อสมท กำลังกลายเป็นบริษัทวิทยุ รายได้ใกล้แซงทีวีแล้ว

Last updated: 15 ส.ค. 2563  |  1814 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อสมท กำลังกลายเป็นบริษัทวิทยุ รายได้ใกล้แซงทีวีแล้ว

อสมท เผยผลประกอบการประจำปี 2561 รายได้ยังลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ห้าติดต่อกัน (นับจากปี 2556 เป็นต้นมา) แต่ตัวเลขขาดทุนลดลงจากปี 2560 เนื่องจากลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก และปี 2561 ไม่มีการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์เหมือนอย่างในปี 2560

รายได้รวมยังลดลง แต่ลดด้วยอัตราที่ช้าลง

ภาพรวมของ อสมท ในปี 2561 แนวโน้มของรายได้ยังลดลง แต่ลดลงด้วยอัตราที่ช้าลงจากปีก่อนๆ จึงเป็นสัญญาณว่ารายได้ของ อสมท อาจใกล้ถึง “จุดต่ำสุด” ในรอบขาลงของอุตสาหกรรมสื่อเก่าแล้ว

จากตารางสรุปรายได้ อสมท ด้านล่าง จะเห็นว่ารายได้รวมของ อสมท มีจุดสูงสุดที่ปี 2556 ที่ 5,984 ล้านบาทต่อปี ก่อนจะตกลงอย่างหนักประมาณปีละ 1 พันล้านบาทในระหว่างปี 2556-2559 โดยลงมาแตะที่ระดับต่ำกว่า 3 พันล้านบาทในปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ อสมท ประสบปัญหา “ขาดทุน” และยังขาดทุนต่อเนื่องทุกปี

มาถึงตอนนี้ รายได้ของ อสมท ยังรักษาระดับเกิน 2 พันล้านบาทต่อปีได้อยู่ โดยปีล่าสุด (2561) คือ 2,562 ล้านบาท ถ้าพิจารณาจากรายได้ของ อสมท ในช่วงปี 2559-2561 รายได้ลดลงปีละหลักร้อยล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าการลดฮวบในช่วงปี 2556-2559 เป็นอย่างมาก และน่าจะเป็นแนวโน้มว่าในอนาคตอันใกล้นี้ (2-3 ปีข้างหน้า) รายได้ของ อสมท น่าจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ ในอัตรานี้คือประมาณ 100-200 ล้านบาทต่อปี ตามสภาพอุตสาหกรรมสื่อขาลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อหักลบกับค่าใช้จ่ายแล้ว อสมท ยังขาดทุนต่อเนื่อง หากดูตัวเลขขาดทุนหนักในปี 2560 ที่ขาดทุนมากถึง 2,543 ล้านบาท เป็นปัจจัยมาจากค่าใช้จ่ายพิเศษในปี 2560 ที่เป็นการบันทึกการด้อยค่าใบอนุญาตดิจิทัลและอุปกรณ์โครงข่ายมูลค่า 2,087 ล้านบาทด้วย หากตัดตัวเลขตรงนี้ออกไปแล้ว จะทำให้ อสมท มีตัวเลขขาดทุนปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท

ดังนั้นในแง่ตัวเลขขาดทุนของปี 2561 ที่ลดการขาดทุนลงมาได้เหลือ 378 บาทก็ถือว่าพัฒนาขึ้นจากปี 2560 แต่ก็ยังอยู่ในโซนตัวแดงอยู่ดี

ธุรกิจทีวี รายได้พึ่งพาโครงการรัฐถึง 39%

ในเอกสารคำอธิบายและวิเคราะห์งบการเงินของฝ่ายจัดการ ระบุว่าช่วงปลายปี 2561 อสมท มีรายได้จากทีวี (ช่อง 9 MCOT และ MCOT Family) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้มาจากโครงการภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจมากถึง 39% ของรายได้ทั้งหมด และเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นสูงเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 เท่านั้นด้วย ตรงนี้จึงมีความเสี่ยงว่ารายได้จากทีวีของ อสมท ในช่วงนี้อาจดูดีเกินสภาพความเป็นจริง เพราะเป็นการอัดฉีดเงินโฆษณาของภาครัฐเข้ามาในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 ก็เป็นได้

อสมท ระบุว่าจะเดินหน้าปรับผังรายการใหม่ในเดือนมีนาคม 2561 โดยนำสารคดีต่างประเทศจาก BBC First และ Discovery Science มาฉายเพิ่มเติม รวมถึงพยายามหารายได้พิเศษอื่นๆ เช่น รายการบันเทิง Nine Entertain ออกไปรับผลิตรายการ One Entertain ให้กับช่อง One31 หรือการเพิ่มรายการโฮมช็อปปิ้งในช่อง MCOT Family เพื่อหารายได้

แต่ในมุมมองของ Brand Inside คิดว่าไม่น่าจะมีผลกับรายได้ฝั่งทีวีมากนัก เพราะอุตสาหกรรมทีวีโดยรวมเป็นช่วงขาลงที่พลิกฟื้นได้ยาก

ธุรกิจวิทยุ กำลังจะกลายเป็นธุรกิจหลักของ อสมท

หากดูตัวเลขรายได้ของธุรกิจวิทยุ จะเห็นว่าลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2556 ที่ทำได้ 957 ล้านบาท ลงมาเหลือ 741 ล้านบาทในปี 2561 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับธุรกิจทีวี และหากยังแนวโน้มธุรกิจทั้งสองยังเป็นไปในลักษณะนี้ จะกลายเป็นว่าธุรกิจวิทยุจะมีรายได้แซงธุรกิจทีวีในปี 2562 ก็เป็นได้ เพราะปัจจุบัน ธุรกิจทีวีมีรายได้ต่อปี 771 ล้านบาท เยอะกว่าธุรกิจวิทยุเพียงแค่ 30 ล้านบาทเท่านั้น (คิดเป็นสัดส่วนรายได้ ทีวี 30% และวิทยุ 29% ถือว่าใกล้เคียงกันมาก)

ปัจจุบัน อสมท มีคลื่นวิทยุในมือ 6 คลื่นที่เป็นส่วนกลางคือ ลูกทุ่งมหานคร FM 95MHz, MET 107MHz, FM 100.5MHz, คลื่นความคิด FM 96.5MHz, Active Radio FM 99MHz, Mellow 97.5 MHz โดยมีสัดส่วนรายได้ 73.7% มาจากวิทยุส่วนกลาง, 25.8% จากส่วนภูมิภาค ซึ่งมีรายได้ลดลง และ 0.4% จากรายได้ภาครัฐและการจัดกิจกรรม

รายได้ส่วนอื่นก็ลดลง เตรียมเลิกดาวเทียม-หมดสัญญาช่อง 3

รายได้ส่วนอื่นๆ ของ อสมท ได้แก่ รายได้จากสื่อใหม่ ซึ่งรวมรายได้จากการให้เช่าช่องรายการบนดาวเทียม และรายได้จากสื่อออนไลน์ ถึงแม้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2560 แต่ในปี 2562 รายได้จากส่วนนี้จะลดลงเพราะบริษัทยุติบริการช่องสัญญาณดาวเทียม C-band บางส่วน จะเหลือเฉพาะรายได้จากสื่อออนไลน์เท่านั้น

อสมท ยังมี ธุรกิจร่วมดำเนินกิจการ ซึ่งก็คือรายได้จากสัญญาสัมปทานช่อง 3 ในระบบแอนะล็อกเดิม ที่ปัจจุบันยังมีรายได้ปีละประมาณ 400 ล้านบาท แต่ตัวเลขส่วนนี้ก็จะหายไปอีกเมื่อสัญญาสิ้นสุดในปี 2563

ส่วน รายได้จากการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 427 ล้านบาท แต่ตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นมาจากเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายของ กสทช. ตามกฎ Must Carry ด้วย

เร่งหารายได้ใหม่จากที่ดิน

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ระบุว่าจะเร่งรัดการหามูลค่าจากที่ดินที่ถือครองอยู่ 50 ไร่ และที่ดินสำนักงานของ อสมท อีก 20 ไร่ในย่านรัชดา-พระราม 9 ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพ และอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าสีส้ม-สีน้ำเงิน โดยตอนนี้ได้เริ่มหารือกับนักลงทุน และเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่ดินผืนนี้บ้างแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ที่มา : บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้