รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  3732 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติ เป็น (1) วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (2) วันชาติ และ (3) วันพ่อแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่เราคนไทยจะได้ร่วมกันรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ที่พระราชทานต่อปวงชนชาวไทยและประเทศชาติ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยร่วมจิตน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและรวมใจไทยทั้งชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการช่วยกันนำพาประเทศของเราไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไปนะครับ

นอกจากนั้น วันที่ 5 ธันวาคม นับว่ามีความสำคัญต่อปวงมนุษยชาติ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นะครับ กำหนดให้เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day)/ ตามวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ด้วย ทรงเป็นผู้นำในการดูแลดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย “รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) แสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกอย่างมาก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เนื่องในโอกาสสำคัญดังกล่าวนี้ ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสอันทรงคุณค่า เป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่พระราชทานไว้เป็นมรดกทางปัญญาแก่ปวงชนชาวไทย ได้น้อมนำไปคิดและปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเป็นสิริมงคลแก่ตน ดังนี้ “บ้านเมืองของเรากำลังต้องการ การปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือการที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง” เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2543

ทั้งนี้ “7 ทศวรรษ แห่งการพัฒนาประเทศ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับคนในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนา ทรงเน้นการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเริ่มต้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อน แล้วค่อย ๆ สร้างเสริมให้ก้าวหน้ามั่นคงขึ้นเป็นลำดับ สำหรับเป็นรากฐานที่จะรองรับความเจริญก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นผลจากการพัฒนา เพื่อที่ประชาชนจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สิ่งสำคัญที่รัฐบาลนี้มองเห็น คือ ในเรื่องของการพัฒนาการเรียนรู้ ทุกคนต้องเข้าใจถึงหลักการและเหตุผล แล้วรับฟังข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ส่วนการที่จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจอย่างไรก็ตามนั้นก็คงต้องหารือกันต่อไป หาข้อมูลเพิ่มเติม ไม่อย่างนั้นก็ขัดแย้งกันไปทุกเรื่อง เดินหน้าไปไม่ได้เหมือนเดิม


พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่รักครับ

การลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีในครั้งที่ผ่านมานี้ผมต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน ทั้งข้าราชการ ภาคเอกชน หอการค้า อุตสาหกรรม ผู้นำท้องถิ่น อปท. พี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง ในส่วนของที่ยังมีปัญหาอยู่ รัฐบาลก็รับจะไปดูแล แก้ปัญหาให้ ไม่ว่าจะเรื่องของประมง เรื่องของยาง หรือผลิตผลการเกษตรอื่น รัฐบาลก็พยายามจะทำอย่างเต็มที่ บางอย่างต้องใช้เวลาบ้าง บางอย่างก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พันธสัญญาต่าง ๆ อีกมากมาย ทุกคนต้องช่วยกัน อาจจะต้องมีการเสียสละกันบ้างในบางส่วน สำหรับภาคใต้ของเรานั้น ทุกคนทราบดีว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทั้งเกษตร ปศุสัตว์ ประมง บริการ การท่องเที่ยว ทั้งทางบกและทางทะเล ชายฝั่ง ชายแดน รวมถึงวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์มาอย่างยาวนาน และยังมีพืชเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งยาง ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และไม้ยืนต้น ที่ทำรายได้ให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนในภาคใต้ ยังต้องเผชิญปัญหากับปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ มีช่องว่างอยู่มาก การเข้าถึงบริการภาครัฐ อันนี้ถือว่าเป็นข้อจำกัดที่สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ไม่สามารถใช้สู่ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลก็ต้องเร่งพัฒนาภาคใต้ให้มีความเจริญที่เท่าเทียม กับภาคอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเข้าถึงโอกาสรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาในเรื่องของดิจิตอล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อจะเพิ่มการเรียนรู้ ในเรื่องที่เป็นสาระแล้วในเรื่องที่จะทำให้ทุกคนได้มีช่องทางในการพัฒนาตนเอง รวมความไปถึงเรื่องการค้าขายต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่อย่างนั้นเราก็จะเชื่อมต่อกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ดิจิตอลจะมาช่วยได้มากขึ้น ก็ขอให้เตรียมการของตัวเองไว้ด้วย ให้พร้อม ใครที่รู้มากกว่าคนอื่นสอน แนะนำคนอื่นด้วย ไม่งั้นก็ไปไม่ทั่ว รัฐบาลบางครั้งก็ทำได้ลำบาก เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนช่วยกัน พี่จูงน้อง เพื่อนจูงเพื่อน คนแข็งแรงกว่าก็ต้องช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่า

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีการหารือกับภาครัฐและเอกชน รวมความไปถึงในส่วนของท้องถิ่นด้วย เพื่อจะเร่งดำเนินการมาตรการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ให้ได้ตรงกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งผมถือว่าเป็นหลักการในการที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงเพิ่มมูลค่าต่าง ๆ ทั้งกายภาพ และมิติอื่นด้วย เพราะว่าในอนาคตข้างหน้านั้น เราคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับภาคอื่น ๆ และสองฝั่งทะเลระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มีหลายวิธีการ

เพราะฉะนั้นต้องเดินไปเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ ก็เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุน การขนส่ง และการท่องเที่ยวรวมไปถึงการพัฒนาโครงข่ายทั้งระบบการขนส่งของภาคใต้ให้สมบูรณ์ เพื่อให้สามารถเดินหน้า การพัฒนาต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะมีการพิจารณาลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน ในการดำเนินงานโครงการหลัก ๆ ไม่ใช่บอกว่าจะลงทุน ห้าแสนล้านบาท เราไม่มีเงินขนาดนั้น ต้องวางแผนงานให้ทุกกระทรวง ทบวงกรม อะไรทำก่อน อะไรทำหลัง ใช้งบประมาณอย่างไร อันนั้น คือ หลักการรัฐบาลก็เห็นชอบในหลักการว่าจะทำอะไรบ้างที่เขาต้องการมา แต่ต้องทยอยดำเนินการไป หลายอย่างก็อยู่ในกระบวนการอยู่แล้ว ในการดำเนินงานโครงการหลัก ๆ อันได้แก่
1. การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงโครงข่ายระบบราง เช่น รถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี–หาดใหญ่ และช่วงหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ การก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เชื่อมรถไฟสายใต้เส้นทางสุราษฏร์ธานี–พังงา และสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก ก็จะต้องเร่งดำเนินการทำให้ได้โดยเร็ว
2. การพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงโครงข่ายทางทะเล เช่น การพัฒนาท่าเรือครุยส์ สำหรับการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เรือขนาดใหญ่ การสร้างท่าเรือน้ำลึกในการขนส่งสินค้า ซึ่งจะต้องมีการขุดขยายร่องน้ำ ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกเพิ่มเติมขึ้น ก็ขอความร่วมมือด้วย ไม่อย่างนั้นก็ขัดแย้งไปทั้งหมด ทำไม่ได้สักอย่าง
3. การพัฒนาและปรับปรุงสนามบินเพื่อให้เชื่อมโยงโครงข่ายทางบกและทางรางให้สะดวกสามารถรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกวันนี้ รวมถึงการพิจารณาสร้างสนามบินแห่งใหม่ตามความจำเป็น เพราะฉะนั้นทุกคน ถ้าเราไม่เพิ่มอะไรเลยก็เท่าเดิม มูลค่าต่าง ๆ ก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าเราจะสร้างงาน สร้างอาชีพ รายได้ ต้องทำเรื่องพวกนี้
4. การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางถนน ก็มีหลายถนน หลายเส้นทางที่ภาคใต้มีความต้องการ บางอย่างอยู่ในแผนแล้ว บางอย่าก็เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้โครงการเดินต่อได้โดยเร็ว ทุกโครงการ ติด EIA เพราะฉะนั้นก็ต้องไปหาทางออก ทำให้ได้ มีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยในกรณีปัญหายางพารา ก่อนอื่นก็อยากให้ทุกคนได้เข้าใจทั้งระบบ ผมพูดมาหลายครั้งแล้ว ก็คือการผลิตหรือการปลูก การแปรรูป และการใช้ประโยชน์ เพื่อจะให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ดีกว่าจะไปแก้ปลายทางทุกครั้ง

ขณะนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้ กยท. ร่วมกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นเกษตร มหาดไทย พาณิชย์ และอีกหลายหน่วยงานของทุกกระทรวง หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้นำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้ได้โดยเร็ว เราได้วางแผนมานานแล้ว แต่ติดปัญหาในเรื่องของมาตรฐาน ในเรื่องปัญหาของกฎหมาย หรือกฎต่าง ๆ ของหน่วยงาน กรมบัญชีกลาง เหล่านี้ ต้องแก้ตรงนั้นมาก่อน เลยช้าวันนี้ก็แก้ไปได้เกือบ 100% แล้ว จะได้ดำเนินการได้เสียที ให้ครบวงจร เรามีแผนจะนำมาใช้ประโยชน์ในโครงการของรัฐให้ได้ 200,000 ตัน ก็จะทำให้เร็วที่สุดตรงนี้ เพราะว่าต้องมีคนผลิต ต้องมีวิธีการเอายางเข้ามาสู่กระบวนการผลิต ซึ่งการผลิตทั้งหมดนั้นรัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของสถานประกอบการ เพราะฉะนั้นต้องหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ซึ่งวันนี้เขาทำของเขาอยู่แล้ว และไปซื้อยางมาจากข้างนอก คราวนี้เราจะบังคับได้หรือไม่ก็คงไม่ได้ การจะบังคับเขาทั้งหมดไม่ได้ เพราะเป็นการค้าเสรี เขาก็ต้องการต้นทุนราคาถูก คราวนี้ต้องไปคุยกันอีกทีหารือช่วยกัน ช่วยพี่น้องชาวเกษตรกรสวนยาง รวมทั้งวันนี้ก็อยากจะเรียนว่าเราก็มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศ ที่เราได้อนุมัติ ส่งเสริมจาก BOI ไปแล้ว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในการที่จะก่อสร้างโรงงานเพื่อจะทำผลิตภัณฑ์จากยาง ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ก็จะมีความต้องการใช้ยางไม่น้อยกว่าอีก 500,000 ตัน เมื่อโรงงานเสร็จแล้ว เขาต้องสร้าง เขาต้องลงทุน เพราะฉะนั้นเขาต้องมีแผนในการลงทุนของเขา เพราะฉะนั้นเริ่มก่อสร้างเสร็จ กว่าจะสำเร็จออกมาสร้างผลิตภัณฑ์ได้ ก็ประมาณสัก 3 ปี ก็แสดงว่าเจ้าหน้าที่มีอนาคตแล้ว ก็อยากจะบอกชาวสวนยาง เราลำบากกันมานานแล้ว อาจจะต้องรอสักระยะหนึ่งให้โรงงานเหล่านี้เปิดขึ้นในพื้นที่ของ กนอ. ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้
สำหรับเรื่องในการใช้ยางทำถนน ในช่วงที่ผ่านมานั้นก็มีการใช้ทำมาบ้างแล้ว ก็ใช้ยางได้เพียงแค่ไม่เกิน 5% ในการทำผิวถนน วันนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะให้มีการวิจัย และค้นคว้า ก็มาจากหลายแห่ง จากมหาวิทยาลัยบ้าง สถาบันการศึกษาบ้าง ผมก็ให้เอามาดู แล้วก็สามารถรับรองมาตรฐานได้หรือไม่ เพราะว่ามีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน แต่วันนี้หลายอย่างมีผลผลิตออกมาแล้ว ที่สามารถจะรับรองได้ ก็คือจะทำให้เราใช้ยางได้เพิ่มขึ้นจากเดิม จาก 5% เป็น 10-15% หรือมากกว่านั้น เพราะว่าจะเป็นเทคนิคใหม่ แต่แน่นอนในการใช้เทคนิคใหม่เหล่านี้ ใช้ยางมากขึ้นเหล่านี้ ทำให้ต้นทุนการ ทำถนนหนทางสูงขึ้น แต่ผมคิดว่าถ้าเรามองประเด็นความคุ้มค่า หรือราคาแพงเกินไป ตรงนี้ก็ตอบคำถามไม่ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดผลประโยชน์ทางอ้อมมาด้วย ทางอ้อมก็คือเส้นทางเหล่านี้ ก็สามารถจะเพิ่มการสัญจรไปมา เปิดโอกาสให้การค้าขายสินค้าหรือการท่องเที่ยวได้ดีมากยิ่งขึ้น

เรามองสร้างถนนแล้วราคาแพงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องไปมองว่าเอายางมาทำถนนเกิดประโยชน์กับใครบ้าง ถึงแม้ว่าราคาจะสูงขึ้น ขอให้สังคมได้ช่วยกันด้วย ในการใช้ยางเป็นส่วนผสมนั้นเราก็อยากให้ใช้มากยิ่งขึ้น ผมสั่งการไปแล้วว่าขอให้กระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของทหาร ในส่วนของท้องถิ่น ท้องถิ่นจะรับผิดชอบในเรื่องของถนนขนาดเล็ก ตามชุมชน ตามหมู่บ้าน วันนี้ต้องหารือกับกรมทางหลวงชนบท ว่าให้ช่วยกัน ปรึกษาหารือกันดูว่าจะช่วยกันยังไง ไม่อย่างนั้นบางทีขีดความสามารถเขาทำไม่ได้ ก็คงต้องไปดูกันตรงนั้น อันนี้ก็จะมีส่วนหนึ่งที่จะต้องใช้งบประมาณในส่วนของ อบท. (องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น) ด้วย เราต้องการให้มีการผมสม มีการใช้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะมีผลทำให้ราคายางสูงขึ้นมาได้ ก็ขอความร่วมมือจากบรรดาพ่อค้าคนกลางต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย เราต้องพัฒนากันทั้งระบบได้แล้ว ที่ผ่านมาบางทีอาจจะไม่ครบ ไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ยั่งยืน ท่านก็ต้องช่วยกันในเรื่องของธุรกิจ แต่บางครั้งก็กำไรน้อยลงบ้าง ช่วงแรกต้องเป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราปรับแก้ ปฏิรูป ต้องมีปัญหา ถ้ามีปัญหา ถ้าทุกคนยอมรับได้ ก็จะแก้อย่างอื่นได้ทั้งหมด ถ้าท่านให้ปฏิรูปแล้วไม่มีปัญหาอะไรเลย ทำได้ยากหมด เพราะทุกคนคำนึงถึงแต่ในส่วนที่จะเป็นผลกำไรของตัวเอง อย่างนี้ไปไม่ได้ทั้งหมด

วันนี้ก็ได้มีการพัฒนาระเบียบกรมบัญชีกลางตามที่ผมกล่าวไปแล้ว ว่ามีปัญหาอยู่ว่า ทำได้ ไม่ได้ อย่างไร วันนี้ได้ดำเนินการแล้ว ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ก็ฝากดูด้วย เพราะบางอย่างเวลาทำออกไป ก็ติดปัญหาในเรื่องของข้อห่วงใย ข้อกังวล ของ สตง. เหล่านี้ ก็อยากจะกราบเรียนว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการตรวจสอบการทุจริต ก็ต้องมาดูว่า ทำไปแล้วคุ้มค่าหรือไม่ การคุ้มค่านั้น คุ้มค่าเฉพาะกิจกรรมโดยตรงหรือไม่ ต้องมีกิจกรรมโดยอ้อม แล้วบางอย่างก็แก้ไขในเรื่องของระเบียบ วิธีการ อันนี้ขอให้เข้าใจ ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับใครเลย ในส่วนของการชี้แจงทำความเข้าใจ วันนี้ผมก็ได้ทำไปแล้ว หารือท่านก็บอกว่าไม่ขัดข้องอะไร เพียงแต่ว่าขอให้ดำเนินการไปด้วยความโปร่งใส ในเรื่องของการที่จะต้องราคาสูงขึ้น ท่านเข้าใจ ก็ขอขอบคุณสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหลาย ๆ โครงการ ติดปัญหาตรงนี้เพราะว่ามีระเบียบเดิมอยู่

เพราะฉะนั้นการที่จะทำอะไรใหม่ ๆ บางครั้งต้องใช้ระเบียบใหม่เหมือนกัน แล้วต้องมองผลประโยชน์โดยตรง ผลประโยชน์โดยอ้อม แยกในเรื่องของการทุจริตไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่จะตรวจสอบได้ตลอด แต่ถ้าหยุดตั้งแต่แรกกันเลย ก็ทำไม่ได้สักอย่างหนึ่งแล้วก็เหมือนเดิม ไม่มีประสิทธิภาพนะครับ เราก็จะเป็นการปฏิรูปยางทั้งระบบ รวมความถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ขอบคุณ สตง. หรือหน่วยงานที่ตรวจสอบการทุจริต

นอกจากนี้ เราจะต้องดูแลเรื่องการบุกรุกผืนป่า มีบุกรุกผืนป่าไปทำการเกษตร ไปปลูกยาง ปลูกปาล์ม อะไรก็แล้วแต่ ผมได้สั่งการไปแล้วว่าจะมีการตัดต้นยางในพื้นที่บุกรุกของนายทุน ผมย้ำว่าในพื้นที่บุกรุกของนายทุน และในส่วนที่เป็นพื้นที่ของเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เราก็จะต้องชะลอการกรีดยาง หรือลดการกรีดยางลง อะไรสักอย่างที่จะทำให้ปริมาณยางออกมาน้อยลง แต่เราจะต้องดูแลเกษตรกรเหล่านี้อย่างไร จะได้ช่วยลดอุปทานในตลาดของยางได้บางส่วน

ในส่วนของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย เราจะต้องกามาตรการดูแลเป็นพิเศษ อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วเมื่อสักครู่ หลายคนก็ปลูกในพื้นที่บุกรุกเหมือนกัน แต่ผมเห็นว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย จะต้องหามาตรการพิเศษ ว่าจะดูแลเขาได้อย่างไร รวมทั้งการสร้างรายได้เสริมโดยการปลูกพืชแซมยาง เช่น กล้วย วันนี้กล้วย ผมเห็นข่าวบางที่ก็บอกว่าราคาต่ำลง แสดงว่าเราปลูกกันมากเกินไปหรือไม่ ก็ต้องไปดูตรงนั้น การจะสนับสนุนอะไรก็ตามต้องดูดีมานด้วย ไม่อย่างนั้นก็ผลิตมามากเกินไป แล้วก็แข่งขันกัน ราคาก็ตก ก็ถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง พ่อค้าคนกลางก็มีความจำเป็น เพราะว่าไม่อย่างนั้น ก็จะขนส่งไปไหนไม่ได้ ตลาดก็ไม่มี เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องไปดูตรงนั้น ให้เกิดความเป็นธรรม เราบังคับมาก ก็เป็นกลไกของการค้าเสรีเข้าไปอีก หลายคนก็คาดหวังให้รัฐบาลไปบังคับต่าง ๆ บางครั้งทำไม่ได้ เราทำได้เท่าที่กฎหมายหรือกฏระเบียบต่าง ๆเอื้ออำนวยให้รัฐบาล หรือหน่วยงานภาครัฐทำได้
อีกประการหนึ่ง คือ การทำปศุสัตว์เสริม อันนี้จำเป็น ผมไม่ได้หมายความว่า ทุกคนต้องเลิกปลูกยาง มาปลูกกล้วย เลิกปลูกยาง มาปลูกมะพร้าวผมไม่เคยพูดแบบนั้น

รัฐบาลนี้ก็จะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมทุกประเด็น ก็อยากให้เห็นถึงความสำคัญของภาคใต้ รัฐบาลนี้เน้นนะครับ ตรงนี้ทุกคนอาจจะยังไม่ทราบ หรือหลงลืมไปแล้วว่า ผมแยกภาคใต้ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ทั้งหมดมีอยู่ 14 จังหวัด วันนี้เราแยก 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส 3 จังหวัด บวกกับ 4 อำเภอสงขลา ออกไปเป็นภาคใต้พิเศษ เพื่อจะได้เร่งรัดในเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงไปด้วย ที่เหลือก็มีทั้งหมดอีก 11 จังหวัด เดิมมี 14 ก็แยก 3 ออกมา บวก 4 อำเภอของสงขลา แล้วอีก 11 จังหวัด ก็เป็นภาคใต้เดิม เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว แต่ทำไมผมถึงแยกออกมา เพราะจะได้บริหารราชการกันได้เร็วขึ้น งบประมาณจะได้ลงไปใน 3 จังหวัดโดยตรง กับ 4 อำเภอโดยตรงได้ เพื่อจะแก้ปัญหาความมั่นคงไปด้วย ที่เหลือก็เป็นภาคใต้ทั้งหมด นอกจากมีงบจังหวัดแล้ว ยังมีงบกลุ่มจังหวัดให้อีก แล้วมีงบภาคให้อีก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเป็นความแตกต่างของรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะการเมือง

รัฐบาลนี้ให้ความจริงจังในการทำงาน ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกรภาคใต้ ซึ่งมีอาชีพหลัก คือ ยาง ประมง ปาล์ม สวนผลไม้ เหล่านี้ รัฐบาลจะได้ปรับการใช้งบประมาณให้ได้ ให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ บางอย่างเป็นนโยบาย บางอย่าก็เป็นข้างล่างต้องการ เพราะฉะนั้นต้องสื่อสาร 2 ทาง แล้วหาข้อยุติ ทำให้ได้ ให้เสริมกันให้ได้นะครับ รัฐบาลนี้ทำแบบนี้ ไม่ใช่คิดอะไรแล้วสั่งลงไป แล้วก็ทำเลย เป็นไปไม่ได้นะครับ ก็ไปดูที่ผ่านมาแล้วกันเป็นยังไง ก็ขอให้ทุกคนได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในหลาย ๆ ประเด็นที่ผมกล่าวไปแล้ว เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ดำเนินการได้จริง แล้วผ่านการทำประชาพิจารณ์อย่างโปร่งใส ยอมรับได้ ผมเห็นปัญหามากมายไปหมด การทำประชาพิจารณ์ต้องสร้างการรับรู้ก่อน

สำหรับเรื่องโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้ วันนี้ก็เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นร้อน ผมได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปดำเนินการให้ได้ข้อยุติปราศจากความขัดแย้ง ขณะนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ ในช่วงที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีเดิมก็ไม่ได้ไปกำหนดว่าต้องสร้าง หรือไม่ต้องสร้าง อะไรทำนองนี้ เพราะอยู่ในขั้นตอนอยู่ทั้งหมด คราวนี้บางทีสื่อก็ไม่ทราบ ประชาชนก็ไม่รู้อีก หรือบางทีก็ไม่สนใจ ไปสนใจแต่เพียงว่าสร้าง หรือไม่สร้าง จริง ๆ มีขั้นตอนทั้งหมด ที่ผ่านมาขั้นตอนต่าง ๆ ก็ผ่านมาแล้ว แต่เมื่อทำไม่ได้ รัฐบาลผมก็ได้สั่งการให้มีการทบทวนว่า ถ้าทำได้ก็จะดีกว่าทำไม่ได้ แล้วถ้าทำได้ จะมีการขัดยังกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นประชาชนก็ต้องฟังบ้าง ไม่ใช่จะดึงดันกันไปทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลไม่อยากจะดึงดันอะไรกับใครทั้งสิ้น เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนในการก่อสร้าง พื้นที่ในการก่อสร้าง แล้วก็ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หลายคนก็บอกว่าค่าไฟฟ้าแพง อยากให้ค่าไฟฟ้าลดลง ลดลงไม่ได้ถ้าการผลิตต่าง ๆ ไฟฟ้าจากพลังงานหลักนี่ มาจากส่วนกลาง หรือในภาคอื่น แล้วส่งลงไปพื้นที่ห่างไกล บวกต้นทุนในเรื่องของการทำสายส่งเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นต้นทุนจะเกิดจากแหล่งที่ก่อให้เกิดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส เป็นน้ำมัน เป็นถ่านหิน ลิกไนต์ อะไรก็แล้วแต่ แล้ววันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่จะแก้ปัญหาเดิม ๆ ได้ เพราะฉะนั้นนี่คือต้นทุนอันที่หนึ่ง อันที่สองคือเทคนิคในการก่อสร้างโรงงาน ก็แพงขึ้นเครื่องไม้เครื่องมือก็แพงขึ้น อันที่สามคือสายส่ง ซึ่งเหล่านี้จะทำให้บวกเข้าไปในค่าต้นทุน คราวนี้สมมุติว่าไปสร้างในพื้นที่ห่างไกล ได้ก็จะลดในส่วนนี้ ไม่ต้องไปลากมาจากไกล ๆ ถ้ามีปัญหาอีก ก็ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความพลังงาน เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ จะทำอย่างไร

สำหรับอีกเรื่องหนึ่ง คือ การไปซื้อมาจากต่างประเทศ ซึ่งวันนี้ก็ซื้อได้ แต่ถ้าวันหน้าเขาขายน้อยลง หรือเขาตั้งราคาขายสูงขึ้น แล้วเราจะทำยังไง จะมีคำตอบหรือไม่ว่า เราจะดูแลประชาชนเราได้อย่างไร ก็อยากให้คำนึงถึงทุกมิติเหล่านี้ เหล่านี้คือต้นทุนการไฟฟ้าทั้งสิ้น ค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น แล้วค่าไฟฟ้าทั้งหมดนี้ ทั้งต้นทุนการผลิต ทั้งราคา ทั้งการดำเนินงาน การบริหารจัดการทั้งหมด รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อรวมมาแล้ว ถ้าสิ่งเหล่านี้สูงเกินไป มากเกินไป อะไรที่ควรประหยัด ไม่ได้ประหยัด เทคโนโลยีใหม่ก็มีแล้วไม่ใช้ หรือใช้ไม่ได้ เหล่านี้เป็นปัญหาในอนาคต ต้องฝากทุกคนช่วยกันคิดด้วยแล้วกัน ผมก็ไม่ได้บอกว่า ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น เพียงแต่ผมเสนอแนวทาง เสนอหนทางปฎิบัติ กระทรวงพลังงานเขามีหน้าที่ในการหาไฟฟ้า หาพลังงาน มีกฎหมายของเขาด้วย

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องฟังเหตุฟังผลซึ่งกันและกัน ในส่วนของที่ผ่านมา ก็มีการใช้กฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย อันนั้นแยกเป็น 2 ประเด็น อันที่ 1 ไม่อยากให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ทุกคนก็ต้องรักษากฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็รักษากฎหมาย ประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องเป็นเหตุผลซึ่งกันและกัน การที่จะส่งข้อมูลอะไรถึงผม บางทีมีตั้งหลายช่องทาง ผมก็พร้อมจะฟังทุกวัน แล้วก็เรื่องไฟฟ้า ถ่านหินเทพา ไม่ว่าจะกระบี่ อะไรต่าง ๆ ข้อมูลอยู่ที่ผมทั้งหมด มีทั้ง 2 ทาง ประชาชนก็มี ภาคราชการก็มี กระทรวงพลังงานก็ส่ง ผมก็ส่งถามไปตลอด ไม่ใช่ผมไม่สนใจ คราวนี้ก็ขอร้องกันเถิดนะ การที่จะเคลื่อนไหวต่างๆ แล้วกดดัน แล้วบอกว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คนละเรื่องกันหมด เพราะฉะนั้นสื่อก็กรุณาอย่าสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ขยายความขัดแย้งต่อไปเลย เพราะฉะนั้นต้องไปทบทวนดูว่ากฎหมายอยู่ตรงไหน ทำได้อย่างไร นายกฯ รับฟังหรือไม่ ในช่วงที่ผ่านมา แล้วมีแผนดำเนินการอย่างไร

ฝากในพื้นที่ไปหาข้อมูลมาด้วย เพราะทุกคนก็คือคนไทยทั้งสิ้น จะพุทธ มุสลิม อะไรต่าง ๆ ก็คนไทยทั้งสิ้น ผมมองอย่างนี้ตลอด อย่าไปบิดเบือน กลายเป็นว่าผมผลักคนเหล่านี้ไปอยู่ทางโน้น อะไรทำนองนี้ ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น ที่ผ่านมาผมก็บอกมาตลอด ผมต้องทำให้คนทั้ง 70 ล้าน แต่คน 70 ล้าน นั้น ก็ต้องเคารพกฎหมาย เคารพกฎระเบียบบ้าง ไม่อย่างนั้นเดือดร้อน แล้วก็ร้องกันไปทุกที่ ก็มีคนมาใช้ประโยชน์อีก เอาไปบิดเบือน เอาไปเป็นปัญหาการเมือง จนกระทั่ง สิ่งดี ๆ ไม่ได้รับความสนใจ ที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้ตลอด อะไรที่ดี ๆ ไม่ค่อยออกเป็นข่าว ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวเรื่องความขัดแย้ง เรื่องปัญหาการเมือง เรื่องประชาธิปไตย เรื่องอะไรเหล่านี้จำเป็น ถูกต้อง แต่วันนี้ขอก่อนได้หรือไม่ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร จะไม่ทำผิดกฎหมายกันได้อย่างไร

รัฐบาลพร้อมจะตอบคำถามทุกคำถาม แล้วก็ฟังทุกคน เพียงแต่ว่า หลักการประชาธิปไตยว่าอย่างไร นักการเมืองก็กรุณาไปดูด้วยว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร ทุกคนต้องช่วยกัน ขอให้ทุกคนมั่นใจ ผมยืนยันว่าผมจะเร่งดำเนินการให้ได้ โดยคำนึงถึงกฎหมาย กฎระเบียบ อันไหนที่ไม่เป็นสากลไม่ทันสมัย ก็ต้องแก้ไข ก็ต้องช่วยผม ไม่อย่างนั้นทุกคนไม่ต้องการอะไรเลย ต้องการเหมือนเดิมทั้งหมด ไม่ได้

เรื่องประมงก็เช่นเดียวกันต้องให้เวลาสัตว์น้ำเขาบ้าง ให้ทะเลพักผ่อนบ้าง จับกันมาก ๆ บางทีก็สัตว์น้ำหมดจากทะเลของเราไป แล้วจะทำยังไง หรือแม้กระทั่งการไปจับในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน บางที่ก็ถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย ก็ถูกเขาจับอีก รัฐบาลก็ถูกตำหนิอีก ก็ต้องไปช่วยเอากลับมา เราช่วยกลับมามากมาย มาก ในรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะเรื่องของลูกเรือประมงต่าง ๆ ถูกจับขังคุกอยู่ที่เขาหมด บรรดาเจ้าของเรือต่าง ๆ ก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้ผมก็ให้หลายหน่วยงานให้เขากลับมาหลายครั้งแล้ว ผมไม่อยากให้เอาความเดือดร้อนต่าง ๆ เหล่านี้ เดิม ๆ มาเป็นข้ออ้างในการทำผิดกฎหมายอีกต่อไป ถ้าเราปล่อยให้มันเกิดขึ้น ก็จะเกิดขึ้นได้อีก ก็จะบานปลายไปสู่ปัญหาการเมือง ซึ่งวันนี้ทุกคนก็ทราบดี ทุกคนก็ไปสนใจเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ ฉะนั้นก็อยากให้สนใจทั้งสองอย่าง ไม่อยากให้มีการละเมิดกฎหมาย ไม่ให้มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ผมคิดว่าเขาก็ไม่อยากทำร้ายประชาชน ผมไม่ได้บังคับเขา แต่เขาจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย กรุณาดูด้วย ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร

ผมไม่ต้องการจะแก้ตัวกับใคร ใน social media ก็มี รูปภาพก็มี แต่หลายคนก็เอามาบิดเบือน

เรื่องโรงไฟฟ้าก็มีประเด็นหลายประเด็นที่เขาสงสัยกันอยู่ อันนี้ผมไม่ได้พูดถึงว่าจะสร้างได้หรือไม่ได้ในตอนนี้ แต่ติดปัญหาที่เขาสงสัยอยู่ว่า
(1) มีการย้ายวัดและโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนมูลนิธิอิตีซอมวิทยา ก็มีการหารือในพื้นที่ไปแล้ว ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไปพื้นที่แห่งใหม่ มันจะห่างจากที่ตั้งเดิมไม่เกิน 5 กิโลเมตร อันนี้ผมก็ฟังมาจากอีกส่วนหนึ่งที่ว่า 5 พัน 5 หมื่นคน เขาก็พอใจ ผมไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นตรงนี้
(2) การโยกย้ายประชาชน วันนี้ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้นสักอย่างเลย เพราะยังไม่ได้ทำ ยังไม่ได้เริ่ม เพราะฉะนั้นถ้าผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ถึงจะไปเริ่มต้น ก็ต้องไปดูเรื่องการเยียวยา การดูแลที่อยู่อาศัย หรือค่าเยียวยาต่าง ๆ ให้เหมาะสม วันนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษา EIA HEIA อยู่เลย ยังไม่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพราะฉะนั้นก็ต้องไปหาความจริงให้ได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญก็คือเวลามันก็ไม่คอยท่านะ ฉะนั้นต้องเอาให้แน่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ไม่สร้างจะเอาที่ไหน ไฟฟ้าจะมายังไง ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นทั้งประเทศหรือไม่ ช่วยกันดูด้วย
(3) ที่เขาสงสัยเรื่องสิ่งปลูกสร้างในทะเลจะกีดขวางการไหลของน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่ วันนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันล่วงหน้าไปแล้วในพื้นที่ ส่วนที่เขาฟังเขาก็เข้าใจ ส่วนที่ไม่ฟังอะไรเลย เขาก็ไม่เข้าใจ กลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ไปทุบเขาอะไรทำนองนี้นะ คนส่วนใหญ่ก็ฟัง คนส่วนน้อยถ้าไม่ยอมฟังก็คือไม่ได้ฟัง เพราะฉะนั้น ได้มีการกำหนดมาตรการรองรับชัดเจน เช่น การทำเขื่อนป้องกัน จึงไม่มีผลกระทบต่อการสัญจรทางเรือ ชีพประมง และการกัดเซาะชายฝั่ง การก่อสร้างมันก็มีผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก พอสร้างเสร็จแล้ว ปลา สัตว์น้ำ มันก็กลับเข้ามาอยู่ใหม่เหมือนเดิม อันนี้ไปดูด้วย ไม่ใช่หายไปหมด มันเป็นไปไม่ได้ ข้อเท็จจริง
(4) การใช้ถ่านหินคุณภาพดี ประเภท “บิทูบินัส” และ “ซับบิทูบินัส” เราจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเรือบรรทุกแบบปิดที่เรียกว่า “ระบบปิด” คลุมทุกอย่าง ไม่มีการใช้ถ่านหินจากแหล่งในประเทศ ที่มีการกล่าวอ้างกัน บอกว่ามีถ่านหิน “ลิกไนต์” อยู่ในประเทศ รัฐบาลต้องการตรงนี้เพื่อจะไปขุดถ่านหินลิกไนต์ เอามาใช้เอื้อประโยชน์กับนายทุนอีก คนละเรื่อง ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกันเลย เราใช้เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด เท่าที่ผมศึกษาดูของโรงงาน เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในเรื่องของการใช้ถ่านหินลิกไนต์ เราก็ต้องใช้ที่มีคุณภาพสูง สร้างมลภาวะน้อย มีเครื่องมือขจัดมลพิษต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ลองดูสมัยก่อนมีปัญหาอยู่ที่แม่เมาะใช่หรือไม่ วันนี้เขาก็เปลี่ยนเครื่องจักรเครื่องมือ แล้วผมไม่เห็นมีปัญหาอะไร คนก็อยู่ได้ ปลา สัตว์ ต้นไม้ต่าง ๆ ก็อยู่ได้เป็นปกติ เพราะฉะนั้นต้องดูตรงนี้ด้วย เทคโนโลยีต่าง ๆ ก้าวไกลไปแล้วก็ฝากกราบเรียนพี่น้องต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายมา ให้เข้าใจด้วย ไปดูอีกที ฝากด้วย ถ้าอย่างไรจะไปดูเพิ่มที่แม่เมาะก็ได้ แล้วข้อสำคัญ คือ
(5) การใช้น้ำทะเลเป็นน้ำหล่อเย็น มีระบบกำจัดการสะสมของโลหะหนัก ที่ทุกคนเป็นห่วง มีการควบคุมการปรับคุณภาพน้ำ ก่อนที่จะระบายสู่ทะเลธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประเภท 1 คือ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดยเราก็ใช้สัตว์น้ำ อาทิ หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ ณ จุดปล่อยน้ำ อันนี้ถ้าสร้างได้ก็ไปช่วยดูแล้วกัน มีตาย มีอะไรหรือไม่ อันนี้เป็นหลักการทางเทคนิค ขอให้เชื่อมั่นว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องการควบคุม ด้วยเทคโนโลยีที่ศึกษามา ผมขออนุญาตนำเฉพาะประเด็นที่สงสัยกันมานำเสนอ ให้ทุกคนได้พิจารณาร่วมกัน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงพลังงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้อง มีข้อมูลพร้อมตอบ และสร้างความเข้าใจ ฝากพี่น้องประชาชนที่เห็นด้วย ช่วยกรุณาทำความเข้าใจกับผู้ไม่เห็นด้วยด้วย อย่าให้รัฐบาลต้องไปตัดสินเลย ก็จะเป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนอีก แล้วเราก็จะถูกจับตามองอย่างที่ท่านกล่าวอ้าง มีใครอยากจะทำ รัฐบาลนี้ไม่อยากทำ แต่ถ้าไม่ทำแล้วมันเกิดขึ้นต่อไป ขยายไปหลายกลุ่มหลายฝ่ายแล้วจะหยุดกันได้หรือไม่ ก็หยุดไม่ได้อีก ต้องแก้ด้วยเรากันเองคือ ข้าราชการ ประชาชน ภาคเอกชน ก็ต้องร่วมมือหารือกัน เพราะว่าเราต้องพัฒนาไปสู่การมีแหล่งพลังงานที่เหมาะสม เพียงพอเพื่ออนาคต เพราะเราจะลงทุนต่าง ๆ มากมาย ถ้าไฟฟ้าไม่พอ ไม่มั่นคง ติด ๆดับ ๆ หรือไฟฟ้าตก อันนั้นอันตรายต่อไป หรือไม่มีการส่งพลังงาน ท่อแก๊สมาจากต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีขายไฟฟ้าต่อไป เพราะว่าเขาเอาไว้ใช้ในประเทศของเขา เราจะทำอย่างไร คิดอนาคตไว้ด้วย

เรื่องของประมง ผมขอย้อนกลับมาอีกทีก็ต้องดู รัฐบาลก็มองทุกมิติ ทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการประมง เจ้าของเรือประมงรายใหญ่ ตลาดขายสัตว์น้ำ ประมงพื้นบ้าน ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเรื่องของรายได้ ในการประกอบการ เห็นใจผู้มีรายได้น้อยด้วย เพราะว่าเขาไปลึก ๆ ไม่ได้ เขาก็ต้องหวังให้มีทรัพยากรประมงเข้ามาชายฝั่ง

ที่ผ่านมา มีการละเมิดกันไปมา ส่วนใหญ่ก็เป็นข้างนอก เข้ามาละเมิดข้างในเค้า นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจนขึ้น ฉะนั้นการไปทำประมงนอกน่านน้ำ หรือในประเทศต่าง ๆ อะไรก็แล้วแต่ ต้องซื่อสัตย์ต่อกัน ก็จะเห็นได้ว่าเราก็มีเรือถูกจับไปเป็นจำนวนมาก วันนี้ก็มาขึ้นบัญชีใหม่ บางบริษัทหรือบางเจ้าก็ถูกลดจำนวนลง เพราะไม่ถูกต้อง กลายเป็นว่าขนาดเรือก็มีปัญหา ไม่เป็นตามข้อเท็จจริง นี่เกิดขึ้นหมดแล้ว จะให้รัฐบาลไม่ทำอะไรเลยหรือ แล้วท่านบอกว่าจะให้รัฐบาลแก้กลับไปเหมือนเดิม เป็นไปไม่ได้ ก็แก้อะไรไม่ได้เหมือนเดิม แล้ววันหน้าจะยุ่งเหยิงกันไปใหญ่ ฉะนั้นขอความร่วมมือตอนนี้ รัฐบาลนี้จะทำให้ได้ แต่ทุกคนอาจเสียประโยชน์ลงไปบ้าง แต่ต้องคำนึงถึงคนอื่นเขาด้วยตลอดห่วงโซ่ สิ่งที่หลายคนกล่าวอ้างว่า ทำไมเราทำเองไม่ได้หรือ ทำไมไปฟัง IUU มาก แต่ก่อนก็ทำมาตั้งนาน และไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทุกคนก็มีรายได้ดี ไม่มีความเสียหายทางธุรกิจ ท่านต้องไปดูว่าถูกต้องหรือไม่ที่ทำมาทั้งหมด ถ้าถูกต้องไม่มีใครทำอะไรท่านได้ และผมคิดว่าอาจจะกลับมาได้มากขึ้น เพราะเรือลดลงตามข้อกำหนด ไม่ใช่มากจนเกินเหตุ ที่ผ่านมาก็มีเรือชื่อเดียวหลายลำ ถูกจับได้มากมายไปหมด ท่านต้องยอมรับตรงนี้ ผมจะตรวจสอบให้แล้วกัน ใครที่บอกว่ามีปัญหาในการประกอบการธุรกิจ ก็มาดูว่ามีเรือกี่ลำ ถูกกฎหมายทั้งหมดหรือไม่ อันนี้ก็คงต้องตรวจสอบ เพราะฉะนั้นนี่คือวิธีการตรวจสอบของผม ไม่ได้ไปข่มขู่อะไรท่านเลย ถ้าทุกคนทำให้ถูก ก็เป็นธรรม แล้วทุกคนก็เข้าถึงโอกาสในการลงทุน ท้ายที่สุดก็เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องคำนึงทั้งระบบ รัฐบาลต้องมองธุรกิจการประมงทั้งระบบ สินค้าสัตว์น้ำทั้งระบบ การค้าขายกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ เราต้องคำนวณตรงนั้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นถึงเวลาเขาไม่ให้ขายจะทำอย่างไร ไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะใครที่เรียกร้องผมหรอก เดือดร้อนไปทั้งหมด คนที่ทำถูกก็เดือดร้อนไปด้วย ก็ขอความกรุณาลดแรงกดดันให้กันบ้าง ผมก็ไม่อยากให้ทุกคนเดือดร้อนไปด้วยอยู่แล้ว ต้องคำนึงไปถึงการรักษาและสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ ในช่วงขยายพันธุ์พักฟื้นฟื้นฟูแหล่งประมงของเรา ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านไปด้วยครับ ผมทำเพื่อคนไทย ไม่ต้องการทวงบุญคุณกับใครทั้งสิ้น เพราะผมไม่ต้องการคะแนนเสียงไง เพราะฉะนั้นฝ่ายรัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย ส่วนปฏิบัติต้องชัดเจนตอบข้อซักถาม อธิบาย สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้าทุกอย่างทำกันได้ก่อนเข้า ชี้แจงต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ก็จะเกิดปัญหาน้อยลง แก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ได้มากแล้ว ก็จะเร็วขึ้น เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย ถ้าไม่เกิดขึ้น ไม่มีการประท้วง แล้วมีการรับฟัง ผมก็บอกว่าไปรับได้ตลอดทาง แต่ไม่ยอมจะมาให้ได้ แล้วต่างกันตรงไหน ในเมื่อส่งทางโน้นกับมาตรงนี้ ผมกำลังทำงานตรงนี้อยู่ แล้วผมก็เอาปัญหาของท่านมาพูด ขอความกรุณาพิจารณาให้เหมาะสม ผมไม่ต่อว่าอะไรใคร ทุกเรื่อง จะเป็นยาง ปาล์ม อะไรต่าง ๆ ผมขอนะ เพราะมีรัฐบาลนี้เท่านั้นที่จะแก้ให้ท่านเป็นรูปธรรม แต่ถ้าทำไม่ได้ก็อยู่ที่พวกเรากันเองต้องช่วยกัน ในเรื่องของสิ่งที่จำเป็นประชาชนต้องทราบก็คือ จะทำอะไรก็แล้วแต่ในพื้นที่ของเขาจะต้องมี
(1) วัตถุประสงค์ เป้าหมาย หลักการและเหตุผล ชัดเจน ให้เขารู้ว่าทำไมต้องสร้างตรงนี้ ทำไมต้องสร้างตรงนั้น สร้างตรงนี้ไม่ได้หรือ หรือไม่ต้องสร้างตรงนี้ ไปเอาตรงอื่นมา ต้องชัดเจนตรงนี้ไง อย่างที่ผมพูด
(2) เมื่อมีวัตถุประสงค์ที่ต้องทำแล้ว มันก็ต้องมีวิธีปฏิบัติให้เขาเห็นว่าจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรที่เขาต้องการบางคนก็กังวลด้วยความไม่รู้ มันก็ต้องบอกว่า เครื่องมือเครื่องจักร ต่าง ๆ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ เป็นยังไง ดีไม่ดีอย่างไร แก้ไขปัญหาเดิม ๆ ได้อย่างไร หลายคนเอาปัญหาเดิม ๆ มาขัดขวาง ไม่เห็น ชอบเพราะเข้าใจว่ามันจะเป็นแบบปัญหาเดิม ๆ ที่ผ่านมา วันนั้นเทคโนโลยีก็ยังไม่เท่าวันนี้ และกฎกติกาต่าง ๆ ก็ไม่ชัดเจน บางครั้งอาจด้วยอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ผมก็ไม่อยากกล่าวถึง วันนี้มันต้องชัดเจนตรงนี้ให้ได้
(3) เมื่อได้ข้อสรุปในข้อที่ 1 และ 2 แล้วประชาชนเห็นชอบ ก็ได้ดำเนินการต่อ จะได้ข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเพื่อทำประชาพิจารณ์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ มีขั้นตอนหมด นี่หยุดในขณะกำลังทำ 3 ทำ 4 โน่นต้องย้อนกลับไปทำข้อ 1 อีกแล้ว บางทีทำ 1 ยังไม่ถึง 4 เลย ก็ไปค้านเหมือนขั้นตอน 4 ไม่ถูกต้องทั้งหมด ข้าราชการรัฐ ต้องทำความเข้าใจให้ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องรู้ทุกเรื่องในทุกวงการ ไม่เช่นนั้นก็เกิดปัญหา นายอำเภอ ท้องถิ่น ต้องเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ว่าจะทำยังไงให้เกิดมาได้ ผมกำลังให้กระทรวงมหาดไทยไปเปิดอบรมส่วนท้องถิ่น อปท. ทั้งหมด ทั้งประเทศว่าจะบริหารราชการกันอย่างไร ใช้งบประมาณอย่างไร กฎหมาย ระเบียบกติกา อย่างไร การพัฒนาผู้บริหารจะทำได้อย่างไร ต้องทำหน้าที่เหมือนราชการ ไม่ใช่เป็นท้องถิ่นแล้วจะทำอะไรก็ได้ ทำตามประชาชนเรียกร้อง ต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายระเบียบไว้ด้วย ไม่อย่างนั้นขัดแย้งกันหมด

รัฐบาลกำหนดนโยบาย ทำได้หมดเพราะท่านต้องช่วยผมในการทำความเข้าใจกับประชาชน ท่านอาจจะรู้ทั้งสองด้าน ตัวท่านเองด้วย ประชาชนด้วย วันนี้อย่าเพิ่งไปสนใจเรื่องจะยุบ ไม่ยุบ อะไรต่าง ๆ เพราะเห็นสื่อเขียนแต่เรื่องพวกนี้ ไม่เขียนเรื่องดี ๆ ข้อเท็จจริงมากมายไป ซึ่งผมกำลังทำทุกอัน ปรับทั้งระบบราชการ ระเบียบราชการ การบริหารราชการ ทั้งโครงสร้าง ทั้งข้อกฎหมาย การทำงาน การประเมินผล ซึ่งเหล่านี้ต้องนำไปใช้กับ อปท. ท้องถิ่นด้วย มาตรฐานถ้ายังไม่ได้ ท่านก็ต้องปรับปรุงตัว ไม่อย่างนั้นถึงเวลาก็เป็นปัญหาอีก เลือกมาจากประชาชน ก็ต้องทำงานให้ประชาชนที่เขาเลือกท่านมาให้ได้ ฉะนั้นการดำเนินการส่วนใหญ่หน่วยงานก็ต้องทำตามหน้าที่ ความรับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่อย่างนั้นประชาชนฟังข้างเดียวไม่ได้ ฟังผม เชื่อผม ข้างเดียวก็ไม่ได้อีก ฟังแกนนำอย่างเดียวหรือผู้นำการประท้วง ก็ไม่ได้อีก ต้องฟังสองอย่างแล้วมาพินิจพิเคราะห์กันให้ดี ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องหาเหตุและผลมาชี้แจงกัน ช่วยรัฐบาลด้วย เห็นด้วยก็ช่วยรัฐบาล ไม่เห็นด้วยก็ฟังทั้งรัฐบาล และฟังผู้ไม่เห็นด้วย ทุกคนต้องยอมรับในเหตุผลซึ่งกันและกัน นั่นคือหลักการประชาธิปไตย อย่าให้ใครนำพาไปสู่ความขัดแย้ง ประท้วงเดินขบวนเกิดการบังคับใช้กฎหมาย ทุกคนก็เดือดร้อนไปหมด เจ้าหน้าที่ ประชาชน สังคม และท้ายสุดกลับมาที่รัฐบาล ภาครัฐ เป็นจำเลยทุกครั้ง เพราะฉะนั้นก็ย้อนกลับไปดูสาเหตุสิ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการคิดอะไรเลย ผมพูดมาตลอด แต่ท่านไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ สาระเหล่านี้ไม่มีเลย ผมขอร้องสื่อโซเชียลที่ไม่เข้าใจ ที่เข้าใจก็มี แต่บางครั้งก็มีเหตุมีผลว่าทำไมถึงไม่เขียน ผมให้ข้อมูลไปหลายอย่างก็ไม่ได้เผยแพร่ออกมา แต่เวลามีข้อบกพร่องอะไรเล็กน้อย ท่านก็ตีทุกวันแล้วได้อะไรผมก็อยากจะถาม ประเทศก็ไม่ได้ ประชาชนก็ไม่ได้ ได้ขายสื่อโซเชียล เท่านั้นเอง มีแค่นั้น แล้วจะไปได้อย่างไร ขอให้มีข้อมูลที่แท้จริงอย่างพอเพียง อย่าใช้ความรู้สึกตัดสินอย่างเดียวจากสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน เพราะจะทำให้ปัญหาขยายตัวยุ่งเหยิงไปหมด ต้องช่วยกัน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน

โครงการใดก็ตาม ที่มีปัญหามายาวนานหลายโครงการที่เสนอมาแล้วก็ทำไม่ได้ ย้อนกลับไปดู อย่างที่ผมพูดไว้ว่า ดูสาเหตุก่อนตั้งแต่ต้นว่า ทำไมถึงทำไม่ได้ ใหญ่เกินไปหรือไม่ ซอยย่อยให้เล็กลงมาได้หรือไม่ ทำในพื้นที่ที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ในระยะแรกได้มั๊ย แล้วที่เหลือเขาอาจเห็นว่า ทำแล้วดีเขาก็ยอมให้ทำต่อ เพราะบางทีโครงการขนาดใหญ่ทีเดียว อันนี้มีข้อยกเว้น บางโครงการเกี่ยวกับเรื่องทางน้ำ การระบายน้ำ อะไรเหล่านี้ก็จำเป็นต้องทำให้ครบทั้งระบบ ทำเป็นตอน ๆ บางทีก็ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไปทำตรงไหนที่มันทำได้ก่อน ตรงไหนทำไม่ได้ก็อาจจะต้องเดือดร้อนไปก่อน เป็นเรื่องของประชามติ เรื่องของพื้นที่เอง ไม่ใช่เป็นของรัฐบาล รัฐบาลก็ทำให้ทุกที่ แต่ทำไม่ได้ ขั้นตอนมีอยู่ ประชาชนต้องเข้าใจ แล้วก็ยินยอม เราจะต้องไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ทำความเข้าใจล่วงหน้า ข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่ทันสมัยทุกแง่มุม ด้านเทคนิค เทคโนโลยี ข้อเปรียบเทียบ วันนี้ทำที่ไหนได้บ้าง วันนี้ก็อยากจะกราบเรียนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินห่างจากเราไม่ถึง 10 กม. อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านเรา เขาสร้างโรงงานลิกไนท์อยู่ ขนาดใหญ่ด้วย แล้วทำไม เขาเดือดร้อนเหรอ ไม่เหมือนเราหรือ เทคโนโลยีใช้ไม่ได้หรือไง ต้องตามไปดู ก็ขอให้ชัดเจนในเรื่องของการลงนาม การทำสัญญา TOR ต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบ ให้ดูแลประชาชนในพื้นที่ทั้งรอบพื้นที่ของโรงงาน โรงไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่ แล้วก็ผู้เดือดร้อนต่าง ๆ ในการขยายพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการใช้พื้นที่ในการทำ ถ้ามีอะไรที่ไม่จำเป็นต้องย้ายก็ให้อยู่ต่อไปได้มั๊ย บางทีถ้าเคลียร์ทั้งหมดก็เกิดปัญหา สถานที่ราชการบ้าง โรงเรียนบ้าง ทำอย่างไรจะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดผลกระทบ ให้มีการขยับขยายน้อยที่สุด

เพราะฉะนั้น เราอย่าไปให้ความสำคัญกับการทำ EIA อย่างเดียว ในขั้นตอน ในพื้นที่ตรงอื่นท่านไม่สร้างความเข้าใจเลย ประชาชนก็ไม่ทราบที่มาที่ไป ความคืบหน้า มีการพัฒนามาอย่างไร อยู่ในขั้นตอนไหนไม่รู้เลย พอประท้วงกันไป รัฐบาลก็ถูกมองว่าไม่ไว้วางใจอยู่เสมอ ผมไม่ทราบว่าจะทำไปทำไมสื่อต่าง ๆ เหล่านี้ เอาสาระไปเสนอด้วย

วันนั้นผมส่งเอกสารไปเรื่องเทคโนโลยี เรื่องที่เขาสงสัยต่าง ๆ ผมไม่เห็นเขาออกให้ผมสักสื่อหนึ่งเลย ผมส่งเป็นเอกสารไปเลย หลัง ๆ ผมส่งบันทึกไปเลยว่า ผมส่งไปให้ใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่ถ้ามีปัญหาทีหลังท่านต้องคุยกับผมแล้วทีนี้ ผมให้ไปแล้ว แล้วท่านยังไปเขียนอย่างเดิมอีก ใช้ไม่ได้นะ ใครทำก็แล้วแต่ ผมไม่ได้โทษใคร เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมให้ได้ ประชาชนมีความพึงพอใจ คือหลักการ รัฐบาลนี้ทำอะไรก็ตามประชาชนพึงพอใจ แล้วก็ทำให้ประเทศชาติ มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน

สุดท้ายนี้

ถ้าเราไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ร่วมกันปฏิรูปในวันนี้ จะไปรอปฏิรูปวันหน้ารับรองไม่ได้เกิดครับ ฉะนั้นวันนี้เราต้องเร่งหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน เสนอปัญหาต่าง ๆ โดยใช้ช่องทาง วิธีการที่ถูกต้อง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องคำนึงถึงทั้งหมด อย่าไปกดดันเจ้าหน้าที่ เขาก็มีหน้าที่ของเขา เจ้าหน้าที่เองก็ต้องระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องไม่เริ่มดำเนินการทำอะไรก่อน ให้เป็นไปตามขั้นตอน เพราะหลาย ๆ อย่างเป็นหลักการของประชาธิปไตย หลักการของสิทธิมนุษยชน แต่ประเทศเรานั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่า เพราะฉะนั้นก็ต้องมาช่วยกันคิดตรงนี้ เอาคนละเรื่องราวมาปะทะกันทั้งหมด ก็ไปไม่ได้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเรื่องเหล่านี้ ที่มีมานานแล้วหลายสิบปี วันนี้ผมรับรู้ข้อมูลมากมายมหาศาล ผมก็อยากจะขับเคลื่อนให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่ามาเชื่อมโยงกันทุกปัญหา ก็กลับไปที่เดิมทั้งหมด ก็กลับมาที่รัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร มีคนเดือดร้อน มีคนต้องการ มีคนไม่ต้องการ ประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน เสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยจะทำกันอย่างไร ไม่อยากให้มองว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม มีผู้ไม่ประสงค์ดีอยู่ด้วยตอนนี้ บ้านเมืองสงบสุขไม่ได้ เราจะปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดกฎหมายอีกต่อไปไม่ได้แล้ว วันหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก เป็นตัวอย่างมาแล้ว อะไรที่แก้ได้ในพื้นที่ก็แก้ไป ถ้าแก้ไม่ได้เกินความสามารถก็ส่งมาถึงรัฐบาล ถึงกระทรวง ถึงผม ต้องเป็นอย่างนั้นทุกเรื่อง ยาง ข้าว พืชเกษตร พลังงาน ไม่เคยละเลย ผมไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือหมักหมมปัญหาไว้ ผมก็เอาที่หมักหมมไว้ขึ้นมาแก้ทุกอัน ก็ยากบ้าง ง่ายบ้าง

ฉะนั้นขอร้องอย่าประท้วงกันอีกเลย ต่อไปก็เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน ต้องทำให้ถูกต้อง ผมก็หวังในสื่อในโซเชียลต่าง ๆ ผมก็เปิดกว้างทุกอย่าง ผมพูดก็พูด ส่วนสำคัญก็มี หน่วยงานก็มี เอามาแล้วบางทีก็กรุณาแจ้งประชาชนด้วยว่ารับเรื่องมาแล้วทำอะไรต่อ เช่น ศูนย์ติดตามเรื่องการทุจริต หลายร้อยคดีก็นำสู่ขบวนการ ยุติธรรมไปแล้ว เพียงแต่ว่าบางอย่าง ประกาศออกไปไม่ได้ ก็มีทั้งมีการทุจริตเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง ใหญ่บ้าง กลางบ้าง ก็นำเข้าขบวนการตรวจสอบทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเงียบไป ก็ยังทำอยู่ทั้งหมด ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ปราบปรามยาเสพติด เรื่องของการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ก็ทำทั้งหมด เพียงแต่ว่าขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการรายงาน หรือมีการชี้แจงสังคมให้ประชาชนทราบ ว่าผลงานทำอะไรไปแล้วบ้าง ตำรวจทำอะไร คสช.ทำอะไร รัฐบาลทำอะไร

ผมเองก็พูดมากแล้ว กระทรวง หน่วยงานที่ลงรายละเอียดก็ต้องออกมาพูดบ้าง ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ผมต้องการสื่อสารทั้งประชาชนและข้าราชการด้วย ต้องปรับปรุงทั้งหมดในเรื่องของการสร้างความเข้าใจ จะได้ไม่เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรงเกิดขึ้น ลดความน่าเชื่อถือ ทำลายภาพลักษณ์ทั้งหมด อะไรที่ผมต้องแก้ไข ผมแก้ของผม ถ้ามากดดันผมมาก ๆ ก็ต้องช่วยกันแก้ ต้องสนใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยในอนาคต ก็ขอให้ทุกคนได้ใช้เวลาที่มีอยู่ได้เตรียมการที่จะไปสู่ขบวนการประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ เตรียมปฏิรูปขั้นต้นให้ได้ สร้างมาตรการในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยให้ได้ ปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ หลายอย่างทำมาแล้ว 2-3 อย่างนี่ทำมาหมดแล้ว ทำเล็ก ทำน้อย ทำกลาง ทำใหญ่ ที่ใหญ่ ๆ ก็ต้องใช้เวลาในการทำต่อไป ถึงต้องมีระยะเวลาในการทำตั้งหลายปี ทำต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด เพียงแต่เราต้องปรับวิธีการบริหารจัดการ ขจัดกฎหมายที่เป็นอุปสรรค สร้างความเข้มแข็งในทุกมิติ ช่วงนี้ผมขอร้องว่าขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาความมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจต่าง ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และลดความขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจจะเต็มไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และอาจจะไม่บริสุทธิ์ สร้างภาพออกไปก็สร้างผลกระทบกับประเทศถ้าไม่บริสุทธิ์ โดยที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วทุกอย่างไปไม่ได้หมดเลย ฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็ต้องระวัง อย่าปล่อยปละละเลย อย่าทำอะไรที่เกินกว่าเหตุ ก็ขอให้ทุกคน ช่วยกันระมัดระวังในเรื่องของกฎหมายด้วย ที่ผ่านมาไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยเรียนรู้กฎหมาย ไม่ชอบ แต่ไม่ได้อยู่แบบไม่มีกฎหมายไม่ได้ กรณีที่มีนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหว มีการพูดจาให้ร้าย สร้างวาทกรรม

ผมถือว่าบางอย่าง ฉวยโอกาส เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ขยายความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น บางเรื่องก็ไม่ใช่ สร้างความชิงชังให้กับรัฐบาลและ คสช. ในขณะที่หลายคนยังมีคดีติดตัวอยู่ ตัวเองก็ไปเตรียมการสู้คดี แต่อย่าออกมาพยายามพูดให้สังคมเชื่อในสิ่งที่ตนเองพูด ประชาชนต้องเรียนรู้ว่าจะฟังเขาหรือไม่ คนเหล่านี้ บางคนก็ไม่น่าจะฟัง เพราะฉะนั้นผมไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียงด้วย หลายคนก็ออกมาพูดเหมือนกับจะทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง จะทำอะไรก็ได้เพื่อจะได้กลับมาสู่อำนาจอีกครั้ง อะไรทำนองนี้ หรือมาป้องกันผม ป้องกัน คสช. ในการจะอยู่ต่อ รักษาอำนาจ ยังไม่ถึงเวลานั้นเลย ท่านมาพูดอะไรตอนนี้ แล้วอุดมการณ์ท่านอยู่ตรงไหน ท่านอย่ามาแก้ตัว จะรวมกัน หรือจะแยกกันก็แล้วแต่ จะตีใครก็ตี ผมไม่ไปร่วมกับท่านอยู่แล้วตอนนี้ สังคมต้องรู้เท่าทัน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว ผมไม่ได้ไปให้ร้าย อะไรที่ดีผมก็ทำต่อให้ อะไรที่ไม่ดีผมก็ปรับแก้ให้ แต่ท่านกลับมารุม ระดม มาเล่นงานรัฐบาลที่กำลังแก้ไขอยู่ แล้วประชาชนก็สับสน อลม่านไปหมด ฉะนั้นก็ขอให้ลงราย ละเอียดกันบ้างว่ารัฐบาลทำโน่น ทำนี่ไม่ดี แล้วท่านจะให้ทำอย่างไรถ้าไม่พูดเลย จะเก็บไว้หาเสียงหรืออย่างไร ยังไม่ใช่เวลาตอนนั้น แล้วหาเสียงแบบเดิมๆ ผมว่าก็ไม่ได้แล้ว พูดอะไรที่ไม่ใช้ข้อเท็จจริงไม่ได้แล้วก็ทำไม่ได้ แล้วก็มีปัญหาอีก ผมไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป ในเรื่องการหาเสียงก็เป็นเรื่องของ สนช. เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายที่ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ผม เพราะสิ่งหนึ่งที่มีปัญหาคือการสร้างค่านิยม การสร้างความเข้าใจที่ผิด ๆ ประชาชนที่มีรายได้น้อยก็เลือกอยู่แล้ว บอกว่าจะทำให้ราคาเท่านี้เท่านั้นก็เป็นไปไม่ได้ ต้องดูว่าท่านจะทำด้วยวิธีการไหน นั่นคือสิ่งที่จะต้องเตรียม เอาเวลาช่วงนี้ไปเตรียมสิ่งเหล่านี้มากกว่าที่จะมาทำลายผม ก็ฝากคนที่ดูแลด้วยแล้วกัน ดูแลรัฐบาล คสช.บ้าง อย่าคล้อยตามสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ทุกอย่างจะได้กลับไปเหมือนเดิม

ขอบคุณครับ วันนี้ผมพูดหลายเรื่อง ผมไม่ได้มาแก้ตัวอะไรกับท่าน ผมเพียงแต่มาทำความเข้าใจกับท่าน อะไรที่ผิด-ถูก อะไรที่ผมทำดี ไม่ดี ผมต้องขอโทษทุกครั้ง และอย่านำไปขยายความ จะทำให้บานปลายไปอีก ผมจบแล้วคือจบ ผมก็ดูแลเท่าที่สามารถดูแลได้

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้