่อ่อนแอนาน ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินพะรุงพะรัง และเป็นหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แก้ไขได้ยาก และส่งผลถึงความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน เพราะต้องนำรายได้มาใช้หนี้ ซึ่งภาครัฐได้พยายามเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือแบบครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่การไกล่เกลี่ยหนี้สิน การปรับโครงสร้างหนี้ การให้ความรู้ทางการเงินไม่ให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มเติม โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ยังมีคลินิกแก้หนี้สำหรับประชาชนที่มีหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์ด้วย
       
       เรื่อง SMEs เช่นกัน กำลังให้หามาตรการช่วยเหลือให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นและทั่วถึง ทั้งจากธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ เพราะบางส่วนของวิสาหกิจเรานั้นยังอ่อนแออยู่ ไม่ขึ้นทะเบียน กลัวการเสียภาษี ไม่ปรับระบบบัญชี ไม่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเรียนรู้เรื่องการตลาดที่เพียงพอ หรือเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน
       
       อีกส่วนหนึ่งของหนี้ครัวเรือน คือหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลช่องทางเพื่อกู้ยืมนี้ มีความสะดวก เกิดการใช้งานง่าย จ่ายคล่อง ทำให้ประชาชนใช้เงินไปในสิ่งที่จำเป็น และไม่จำเป็นด้วยซึ่งล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้มีมาตรการเพื่อดูแลการเข้าถึงสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ซึ่งจะนำมาใช้สำหรับลูกค้าใหม่ ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ ต้องเข้าใจ ถ้าเราปล่อยเสรีมากเกินไป ก็ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ เราต้องแก้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อจะลดโอกาสในการก่อหนี้สินล้นพ้นตัวของพี่น้องประชาชนกลุ่มที่มีฐานะเปราะบาง และจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาวอีกด้วย พี่น้องประชาชนสามารถอ่านรายละเอียดของมาตรการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท.
       
       ในเรื่องการเป็นหนี้นี้ มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐจะสามารถช่วยบรรเทาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะต้นตอของปัญหาก็คือตัวเราเอง คือพฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา เราก็ต้องปรับตัวเอง ลองพยายามลดความฟุ่มเฟือยลง ใช้ตามความจำเป็น ปรับใช้ตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง พอใจและมีความสุขในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ใช้คนอื่นเป็นไม้บรรทัด แต่ควรจะใช้ตัวเราเองเป็นไม้บรรทัด ครอบครัว บุตรหลาน ก็ต้องช่วยผู้ปกครองประหยัดด้วยการมองศักยภาพตนเอง ของครอบครัวเราด้วย การปรับเปลี่ยนตัวเองได้จะเป็นอย่างแรก ที่ถือว่าดีที่สุด
       
       สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญพี่น้องประชาชนได้ร่วมรับชมคอนเสิร์ตแห่งปี "จากดวงใจ ไทยทั่วหล้า" ในเขตพระราชฐาน ณ บริเวณลานพระราชวังดุสิต ในวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป โดยการแสดงดนตรีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระลานพระราชวังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จากครั้งแรกวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2560 เป็นการรวมวงดนตรีบิ๊กแบนด์ชื่อดังครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์มาไว้เวทีเดียวกัน อาทิ วงดุริยางค์ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วงดุริยางค์ 4 เหล่าทัพ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงดุริยางค์กรมศิลปากร และวงเฉลิมราชย์ อีกทั้งศิลปินนักร้องหลากหลายค่ายเพลง ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงนักร้องจากกรมประชาสัมพันธ์ ที่จะมามอบความสุขและสืบสานศิลปะแบบไทย ๆ
       
       ในโอกาสพิเศษเดียวกันนี้ ผมขอให้คนไทยทุกคนร่วมกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล เพราะความดีนั้นทำได้ไม่ยาก และขอให้เป็นการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน เหมือนคุณสุมน มหิดุลย์ พนักงานเก็บเงินรถประจำทาง ขสมก. ที่เก็บกระเป๋าที่มีเงินสดล้านกว่าบาทคืนเจ้าของ นอกจากนี้ ผมขอให้คนไทยมีความเพียรอันบริสุทธิ์ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ เหมือน ด.ช.สเตฟาน ควิ้นท นักเรียนชั้น ม.1 ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกนานาชาติ ณ ประเทศสิงคโปร์ แม้จะป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะที่ 3 ขอชื่นชมจากใจ และขอเป็นกำลังใจให้ ทั้งน้องสเตฟาน และครอบครัว ขอให้แข็งแรงต่อไป
       
       ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์มหามงคลนี้นะครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้