รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2561

Last updated: 7 เม.ย 2561  |  2874 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีวันสำคัญๆ ของประเทศ ที่จะสะท้อนถึงประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชาติของเรา ได้แก่...วันที่ 6 เมษายนเป็น “วันจักรี” ซึ่งปวงชนชาวไทยทุกคน ร่วมใจกันน้อมจิตระลึกถึง “มหาจักรีบรมราชวงศ์” และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช “ปฐมกษัตริย์” แห่งราชวงศ์จักรี

ผู้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “กรุงรัตนโกสินทร์” ขึ้น เมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมานะครับ โดยการสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ปัจจุบันนั้น “กรุงเทพ มหานคร” เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นิยมมาเยือนมากที่สุดในโลกประมาณ 20 ล้านคนต่อปี ติดต่อกัน 2 ปีซ้อนแล้วนะครับ จากผลสำรวจของสำนักข่าว CNN

และช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบด้วยวันสำคัญ คือ วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันสงกรานต์ วันปีใหม่ไทย วันผู้สูงอายุแห่งชาติ”และวันที่ 14 เมษายน เป็น “วันครอบครัว” นะครับ ซึ่งในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงาน “เถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย” พระราชทานแก่ประชาชน

เพื่อร่วมกันปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติ ในระหว่างวันที่ 6– 8 เมษายน ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า โดยขอเชิญชวนให้แต่งกายชุดไทยชุดผ้าลายดอกหรือชุดสุภาพ อย่างพร้อมเพรียงกันและสวยงามด้วยนะครับ ทั้งนี้ กิจกรรมที่น่าสนใจ คือ

1. พิธีมหามงคล บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อช่วงเย็นของ “วันนี้” วันศุกร์ที่ 6 เมษายน ซึ่งมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากนะครับ ได้ร่วมสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียงกันในพิธีดังกล่าว

และ 2. การสรงน้ำ “พระพุทธกำเนิดกาสาวพัตร์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่หล่อขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช วันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญมาประดิษฐานให้ประชาชนสักการะ ระหว่างวันเสาร์ที่ 7 เมษายน ถึง 8 เมษายนนี้ อีกทั้ง โปรดให้จัดสถานที่สำหรับประชาชน ได้รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ คนในครอบครัว

นอกจากนี้ จะมีการจัดนิทรรศการความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ การแข่งขันก่อพระเจดีย์ทรายชิงโล่พระราชทาน และการแสดงชุด “เถลิงศกเพลามหาสงกรานต์” ซึ่งประกอบด้วยการแสดงทางวัฒนธรรมต่าง ๆ อาทิ การละเล่นของหลวงสืบมาแต่โบราณ เช่น “โมงครุ่ม” และ “กุลาตีไม้”การแสดงโขน ตอนหนุมานชาญกำแห่ง

การบรรเลงดนตรีไทย การสาธิตการปรุงเครื่องหอม การสาธิตการทำอาหารและขนมไทยเป็นต้น ตลอดจนการออกร้านจำหน่ายอาหารและขนมไทย ร้านจิตอาสา 904 รวมทั้ง ขอเชิญร่วมบันทึกภาพสามมิติประเพณีสงกรานต์ ณ บริเวณงานอีกด้วยนะครับ

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น แม้จะเป็นประเพณีของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ให้มาเยือนบ้านเมืองของเราเป็นจำนวนมากทุกปี

สิ่งที่ผมจะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนชาวไทย นอกจากการอนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมอันดีงามของเรา อาทิการรดน้ำดำหัว ขอพรผู้ใหญ่ ทำบุญสร้างกุศล ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด และการแต่งกายชุดไทย ชุดผ้าพื้นเมืองที่งดงามแล้ว การละเว้นในกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศ

เช่น การสาดน้ำรุนแรง หรือด้วยวิธีที่เรียกว่าไม่ปกติ พิเรนทร์ๆ น่ะนะคับ การแต่งกายไม่เหมาะสม อุจาด การดื่มเครื่องดองของเมา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้รถ ใช้ถนน ก็จะยิ่งจะเป็นอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นอีกด้วย อีกประการก็คือ “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี” ด้วยการแสดงออกถึงความเป็นไทย เมืองที่มีน้ำใจไมตรีต้อนรับขับสู้ด้วยรอยยิ้ม

ค้าขายไม่เอาเปรียบ ไม่โก่งราคา ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำห้องท่าให้สะอาดอยู่เสมอ ทุกสถานที่เลยนะครับ สนามบิน ท่ารถ ท่าเรือ ต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งสถานที่ให้บริการต่างๆ ด้วยนะครับ ไกด์ทัวร์ ก็ต้องให้ความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ไปด้วย และก็ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมเป็นต้นนะครับ

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ, รัฐบาลได้เตรียมมอบของขวัญ “ปีใหม่ไทย” สำหรับพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งลูกหลาน เยาวชนของเราในช่วงเดือนเมษายน ตามที่ผมได้เคยกล่าวไว้บ้างแล้วนะครับ

1. การเปิดช่องทางการสื่อสารใหม่ “สายด่วนไทยนิยม” ในรูปแบบแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก เมื่อวันอังคารที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี สำหรับรับเรื่องราวร้องเรียนจากประชาชน รับฟังความคิดเห็น ทั้ง “คำติเพื่อก่อ” และกำลังใจ หรืออะไรก็แล้วแต่นะครับ ที่จะช่วยทำให้รู้สึกว่าเราใกล้ชิดกัน นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจ ไปจนถึงสร้างความเข้าใจและปรองดองของคนในชาติ

ทั้งนี้เราจะเชื่อมโยงข้อมูลกับช่องทางอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม อาทิ สายด่วน 1111ของรัฐบาล ที่มีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกกว่า 300หน่วยงาน เช่นสายด่วน 1567 “ศูนย์ดำรงธรรม” ของกระทรวงมหาดไทย สายด่วน 1299 “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ” ของคสช. สายด่วน 191 “แจ้งเหตุด่วน เหตุร้าย” ซึ่งปัจจุบันเริ่มคุ้นเคยในรูปแบบแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ชื่อ “โปลิศ ไอ เลิร์ท ยู” นะครับ ที่กำลังขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ซึ่ง “สายด่วนไทยนิยม” และ “สายด่วน 1111” นี้ จะเป็นเครื่องมือรับเรื่องราวจากพี่น้องประชาชน “ทุกลักษณะ” ทั้งให้คำปรึกษา ทั้งเรื่องเล็ก-เรื่องใหญ่ เรื่องฉุกเฉิน เรื่องไม่ฉุกเฉิน ซึ่งร้อยละ 90 สามารถแก้ไขได้โดยใช้เวลาสั้นๆ นะครับแต่เป็นทุกข์ของประชาชนมายาวนาน

ส่วนเรื่องที่ต้องอาศัยการบูรณาการกันนั้น จะต้องเกี่ยวข้องกับตัวบทกฎหมาย ก็จะส่งต่อถึงหน่วยงานของรัฐ “ทุกกระทรวง” ที่เกี่ยวข้อง ให้รับเรื่องไปดำเนินการนะครับ โดยจะสามารถติดตามความคืบหน้าได้ เนื่องจากอยู่ใน “ระบบฐานข้อมูล” อยู่แล้ว ในส่วนที่ 2 นี้อาจต้องอาศัยเวลา ก็ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง หรือละเลยนะครับ และไม่ทิ้งให้ใครประสบชะตากรรมโดยลำพัง โดยที่หน่วยงานของรัฐไม่เข้าไปดูแลนะครับ

เรื่องที่ 2. การเปิดตัววิทยุเพื่อครอบครัว คลื่นเอฟเอ็ม 105 เม็กกะเฮิร์ซ ของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะเริ่มให้บริการใน “วันครอบครัว” วันที่14 เมษายนนี้ และจะพัฒนาให้เป็นวิทยุเพื่อเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และทุกคนในครอบครัว อย่างเต็มรูปแบบต่อไป โดยจะทำการเผยแพร่ผ่าน ทั้งสื่อวิทยุและสื่อออนไลน์ “ควบคู่” กันไปด้วย จะได้เห็นหน้าเห็นตากันนะครับกับผู้ดำเนินรายการ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันไปด้วย ซึ่งจะคัดสรรนักจัดรายการมืออาชีพ หรืออาสาสมัคร หรือนักศึกษาฝึกปฏิบัติ ก็ตาม แต่ต้องไม่นำเสนอสาระและบันเทิงที่ผิดเพี้ยน หรือลดคุณค่าของเนื้อหาในรายการลงนะครับ เพราะผมก็เชื่อว่าในเมื่อ “รัฐบาลสร้างคน คนก็สร้างชาติ” นะครับ และ “พลเมืองดีของชาติ” ก็จะสร้างจากครอบครัวที่อบอุ่น มีคุณภาพ ก็ขอเชิญชวนติดตามรายการต่างๆ ตามข้อมูลที่จะได้ประชาสัมพันธ์ออกไปอีกครั้งนะครับ

และ 3. การจัดพิมพ์หนังสือ “ชุดความรู้” สำหรับประชาชนและเยาวชนซึ่งกำหนดจะเปิดตัวช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งผมคาดหวังว่าจะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ “รู้สิทธิ์ของตน” จะได้ไม่ตกข่าว ไม่ถูกสวมสิทธิ์ หรือไม่เป็นเหยื่อการทุจริต เหมือนที่เป็นคดีอยู่ในปัจจุบันนะครับ รวมทั้ง “รู้นโยบายของรัฐ” จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และแสวงหาความร่วมมือ ร่วมใจกัน ทำเพื่อชาติบ้านเมืองต่อไป

ยกตัวอย่างนโยบาย “ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมฯ” ที่ผมริเริ่มให้จัดขึ้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ตลอด 3 ปี ที่ดำเนินงาน ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กว่า 3,000 ล้านบาท ก็นับว่าประสบความสำเร็จนะครับ ด้วยหลักคิดในการยกระดับตลาดชุมชน ตลาดสดทั่วๆ ไป ที่มีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน ให้เป็นพื้นที่พัฒนาองค์ความรู้ให้เกษตรกร ผู้ผลิต ในเรื่องการทำบัญชีธุรกิจ การจับคู่ทางธุรกิจ การต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการตลาดเป็นต้นนะครับ

ปัจจุบัน แนวความคิดนี้ ก็ได้ขยายผลไปสู่“ตลาดประชารัฐ” กว่า 6,000 แห่ง ทั่วประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ว่าตั้งตลาดมาอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นนะครับ“ผู้บริหารตลาด” ก็ต้องศึกษาสภาพ แวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะ ความต้องการของชุมชนของตน และปรับปรุงตลาดประชารัฐของท่าน ให้ตอบสนองพฤติกรรมของชาวชุมชน เช่น เป็นตลาดสินค้าอินทรีย์ สินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ตลาดสินค้า OTOP ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อีกด้วย ซึ่งต้องดึงกลไก “ประชารัฐ” ในพื้นที่ของตนเข้ามาร่วม นะครับ

ทั้ง 3 รายการดังกล่าวนั้น เป็นความตั้งใจของผม รัฐบาล และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำเทคโนโลยียุคดิจิทัล นวัตกรรมใหม่ๆ และสิ่งสร้างสรรค์มาสู่สังคมไทยของเรา เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของเราทุกคนในอนาคตนะครับ

พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่านครับ, ช่วงสุดสัปดาห์ก่อน ผมได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ GMS น่ะนะครับ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

กลุ่มอนุภูมิภาค GMS นี้ มีสมาชิกประกอบไปด้วย ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ยูนนานและกวางสี นะครับ ในเชิงภูมิศาสตร์ กลุ่มประเทศ GMS ถือเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่สำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการค้าการลงทุน

ซึ่งในภูมิภาคส่วนนี้ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2 ล้าน 3 แสน ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร ธรรมชาติ ซึ่งความร่วมมือนี้ก็เพื่อจะพัฒนาภูมิภาคนี้ จะเพิ่มประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่เอง และพื้นที่อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงโดยรอบด้วย

กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค GMS นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย ADB เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก เพื่อดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และบริการ สนับสนุนการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน

ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถรวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก ตามยุทธศาสตร์ 3 C ได้แก่Connectivity หรือ การเพิ่มความเชื่อมโยง Competitiveness หรือ การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และ Community หรือการทำงานแบบประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้อนุภูมิภาค GMS เป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน นะครับ

ตลอด 25 ปี ที่ผ่านมา ความร่วมมือในอนุภูมิภาค GMS มีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการเชื่อมโยงแบบ “ไร้รอยต่อ” ทั้งความเชื่อมโยงด้านกายภาพระหว่างกัน เช่น สะพาน 80 แห่ง เส้นทางถนนกว่า 10,000 กิโลเมตร เส้นทางรถไฟกว่า 500 กิโลเมตร สายส่งไฟฟ้ากว่า 3,000 กิโลเมตร และความสามารถในการผลิตพลังงานไฟฟ้ากว่า 1,570 เมกะวัตต์

และความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้วยนะครับ ซึ่งทั้งนี้จำเป็นต้องมี “จุดร่วม” ระหว่างกัน ทั้งความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และผลประโยชน์ “ต่างตอบแทน” ซึ่งกันและกัน

ที่ผ่านมา ก็ได้มีการให้สัตยาบันร่วมกันในการปฏิบัติภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง เพื่อให้สามารถเดินหน้าดำเนินการได้ รวมถึงมีพัฒนาการในสาขาพลังงาน ที่ได้ปรับปรุงหลักการและระบบซื้อขายให้เอื้อต่อการสนับสนุนการจัดตั้งตลาดพลังงานของภูมิภาคโดยเร็วด้วยนะครับ

ในการประชุมครั้งนี้ ผมในฐานะผู้แทนประเทศไทย ก็ได้นำเสนอต่อที่ประชุมถึงแนวปฏิบัติเป็นเลิศ (best practice) ของประเทศไทยในการดำเนินนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงนำเสนอประสบการณ์ของไทยในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม สร้างสมดุลการใช้น้ำตามหลักการสากล

และความตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งในประชาคมอนุภูมิภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้เรายังได้แสดงท่าทีในการผลักดัน เน้นย้ำและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามแผนงานของ GMS อย่างต่อเนื่องใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. การผลักดันและสนับสนุนให้หน่วย งานที่เกี่ยวข้องของไทยเร่งรัดการดำเนินงานตามกรอบการลงทุนในภูมิภาค ปี 2565 ให้เป็นรูปธรรมตามกำหนดเวลา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยประกอบด้วยโครงการลงทุน เช่น เส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 79 โครงการ นอกจากนี้ ไทยจะเดินหน้าสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และมีการจัดตั้งกลไกการระดมเงินทุนใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาแผนงานโครงการลงทุนให้ก้าวหน้าอีกด้วย

2. เน้นย้ำการขยายและเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

3. เน้นย้ำความสำคัญของนโยบาย EEC และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจใน GMS เพื่อจะเพิ่มโอกาสการพัฒนาฐานการผลิตเชื่อมโยง และการลงทุน เพื่อสร้างและเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่า ทั้งภายในและภายนอกอนุภูมิภาค และเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมต่อเนื่องในลักษณะคลัสเตอร์ได้ดีขึ้น เพื่อปรับ เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ภายใต้ Thailand 4.0 ด้วย

4. สนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาค GMSโดยมุ่งอำนวยความสะดวกเชิงกฎระเบียบให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในอนุภูมิภาค GMS เพื่อนำไปสู่การเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้า และเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างหลายภาคส่วนในอนาคต

5. สนับสนุนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาค ผ่านการดำเนินการต่างๆ เช่น พิจารณากลไกการค้ำประกันสินเชื่อ แก่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน และสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของสมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

และ 6. เน้นย้ำการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ เพื่อจะก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงสีเขียวร่วมกัน หรือ Green Mekong นะครับ ระยะต่อไป ประเทศสมาชิกในภูมิภาคจะเพิ่มการสนับสนุนการร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคเอกชนมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น กรอบอาเซียน ACMECS และ BIMSTEC ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนในอนุภูมิภาค ในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบให้เป็นระบบเดียวกัน จาก GMS ถึงอาเซียน ถึงเอเชีย และถึงโลก เพื่อจะวางรากฐานในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งไทยยินดีที่จะใช้หลักการส่งเสริมการลงทุนที่เรียกว่า Thailand บวกหนึ่ง ควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

โดยไทยและ สปป. ลาว มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และมีกลไกความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ และยังมีความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงที่สำคัญ เช่น สะพาน และถนนสายต่าง ๆ ซึ่งไทยและลาวจะร่วมกันพัฒนาความเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ 2 ประเทศ และภูมิภาค รวมทั้งเส้นทางรถไฟด้วยนะครับ

สำหรับเวียดนามนั้นมีมูลค่าการค้าที่สูงขึ้นระหว่างกันต่อเนื่องนะครับ ผมเองก็ได้หยิบยก ขอให้เวียดนามดูแลสนับสนุน นักลงทุนจากไทยในสาขาต่างๆ เช่น ธนาคาร พลังงานลม การปิโตรเคมี และเร่งกระบวนการนำเข้ารถยนต์จากไทย อีกทั้งได้กำชับนักลงทุนไทยตลอดว่าให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ กติกา กฎหมายในการดูแลสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนของเวียดนาม ในการประกอบการธุรกิจอีกด้วยนะครับ

นอกจากนี้ ผมและนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีมอบใบอนุญาตการลงทุนในโครงการอมตะ ซิตี้ ฮาลอง (AMATA City Halong) ที่นักลงทุนไทยกลุ่มอมตะฯ ได้เข้าลงทุนที่เวียดนาม ที่เมืองฮาลอง จังหวัดกว่างนิงห์ ซึ่งเป็นโครงการในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม สู่ผู้นำเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่การลงทุนใหม่ประมาณ 36,200 ไร่

เสริมเรื่องเวียดนาม ก็มีข้อสังเกตนะครับในการลงทุนในประเทศเวียดนามนั้น จะเห็นได้ว่ามีการลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่นะครับ สามหมื่นกว่าไร่นะครับ (สามหมื่นกว่าตารางกิโลเมตร..น่าจะผิด) แล้วเขาทำได้นะครับ ของเรานี่ เราทำแบบของเรานี่ ก็ลองดูซิว่า สิทธิประโยชน์ แรงจูงใจต่างๆ จะทำได้อย่างไร ที่จะสามารถจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้นะครับ

ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำแบบเขาทั้งหมดนะครับ เพราะเราก็คือบ้านเรา คนของเรา พื้นที่ของเรา ก็ต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไร เราถึงจะชดเชยความต่างเหล่านี้นะครับ อันนี้ก็ฝากคิดไว้ด้วยกัน ด้วยก็แล้วกัน นะครับ เป็นเรื่องของการทำเพื่ออนาคตนะครับ เพราะว่าประเทศไทยที่ดินทั้งหมดเป็นของเอกชนเกือบทั้งสิ้นนะครับ

หลายอย่างทีเราทำมากว่าจะขับเคลื่อนในเรื่อง EEC ออกมาได้ก็ยากลำบากพอสมควรนะครับ อันนี้แหละคือความแตกต่าง เพราะฉะนั้นไม่อยากให้คนเอาไปบิดเบือนนะว่าเราทำเศรษฐกิจไม่ได้ ทำไม่ดี สู้เขาไม่ได้ทำนองนี้นะครับ ก็ลองดูเหตุ ดูผลด้วยแล้วกัน อันนี้ผมเป็นข้อสังเกตเฉยๆ นะครับ

ซึ่งก็ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในสองประเทศเพื่อต่อยอดการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไปด้วย นะครับ ทั้งนี้ผมอยากจะเรียนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความมุ่งมั่น จริงใจ ตั้งใจในการทำงานเพื่อพวกเราทุกคน และเพื่อบ้านเมืองของเราในอนาคตนะครับ

นอกจากการประเมินในมิติต่างๆ เช่น การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ Ease of doing business นะครับ และการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมมั่นในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการดำเนินการตามสนธิสัญญา พันธะสัญญา กติกาสากลต่างๆ

เช่น เรื่องงาช้าง CITES การประมงผิดกฎหมายIUU การค้ามนุษย์ TIP Report การบินพลเรือนICAO เป็นต้น... ผมได้รับรายงานว่าองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD นะครับ ซึ่งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ หรือให้น้ำหนักกับท่าที หรือรายงานต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ

ประกอบด้วย ประเทศสมาชิก 30 กว่าประเทศ นะครับ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป มีประเทศในเอเชีย 2 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่นและเกาหลี ประเด็นสำคัญ คือ OECD มีท่าทีพึงพอใจอย่างมาก กับการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ และ คสช. โดยเฉพาะที่เราจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนการปฏิรูปประเทศ ที่รอบด้าน และมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุน หรือ “ติดอาวุธ” ให้กับองค์กรปราบทุจริต ทั้งกำลังคนและอำนาจทางกฎหมาย โดยพึงพอใจที่มีการออกกฎหมายสำคัญๆ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับวินัยการเงิน การคลัง การจัดซื้อจัดจ้าง การคุ้มครองพยาน รวมทั้งมาตรการต่อต้านทุจริต ซึ่งเพิ่มความพยายามในด้านคน งบประมาณ กฎหมาย

และตั้งองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริต ที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นภาพลักษณ์ที่ดี เป็นมาตรฐานสากล เป็นสายตาชาวโลกที่เฝ้ามองเราอยู่นะครับ และย่อมส่งผลย้อนกลับมาในทางบวก ทั้งในเรื่องความร่วมมือ การค้าการลงทุน ในทุกด้าน และในทุกระดับ

ตามมาด้วยนะครับ และจะช่วยให้ความเป็นอยู่ และรายได้ของพี่น้องประชาชนสูงขึ้น “ทางอ้อม” เพราะเป็นความเชื่อมโยง ระหว่างห่วงโซ่ในประเทศ และระหว่างประเทศ นะครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอย้ำถึงเรื่องเทศกาลสงกรานต์ของเราอีกครั้งนะครับ ขอให้เป็น “สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำประหยัด ชีวาปลอดภัย” ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ขอความร่วมมือและเสนอแนวปฏิบัติไว้นะครับ พ่อแม่-ญาติผู้ใหญ่ ก็ขอให้ถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ที่ดี จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ เป็น “ไทยนิยม” คงอยู่คู่บ้านเมือง และสังคมของเราตลอดไป นะครับ

ขอบคุณนะครับ ขอให้ “ทุกคน ทุกครอบครัว” มีความสุข สวัสดีครับ

 

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้