Last updated: 12 ธ.ค. 2560 | 3157 จำนวนผู้เข้าชม |
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญ สำหรับในช่วงของการเตรียมการ ซึ่งนับว่าปัจจุบันนั้น มีความพร้อมบริบูรณ์แล้ว ทั้งกิจกรรมสำคัญ สถานที่ และการบริหารจัดการต่างๆ โดยคณะกรรมการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ
ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่ปรึกษา ก็คงจะเหลือเพียง “การซ้อมใหญ่เสมือนจริง” ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ทั้ง 6 ริ้วขบวนอีกครั้งในวันที่ 21– 22 ตุลาคม ศกนี้
ในช่วงสัปดาห์หน้านั้น จะมีพระประมุข พระราชวงศ์ และประมุขแห่งรัฐ จำนวนมาก จากทั่วโลกเสด็จพระราชดำเนิน เสด็จ และเดินทางมาร่วมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม ที่จะมาถึงนี้ ก็เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์โลกนะครับ
ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคน ได้ร่วมกันเป็น “เจ้าบ้านที่ดี” รักษาบรรยายความสงบเรียบร้อย และการไว้อาลัย เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การเฝ้าระวังความปลอดภัยในทุกสถานที่ พร้อมใจกันต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในนามของ “พ่อหลวงไทย” ด้วย
ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอขอบคุณ “จิตอาสา” ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมจิตร่วมใจกัน “ทำความดีเพื่อพ่อ” นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา จนถึงเวลานี้ รวมทั้ง “จิตอาสาเฉพาะกิจฯ” กว่า 4 ล้านคนตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีความมุ่งมั่น และเข้มแข็ง ในการปฏิบัติภารกิจ
ทั้ง 8 กิจกรรม ตามที่ได้รับมอบหมาย ในทุกพื้นที่ ก็เป็นการรวมพลังความรักความสามัคคีของคนในชาติ ที่ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพื่อถวายแด่ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” เป็นวาระสุดท้าย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงชื่นชม และทรงขอบใจทุกคนมา ตามที่ได้ทราบกันแล้วก่อนหน้านี้นะครับ
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ, ในปัจจุบันนั้น “เกณฑ์ชี้วัด” ต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ก็นับว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น ในภาพรวมโดยลำดับนะครับ ซึ่งผมเชื่อว่า จะทยอยส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ “ระดับฐานราก” ในอนาคต อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามนะครับ รัฐบาลเราก็ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหารายวัน ไม่ได้ดูแต่ตัวเลขอย่างเดียว ปัญหาที่สำคัญก็คือ เรื่องปากท้องและการทำมาหาเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งเราต้องเร่งการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ซึ่งเราต้องทำเป็นระยะนะครับ
3 ปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้ดำเนินหลายมาตรการด้วยกัน เพื่อจะช่วยเหลือประชาชนฐานรากนะครับ อาจจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มกิจกรรมบ้าง หรือเป็นการช่วยเหลือในการให้สามารถมีชีวิตที่อยู่รอดได้นะครับ คือการสร้างความเข้มแข็งผสมผสานกันไปนะครับกว่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท แล้วนะครับ อาทิ...
1. กลุ่มเกษตรกร “รอบแรก” นั้นก็เป็นซ่อมสร้างนะครับ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใน 3 เดือน ใช้วงเงินกว่า 360,000 ล้านบาทนะครับ สำหรับ “รอบสอง” นั้นก็จะเป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ประกอบด้วย 4 มาตรการวงเงินรวมกว่า 45,000 ล้านบาท
ได้แก่ (1) การดูแลภาระหนี้สินเกษตรกรด้วยการพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 2 ปี และการลดดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ ราว 2 ล้านรายๆ นะครับ รายหนึ่งก็ไม่เกิน 5 แสนบาท
(2) ก็คือการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแก่เกษตรกรจำนวน 3 แสนราย
(3) การประกันภัยพืชผล 7 ประเภท ให้เกษตรกร 1.5 ล้านราย ครอบคุลมพื้นที่ 30 ล้านไร่ และ
(4) การช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 3.7 ล้านรายนะครับ รายละไม่เกิน 10 ไร่ๆ ละ 1,000 บาท เป็นต้นนะครับ นี่ก็ใช้เงินจำนวนมากนะครับ แต่ก็ต้องทำให้ทั่วถึงนะครับ ทั้งประเทศ
2. คือการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อันนี้เป็นภาระอันใหญ่หลวงนะครับ อาทิเช่น การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากพายุตาลัสและพายุเซินกา ครัวเรือนละ 3,000 บาทนะครับ
ใช้กรอบวงเงินงบประมาณ ราว 1,700 ล้านบาท ซึ่งก็จะเป็นเกษตรกรใน 36 จังหวัด เป็นพื้นที่มากกว่า4ล้านไร่ ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง รวมทั้งพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง กว่า 27,000 ไร่ เป็นต้นนะครับ
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องเกษตรกร ในการชำระหนี้ ในการใช้เป็นค่าใช้จ่ายรายวัน อีกด้วย นะครับ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องสูญเสียมาตลอดนะครับ
และ 3. ก็คือโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆอีกนะครับ ที่มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี
ได้ให้มีการลงทะเบียนฯ “ครั้งแรก” กลางปี 2559 ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีผู้ลงทะเบียนฯ ที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้ว ราว 8 ล้านคนนะครับ รวมเป็นวงเงินราว17,000ล้านบาท
ครั้งที่ 2 นี้ในปัจจุบัน ก็จะเป็นการให้สวัสดิการผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งเราแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 ส่วนนะครับ ก็คือ
(1) ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 300 บาท ไปก่อนนะครับ
(2) เป็นค่าเดินทาง 1,500 บาท ซึ่งรายละเอียดเป็นที่ทราบกันดีแล้วนะครับ มีผู้ลงทะเบียนฯ และผ่านคุณสมบัติตามโครงการ กว่า 11 ล้านราย อันนี้เป็นการเริ่มต้นนะครับ ระยะแรกเราต้องจัดสรรสัดส่วนให้ครบถ้วนนะครับ และให้เกิดความเป็นธรรม
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายรายวันนั้นเราก็จำเป็นจะต้องผูกโยงกับการซื้อขายสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือน กว่า 300รายการ จากผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เรายังไม่สามารถที่จะไปถึงการซื้อทั่วไปได้นะครับ ในระยะแรกนี้ ซึ่งเราก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนของวงการนี้ ของรัฐบาลนี้นะครับ ด้วยการจำหน่าย สินค้าในราคา “ต่ำกว่าตลาด” เพราะยังไงก็ต้องพึงพาอาศัยกันอยู่แล้วนะครับ อย่าไปมองว่าเขาจะได้ประโยชน์ แต่เขาก็มีคนงาน มีผู้อยู่ในสถานประกอบการอีกมากมาย ก็เป็นพี่น้องเราทั้งสิ้นนะครับ เขาก็ได้มีเงินเดือนมีอะไรของเขาไปด้วย ในส่วนของผู้ประกอบการข้างล่างนะครับ ระดับผู้ปฏิบัติ
เราก็จะขายสินค้าในราคาต่ำกว่าตลาด ร้อยละ 20 โดยประมาณ ก็ลองคิดดูซิว่า ถ้าเราไปซื้อของข้างนอกนี่ จะทำได้อย่างนี้หรือเปล่า ก็ต้องหารือกันต่อไปนะครับ หลายคนก็อยากให้ไปซื้อของตามร้านขายของประชาชนด้วย อะไรด้วย ต้องเป็นระยะต่อไป ว่าจะทำได้ยังไงนะครับ คงจะต้องมีมาตรการการควบคุม ด้วยวิธีการที่เหมาะสมนะครับ วันนี้เราก็ไปซื้อได้ที่ ร้านธงฟ้า ไปก่อนนะครับ มีอยู่กว่า 6,000 แห่ง ทั่วประเทศ
ปัญหาของเราก็คือเรื่องการติดเครื่องรับการ์ดนะครับ ตอนนี้ก็เร่งดำเนินการอยู่นะครับ เป้าหมายของเราก็คือ แต่ละตำบลต้องมีร้านธงฟ้า อย่างน้อย 1 แห่งนะครับ ในอนาคตอันใกล้ จะขยาย
ให้ได้ 18,000 แห่ง วันนี้ก็ยังคงต้องเดินทางอยู่บ้างนะครับ
การดำเนินการในระยะแรก อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ต้องช่วยกันปรับปรุง แก้ไขนะครับ มีอะไรก็แจ้งมา ถ้าหากว่าเราเอาเฉพาะปัญหาแล้วมาย้อนแย้งกันไปมาว่าอย่างโน้น อย่างนี้ ก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งหมดนะครับ ก็กลับไปที่เดิมใหม่ ก็ลองคิดดูแล้วกัน ช่วยแจ้งปัญหากลับมาด้วยนะครับ
โครงการใหญ่อย่างนี้ ที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ไม่เคยแยกคนออกมาได้อย่างนี้นะครับ เพราะฉะนั้นรายละเอียดในการ
ปฏิบัติย่อมจะมาก หลายหน่วยงานก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน นะครับ ประชาชน เปนผู้บริโภคนะครับ ต่อไปนั้นเราก็จะเป็นการทำโครงการต่างๆ ระยะต่อไปก็คือเชื่อมโยงตลาดชุมชน ตลาดเดิมๆ ให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยอีกทางหนี่งนะครับ
ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้า OTOP ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้มีพื้นที่ขายสินค้าเหล่านั้นด้วยครับ แต่ต้องไปดูว่าจะผูกยึดโยงได้ยังไง ได้หรือเปล่า ไว้อีกทีหนึ่งนะครับ การที่พี่น้องเรียกร้องกันมา ก็ต้องไปหาวิธีการ ส่วนการกระจายรายได้ การสร้างความเข้มแข็ง การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชน รัฐบาลกำลังพิจารณา กำหนดนโยบาย หาแนวทางในการส่งเสริมในการจัดตั้ง “ตลาดประชารัฐ” นะครับ รูปแบบต่างๆ ทุกพื้นที่ มีหลายรูปแบบด้วยกัน ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในตลาดนี้นะครับคล้ายๆ ว่าเป็นช่องทางการตลาด ให้ทุกคนได้มีการเข้าถึง เป็นช่องทางของประชาชน เกษตรกรโดยตรงทำนองนี้นะครับ
เรื่องบัตรสวัสดิการนี้ เป็นเพียงแนวทางหนึ่งเท่านั้นของรัฐบาลในปัจจุบัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย “แบบมุ่งเป้าและยั่งยืน” เน้นตอบสนองความต้องการพี่น้องประชาชนให้ตรงจุด ตอบโจทย์ให้ตรงประเด็นนะครับ บางคนอาจจะบอกว่า ไม่ตรงๆ ก็มีตรงอยู่บ้างนะครับ มากกว่าไม่ตรงนะ เพราะเราชี้ชัดเป้าหมายของเราลงไปนะครับรัฐบาลก็จะต้องวางโครงสร้าง “ฐานข้อมูลกลางภาครัฐ” นะครับ เชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดมาตรการ เพื่อให้ความช่วยเหลือไม่ซ้ำซ้อน ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลานะครับ จึงจะเป็นการบริหารจัดการต่อปัญหาของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างยั่งยืน อย่างแท้จริง นะครับ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการช่วยเหลือในอนาคตนั้น จะเป็นมากกว่าการให้สวัสดิการ (Welfare)
โดยจะส่งเสริมอาชีพ การฝึกทักษะแรงงาน หรือการเพิ่มศักยภาพของแรงงาน (Workfare) ก็มีแนวความคิดในการสร้างแรงจูงใจนะครับ ให้กับผู้มีรายได้น้อยไม่ว่าจะอยู่ในวัยแรงงาน หรือวัยชรา ที่มีความพร้อมทำงานตามขีดความสามารถ และตามความสมัครใจ สำหรับเข้าโครงการอบรม การเสริมความรู้ แล้วก็หาอาชีพต่างๆ เพิ่มเติมเช่น งานช่างฝีมือ งานซ่อมรถ ซ่อมแอร์ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา หรืองานประกอบการ ทำขนม นะครับ เหล่านี้เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะอำนวยความสะดวกนะครับ และแสวงความร่วมมือกลไก “ประชารัฐ” ในพื้นที่ ในแต่ละชุมชน โดยจะทำเป็นโครงการระยะที่ 2 ต่อไปนะครับ ก็ขอให้ติดตามนะครับ
พี่น้องประชาชน ครับ, หลายปัญหาที่รัฐบาลและ คสช. ทุ่มเทความพยายามในการแก้ปัญหา ไม่เพียงในระยะเร่งด่วนนะครับ แต่ต้องการสร้างความยั่งยืนไปด้วย ตามศาสตร์พระราชานะครับ ให้เกิดขึ้นในอนาคต อาทิ...
1. นโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรม ราว 150 ล้านไร่ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนราว 5.7 ล้านครัวเรือน
ผลการดำเนินการในปัจจุบันนั้น มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ มากกว่า150,000 ราย ก็ยังไม่มากเท่าไรนะครับ รวมเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ กว่า1,900 แปลง รวมกันเกือบ 2 ล้านไร่นะครับ ครอบคลุมสินค้าเกษตร74 ชนิด ซึ่งที่ปรากฏตามการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ
ก็คือทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง ช่วยลดต้นทุนการผลิตลง เพิ่มคุณภาพผลผลิตสูงขึ้น ส่งผลให้ในปี 2560เกษตรกรที่เข้าโครงการ ก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ราว 990 – 1,100 บาทต่อไร่ นะครับ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น หลายคนยังไม่ได้เข้า ก็ยังไม่ได้เงินจำนวนนี้นะครับ เราก็ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยทำ ตามความสมัครใจของท่าน
นอกจากนี้ ในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสม ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งนะครับ ที่มีความจำเป็น และเป็นประโยชน์ เช่น ข้าวโพด เราจำเป็นต้องลดการปลูกในพื้นที่ไม่ถูกต้องลง เพราะบางทีเกินความต้องการนะครับ
พื้นที่บุกรุก พื้นที่ผิดกฎหมาย เราก็ต้องมาหาพื้นที่ปลูกใหม่ ให้ถูกต้อง เหมาะสม พัฒนาพันธุ์นะครับ เหล่านี้ เพราะว่าผลผลิตข้าวโพดมีความสำคัญ การผลิตในประเทศ บางช่วงเวลาไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางเวบาก็มากเกินไปนะครับ
2. ในเรื่องของการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา เราได้มีการให้เพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางในประเทศ ในระยะแรกมานะครับ ด้วยการทำถนนและซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด อันนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งนะครับ เราก็ได้เน้นเส้นทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน – ชุมชน – แหล่งผลิตและตลาด เพื่อประชาชนจะได้สัญจรไปมา นำสินค้าไปค้าขายได้สะดวกขึ้น จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องในการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพไม่ให้เกิดอุปสรรคระหว่างการเดินทางดังกล่าว ในระยะแรกนั้น รัฐบาลให้กระทรวง กลาโหม ดำเนินการโดยเร่งด่วนจำนวน 129 เส้นทาง ระยะทางรวม 212 กิโลเมตร นะครับ กระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศวงเงิน 1,013 ล้านบาทใช้น้ำยางกว่า 1,070 ตัน นะครับ
ทั้งนี้ ในเรื่องของการก่อสร้างและปรับปรุง “ถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตผสมยางพารา” นี้ เป็นการขยายผลจากการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยยางกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโน โลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เคยทดลองสร้างถนนตัวอย่าง ปรากฏว่า “น้ำยางพารา” ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับถนน ใช้แทนยางมะตอยได้ดีพอสมควรนะครับ สามารถทำได้เร็วมากเพียง 1–2วัน ก็เสร็จแล้ว หลังจากที่ทำพื้นชั้นล่างเรียบร้อยนะครับ
ค่าใช้จ่าย “ต่อตารางเมตร” ถนนยาง พาราถูกที่สุด คือ 200–300 บาท ถนนยางมะตอย 350–400 บาท และถนนคอนกรีต 750–800 บาท อีกทั้ง ก็ยังมีอายุการใช้งานนานถึง 10 ปี หรือนานกว่าถนนยางมะตอย 2เท่านะครับ ไม่มีฝุ่นดินอีกด้วย ระยะต่อไป อาจมีการขยายผลในอีกราว 1,000 เส้นทางนะครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ซึ่งเราได้สำรวจความต้องการของประชาชนและชุมชนไว้ในเบื้องต้นแล้ว นะครับ
และ 3. การแก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจ เป็นประเด็นสำคัญนะครับ เป็นแรงขับเคลื่อน เป็นเครื่องจักรตัวหนึ่ง ของประเทศ ของรัฐบาลเราก็ต้องปรับปรุงแก้ไขปัญหาโดยเร็วนะครับ ให้การดำเนินงานของภาครัฐโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมานั้นมี ปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งด้วยกัน ที่สะสมมานาน จนกลายเป็นภาระของรัฐบาล ที่ต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องนะครับ
ใน 2–3 ปีที่ผ่านมานั้น เราเห็นได้ว่ามีรัฐวิสาหกิจที่ต้องเร่งฟื้นฟูข้างต้นหลายแห่ง ที่เริ่มมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อเนื่อง มีการปรับปรุงการดำเนินงานที่มีแนวทางชัดเจน เช่น กรณีบริษัทการบินไทย ที่ประสบปัญหาขาดทุนมานานภายหลังแผนการปรับปรุง 4 ด้านในปี 2557 ได้แก่ การบริหาร, การสร้างรายได้, การลดค่าใช้จ่าย และการแก้ไขโครงสร้างทางการเงิน มีทั้งการลดจำนวนพนักงานลงตามความสมัครใจด้วยนะครับ การยกเลิกเที่ยวบินที่ขาดทุน, การปรับปรุงเส้นทางการบิน, การปรับปรุงระบบการขาย
ประกอบกับการได้รับเงินจากกระทรวง การคลัง มาเสริมสภาพคล่อง ส่งผลให้การดำเนินงานส่วนใหญ่ เป็นไปตามแผนที่กำหนด รายได้รวมใกล้เคียงกับเป้าหมายนะครับอัตราการขนส่งผู้โดยสารสูงกว่าคู่แข่งโดยเฉลี่ย ในปีนี้ เราได้เน้นการปรับระบบการจองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต ให้มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นนะครับ รวมถึงการบริหารทรัพย์สินเพื่อลดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ถึงแม้ว่าผลงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังต้องดำเนินการอีกหลายอย่างนะครับ
นอกจากนั้น เราคงจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับโอกาสจากการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวและการปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) นะครับ ซึ่งเราก็ทำเป็นผลสำเร็จแล้ว รวมทั้งต้องกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการให้เหมาะสมด้วย เราจึงจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนนะครับ
อีกรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นไปตามแผน ก็คือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) นะครับ มีแผนฟื้นฟูช่วงแรก มีการดำเนินงาน 4แนวทาง ได้แก่
(1) การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยจัดกลุ่มลูกหนี้ แยกตามสถานะ และมีกระบวนการดูแลหรือปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่ม
(2) ต่อไปก็คือการบริหารสินเชื่อที่มีคุณภาพดี และให้สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้ โดยปรับกระบวนการพิจารณาสินเชื่อให้กระชับขึ้นนะครับ มีกลไกการพิจารณาที่มีมาตรฐาน เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงเงินทุนได้
(3) ต่อไปก็คือการบริหารสภาพคล่อง เพื่อให้มีสัดส่วนเงินกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้นและปรับให้แหล่งที่มาของเงินทุนเป็นระยะยาวเช่นกันเพื่อลดความเสี่ยง และ
(4) สุดท้ายคือการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานและจัดโครงสร้างกำลังคนให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ
ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อให้กับSMEs เป็นไปตามเป้าหมาย มีการบริหารจัดการต้นทุนและรายได้ต่อเนื่อง ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ทยอยลดลงนะครับ เราแก้ไขมาเรื่อยๆ วูบวาบแก้ที่เดียวไม่หมดนะครับ แต่ก็ยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดเพียงเล็กน้อย นะครับ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ยังคงมีอัตราส่วนเงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ระยะต่อไป ธนาคารฯ จะต้องจัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะยาวเพื่อสร้างความเข้มแข็ง แข็งแกร่ง ปรับตัวเป็น “องค์กรดิจิทัล” นะครับ (DigitalTransformation) เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนด้วย
สำหรับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ นะครับต้องเดิน หน้าทำงาน ในลักษณะเช่นนี้ไปให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ต้องแก้ไขปัญหา และลดภาระทางการเงินนะครับ ให้ได้มากที่สุดนะครับ ที่สำคัญก็คือในทุกกรณี เมื่อแก้ไขปัญหาแล้วนั้น ต้องมีกระบวนการหรือกลไกในการติดตามดูแลนะครับ กรอบการปฏิบัติงานต่างๆ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ ซ้ำอีกนะครับ ไม่ไปสร้างปัญหาใหม่ๆ ไม่ไปสร้างหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก โดยไม่จำเป็น
สำหรับการแก้ปัญหาที่รัฐบาลและ คนร. พยายามผลักดันให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการอยู่นั้น เราจะต้องทำให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพ ไม่ขาดทุน พอเลี้ยงตัวเองได้นะครับ ส่วนใดที่ไม่ใช่การบริการ ของรัฐสวัสดิการนะครับ แล้วส่วนหนึ่งก็ต้องสามารถสร้างรายได้ให้กับภาครัฐได้ด้วยนะครับ แล้วก็ให้บริการกับพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึงมีคุณภาพ
เราจะต้องช่วยสร้างรากฐาน กระบวนการเหล่านี้ ทั้งกลไกในการปฏิบัติ กลไกในการติดตาม และกำกับดูแลการทำงานให้ได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น นะครับพี่น้องประชาชนที่รัก ครับที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงความตั้งใจส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องการดูแลปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน รวมทั้งพัฒนาการบริหารจัดการของภาครัฐเอง
วันนี้ ประเทศไทยยังมีประเด็นปัญหาอีกหลายประการ ที่รอการแก้ไข ทั้งจากภาครัฐ ที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน รวมทั้งฝั่งภาคธุรกิจด้วย
เพื่อให้การแก้ปัญหาให้ตรงจุด “เกาถูกที่คัน” ตามที่ต้องการ อย่างทั่วถึง ถ้ามีวิธีการที่ดีกว่านี้ก็บอกผมมานะครับ ถ้าทำอย่างนี้แล้วมันยังไม่ดีพอ ท่านจะเอายังไงก็บอกมานะครับ ท่านที่มีความคิดเห็นก็เสนอมาได้นะครับ แต่อย่าไปบอกว่าควรจะใช้งบประมาณเหมือนเดิม เป็นไปไม่ได้นะครับในวันนี้และวันหน้า
เรื่องที่ผมอยากจะขอถ่ายทอดแนวความคิดของผมและก็ของรัฐบาลที่คุยกัน หาหนทางกันตลอดเวลาเนี่ยว่าเรามีมุมมองต่อปัญหา และแนวทางที่ “เรา” จะต้องร่วมกันแก้ไขต่อไปได้อย่างไร ...
เรื่องที่1. ก็คือ เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรประชาชนของเรา จะเก่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น พอเพียงและมีความสุขมากขึ้น รวมทั้ง เข้ามามีส่วนร่วมในนโยบายและ การบริหารของประเทศ มากขึ้นในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนต้องเรียนรู้ พื้นฐานระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ใช่แบบเดิมๆที่ผ่านมานะครับ
เราต้องเป็นประชาธิปไตยที่คงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยบ้างหรือไม่ ช่วยกันคิดนะครับ ผมว่ามันจำเป็น ถ้าวันนี้เราจะไปสู่ประชาธิปไตยวันหน้า เราต้องเข้าใจระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมายต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ถ้าทุกคนไม่พูดกฎหมายมันไปไม่ได้หมดนะครับ
มันจะทำให้เกิดผลประโยชน์ กระจายไปทุกพื้นที่ ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย อย่างเป็นธรรม วันนี้ที่มันยาก ที่มันช้าเพราะเราทำไปทั้งประเทศ แต่ถ้าเราทำเป็นกลุ่มมันก็ไม่ยากนัก ที่ผ่านมาก็ทำเป็นกลุ่มๆ แก้ปัญหาเป็นรายปีไป แล้วมันก็เกิดอีก วันนี้มันก็ลำบากกันก่อน วันหน้ามันก็ได้ดีขึ้นกว่านี้ มันก็ต้องแลกเอา นะครับ เอาสบายแต่มันไม่ยั่งยืน ได้ไม่ครบกลุ่ม ไม่ครบพวก ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็ง สักวันสักที มันก็ลำบากนะ
เราจะต้องลดช่องว่างรายได้ของคนทุกระดับให้แคบลงให้ได้ ทุกฝ่าย ทั้งประชารัฐในรัฐบาลปัจจุบัน และ ผมขอความเห็นของนักการเมืองทุกพรรคด้วยนะครับ
เราจำเป็นต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปติดกับ 20 ปีล้าสมัย ไม่ใช่เลย เราต้องการให้มีความต่อเนื่อง ไม่สะดุด ทุกรัฐบาลก็เดินหน้าไปตลอด 20 ปี ท่านจะมีนโยบายต่างๆมาก็ต้องร่วมกันนะครับ
ทุกพรรคการเมือง ช่วยกันวางกรอบตามที่รัฐบาลและ คสช. ได้วางไว้แล้วในขั้นต้น ผมก็เพียงแต่วางไว้ให้ แล้วท่านจะปรับเปลี่ยนอะไร ท่านก็ว่าไปตามกฎหมายก็มีอยู่แล้ว การร่วมมือกันทำงาน แน่นอน ทุกความคิดทุกวิธีการมันมี ที่แตกต่าง คนไทยต้องเก่งทุกคนนะ แต่ต้องแยกให้ออกว่า อะไรคือยุทธศาสตร์ชาติ อะไรคือนโยบายพรรค
เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในทุกด้าน บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส รวมทั้ง ปราศจากการทุจริต และการทำประชานิยม ในสิ่งที่ผิดๆนะครับ จะนำผลเสียมาสู่วินัยการเงิน การคลัง ของประเทศ ในระยะยาว อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องลดความขัดแย้ง ในทุกมิติ เนี่ยต้องตอบว่าแล้วท่านจะทำอย่างไร ท่านบอกว่าผมทำไม่สำเร็จ แล้วท่านจะทำอะไรบ้าง สร้างความปรองดอง ในทุกกิจกรรม ช่วยกันได้ยังไง โดยเฉพาะด้านการเมือง และ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้เกิดความมีเสถียรภาพที่ยั่งยืน
2. ในภาพรวม ผมอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน สร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ช่วยกันทำในสิ่งดีๆ ให้กับคนไทยด้วยกันเอง ทุกคนทราบหมดนะครับอะไรดีไม่ดี ประเทศชาติของเรา จะดีขึ้นได้อย่างไรโดยปราศจากความขัดแย้ง ภาคธุรกิจ ก็ต้องไม่มุ่งหวังเพียงผลประโยชน์ หรือการผูกขาด แต่เพียงอย่างเดียว สังคมก็ไม่ไว้วางใจ เราต้องช่วยกันคิด เกื้อกูลกัน ให้เกิดการกระจายรายได้ ให้เกิดความเป็นธรรม ไปถึงทุกคน ทุกกลุ่ม รวมทั้งยึดโยงไปสู่ผู้มีรายได้น้อยในทุกสาขาวิชาชีพ ทุกระดับด้วย
และข้อสำคัญ เราต้องแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้ได้ ในทุกระดับ ทั้งในเรื่องของการสร้างระบบป้องกัน ระบบแก้ไข ระบบการบริหารจัดการ ต่างๆ ให้มันโปร่งใสให้ได้ ทุกองค์กร ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เพราะเป็นการใช้จ่าย หรือการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่ถูกกฎหมายถ้าเราไม่ทำให้ถูกต้อง
เงินทุจริตมันก็จะวนเวียนมากในพื้นที่ ธุรกิจสีเทา หรือธุรกรรมเลี่ยงการเสียภาษี อันนี้แหละครับเงินมันจะแพร่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ มันก็ทำให้เกิดดีมานด์เทียม ซัพพลายเทียม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยั่งยืน ให้กับประเทศ
3. ในส่วนของภาครัฐ การใช้งบประมาณในการดูแลประชาชน เราต้องช่วยกันคิดนะครับว่าเราควรต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีรายได้ที่แตกต่างกันด้วยหรือไม่ โดยนำความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนมาเป็นเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ไม่กระจุกตัว ไม่ซ้ำซ้อน ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มากจนเกินไปเพราะเป็นภาษีโดยรวมของประเทศนะครับ
ทั้งนี้โดยหลักการแล้ว ทางวิชาการก็มีผู้กล่าวไว้แล้วนะครับ ผู้มีรายได้น้อยก็ควรได้รับการดูแลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่มีรายได้ดีกว่า มันก็ต้องมี ตัวเลขออกมา เพราะฉะนั้น “ความเสมอภาค” ที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน ก็คือ การทำให้ทุกคนไม่ว่าจะยาก ดี มี จน ควรได้รับโอกาส เข้าสู่ห่วงโซ่ อย่างเท่าเทียมกัน โดยเริ่มจากทำให้สามารถ “อยู่รอดอย่างพอเพียง และยั่งยืน” ได้ ในที่สุด
เช่น มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย ที่ได้กล่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ใช้งบประมาณในการดูแลกลุ่มอื่นๆ ด้วย ตามความเหมาะสม
4. เกษตรกรก็ต้องเก่งเรื่องเกษตรสมัยใหม่ ไม่งั้นไม่ทันโลกเขาแน่นอน เรื่องพันธุ์พืช การลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้ยาฆ่าแมลงลงไปตามลำดับ และบางพื้นที่อาจจะไม่ใช้เลย หรือไม่ใช้อยู่แล้วในเวลานี้ แต่ละพื้นที่มันต่างกันไง เพราะที่ผ่านมามันอิสระเสรี แมลง หรือโรคพืชจากนี่ก็ลามไปโน่น ตรงไหนใช้ยาใช้สารมากๆ มันก็ไม่ไป แต่มันก็อันตรายแก่คนไง
ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์กันบ้าง ตามทิศทางของโลก อีกทั้ง ยังต้องมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ปัจจัยอื่นๆ อาทิ ลมฟ้าอากาศ สำหรับการเพาะปลูกพืช ได้อย่างเหมาะสม
5. อุตสาหกรรม ก็ต้องผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ และตลาด ย่าไปคิดว่าจะทำนี่แล้วจะขายดี ต้องไปหาการตลาดให้ได้นะ ให้ชัดเจนขึ้นทั้งตลาดภายใน และภายนอกประเทศสามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกันต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น
6. การท่องเที่ยวและบริการเราต้องให้ความสำคัญในเรื่องความน่าเชื่อถือ ว่ามาเที่ยวบ้านเราแล้วเป็นยังไง ปลอดภัยนอกจากสนุกแล้วยังต้องปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย ให้เกิดความประทับใจ ให้เขากลับมาเยือนบ้านเมืองเรา อีกหลายๆครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้มีการกระจายได้ลงสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ให้มากที่สุด เพราะทุกคนก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้มาในเรื่องของที่พัก อาหาร เรือ ที่พัก เรื่องขนส่ง ทำนองนี้นะครับ
7. การสร้างตลาดประชารัฐประเภทต่างๆรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นะครับ เราจะต้องไปรวบรวมข้อมูล เดิมมันอยู่ที่ไหนบ้างแล้วจะพัฒนาอย่างไร ไม่ใช่สร้างไปแล้วไม่มีคนขาย ไม่มีคนซื้อ เราต้องสร้างให้ครอบคลุม หลายประเภทด้วยกันกำลังดำเนินการอยู่ กระจายในทุกพื้นที่ มีสินค้าที่หลากหลาย ที่มีคุณภาพ เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ สมุนไพร
เป็นตลาดที่เราส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีการปลูกพืช เอามาตรงนี้มันจะได้มีตลาดขายของเขา ประชาชนก็เอาเข้ามาขายเอง หรือมีคนรวมมาก็แล้วแต่ แต่ขอให้เป็นกลไกของภาคประชารัฐทำมันจะได้ชัดเจนขึ้น จะมีสินค้าชุมชน สินค้าสุขภาพ สมุนไพรนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเปิดช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร และสินค้า OTOP ต่างๆที่มีมากมายให้กว้างขวางขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน อีกด้วย
8. ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง หรือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ การเสียสละ และเกื้อกูล ไปสู่ผู้มีรายได้น้อย อันนี้เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เราจะต้องเพิ่มการกระจายรายได้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทำให้ทุกคนเกิดความพอใจ คนไทยพอใจ บริษัทของท่านก็มีชื่อเสียง ได้รับกุศลผลบุญที่ได้ทำไว้ ด้วยความเต็มใจของท่าน อันนี้ก็ขอให้ทุกคนได้ช่วยกัน
รัฐบาลขอให้หลายภาคเอกชนเข้ามาช่วย ตามกำลังความสามารถ ผมก็ขอบคุณนะครับ หลายกลุ่มหลายบริษัทก็เข้ามาร่วม หลายบริษัทก็ยังไม่มานะครับ ก็มีจำนวนมาก ก็ขอให้ช่วยกันแล้วกัน ถ้าช่วยกันเล็กๆน้อยๆ มันก็ดีเองแหละ ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่าเราไม่ได้ทำเป็นการเอื้อประโยชน์ เพราะฉะนั้นต้องลดราคาของลง คนที่มีรายได้น้อยก็เข้าถึงได้มากขึ้น ไม่งั้นก็จะบอกว่าเป็นการเอื้อประโยชน์หมดแหละให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เขาก็ต้องมาแสดงตัว แสดงสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์โดยรวมให้ได้ ให้สังคมเข้าใจนะครับ
วันนี้ก็เป็นเพียงระยะแรกเท่านั้น ก็ต้องเร่งให้เร็วขึ้น วันหน้าเราต้องเร่งให้กลุ่มฐานราก กลุ่มประชาชน ประชารัฐเนี่ยเข้มแข็งขึ้นอีกช่องทางหนึ่งนะครับ ทั้งการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ครบวงจร
9. ในส่วนของภาครัฐการกำหนดนโยบายสาธารณะ จำเป็นต้องมีนะครับเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน และขับเคลื่อนประเทศ ก็จะต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนตามปัจจัย หรือบริบท ภายใน ภายนอกได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักการ และเป้าหมายที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และ ประเทศชาติ โดยรวม
ซึ่งต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง และ ไม่เป็นปัญหาด้านงบประมาณ รวมถึง การปรับปรุงระบบภาษี ไม่ได้มุ่งหมายไปเก็บภาษีใคร เราต้องปรับภาษีให้เป็นธรรม ผู้มีรายได้น้อย รายได้มาก จะเป็นยังไง ทำยังไงไม่ให้มีผลกระทบ ให้เกิดความพึงพอใจ เกิดความเป็นธรรมได้ทั่วถึง เรื่องนี้เราคงต้องศึกษารายละเอียดกัน ต่อไป
10. การพัฒนากองทุนแห่งรัฐ เราต้องมีการพัฒนาในทุกกิจกรรม ควรจะต้องสอดคล้องกับความต้องการ อาทิ การศึกษา การสาธารณสุข ซึ่งยังไม่สมบูรณ์นัก ให้มีการการพัฒนาและการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และทั่วถึง
ปัจจุบันนั้นเราต้องยอมรับว่าเรามีแรงงาน และประชาชน จำนวนไม่น้อย ที่มีการศึกษาค่อนข้างต่ำ หรือไม่อยู่ในระบบการศึกษา ด้วยความจำเป็นในการดำรงชีวิต โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน วันนี้เขาต้องออกมาทำงานกลางคัน ไม่มีการศึกษาต่อ การเรียนรู้ก็น้อยลง ทำงานตามหน้าที่ ตามความชำนาญไปเรื่อยๆ รายได้ก็อยู่เท่านั้น
เพราะฉะนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปสู่ Thailand 4.0 เราต้องพยายามเน้นให้คนของเรา มีหลักคิด มีสามัญสำนึก มีความคิดสร้างสรรค์ ที่ถูกต้องเหมาะสม มีความคิดที่จะพัฒนาตนเองเป็นพลเมืองดีมีคุณภาพในสังคม ถ้าเรียกร้องแล้วไม่พัฒนา มันก็ลำบากนะที่จะได้อะไรกลับมาง่ายๆ ในวันนี้และวันหน้า
รวมถึง เราจะต้องสามารถสร้างงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศได้ด้วย เราจะต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนา กำหนดมาตรฐานสากล (สมอ./ อย.) และ การจดสิทธิบัตรทางปัญญา ในเรื่องของยา อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องรองรับอย่างเหมาะสม กฎหมายก็ต้องเดินไปด้วยนะครับ แก้ไขปรับปรุง
11. ในด้านการบริการสังคมภาครัฐจะต้องมีการจัดทำระบบบรรเทาสาธารณภัย น้ำท่วม ฝนแล้ง ฯลฯ อย่างเหมาะสม เป็นขั้นเป็นตอน เราต้องพิจารณา ทั้งการป้องกัน บรรเทา และการแก้ไขฟื้นฟูโครงการต่างๆ ที่จำเป็น เราจำเป็นต้องทำกันที่ไหน อย่างไร หรือไม่ ประชาชนต้องช่วยกันคิดแล้วนะครับ เราจะต้องลดค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ถ้าเราลดค่าใช้จ่ายในการเยียวยาจากน้ำท่วม ฝนแล้ง ลงไปได้มากพอสมควร เราจะเอาเงินเหล่านี้กลับมาดูแล คนมีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลางได้มากขึ้น
สิ่งที่ทำง่ายๆ วันนี้คือ เราจะทำยังไงกับการจัดการกับสิ่งกีดขวางทางน้ำตามธรรมชาติ ที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าผังเมือง บางทีก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเต็มที่ มีการสร้างถนน เส้นทาง บ้านพัก หมู่บ้าน ที่พักอาศัยต่างๆ เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก ขวางเส้นทางน้ำทั้งสิ้น ทีนี้ถ้าไปรื้อมาจะทำได้ไหม
ฉะนั้นก็ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันคิด ผมก็เพียงแต่อยากให้ทุกคนคิดเป็น คิดใหม่ หลายๆ คนอาจจะลืมคิดไป ปัญหาเหล่านี้ต้องการความร่วมมือร่วมใจนะครับ แล้วมันจะแก้ไขได้นะครับ เราต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันเรื่องเหล่านี้ให้มากที่สุด แม้จะเป็นการยาก ในเรื่องของน้ำท่วม ฝนแล้งเหล่านี้ มันป้องกันไม่ได้ 100% เพราะมันขึ้นอยู่กับธรรมชาติ
แต่เราต้องลดการสูญเสียชีวิตทรัพย์สินลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยการทำสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมาให้ได้บ้างนะครับ ในที่ดินที่ประชาชนเป็นเจ้าของทั้งหมดนี่แหละ จะทำยังไง ก็ต้องหารือช่วยกัน
12. การผลักดันงานเฉพาะด้านต่าง ๆ เหล่านี้ เราต้องการระบบบริหารราชการ ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ วันนี้รัฐบาลก็ปรับมาตลอดนะครับ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของวิธีการ ในเรื่องขององค์กร บุคลากร ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมายต่างๆ หลายร้อยฉบับ ที่กำหนดขึ้นนั้น ผมก็บอกไปแล้วว่า เราต้องสร้างประโยชน์ต่อประชาชนทุกกลุ่มให้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่มีบทกำหนดโทษที่รุนแรงอย่างเดียว มันต้องมีกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนเกิดความร่วมมือให้ได้ด้วย ให้มันเป็นธรรมอ้ะนะ
อย่าคิดว่าราชการจะใช้กฎหมายได้อย่างเดียว มันต้องอาศัยความร่วมมือด้วย กฎหมายต้องเป็นแบบนี้นะครับ ต้องจัดทำกฎหมายที่เกื้อกูล ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ อย่างเป็นธรรม ไม่ทุจริต กิจกรรม แผนงาน โครงการ ที่ดี ไม่มีปัญหาของรัฐบาล ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงระบบงบประมาณของประเทศด้วย เราต้องพิจารณาให้เหมาะสม
ทั้งหมดนี้เป็นแนวความคิดของนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่ต้องการจะสื่อสารให้คนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ได้ร่วมกันแสวงหาทางออก ให้กับประเทศของเราให้มีความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตลอดไป ไม่อยากให้เข้าใจกันผิดพลาดต่อไปอีก วันหน้ามันอันตรายนะครับ
สุดท้ายนี้ ก็ขอความร่วมมือ จากพี่น้องประชาชน คนไทยทุกคน เรายังมีอีกหลายเรื่อง ที่จะต้องปฏิรูปร่วมกัน อาทิ การศึกษา ระบบประกันสุขภาพ - สาธารณสุข การแก้ไขปัญหาขยะอุดตัน ต้องแก้วันนี้เลยนะครับช่วยกัน ดูเรื่องการทิ้งขยะ การแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และการจราจรติดขัดเห็นแก่ตัว ไม่เคารพกฏจราจร มันแก้ได้ทันทีพวกนี้ อาจจะดีขึ้น
การใช้ที่ดิน - การบริหารจัดการน้ำ - การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม การทำการเกษตรแผนใหม่ และอุตสาหกรรม จะต้องทำทุกอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามีต้นทุนไม่มากนัก
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มากมายที่เราต้องแก้ไขปรับปรุง ทั้งการคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร สารสนเทศ และอื่นๆ ความมั่นคงทางพลังงาน และ การแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม
การจัดระบบ และยกระดับรัฐวิสากิจใหม่ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกการปฏิรูป คือ เราต้องเริ่มที่ “ตนเอง และครอบครัว” ก่อนเสมอ ส่วนกลุ่มต่างๆ ทั้งเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา “ปัญญาชน” ทั้งหลาย ก็ต้องขอความร่วมมือ ให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจ อย่างทั่วถึง ด้วยเพราะเป็นอนาคตของประเทศเรานะครับ
รายละเอียดการปฏิรูปที่เกริ่นไว้ ผมจะขอนำมาคุยกับพี่น้องประชาชนในครั้งต่อๆ ไปด้วย นะครับ
สัปดาห์หน้าเป็นห้วงเวลาประวัติศาสตร์ของประเทศ มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย ทุกคนในการร่วมการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ความจงรักภักดี แด่ “พ่อหลวง” ของเราทุกคน ร่วมกัน “คิดดี พูดดี ทำดี” นำเรื่องราวดีๆ ของ “พ่อ - พระราชาผู้ทรงธรรม” มาเล่าสู่กันฟัง
พร้อมทั้งน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ร่วมกันน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย อย่างสมพระเกียรติ สูงสุด ให้สมดังที่พวกเราทุกคนเป็น “ข้ารองพระบาท” ในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็น “ลูกที่ดี” ของพ่อตลอดไปขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนระลึกถึง “คำพ่อสอน” ร่วมกันทำดีเพื่อพ่อ และ ขอให้มีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard