x-files (5) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ-ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง

Last updated: 13 ส.ค. 2561  |  6488 จำนวนผู้เข้าชม  | 

x-files (5) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ-ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง

"...การกระทำของนาย ข. และนาย ค. จึงเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ข้อ 48 เป็นเหตุให้นาย จ. เบิกเงินไปเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไข พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157..."

ตามที่แจ้งไว้ในตอนที่แล้ว ว่าในตอนนี้ จะเริ่่มต้นนำรายงานผลการศึกษาตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการทุจริตตรวจการจ้าง เบิกจ่ายเงิน และเรียก รับผลประโยชน์ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้ความผิด นับตั้งแต่ปี 2543 -2557 และมีการจัดทำรวบรวมไว้เป็นทางการ  มานำเสนอให้สาธารณะรับทราบเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

สำหรับตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการทุจริตตรวจการจ้าง เบิกจ่ายเงิน และเรียก รับผลประโยชน์  ที่นำมาเสนอในครั้งนี้ จะมีคดีอะไรบ้างดูรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้ 

@  การตรวจรับงานจ้างอันเป็นเท็จ และอนุมัติเบิกจ่ายค่าจ้างโดยมิชอบ

ข้อเท็จจริง องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ได้มีคำสั่งให้นาย ก. เจ้าหน้าที่บริหารงานช่าง เป็นผู้ควบคุมงาน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้สั่งจ้างซ่อมแซมถนนในเขตพื้นที่ และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ/ตรวจการจ้างและผู้ควบคุมงาน ประกอบด้วย นาย ข. นาย ค. และนาง ง. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง

ต่อมา นาย จ. ผู้รับจ้าง ได้ส่งมอบงานต่อคณะกรรมการตรวจการจ้าง ทั้งที่ยังมิได้มีการดำเนินการซ่อมแซมถนนแต่อย่างใด และคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานจ้างอันเป็นเท็จ ทั้งๆ ที่ไม่มีรายงานการปฏิบัติงานของช่างผู้ควบคุมงานและไม่มีการซ่อมแซมถนนตามสัญญาจ้างแต่อย่างใด ภายหลังได้มีการจัดทำฎีกาการเบิกเงินตามงบประมาณ โดยนาย ง. เป็นผู้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินและนำเสนอเพื่ออนุมัติการเบิกจ่ายเงิน และองค์การบริหารส่วนตำบลได้อนุมัติการจ่ายเงินค่าจ้างให้นาย จ. เป็นจำนวนเงิน31,125 บาท เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

1) การกระทำของนาย ก. เจ้าหน้าที่บริหารงานช่าง 4 ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นช่างผู้ควบคุมงานจ้างซ่อมแซมถนน ตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่ได้ไปทำการควบคุมการปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่ได้ทำการจดบันทึกรายงานการปฏิบัติงานของแต่ละวัน การกระทำเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิ

ชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

2) กรณีคณะกรรมการตรวจการจ้างตามคำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยนาย ข. นาย ค. และนาง ง. ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนให้เป็นไปตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา และทำการตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมที่ผู้ควบคุมงานรายงาน คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ลงลายมือชื่อตรวจรับงานจ้าง ทั้งๆ ที่ไม่มีรายงานการปฏิบัติงานของช่างผู้ควบคุมงาน และไม่ได้มีการซ่อมแซมถนนตามที่ตรวจรับแต่อย่างใด

การกระทำของนาย ข. และนาย ค. จึงเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ข้อ 48 เป็นเหตุให้นาย จ. เบิกเงินไปเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไข พ.ศ. 2542 มาตรา 92 และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

และการกระทำของนาง ง. ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้างและเป็นผู้ตรวจสอบและเป็นผู้เบิกเงินตามฎีกาเบิกเงิน โดยผู้ที่รับจ้างมิได้ดำเนินการตามโครงการ จึงเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ข้อ 48 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ข้อ 39 เป็นเหตุให้ผู้รับจ้างเบิกเงินเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยมิชอบ และทำให้ทางราชการเสียหาย เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการ

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

3) กรณีนาย ฉ. รักษาราชการในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่ในการตรวจสอบควบคุมการปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนตำบล ทำการอนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างซ่อมแซมถนน ไป โดยที่เอกสารการเบิกจ่ายเงินตามฎีกาไม่ครบถ้วน การกระทำเป็นความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 แก้ไข พ.ศ. 2542 มาตรา 92 ให้ส่งรายงานเอกสาร และความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

4) กรณีนาย จ. ผู้รับจ้างโครงการซ่อมแซมถนน ได้ทำบันทึกส่งมอบงานจ้างเหมาโครงการซ่อมแซมถนน เพื่อขอเบิกจ่ายเงิน โดยรู้ว่าโครงการดังกล่าวยังมิได้มีการดำเนินการตามใบสั่งจ้างแต่อย่างใด เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบล ทำการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่นาย จ. ผู้รับจ้างจำนวน 31,125 บาทการกระทำของนาย จ. เป็นความผิดทางอาญาฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหายและฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

@ นำสัญญาจ้างอันเป็นเท็จไปขายงวดงาน

ข้อเท็จจริง นาย 1 นาย 2 นาย 3 และนาย 4 ในฐานะพนักงานสินเชื่อ และ นาย 4 นาย 5 และนาย 6 ในฐานะผู้ตรวจสอบควบคุมดูแลการให้สินเชื่อของธนาคาร ก. ได้ร่วมกันพิจารณาให้สินเชื่อโดยรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด A ที่นำสัญญาจ้างงานปลอมของส่วนราชการจำนวน 6 ฉบับ มาเป็นหลักประกันการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยมิได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของสัญญาจ้างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด A นำมายื่นเป็นหลักฐานการกู้เงิน และไม่ได้ดำเนินการให้มีการจัดส่งสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องแจ้ง

หน่วยงานราชการคู่สัญญาให้รับทราบความยินยอมให้ธนาคารรับเงินแทนแต่กลับส่งมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด A ไปดำเนินการเอง ทำให้หน่วยงานราชการคู่สัญญาจ้างไม่ทราบว่ามีการโอนสิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย 1 นาย 3 นาย 4 และนาย 6 เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามคำสั่งธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เรื่อง คู่มือและระเบียบพนักงาน หมวด 3 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 4 (4.1) และ (4.7) และการกระทำของนาย 1 นาย 2 นาย 3 นาย 4 นาย 5 และนาย 6 เป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

และการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัด A เป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

สำหรับความผิดวินัยของนาย 2 และนาย 5 ได้พ้นสถานภาพการเป็นพนักงานไปก่อนแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องดำเนินการส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยอีก

@ ตรวจรับงาน และเบิกจ่ายค่าจ้างให้กับผู้รับจ้าง ทั้งที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

ข้อเท็จจริง เทศบาลตำบล A ได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างระบบประปา ซึ่งได้ดำเนินการจัดจ้างไปแล้วและยังคงเหลือเงินอยู่บางส่วน ต่อมาทางจังหวัดได้แจ้งให้เทศบาลตำบล A ทำโครงการขอใช้เงินงบประมาณที่เหลือ โดยโครงการที่เสนอขอใช้เงินต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องเป็นประโยชน์กับระบบประปา เทศบาลตำบล A จึงได้เสนอโครงการขุดลอกขยายสระน้ำดิบ ผลการสอบราคาปรากฏว่า ร้าน

ก. เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และได้ทำสัญญากับเทศบาลตำบล A โดยกำหนดสัญญาจ้างเป็นระยะเวลา 180 วัน

ในเดือนที่ 3 นับแต่เดือนที่เริ่มสัญญา ผู้ควบคุมงานจำนวน 3 คน ได้ร่วมกันจัดทำรายงานประจำวัน ระบุผลงานก่อสร้างโดยมีผลงานสะสมของงานขุดลอกจำนวน 65 % แต่ไม่ได้ระบุสัดส่วนของผลงานรวมว่ามีเท่าใด และระบุปัญหาอุปสรรคว่าเนื่องจากมีน้ำจากแม่น้ำสายหลักในพื้นที่เอ่อล้นเข้ามาในบริเวณขุดลอกทำให้ไม่สามารถขุดลอกคันดินกั้นน้ำออกได้ ร้าน ก จึงได้มีหนังสือส่งมอบงานจ้างมายังเทศบาลตำบล A โดยระบุว่าได้ทำการตามสัญญาเสร็จเรียบร้อยตามรูปแบบรายงานและรายละเอียดทุกประการ และขอให้คณะกรรมการตรวจการจ้างไปทำการตรวจงานที่รับจ้าง ซึ่งนาย ค. นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล A พิจารณาแล้วเห็นควรให้ดำเนินการ

ต่อมาคณะกรรมการตรวจรับการจ้างได้ร่วมกันจัดทำใบตรวจรับงานจ้างเหมา โดยรับรองว่าผู้รับจ้างได้ทำงานจ้างงวดสุดท้ายเสร็จเรียบร้อยตามรูปแบบที่กำหนดแล้ว สมควรจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่ผู้รับจ้างต่อไปซึ่งนาย ค. ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างและมีหนังสือขอเบิกเงินค่าก่อสร้างโครงการดังกล่าว พร้อมส่งสำเนาหลักฐานการตรวจรับการจ้างของคณะกรรมการตรวจรับการจ้างไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

1) การกระทำของ นาย ค. ผู้บริหารท้องถิ่น มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, มาตรา 157 และมาตรา 162 (2)

2) การกระทำของคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง และผู้ควบคุมงาน ที่เป็นพนักงานเทศบาลตำบล A มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83

3) การกระทำของกรรมการตรวจรับการจ้างที่แต่งตั้งจากประธานชุมชน มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 162 (1)(4) ประกอบมาตรา 86 เช่นเดียวกับผู้รับจ้าง ส่วนผู้ควบคุมงานที่เป็นพนักงานจ้าง

ตามภารกิจ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 162 (1)(4) ประกอบมาตรา 86

@ การทุจริตการตรวจรับจ้าง การเบิกจ่ายเงิน และการตกลงจ้าง

ข้อเท็จจริง องค์การบริหารส่วนตำบลได้สอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ โดยมี นาย ก. เป็นประธานกรรมการตรวจการจ้าง ในการดำเนินการก่อสร้างผู้รับจ้างก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบรูปรายละเอียดกำหนดจำนวนหลายรายการ เป็นเหตุให้หัวหน้าส่วนโยธาในฐานะผู้ควบคุมงานและกรรมกรรมการตรวจการจ้าง ได้มีบันทึกเสนอนาย ก. ในฐานะประธานกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งต่อมาผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขแต่ยังไม่ถูกต้องตามรูปแบบ แต่ปรากฏว่านาย ก. ได้มีคำสั่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้าง ทั้งที่งานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เป็นเหตุให้ราชการเกิดความเสียหาย

องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดจ้างงานโครงการถมดิน โดยวิธีตกลงราคา โดยมีเจ้าหน้าที่พัสดุ และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้พิจารณาราคาของผู้เสนอราคา 2 ราย และเห็นควรจ้างผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการให้เรียกผู้เสนอราคาสูงสุดมาทำสัญญาโดยมิได้แสดงเหตุผลและความจำเป็นแต่อย่างใด เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

องค์การบริหารส่วนตำบลได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนน โดยวิธีสอบราคา แต่นาย ก. ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานมาก่อสร้างฝายน้ำโดยวิธีตกลงราคาเพื่อให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของตน โดยไม่ได้นำเรื่องเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาอนุมัติก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดทำโครงการก่อสร้างถนนสายต่าง ๆ รวม 6 สาย โดยเจ้าหน้าที่ได้เสนอให้รวมโครงการทั้ง 6 เพื่อดำเนินการการจัดจ้างโดยวิธีสอบราคา ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 แต่นาย ก. ได้แยกจัดจ้างงานเป็นแต่ละโครงการเพื่อดำเนินการโดยวิธีตกลงราคา และนาย ก. ได้สั่งการให้ทำการจ้างงานกับห้างหุ้นส่วนที่เสนอราคาสูง โดยไม่ปรากฏเหตุผลและความจำเป็นในการจ้างห้างหุ้นส่วนที่เสนอราคาสูงแต่อย่างใด เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของ นาย ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91

@ ตรวจรับงานจ้างถนนคอนกรีตที่ไม่ได้ขนาด

ข้อเท็จจริง องค์การบริหารส่วนตำบล A ได้ดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยการก่อสร้างถนนในงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างโดยมีนาย กวิศวกรโยธา และนาย ข. นายช่างโยธา ขององค์การบริหารส่วนตำบล A เป็นผู้ควบคุมงาน ได้รายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบว่า การก่อสร้างถนนได้ดำเนินการเสร็จตามแบบและสัญญาจ้าง คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบรายงานของผู้ควบคุมงาน และได้ตรวจสอบภายนอกของถนนดังกล่าว เห็นว่าถูกต้องตามแบบรูปรายการ จึงได้ทำการตรวจรับงานจ้างและเบิกจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้แก่ผู้รับจ้าง แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่า ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กมีความหนาไม่ได้ขนาด 20 เซนติเมตร ตามแบบ โดยมีความหนาเฉลี่ยเพียง 18.30 เซนติเมตร ขาดหายไป 1.70 เซนติเมตร คิดเป็นปริมาตรคอนกรีตที่หายไปประมาณ 132.60 ลูกบาศก์เมตร คำนวณค่าเสียหายเป็นเงินประมาณ 165,750 บาท ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และนาย ข. มีมูลความผิดทางวินัย ส่วนคณะกรรมการตรวจการจ้าง ถือว่าได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรับงานจ้างไปตามสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่มีความผิด รวมทั้งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล A ไม่ปรากฏว่ามีมูลความผิด

@ เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง

ข้อเท็จจริง สำนักงานประปาร้อยเอ็ดเขต 8 ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายหนึ่ง ปรับปรุงเส้นท่อประปาตามแนวถนนราชดำเนินในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจการจ้าง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกองวิชาการเป็นประธานกรรมการ นาย ก. ผู้จัดการสำนักงานประปาร้อยเอ็ดและหัวหน้างานควบคุมน้ำเสีย เป็นกรรมการ ในระหว่างที่ดำเนินการปรับปรุงเส้นท่อประปาอยู่นั้น นาย ก. ได้โทรศัพท์ติดต่อเรียกเงินจากผู้รับจ้าง จำนวน 50,000 บาท โดยให้โอนเงินจากธนาคารแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ไปยังธนาคารอีกแห่งหนึ่งสาขาร้อยเอ็ด ให้แก่นาย ก. โดยนาย ก. ได้ไปรับเงินด้วยตนเอง ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเงิน 50,000 บาท นาย ก. ให้ถ้อยคำและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นเงินที่ขอยืมจากหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้รับจ้างและยังไม่ได้ใช้คืน

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของ นาย ก. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจรับงานจ้างการปรับปรุงเส้นท่อประปาให้เป็นไปตามสัญญา แต่กลับอาศัยสถานะดังกล่าว ขอยืมเงินจากผู้รับจ้าง มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค

ส่วนการกระทำของนาย ก. ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่กรรมการตรวจการจ้างเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง ยังไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอ เนื่องจากพยานมีลักษณะยันกันปากต่อปาก และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าได้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการตรวจรับงานจ้างในทางช่วยเหลือ หรือให้ประโยชน์แก่ผู้รับจ้าง

ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างคดีทุจริตสำคัญๆ ในหมวดการทุจริตตรวจการจ้าง เบิกจ่ายเงิน และเรียก รับผลประโยชน์ ที่รวบรวมมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อเป็นอุธาหรณ์เตือนใจ ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานราชการ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถ่ิ่น (อปท.) ไม่ให้กระทำความผิด ซ้ำรอยเดิมอีก 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้