รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561

Last updated: 1 ก.ย. 2561  |  1731 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม 2561 เวลา 20.15 น.
-------------------------

 

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ผมขอแสดงความยินดีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่ง ที่ได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดี และที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ซึ่งได้ดำเนินการประกวดและประเมินกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว เพื่อเป็นการจูงใจและส่งเสริม อปท. ต่าง ๆ ทั่วประเทศพัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง ทั้งการจัดบริการสาธารณะ หรือกิจกรรมสาธารณะ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล กุศโลบายดังกล่าว ก่อให้เกิด อปท. ต้นแบบ และ อปท. ที่มีแนวทางปฏิบัติที่ดี อีกทั้งสร้างความกระตือรือร้น ในการใช้ความคิด ความรู้ความสามารถ และพัฒนาทีมงานใน อปท. ไปในตัว เพื่อสร้างศักยภาพหรือยกระดับความสามารถของตน ในการพัฒนางาน พัฒนาคน และการมีส่วนร่วมในแต่ละท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น แม้ว่าผลตอบแทนคือรางวัลจูงใจและประกาศเกียรติภูมิที่ได้รับ แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญกว่านั้น คือการแสดงออกถึงระดับความพร้อมในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และความเข้มแข็งของท้องถิ่นที่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาบ้านเมืองของเรา ซึ่งล้วนแต่นำมาซึ่งประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนทุกคน
ยังจำกันได้หรือไม่ครับว่าเมื่อต้นปีนี้มีข่าวดี ๆ เกี่ยวกับบ้านเมืองของเรา โดยจังหวัดน่านได้รับรางวัลเกียรติยศ “เมืองท่องเที่ยวสะอาด” อันดับที่ 1 ของอาเซียน จากการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียนครั้งล่าสุดนอกจากจังหวัดน่านแล้ว ก็มีจังหวัดยโสธรและจังหวัดตรัง ที่ก็ได้รับการยกย่อง ด้วยเช่นกัน รางวัลแห่งความภาคภูมิใจนี้ ผมเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หลายจังหวัดน่าจะใช้เป็นกรณีศึกษา ในแง่การทำงานอย่างจริงจังของภาครัฐ ที่ร่วมมือกับภาคประชาชนอย่างเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางก็คือบ้าน หรือเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ตลาด ถนนคนเดิน ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ก็จะร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศบาลเก็บและคัดแยกขยะทุกครั้ง พี่น้องประชาชนดูแลหน้าบ้านของตนให้น่ามองทุกเช้า และร่วมกันรักษาความสะอาดเส้นทาง ซอก ซอยในชุมชน ทุก ๆ วัน โดยถือหลักการง่าย ๆ ว่า “รักเมือง เหมือนรักบ้าน” เมื่อแต่ละบ้านมีห้องรับแขกไว้อวดสายตาผู้มาเยือน ที่สะท้อนการรักษาความสะอาดของเจ้าบ้านแล้ว ดังนั้นพื้นที่สาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวก็คงเป็นห้องรับแขกของชุมชน ของบ้านเมือง ที่รอต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รวมทั้งนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อีกทั้งสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวชุมชน เจ้าถิ่นอีกด้วย ลักษณะนิสัยแบบนี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องอาศัยการปลูกฝังกันทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งผลดีที่ได้ก็ย่อมจะตกอยู่กับผู้อยู่อาศัยทุกคน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืนอีกด้วยครับ
สำหรับเรื่องขยะก็คงเหมือนกับทุก ๆ เรื่อง ที่ผมต้องการย้ำเตือนให้เกิดความตระหนักให้เราทุกคนที่เป็นเจ้าของบ้าน และทุกภาคส่วนได้ร่วมมือ ร่วมใจกัน เพราะลำพังภาครัฐเอง คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้บ่อยครั้ง เด็กนักเรียนที่ได้รับการปลูกฝังในโรงเรียน แต่พอออกมาสู่สังคมนอกรั้วโรงเรียนแล้ว เด็ก ๆ กลับไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริงได้ ก็น่าเสียดาย ก็อยากให้ช่วยกันคิด ว่าจะช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างไรได้บ้าง อย่างเช่น แนวทางการลดใช้ถุงพลาสติก ที่หลายประเทศเคยทำ ซึ่งมีคนเคยรวบรวมเอาไว้ ก็น่าสนใจดีนะครับ โดยใช้กลไกด้านราคา ด้วยการจ่ายค่าถุงพลาสติกเพิ่มเพียงเล็กน้อยจากราคาสินค้า แต่มีผลทางจิตวิทยาไม่น้อย อาทิ ประเทศอังกฤษ สก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล ลดได้มากกว่า 80% จากปริมาณที่ใช้เดิมในแต่ละปี โดยนำเงินเพิ่มค่าถุงพลาสติกนี้ ไปใช้ในโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ส่วนในประเทศไทย ทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา คิดค่าถุงพลาสติกใบละ 2 บาท สามารถลดการใช้ถุงได้ 90% เช่นเดียวกัน
ซึ่งผมเห็นว่าหากเราสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ มาตรการร่วมกัน ก็น่าจะช่วย เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างยั่งยืน อย่างเช่น ชาวเกาะเต่า ร่วมใจกันเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วใส่สินค้า ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต้องนำถุงผ้าหรือเป้สะพายหลังมาใส่สินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ ออกจากร้านแทน ผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อเห็นพ้องเลิกการใช้ถุงพลาสติกเพื่อให้เกาะเต่าปลอดถุงพลาสติก ไร้มลพิษ และลดขยะสะสมบนเกาะ ลดโลกร้อนร่วมกัน
นอกจากเรื่องขยะแล้ว ปัญหาน้ำเสียก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งของการพัฒนาที่ไม่สมดุล ไม่ยั่งยืน ทั้งนี้ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 อยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ผ่านมา หรือยุค 3.0 สร้างปัญหาสะสม หมักหมม ให้กับบ้านเมืองของเรามากมาย วันนี้ เราต้องเปลี่ยนหลักคิด สร้างวิถีปฏิบัติใหม่ เพื่อแก้ไขของเก่าและป้องกันของใหม่ ไม่ให้ผิดพลาดซ้ำรอยเดิม ปัจจุบัน ปัญหาแม่น้ำลำคลองน้ำเน่าเสียที่ถูกระบายลงสู่ท้องทะเลไทย นับเป็นวัฏจักร ห่วงโซ่ของน้ำที่น่ากังวล ที่ผมกำลังพูดถึง สาเหตุของปัญหาเกิดขึ้นในหลากหลายกิจกรรม ทั้งที่เราทุกคนรับรู้และที่เราไม่เคยสนใจ เช่น การทิ้งขยะมูลฝอย การลักลอบปล่อยน้ำเสีย โดยไม่มีการบำบัด จากบ้านเรือน ร้านค้า โรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม และการชะล้างปุ๋ยเคมีจากพื้นที่เกษตรกรรมลงสู่แม่น้ำลำคลอง เป็นต้น สุดท้าย ทุกอย่างที่กล่าวมา ก็ไหลลงสู่ทะเลเป็นที่รองรับทุกอย่างจากแผ่นดินเช่น อ่าวไทย ก็เป็นที่รองรับทุกอย่างจากแม่น้ำ 4 สายสำคัญของประเทศ ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง
ดังนั้น ถุงพลาสติกในมือเราวันนี้ หรือเมื่อวานนี้ อาจไปอยู่ในท้องสัตว์ทะเลในอีกไม่มีกี่วันข้างหน้า เหมือนคลิปวาฬครีบสั้นที่มาเกยตื้น ซึ่งชมรมวาฬไทยนำมาเผยแพร่ โดยหลังผ่าพิสูจน์ พบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารของวาฬ จำนวน 85 ชิ้น น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม ที่นำมากล่าว ไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษใคร เพียงแต่ต้องการให้ทุกคนได้ตระหนัก และร่วมกันรับผิดชอบ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้ จะหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของประเทศ แต่การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเป็นการพัฒนาทางวัตถุและจิตใจควบคู่กันไป
พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
การสร้างอนาคตประเทศไทย จะสำเร็จสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้าวันนี้เราไม่มีรากฐานที่แข็งแรงของภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เนื่องจากพี่น้องส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคการเกษตร หากมองย้อนกลับไปจนถึงวันนี้ทุกอย่างค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น ได้รับความเชื่อมั่นจากต่างชาติมากขึ้น มี Start up ภาคการเกษตร มี Young Smart Farmer เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งพวกเขาเปรียบเสมือนเป็นอนาคตที่สำคัญในภาคการเกษตร สินค้าการเกษตรหลายประเภทส่งออกมากขึ้น และประเทศกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลมุ่งเสริมสร้างให้เกิดรากฐานที่ดี เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะสร้างชาติผ่านภาคการเกษตรที่สำคัญไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืน ภาคการเกษตรเปรียบเสมือนรากฐานที่สำคัญของประเทศ ถ้ารากต้นไม้แข็งแรง ต้นไม้จึงจะเติบโตแผ่กิ่งก้านใบออกดอกติดผลได้ แต่ภาคการเกษตรจะเข้มแข็งไม่ได้ หากไม่มีกระบวนการสร้างและพัฒนาเกษตรกรให้พึ่งพาตนเอง วันนี้การส่งเสริมการเกษตรของไทยยังต้องเน้นผ่านกระบวนการกลุ่ม หรือการสร้างความเข้มแข็งผ่านองค์กรเกษตรกร ปัจจุบันเรามีกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ได้แก่ Smart Farmerมากกว่า 1 ล้านราย มีเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพแล้วเกือบ 8,000 ราย มีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ที่คอยสนับสนุนงานทั่วประเทศ กว่า 75,000 ราย กลุ่มแม่บ้านเกษตร ประมาณ 20,000 กลุ่ม สมาชิกราว 480,000 ราย สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทั้งประเทศมากกว่า 160,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีเกษตรกรต้นแบบ 882 ราย สมาชิกแปลงใหญ่ เกือบ 3,900 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการพัฒนางานการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องชาวเกษตรกรของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับนโยบายเรื่องข้าว ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของประชาชนในประเทศ และเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ได้มีแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำการเกษตรแบบรวมกลุ่มที่เรียกว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โดยมีการบริหารจัดการแปลงอย่างเป็นระบบเพื่อให้การผลิตมีศักยภาพสูงสุด ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี มีต้นทุนการผลิตลดลง อีกทั้งมีการเชื่อมโยงตลาดเข้ากับการผลิต เพื่อสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในเรื่องราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 มีความพึงพอใจในการรวมกลุ่มทำนา เนื่องจากทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด ทั้งของวิสาหกิจชุมชนด้านข้าวและสหกรณ์การเกษตร ได้รับรายงานว่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,325 บาทต่อไร่ โดยปีแรกที่เริ่มทำเพิ่มขึ้น 115 บาทต่อไร่ ปีที่ 2 เพิ่มขึ้น 1,211 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ17.5 ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงร้อยละ 19 ขณะนี้มีชาวนาที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการนาแปลงใหญ่จำนวนกว่า 1,900 แปลง รวมเกษตรกรกว่า 170,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.4 ล้านไร่ใน 71 จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นการดำเนินงานในศูนย์ข้าวชุมชนจำนวน 368 แปลง ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 มีแผนที่จะขยายพื้นที่เพื่อให้เป็นผลดีต่อชาวนาเพิ่มขึ้น โดยให้ความสำคัญกับศูนย์ข้าวชุมชนเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นองค์กรชาวนาที่มีความเข้มแข็ง มั่นคง และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาข้าวและชาวนา ในแต่ละท้องถิ่น
ซึ่งศูนย์ข้าวชุมชนดังกล่าวจะเป็นองค์กรที่เราต้องให้ความสำคัญ ในการพัฒนาให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ปัจจุบันมีศูนย์ข้าวชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวแล้วประมาณ 1,800 ศูนย์ และตั้งเป้าไว้ที่ 7,000 ศูนย์ ในปี 2564 (อีก 3 ปีข้างหน้า) สำหรับการส่งเสริมและถ่ายทอดการพัฒนาและผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ให้กระจายสู่ชาวนาทุกพื้นที่และเชื่อมโยงสู่ตลาด ก็คือตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง รวมทั้งการขับเคลื่อนการผลิตข้าวพันธุ์ดีไว้บริการชาวนาในแต่ละท้องถิ่น ทราบว่าสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีรวมกันได้ปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นองค์กรหลักของชาวนาที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งชาวนาทั่วไป
สำหรับสถานการณ์ข้าวในปีนี้ หลายประเทศต้องประสบกับปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวเอเชีย จึงเป็นปีทองของข้าวไทยอีกปีหนึ่งต่อจากเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไทยส่งออกข้าวทั้งสิ้น 11.63 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.93 แสนล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้จะส่งออกข้าวได้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศ อย่างไรก็ตาม เรายังคงจำเป็นต้องร่วมมือกันดำเนินการตามนโยบายตลาดนำการผลิต ไม่ใช่เฉพาะเรื่องข้าว แต่รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ของประเทศด้วย จะได้ใช้โอกาสนี้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต ที่จะไม่นำมาสู่วังวนราคาผลิตภัณฑ์ตกต่ำ เนื่องจากเห็นว่าอะไรราคาดี ก็เฮโลกันปลูกพืชชนิดเดียวกันในเวลาเดียวกัน ตลาดที่มีอยู่เท่าเดิมก็รองรับไม่ไหว เพราะผลผลิตล้นตลาด เกินความต้องการ ถูกกดราคา ราคาก็ตกต่ำ เป็นปัญหาซ้ำ ๆ เดิม ๆ ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยน และไม่เชื่อคำแนะนำของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลนี้ จะนำพาพี่น้องเกษตรกรไปสู่การปฏิรูปให้ได้ ขอเพียงความเข้าใจและร่วมมือเท่านั้นครับ
นอกจากนี้การส่งเสริมการเกษตรยังได้มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง อีกด้วย เช่น มะม่วง จากเดิมเราปลูกเป็นพืชหลังบ้าน ปัจจุบันส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ใช้ ศพก. เชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงทั้งประเทศ มีการจัด Zoning นำเทคโนโลยีการผลิตส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งการตัดแต่งกิ่ง ควบคุมโรคแมลง ห่อผล ส่งเสริมการทำผลผลิตนอกฤดู พัฒนามาตรฐานตามระบบ GAP และวางระบบ Logistic อย่างเหมาะสม จนสามารถสร้างแบรนด์ Thai Golden Mango ส่งมะม่วงออกต่างประเทศได้กว่า 70,000 ตัน สร้างมูลค่าให้กับประเทศได้กว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้สินค้าเกษตรหลายชนิด เรายังสามารถปลูกเพื่อทำรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ ทั้งกล้วยไม้ ทุเรียน ลำไย มังคุด กาแฟ และอีกหลายชนิดสินค้า ซึ่งการสร้างสินค้าเกษตรให้มีความเข้มแข็งนี้ จำเป็นที่จะต้องเดินไปพร้อม ๆ กันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน จะต้องสานพลังประชารัฐร่วมกัน และสามารถสร้างมูลค่าการผลิตภาคเกษตร GDP คิดเป็นมวลรวมภาคเกษตรได้ 1.35 ล้านล้านบาท
ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัด“งานเกษตรสร้างชาติ” ขึ้น ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน นี้ ณ สวนลุมพินี เป็นอีกงานที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาครวมทั้งการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับพี่น้องเกษตรกร โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนายกระดับสินค้าเกษตร และเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากตลาดท้องถิ่น ตลาดภูมิภาค สู่ตลาดต่างประเทศ และตลาดออนไลน์ให้คนในเมืองได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งเกษตรผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก มีการกระจายตัวของรายได้มากขึ้น ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคได้โดยตรง ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม และทำความเข้าใจว่าเกษตรสร้างชาติได้อย่างไร อีกทั้ง มาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคการเกษตร และมาร่วมแรง ร่วมใจสร้างไทยไปด้วยกันครับ
พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ในส่วนของความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่หลายมาตรการ ทั้งในเรื่องการสนับสนุนการอุปโภคบริโภคสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐผ่านการใช้บัตรฯ ซึ่งนอกเหนือไปจากการเพิ่มเครื่องรูดบัตรไปยังร้านค้าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการเพิ่มโอกาสให้ร้านค้าที่เป็นแผงค้าหรือรถเข็นเข้ามาสมัครในโครงการเพิ่มเติม โดยสามารถใช้แอปพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ ในการสแกนบัตรสวัสดิการ โดยไม่ต้องใช้เครื่องรูดบัตรด้วย ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีทางเลือกในการซื้อหาสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคได้มากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมให้กับผู้มีความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเองให้มีทักษะอาชีพ โดยในกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอีกเดือนละ 200 บาท ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมอีกเดือนละ 100 บาท ล่าสุดรัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนการเพิ่มวงเงินนี้ ให้เป็นการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรแทน ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของมาตรการ ซึ่งจะเป็นการทำให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้ แทนที่จะต้องไปหาร้านค้าที่เข้าโครงการ จะสามารถถอนเป็นเงินสดออกมาได้เลย โดยใช้บัตรสวัสดิการฯ กับตู้ ATM หรือสาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยให้ตรงกับความต้องการ หรือหากไม่เบิกถอน หรือมียอดคงเหลือ ก็สามารถเก็บสะสมไว้ในกระเป๋าเงินในบัตรนี้ต่อไปได้ด้วย ซึ่งเมื่อมาตรการนี้หมดอายุช่วงสิ้นปี ก็จะมีการประเมินผลอีกครั้งเพื่อพัฒนาการให้บริการกับพี่น้องประชาชนให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น อย่างไม่หยุดยั้งต่อไป
นอกจากจะมีการนำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ในการเพิ่มวงเงินสนับสนุนผู้ต้องการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ภาครัฐโดยกรมบัญชีกลาง ยังได้มีการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุ ที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการฯ นี้ด้วย โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ ดังนี้ หากเป็นผู้มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเดือนละ100 บาท หากมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปีก็จะได้รับเดือนละ 50 บาท เพิ่มลงไปในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์นี้ ซึ่งสามารถถอนเป็นเงินออกมาใช้ได้เช่นกันครับ
ทั้งนี้ สวัสดิการส่วนเพิ่มสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งในเรื่องการพัฒนาอาชีพและเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุนี้ เป็นส่วนที่ภาครัฐต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นในการจับจ่าย ซึ่งเราหวังว่าพี่น้องประชาชนจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่จำเป็น และช่วยแบ่งเบาภาระในค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ในส่วนมาตรการด้านอื่น ๆ ของบัตรสวัสดิการ ก็จะยังกำหนดให้เป็นสินค้าและบริการที่เฉพาะเจาะจง ที่จำเป็นกับการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนต่อไปครับ
พี่น้องประชาชนครับ
อีกโครงการหนึ่งที่เราได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะทยอยให้บริการได้ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการช่วยสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของประเทศในระยะยาว ก็คือการจัดให้มีบริการบัญชีเงินฝากพื้นฐาน ซึ่งจะหมายถึงบัญชีเงินฝากแบบใหม่ที่ธนาคารต่าง ๆ จะให้บริการแก่ประชาชน โดยการเปิดบัญชีไม่จำเป็นต้องมีเงินไปฝาก ไม่มีค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี อีกทั้งไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีในการมีบัตร ATM หรือบัตรเดบิต และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ จะไม่สูงกว่าการทำธุรกรรมแบบเดียวกันในบัญชีอื่น ๆ โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ในการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 11.4 ล้านราย และอีกกลุ่ม คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยต้องมีสัญชาติไทยมาตรการนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำกว่าเดิม ลดความเหลื่อมล้ำ จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยและผลการสำรวจภาคครัวเรือน พบว่ามีครัวเรือนประมาณร้อยละ 30 ที่ยังไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝาก หรือไม่ได้ใช้บริการเงินฝาก ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 20 ในปี 2556 โดยพบว่าอุปสรรคส่วนใหญ่มาจากการที่ต้องมีเงินไปเปิดบัญชี การต้องมีเงินไว้ในบัญชีเพื่อรักษาบัญชี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่สูงเกินไป กล่าวได้ว่าข้อจำกัดนี้ สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม ช่วงที่ผ่าน ๆ มา ที่รัฐบาลนี้มองเห็น และพยายามแก้ไขในทุก ๆ มิติที่สร้างจะทำได้ ซึ่งการมีบัญชีเงินฝากพื้นฐานนี้ จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้บริการด้านการเงิน ทั้งในเรื่องโอนเงิน และชำระเงินโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การโอนเงิน การชำระเงิน เพื่อทำการค้าขายหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ จะผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น และต่อไป ก็อาจต่อยอดการใช้บัญชีนี้ไปสู่การทำมาค้าขายในชีวิตประจำวัน รวมถึงการประกอบอาชีพ เช่น เรื่องการค้าขายออนไลน์ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตในที่สุด อีกทั้งจะเป็นเหมือนประตูบานแรกของการเข้าสู่บริการทางการเงิน ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางการเงินมากขึ้น มีช่องทางในการออมเงินมากขึ้น นอกจากนี้ ในการโอนเงินสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนในระยะต่อไป ก็สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ไปยังบัญชีธนาคารของแต่ละคนโดยตรงได้อีกด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ ก็จะเป็นการช่วยให้การบริการประชาชนของภาครัฐมีประสิทธิภาพขึ้น ที่สำคัญอีกประการคือ จะช่วยลดช่องทางการทุจริตไปได้พร้อมกันอีกด้วย
ผมต้องขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 14 แห่ง ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมในโครงการนี้ เพื่อช่วยกันคนละไม้ละมือ และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งธนาคารที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากที่ผมกล่าวไปในตอนต้นได้ด้วย พี่น้องประชาชนที่สนใจก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ และหากท่านผ่านเงื่อนไข เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการภาครัฐ หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีสัญชาติไทย ก็สามารถไปเปิดบัญชีที่ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ ผมขอฝากไว้ว่าการใช้งานบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐานนี้ ก็ต้องดูแลให้ตรงกับวัตถุประสงค์ด้วย หากท่านมีเงินหมุนเวียนหรือยอดคงค้างในบัญชีเกิน 50,000 บาทต่อเดือน หรือไม่มีการฝากเข้า ถอนออก หรือโอนระหว่างบัญชี ภายใน 24 เดือน ธนาคารก็อาจขอปรับบัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐานของท่าน กลับไปให้เป็นบัญชีเงินฝากปกติที่จะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมเหมือนทั่วไปด้วย
สุดท้ายนี้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่รัฐบาลและ คสช. ทำมา ก็ล้วนแต่มีผลกับการเพิ่มรายได้ กระจายรายได้ เสริมสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในระยะยาวอย่างยั่งยืน ให้กับเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังเพียงผลในระยะสั้น หรือเลือกทำในสิ่งที่ง่าย ๆ เห็นผลไวแต่เพียงอย่างเดียว เราต้องทำไปด้วยกัน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ช่วยกันในรูปแบบประชารัฐ ตามนโยบายรัฐบาลนี้ ผมขอฝากบันไดสู่ความสำเร็จ 3 ขั้น คือ คิด พูด ทำ ซึ่งวันนี้ ผม รัฐบาล และ คสช. เราเริ่มแล้ว ทั้ง “คิดริเริ่ม” เพื่อหาแนวทางปฏิรูปที่ยั่งยืน “พูดอย่างสร้างสรรค์” เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมมือ และ “ทำเป็นตัวอย่าง” เพื่อให้เห็นผลสัมฤทธิ์ แล้วท่านเริ่มหรือยัง ขอให้ร่วมแรง ร่วมใจ สร้างไทยไปด้วยกันครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ และทุกครอบครัวมีความสุขนะครับ สวัสดีครับ


ชมรายการย้อนหลังผ่านยูทูป ช่องวีดีโอ chorsaard

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้