รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2561

Last updated: 25 พ.ค. 2561  |  1942 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน


วันที่ 29 พฤษภาคมศกนี้ เป็น “วันวิสาขบูชา” นะครับ ซึ่งในอดีต ก็เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน ก็คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั้ง3เหตุการณ์เกิดตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ องค์การสหประชาชาติ(UN) ได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยยกย่องให้พระองค์ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์อีกด้วย

วันวิสาขบูชาปีนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกทรงเตือนประชาชนอย่าขาด “สติ” รู้ทันกาย วาจา ใจ อันจะเป็นหนทางดับความทุกข์” อีกทั้ง ทรงสั่งสอนให้เราทั้งหลาย “ละกิเลส” ความโลภ โกรธ หลง อันเป็นบ่อเกิดแห่งความชั่ว ความเห็นแก่ตัว หากบุคคลใด ครอบครัวใด ชุมชนใด สังคมใด ปรารถนาจะประสบสันติสุข จำเป็นต้อง “ตื่นรู้” เพื่อรู้เท่าทันการคิด การกระทำด้วยสัมมาสติ อันเป็นหนทางสู่ปัญญา และนำมาซึ่งความหลุดพ้นห้วงทุกข์ได้อย่างแท้จริง

ในการนี้ ผมขอเชิญร่วมงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ระหว่างวันที่ 23 ถึง 29 พฤษภาคม 2561 ณ วัด และพุทธศาสนสถานใกล้บ้าน ด้วยการรักษา “ศีล 5” ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม เวียนเทียน และร่วมประดับธงธรรมจักร บริเวณรอบชุมชน สถานศึกษา หน่วยงาน หรือตามความเหมาะสมนะครับ เพื่อสร้างเสริมสิริมงคลทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป
ทั้งนี้ ทุกสังคมย่อมนิยม “คนดี การทำดี” สำหรับคนไทยนั้น ไม่ว่าจะนับว่าศาสนาใด หรืออยู่ที่ใด เราก็เป็นชาติที่รักสงบ นิยมทำความดี ผมได้รับทราบข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ขอชื่นชมการทำความดีของ นายฤชานนท์ ปิดตาฝ้าย แม็ก นะครับ ซึ่งตัดสินใจกระโดดลงน้ำโดยไม่ลังเล เพื่อช่วยชีวิตเด็กที่กำลังจะจมน้ำ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันนะครับ

แต่จะเห็นว่าไม่ว่าความดีนั้นจะเกิดขึ้นที่ใด ก็ย่อมสร้างความภาคภูมิใจให้กับทุกๆ คนที่ได้รับรู้เรื่องราว ผมมั่นใจว่ายังมี “คนไทย” ที่นิยมและทำความดีอยู่ทั่วทุกมุมโลก ก็ขอเป็นกำลังใจในการทำความดี เพื่อจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบ้านเกิดเมืองนอนของเรา

สำหรับ “ความไม่ดี” นั้น นอกจากการจะรักษาศีล 5 และการครองสติเป็นนิจ เพื่อพิชิตกิเลสแล้ว รัฐบาลยังได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” เกี่ยวกับหลักการการปลูกต้นไม้ในใจคน มาประยุกต์เป็น “หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” โดยชี้ให้เห็นโทษของการโกงต่อตนเองและส่วนรวม รวมทั้งการปลูกจิตสำนึก “โตไปไม่โกง”ซึ่งจะต้องอาศัยเวลาในการปลูกฝังบ่มเพาะ “ต้นกล้า” ให้เข้มแข็งตั้งแต่ยังเด็ก

โดยจะให้บรรจุไว้ตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน, อุดมศึกษา, ตลอดจนหลักสูตรตามแนวทางรับราชการของข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ “ทุกคน” มี “ภูมิต้านทาน” ต่อกิเลส อบายมุข สิ่งชั่วร้ายอยู่เสมอ ทั้งนี้ “การโกง” ก็คือ การไม่ซื่อสัตย์ ไม่สุจริต ไม่ตรงไปตรงมา ไม่รักษากฎกติกา ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง เช่น จ่ายเงินใต้โต๊ะ, แซงคิว, ขับรถเบียดคอสะพาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น ผิดทั้งผู้ให้ และ ผู้รับ นะครับ

พี่น้องประชาชนที่รักครับ

นอกจาก “การปลูกต้นไม้ในใจคน” เนื่องใน วันวิสาขบูชาแล้ว วันเดียวกันนี้ยังเป็น “วันต้นไม้แห่งชาติ” ต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 คือ“ต้นรวงผึ้ง” เนื่องด้วยดอกรวงผึ้งมีสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ และผลิดอกช่วงวันพระราชสมภพพอดี ผมจึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันปลูกต้นไม้ประจำรัชกาล ไม้มงคล ไม้มีค่า หรือต้นไม้ประจำจังหวัด
เพื่อเป็นสิริมงคล เพื่อความร่มรื่น ความสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตามโครงการประชารัฐร่วมใจปลูกต้นไม้ให้แผ่นดินในพื้นที่ป่าชุมชน ป่าในเมือง หรือพื้นที่ของตนเองก็ได้นะครับ

สำหรับการปลูกต้นไม้ตามเส้นทาง หรือสวนสาธารณะก็ขอให้ดูแลรักษา ตกแต่งกิ่งก้านสาขา ตามหลักรุกขกรรมศาสตร์ นะครับ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้รถใช้ถนน หรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้ง ให้ดูสวยงามด้วยสีของดอกเดียวกัน หรือสลับสีเป็นห้วงๆ และเป็นทิวแถวเป็นระเบียบเป็นต้น ทั้งนี้ อาจเป็นจุดท่องเที่ยวของชุมชนได้ในอนาคตนะครับ

วันนี้ ผมก็ดีใจที่ต่อไปป่าไม้จะเป็น เปรียบเสมือน “ห้างสรรพสินค้า” ของชุมชน ด้วยนโยบายป่าชุมชน และจะเป็น “สินทรัพย์” ในอนาคต ด้วยนโยบายส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ “คนอยู่กับป่า” ได้ตาม “ศาสตร์พระราชา” แล้ว ประเทศของเราก็จะมีพื้นที่ป่ามากขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 40 ให้ได้นะครับ
พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน, ผมอยากเรียนให้ทราบว่า เราเริ่มได้เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านเศรษฐกิจของประเทศ จากตัวเลขที่ออกมาล่าสุด ใน 3 เดือนแรกของปี 2561 นี้ ประเทศไทยเติบโตจากช่วงเดียวกัน หรือ 3 เดือนแรกของปีก่อนถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ดีที่สุดใน 20 ไตรมาสที่ผ่านมา

ถ้าดูจากฝั่งการใช้จ่าย ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 เนื่องมาจากประเทศคู่ค้าที่มีรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ การบริโภคก็ขยายตัวได้ดี ที่ร้อยละ 3.6 การลงทุนของภาคเอกชนก็ยังขยายตัวดีต่อเนื่องเช่นกัน ไตรมาสนี้ มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 3.1
การใช้จ่ายของเอกชนที่เติบโตได้ดีขึ้นนี้ แสดงว่าเอกชนมีความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้เร่งดำเนินการเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของประเทศอีกทั้งมาตรการสนับสนุนการลงทุนของ BOI
ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนโครงการที่ขอรับการสนับสนุน 366 โครงการ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 โดยมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 60,000 ล้านบาท เมื่อไตรมาสแรกของปี 2560 เป็น 200,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความสนใจที่จะลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และอยู่ในพื้นที่ EEC มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วในไตรมาส 1 ปีนี้ 259 โครงการ

การลงทุนในส่วนนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ดีขึ้น ณ วันนี้เท่านั้น แต่เมื่อแล้วเสร็จ ดำเนินการได้ ก็จะผลิดอกออกผลให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย โดยคำนวณได้ว่าในโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้วนั้น จะสามารถสร้างงานให้คนไทย 15,000 ตำแหน่ง จะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ 51,508 ล้านบาทต่อปี และจะสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศไทยได้ถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งจะกลายไปเป็นรายได้ให้พี่น้องประชาชน ตลอดห่วงโซคุณค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ได้ในที่สุด ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อม เพียงแต่ต้องแสวงโอกาส การมีส่วนร่วม ในวงจรเศรษฐกิจนี้ เราต้องปรับตัว ต้องพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศด้วยนะครับ

หากดูการเติบโตในฝั่งการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวถึงร้อยละ 12.8 ในไตรมาสแรกนี้ ก็เป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้สูงเช่นกัน คือร้อยละ 15.4 นอกจากนี้การขนส่งและการค้าก็ขยายตัวได้ที่ประมาณร้อยละ 7 ในส่วนภาคเกษตร ผลผลิตเกษตรขยายตัวดี แต่ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ทำให้รายได้ของพี่น้องเกษตรกรยังไม่ได้ดีขึ้นตามภาพรวมของเศรษฐกิจเท่าที่ควร
ที่ผ่านมา รัฐบาลรับทราบปัญหาว่า ประโยชน์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เราคุยกันว่าดีขึ้นต่อเนื่องนั้น แต่ก็ยังไม่กระจายลงไปในพื้นที่ชุมชน และยังไม่ไปถึงพี่น้องประชาชนเท่าที่ควร หลายคนก็พูด อาจจะบ่นว่าเศรษฐกิจดีขึ้นจึงหรือ? ทำไมรายได้ยังไม่เพิ่มขึ้น? ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้นิ่งดูดายนะครับ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้อย่างยั่งยืนนะครับ

ผมขอเรียนว่าปัญหาการกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงนี้ มีหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งความเหลื่อมล้ำที่สะสมมานาน โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ที่เห็นชัดเจนก็คือหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าเกษตรก็ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรหรือการหาทางในการเพิ่มมูลค่าในสินค้าต่างๆ ก็ยังไม่ทันการณ์ รวมถึงเราอาจจะยังไม่ได้ปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างเต็มที่ด้วยนะครับ
พี่น้องประชาชน ครับ, การลงทุน ก็เหมือน “การปลูกต้นไม้” ที่ต้องมีระยะเวลาในการให้ผลผลิตแตกต่างกันไป แต่ในระหว่างนั้น เราก็ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย แก้ปัญหาศัตรูพืชอยู่อย่างสม่ำเสมอ สำหรับแนวทางรับมือกับปัญหาต่างๆ ในช่วงแรกของ “การปฏิรูปเศรษฐกิจ” ของประเทศนั้น รัฐบาลและ คสช.ได้ดำเนินการทั้งมาตรการระยะสั้น ที่จะเร่งช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน

ตั้งแต่ “ต้นทาง” คือการปรับปรุงการผลิตสินค้าและบริการ เพิ่มมูลค่า หาตลาด ไปจนถึงการสนับสนุนด้านการเงินเร่งด่วน ทั้งด้านสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ไปจนถึง “ปลายทาง” ที่สำคัญก็คือการแก้ปัญหาหนี้สิน และสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยนะครับ

ส่วนมาตรการระยะยาว ที่จะเน้นการวางรากฐานสำคัญอาทิ
(1) ด้านกายภาพ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยกระจายความเจริญและสร้างหนทางการนำรายได้กระจายไปสู่ท้องถิ่น

(2) ด้านทักษะ คือมาตรการสนับสนุนการศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้ปรับตัวต่อเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้

และ (3) ด้านกรอบความยั่งยืน ผมหมายถึงการจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนปฏิรูปประเทศ ก็เพื่อจะกำหนดทิศทางในการผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้อง และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและประชาชนในระยะยาวด้วย

ผมขอยกตัวอย่าง แผนงาน และผลงาน ของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ เพื่อจะเชื่อมโยงส่วนกลางกับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ และเร่งกระบวนการกระจายรายได้และความเจริญลงไปได้ทั่วถึงมากขึ้น

อาทิ ด้านคมนาคมขนส่ง เราได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และคาดว่าจะเห็นผลในปี 2565 ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกัน ระหว่าง...

1. ทางถนน โดยจะเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญไปยังพื้นที่ต่างๆ และเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีทั้งการเพิ่มทางหลวง 4 ช่องทางจราจรขึ้นไปอีกราว 600 กิโลเมตร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกว่า 500 กิโลเมตร

มีทางพิเศษอีก 2 เส้นทางคิดเป็นระยะทาง 240 กิโลเมตร พัฒนาทางหลวงชนบทเพื่อแก้ปัญหาจราจรจาก 270 กิโลเมตร เป็น 615 กิโลเมตร เพิ่มสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่อีก 6 แห่ง และเพิ่มสะพานข้ามหรือลอดอุโมงค์ทางรถไฟจาก 104 แห่ง เป็น 211 แห่ง

2. โครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง โดยเพิ่มทางรถไฟทางคู่ จากเดิม 360 กิโลเมตร เป็น 3,500 กิโลเมตร พัฒนาขนาดรางมาตรฐาน 4 เส้นทาง 1,000 กิโลเมตร และเพิ่มรถไฟฟ้าเป็น 11 เส้นทาง ระยะทาง 440 กิโลเมตร รวมถึง การสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนานาชาติของประเทศ ได้แก่ สนามบินดอนเมือง –สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา อีกด้วย

3. โครงข่ายขนส่งทางน้ำ โดยจะเพิ่มท่าเรือน้ำลึกอีก 6 แห่ง และพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มการเดินเรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล เชื่อมพัทยา – หัวหิน อีกด้วย

และสุดท้าย 4. การให้บริการขนส่งทางอากาศ โดยจะเพิ่มท่าอากาศยานเบตง เพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานทั่วประเทศ ให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้อีก 320,00 เที่ยว และรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นกว่า 70 ล้านคนต่อปี เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เท่านั้น รัฐบาลยังสร้างความประสานสอดคล้องกับอีก 3 กิจกรรมหลัก อันได้แก่

(1) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมอาทิ โครงการ “เน็ตประชารัฐ” ทุกหมู่บ้าน และโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำ ระยะทาง 25,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบเคเบิล ใต้น้ำ “เส้นแรก” เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่สำคัญของโลกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวม 17 ประเทศ

ซึ่งจะสามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”ของรัฐบาล

(2) การออกกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ดำเนินการกว่า 600 ฉบับ เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติแล้ว 400 กว่าฉบับ

และ (3) การพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Big data) สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลมิติต่างๆ จากทุกกระทรวง อาทิ บัญชีผู้มีรายได้น้อย11 ล้านคน, แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 1.3 ล้านคน, เกษตรกร, ผู้สูงอายุ – ผู้พิการ – ผู้ป่วยติดเตียง, บัญชีนวัตกรรม –OTOPและนักวิจัย เป็นต้น

ซึ่งทั้ง 3 กิจกรรมดังกล่าว ก็จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยง เป็นเครือข่าย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมอีกด้วย
พี่น้องประชาชนที่เคารพ ครับ

กิจกรรมตัวอย่าง ที่จะนำพารายได้กระจายสู่ท้องถิ่น “เศรษฐกิจระดับฐานราก” นั่นก็คือ โครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” โดยมีโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ– กฎหมาย – ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็น “ตัวเชื่อม” ในการบริหารจัดการ และมีกลไกประชารัฐเป็น “ตัวขับเคลื่อน” ให้สอดคล้องกับในทุกระดับ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างการดำเนินการใน 2 เรื่องสำคัญ

1.การแก้ปัญหาปากท้องโดยการลงพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ชุมชน มีประชาชน กว่า 7 ล้านคน เข้าร่วม 97 เวทีประชาคม ซึ่งผลการวิเคราะห์โครงการของหมู่บ้าน และชุมชน แห่งละ 200,000 บาท รวมทั้งสิ้น 88,400 โครงการ แบ่งการดำเนินการใน 3 ลักษณะ คือ

(1) ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ประมาณ 68,000 โครงการ (77%) เช่น สร้างถนน, ศาลาประชาคม, หอกระจายเสียงเสียงตามสาย, ลานกีฬาสนามเด็กเล่น, เครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง, บ่อกำจัดสิ่งปฏิกูล, แนวกันไฟ เหล่านี้เป็นต้น

(2) การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ “ทางตรง”ราว 12,500 โครงการ (14%) เช่น การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้าน-ชุมชน, ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม, การแพทย์แผนไทย, ลานตาก-โรงสี-ยุ้งฉาง ผลผลิตทางการเกษตร, การแปรรูป การถนอมอาหาร และเครื่องอบลดความชื้น, ผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP), หัตถกรรมผ้า เป็นต้น

(3) การสร้างอาชีพ สร้างรายได้“ทางอ้อม” เกือบ 8,000 โครงการ (9%)การพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ลานอเนกประสงค์, น้ำดื่ม น้ำใช้, แหล่งน้ำ, ห้องน้ำบริการสาธารณะ, สถานีสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์, การปลูกป่า เป็นต้น

และ 2.การปฏิรูปภาคการเกษตรได้รับงบประมาณจากงบกลาง ราว 25,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในกิจกรรมโครงการต่างๆ เกี่ยวกับพืช – ปศุสัตว์ – ประมง ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้น

คาดว่าจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมคิดเป็นมูลค่ากว่า 63,000 ล้านบาท มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 4.3 ล้านราย อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำชลประทานในการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 2.12 ล้านไร่ คิดเป็น 10,000 หมื่นล้านบาท

กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการผลิตและการพัฒนาทักษะอาชีพ 24,000 ล้านบาท กิจกรรมการลดต้นทุนการผลิตด้วยการสนับสนุนเมล็ดพืชและสัตว์พันธุ์ดี กว่า870 ล้านบาท กิจกรรมเสริมศักยภาพธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 245 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ การอบรมเสริมทักษะความรู้ต่างๆ ก็เหมือนกับการเรียนในห้องเรียน ที่มีทั้งภาควิชาการ ภาคปฏิบัติ และมีทั้งคนประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ แต่อยู่บนพื้นที่ความสมัครใจ

การฝึกอบรมเหล่านี้ ผมถือว่าเป็นการให้โอกาสนะครับ กับพี่น้องประชาชน เป็นการสร้างความเข้มแข็ง ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” คือ ไม่แจกปลา แต่จะให้เบ็ดแล้วสอนวิธีการหาปลานะครับ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระจายรายได้ และสร้างงานในหมู่บ้านชุมชนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ – เชิงวัฒนธรรม – เชิงกีฬา

สิ่งที่ชาวชุมชนต้องร่วมมือกัน นอกเหนือจากความสะอาด ความปลอดภัย ความเป็นมิตรแล้ว การค้นหาเรื่องเล่า การสร้าง “คนเล่าเรื่อง” ประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์ สิ่งที่น่าสนใจในแต่ละท้องถิ่น โดย “ไกด์ – มัคคุเทศก์” ที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ – จีน และภาษาอื่นๆ ไว้คอยบริการก็เป็นเสน่ห์นะครับ ดึงดูดใจผู้มาเยือนอีกด้วย โดยเฉพาะไกด์เยาวชน ก็จะเป็นการปลูกฝังสำนึกรักถิ่นฐานของตนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้เกษียณ ที่ยังมีศักยภาพ สามารถได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม ด้วยการใช้ประสบการณ์และศักยภาพที่มีให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง ช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหลาน
โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย รัฐบาลนี้ตระหนักดีนะครับ ให้ความสำคัญ หมายถึงคนในวัยทำงานจะมีภาระในการดูแลผู้สูงวัยที่จะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขาดแรงงานวัยวัยฉกรรจ์ นะครับ
ปัจจุบันนั้น รัฐบาลก็มีมาตรการที่ครอบคลุมเพื่อดูแลและสนับสนุนการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยมีแผนงานระยะยาว เพื่อดูแลสุขภาพและพัฒนาทักษะผู้สูงอายุโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนจัดหางานให้ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2560 – 2564 และแผนสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2564

ขณะเดียวกันในด้านสวัสดิการ รัฐบาลมีการอุดหนุนเงินยังชีพของผู้สูงอายุ เดือนละ 600 – 1,000 บาท อย่างต่อเนื่อง และเพื่อดูแลให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ที่ปัจจุบัน เรามีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน

รัฐบาลได้เตรียมเดินหน้าผลักดันการเพิ่มเงินยังชีพผู้สูงอายุ ให้เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นรายละ 1,200 บาท ถึง 1,500 บาท อีกด้วยนะครับ อย่างไรก็ตามเราต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของงบประมาณไว้ด้วยนะครับ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแรงงานผู้สูงอายุ ในกรณีที่ประสงค์จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยได้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำเพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน
พร้อมมาตรการจูงใจให้องค์กรต่างๆ จ้างงานผู้สูงอายุ โดยสามารถนำรายจ่ายไปหักภาษีได้ถึง 2 เท่า รวมทั้งพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณด้วยนะครับ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังเตรียมพร้อมในด้านที่พักอาศัยของผู้สูงอายุในหลายรูปแบบ เช่น โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร ที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ ถือเป็นการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมในทุกมิติด้วยนะครับ

ทั้งหมดนี้ เป็นความตั้งใจจริงของรัฐบาล ที่จะสนับสนุนให้ประชากรกลุ่มนี้ ให้ยังเป็นกำลังสำคัญของชาติ และนำความสามารถ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างมีศักดิ์ศรี ภูมิใจกับการยืนอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเองต่อไป

จะเห็นว่าการปฏิรูปในภาพรวมของประเทศนี้ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ดิจิทัล กฎหมาย ข้อมูลขนาดใหญ่ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการกระจายความเจริญและรายได้สู่ท้องถิ่น แต่อาจต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือกัน ต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรม ให้สอดคล้องกับกระแสของโลก และแนวทางการพัฒนาประเทศอยู่เสมอ นะครับ

สุดท้ายนี้ ผมมีกลอนอีกบทหนึ่งมาฝากทุกท่านในช่วงสุดสัปดาห์นี้นะครับ

จะมีไหม เมื่อไร ไทยสงบ
ทุกคนพบ ความสุข ตามที่หวัง
อย่าทำให้ ไทยทั้งชาติ ขาดพลัง
สิ้นความหวัง หมดสุข ให้ทุกคน
ทั้งการเมือง บริหาร ต้องสานต่อ
ให้เพียงพอ เพื่อประโยชน์ มหาศาล
หากเนิ่นช้า เกินไป จะเสียการ
ให้ทุกท่าน ทุกคน นั้นสุขใจ
ขอพี่น้อง ผองไทย ช่วยสร้างชาติ
ป่าวประกาศ ร่วมใจ ไทยเข้มแข็ง
ให้ยั่งยืน ดีเลิศ เกิดเปลี่ยนแปลง
คำชี้แจง บอกไป ห่วงใยจริง

ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ

ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้