มุมมองคนทำสื่อ "OTT vs DTT วิกฤต หรือโอกาส"

Last updated: 12 พ.ย. 2562  |  2966 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มุมมองคนทำสื่อ "OTT vs DTT วิกฤต หรือโอกาส"

มุมมองคนทำสื่อ "OTT vs DTT วิกฤต หรือโอกาส" เผยข้อมูลโลกออนไลน์ครอบครองตลาดสื่อจริงหรือ…

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการเสวนา “OTT vs DTT วิกฤต หรือโอกาส” ของ หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9

คุณเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงทิศทางของการบริการผ่านอินเทอรเน็ตแบบเปิด หรือที่เรียกว่า OTT ( Over-the-top) ว่า OTT แม้จะเรื่องใหม่ แต่จริงๆยังเรื่องเดิม เพียงแต่รูปแบ ก่อนหน้านั้นเราจะพูดถึงเทคโนโลยีกับการเข้าถึง หากลูกค้าอยากเข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมาย แต่ไม่สามารถเข้าได้ทุกแพลตฟอร์ม สมัยก่อนต้องเข้าหาเอเจนซี่ ซึ่งก่อนมีการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ในช่วงปี 2547-2557 ยุคนั้นสื่อโตกันหมด เม็ดเงินเหล่านี้มาจากการโฆษณา สมาคม มีเดียเอเจนซี่ แต่เมื่อมีใบอนุญาตทีวีดิจิทัลในปี 2557 เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไป

“ปีที่แล้วผมไปเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ได้ฟังที่ทางเฟซบุ๊กบอกว่าจะเปิดเฟซบุ๊ก วอทช์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมเนื้อหาประเภทวิดีโอบนเฟซบุ๊ก ซึ่งก่อนหน้านี้ในในยุคปี 2559-2561 มีแต่ยูทูป พวกยูทูปเปอร์โตมาก แต่เฟซบุ๊ก วอทช์ ใครที่เป็นสมาชิกเฟซบุ๊กก็จะเห็นเฟซบุ๊ก วอทช์ เด้งขึ้นมาทันที แม้แต่ต่อไปนี้ใครทำคัฟเวอร์เพลง ใครก็ทำได้หมด ไม่ต้องกลัว เพราะเฟซบุ๊กไปประสานกับค่ายเพลงหมด และยังมีเสริมว่า ใครโพสต์เฟซบุ๊ก วอทช์ มากๆ จะมีแคชแบ็คกลับมาเป็นเงินอีก นี่คือโลกใหม่ของ OTT” คุณเขมทัตต์ กล่าว

คุณเขมทัตต์ กล่าวอีกว่า หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมเฟซบุ๊กวอทช์ ถึงเกิดเร็ว เพราะเทคโนโลยีถึง อย่างเด็กๆ หรือใครก็ทำได้ กลายเป็นลิขสิทธิ์ของตัวเอง สร้างคอนเท็นท์ของตัวเองได้ และคนที่ทำคอนเท็นท์มาจากหลากหลายมาก แต่คนทำคอนเท็นท์ จาก DTT ( Digital Terrestrial Television) หรือทีวีภาคพื้นดิน ยังมีวิธีทำคอนเท็นท์เดิมๆ ทีวียังติดล็อกในระบบเรตติ้ง แต่ OTT เป็นเพียว User การมีส่วนร่วมหรือ ENGAGEMENT จะตอบกลับทันที แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ ระบบจัดเรตติ้งของทีวียังไม่เสถียร เรตติ้งอาจไม่ดีมาก แต่ยอดวิวคนดูกลับเยอะ รวมถึงการรับชมกับเครื่องรับตอนนี้ไม่สัมพันธ์กัน ตัวดิจิทัลเครือข่ายคลุมแค่ 99 เปอร์เซ็นต์ แต่คนต่างจังหวัด ยังดูจากเคเบิ้ลท้องถิ่น จากที่สำรวจก็พบว่า ไม่จำเป็นต้องดูภาพขนาด HD แค่ดูได้ แต่เยอะๆก็จบ ดังนั้น ในเรื่องวิธีการใช้ กฎหมายต่างๆ ก็ต้องพิจารณาตามไป

“เครื่องรับทีวีในบ้านเรา 40 เปอรเซ็นต์ยังเป็นตู้ปลา ระบบ DTT ยังไงก็ไม่เห็นเพราะต้องผ่านกล่องดาวเทียมดิจิทัล ซึ่งจริงๆระบบการส่งปัจจุบันภาพเป็น 4K หมด แต่เครื่องรับยังไม่ได้ อย่าง ก.ค. 2563 กีฬาโอลิมปิก จะใช้ภาพ 8K เทคโนโลยีไปกันหมดแล้ว แต่เรายังติดล็อก เราต้องเปลี่ยนเครื่องรับ คำถามคือ ใครเป็นคนเปลี่ยน” คุณเขมทัตต์ กล่าว

คุณเขมทัตต์ กล่าวถึงยุคประมูลทีวีดิจิทัล ว่า หลังจากประมูลทีวีดิจิทัล ไม่ใช่จบแค่การประมูลหรือทำคอนเท็นท์เองเท่านั้น แต่ยังต้องทำโครงสร้าง infrastructure ซึ่งมีอยู่ 5 อย่างคือ เรื่องของผู้กำกับดูแล หรือ Regulator เรื่องกฎหมาย เรื่องเทคโนโลยี เรื่องไฟแนนซ์ และเรื่องของวิชั่น และคอนเท็นท์ ดังนั้น คนที่บริหารสถานีหากไม่มี 5 อย่างนี้คุณไปต่อไม่ได้ เพราะคุณต้องควักเงินเยอะมาก ซึ่งต้นทุนค่าผลิตเยอะขึ้นมาก การผลิตคอนเท็นท์ก็ไม่สอดคล้องกัน อย่างต่างประเทศจะร่วมมือกันหมด ของไทยจะทำเองหมด เรียกว่า infrastructure ของไทยจึงปัญหา

“ที่ผ่านมาคนจึงไปมุ่งที่อินเทอร์เน็ต การโฆษณาจึงมุ่งไปที่สังคมออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ต้องถามว่า ผลกลับมาดีจริงหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วแพลตฟอร์มทีวี หนังสือพิมพ์ ยังถือว่าน่าเชื่อถืออยู่ แต่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ก็นิยมเรื่องโซเชียลมีเดีย อย่าง OTT ข้อดีคือไม่ต้องมีเสาอากาศ ไม่ต้องมี infrastructure ถ้าจะมีเราก็จะเป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ต คลื่นความถี่ นี่คือสาเหตุที่ยอมปิดช่องทีวีดิจิทัล 7 ช่อง และมาใช้เครือข่าย OTT แทน แต่การทำ OTT จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ และอินเทอร์เน็ตพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ตรงนี้ต้องใช้เงินอยู่ และคนเมืองน่าจะได้ แต่คนชนบทยังไม่ได้ต้องการถึงขนาดนั้น” คุณเขมทัตต์ กล่าว

คุณเขมทัตต์ มองการทำคอนเท็นท์ที่อยู่บน OTT ว่า กลุ่มเป้าหมายของการใช้ DTT จะชัดว่า ขาดคนรุ่นใหม่จะหายไปเลยในทุกช่อง เพราะคนกลุ่มนี้ไปอยู่ใน OTT เพราะดูย้อนหลัง ดูเมื่อไหร่ก็ได้ บางคนอยากดูล่วงหน้าด้วย แต่การดูOTT มีหลายแบบ อย่างยูทูปไม่กี่นาที ซึ่งคนทำมาเกตติ้งก็จะเอาสินค้ามาลงได้ แต่หากเป็นเน็ตฟิกซ์ ต้องแรง ซึ่งตัวแปรแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน อย่างปีหน้า ดิสนีย์จะมาใช้ช่องทาง OTT ตรงนี้เราต้องปรับแล้วว่า จะทำอย่างไร อย่างข่าว จะลึกหรือไม่ หรือซีรีย์ดราม่า จะทำอย่างไรให้คนติดตามตลอด จะทำอย่างไรให้เขาดูซ้ำได้ เพราะหากดูซ้ำๆ ก็จะมีรายได้เข้ามา

คุณเขมทัตต์ กล่าวถึงระบบตรวจวัดเรตติ้ง ว่า ระบบเรตติ้ง ปัจจุบัน เราดู AIS Play PSI และ Nielsen โดยกลุ่มเหล่านี้จะแปรสภาพมา OTT ด้วย แต่ก็ต้องถามว่าระบบเทคโนโลยีเสถียรหรือไม่ และวิธีการเก็บเงินจะเป็นอย่างไร การหาลูกค้าจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ปัจจขุบัน กสทช.มีงบประมาณ 430 ล้านให้การพัฒนาเรตติ้ง แต่ต้องมีองค์กรกลางไปขอรับทำ โดยองค์กรกลางที่มีสมาชิกทีวีดิจิทัล ก็จะมีสมาคมทีวีดิจิทัลแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ทีวีดิจิทัลไทย สิ่งสำคัญคือ ต้องรีบเสนอตามกรอบเวลา หากไม่เสนองบประมาณก็คืนคลัง และกลับสู่ระบบเลตติ้งแบบเดิม ส่วนระบบ OTT ยังไม่ถูกบังคับใดๆ ซึ่งจริงๆกสทช.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมากำกับเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ต้องมาดูว่า จะออกแนวทางในการกำกับอย่างไร เพราะถ้ากำกับมากก็ไม่น่าสนใจอีก อย่างไรก็ตาม การวัดเรตติ้งให้ได้ ต้องวัดได้ทั้งระบบ DTT และ OTT

คุณพรชัย พูนล้ำเลิศ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี เอชดี 36 กล่าวว่า ในปี 2557 เป็นปีที่ประชาชนเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านระบบ 3 จี และ 4 จี มากขึ้น ซึ่งสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี 36 เพิ่งเริ่มก่อตั้ง หากเปรียบเทียบกับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ มีความพร้อมมากกว่า ทั้งด้านสตูดิโอ ความแข็งแรงในด้านคอนเทนท์ หรือแม้กระทั่งศิลปินดาราในสังกัด ในขณะที่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี 36 ภายใต้การบริหารของคุณเขมทัตต์ พลเดช ต้องเริ่มนับ 1 ในการสร้างสถานีฯ ทั้งการสร้างสตูดิโอ การจัดหาและผลิตคอนเทนท์เพื่อออกอากาศ และเพื่อเตรียมลงแข่งขันในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล

“ผมและคุณเขมทัตต์ มีมุมมองว่า เราควรจะสร้างทีมออนไลน์ เพื่อใช้เป็นช่องทางสำคัญในการช่วยประชาสัมพันธ์คอนเทนท์ต่างๆ ของสถานีฯ ให้เป็นที่รู้จัก จึงได้เริ่มวางแผนในการสร้างทีมออนไลน์ ไปพร้อมกับสถานีฯ ซึ่งปัจจุบัน เฟซบุ๊กเพจ พีพีทีวีเอชดี 36 มีแฟนเพจ 2.59 ล้านคน ซึ่งมีฐานคนดูที่ชัดเจนในกลุ่มกีฬา ที่เป็นคอฟุตบอลต่างประเทศ และกลุ่มข่าวที่มุ่งเน้นการนำเสนอในรูปแบบเข้าใจง่าย ไว้ใจได้” คุณพรชัย กล่าว

ส่วนในด้านมุมมองโปรดักชั่นระหว่าง DTT และ OTT คุณพรชัย กล่าวว่า การผลิตคอนเทนท์เพื่อออกอากาศบนโทรทัศน์ มีกระบวนการขั้นตอนการผลิตที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ มีกรอบในการนำเสนอเนื้อหา เช่น ภาพความรุนแรงที่ขัดต่อจริยธรรมด้านสื่อสารมวลชน ต้องผ่านระบบเซ็นเซอร์ก่อนออกอากาศ แต่ OTT กลับไม่มีกรอบเหล่านี้เข้ามาควบคุม ทำให้สื่อออนไลน์หลายที่ต้องจัดระบบในการกลั่นกรองก่อนนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์

คุณพรชัย กล่าวถึงทิศทางการวัดเรตติ้งโทรทัศน์ ว่า กฎ หรือหลักเกณฑ์ บางหลักเกณฑ์ ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ในประเทศไทย นับว่าอาจจะก้าวไม่ทันเท่ากับต่างประเทศ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องแบกภาระต้นทุนในการผลิตคอนเทนท์และคอนเทนท์ลิขสิทธิ์ต่างประเทศ ประกอบกับระบบการวัดเรตติ้งยังคงยึดหลักเกณฑ์อยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์เป็นหลัก ทำให้ส่งผลถึงตัวเลขรายได้ที่จะกลับเข้ามายังสถานีฯ การขับเคลื่อนในการพัฒนาคอนเทนท์ให้ดี และมีจำนวนมากขึ้นก็ขับเคลื่อนไปได้ยาก ตามที่คุณเขมทัตต์กล่าวในข้างต้น จึงอยากให้ผู้ที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาลองทบทวนพิจารณาปรับกฎและหลักเกณฑ์บางอย่างใหม่ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในอุตสาหกรรมฯ นี้

“โดยความคิดเห็นส่วนตัว ผมมีมุมมองว่าหากมีการปรับแก้กฎและหลักเกณฑ์บางอย่างให้ทันสมัยมากขึ้น ทุกสถานีโทรทัศน์ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล” คุณพรชัย กล่าว

คุณวีรินทร์ อรวัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการสถานี บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด GMM ช่อง25 กล่าวถึงการวัดเรตติ้ง ว่า การจะมีการวัดเรตติ้งขึ้นใหม่ ก็ต้องมาดูว่าจะเป็นอย่างไร จริงๆ การยอมรับก็ขึ้นอยู่กับสมาคมเอเจนซี่เองในการยอมรับด้วย ส่วนการกำกับดูแล ขอยกตัวอย่าง ละครที่อาจไม่มีเรตติ้งมาก แต่ทำไมถึงมีคนดูใน OTT เป็นพันๆล้านวิว ก็ต้องมาดูว่า ในการผลิตคอนเท็นท์ 1 ชิ้น ได้ดูร้อยคน กับได้ดูล้านคน อย่างช่องจีเอ็มเอ็ม ยุทธการปราบนางมาร เรตติ้งไม่มาก แต่ออนไลน์สูง เพราะเราทำเป็นภาษาอินเดีย คนอินเดียดูสูงมาก ช่วงหลังจึงเน้นการทำ OTT มากขึ้น

“การจะทำคอนเท็นท์ เราต้องดูด้วยว่าไลฟ์สไตล์เขาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าประมูลทีวีดิจิทัลแล้ว จะทำแต่ทีวีดิจิทัลเท่านั้น เราต้องทำระบบ OTT ด้วย เราต้องมองให้กว้าง” คุณวีรินทร์ กล่าว

 

ต้นฉบับ : https://www.pptvhd36.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้