อย่ามองข้าม! สื่อวิทยุสร้างความสำเร็จได้ แม้ในช่วงวิกฤต

Last updated: 15 ก.พ. 2564  |  4776 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อย่ามองข้าม! สื่อวิทยุสร้างความสำเร็จได้ แม้ในช่วงวิกฤต

โควิด19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสื่อหลัก ยกเว้น สื่อวิทยุ เพราะอะไร ?

จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินโฆษณาที่แบรนด์ต่าง ๆ ใช้กับสื่อ โดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อนอกบ้าน (Out-of-Home) อย่างไรก็ตามมีสื่อบางประเภทที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในแง่ของจำนวนผู้ฟัง หนึ่งในสื่อนั้นคือ สื่อวิทยุ (Radio) ทั้งนี้ตัวเลขจากบริษัทวิจัย เนลสัน มีเดีย รีเสิร์ช ประเทศไทย (Nielsen Media Research Thailand) แสดงจำนวนผู้ฟังรายการวิทยุที่เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าวิกฤต COVID-19 อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจำนวนผู้ฟังรายการวิทยุมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากถึง 21% ในเดือนเมษายน ปี 2020 และยังคงเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม โดยที่ผู้ฟังใช้เวลาในการฟังวิทยุต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ชั่วโมง จากเดิมผู้ฟังวิทยุใช้เวลาในการฟังประมาณ 14.43 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในช่วง COVID-19 ระยะเวลาการฟังวิทยุเพิ่มขึ้นประมาณ 15.02 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

จากข้อมูลดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่าช่วง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นั้น ผู้บริโภครับฟังวิทยุเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของจำนวนคนฟังที่เพิ่มขึ้น และระยะเวลาในการฟังที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้จากรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับฟังรายการวิทยุผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นหลัก และหากจัดอันดับการเลือกฟังเนื้อหารายการวิทยุโดยละเอียดพบว่า ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ผู้ฟังวิทยุเลือกฟังรายการเพลงไทยสากลเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือรายการเพลงลูกทุ่ง ตามมาด้วยโปรแกรมข่าวต่าง ๆ และรายการเพลงสากลเป็นอันดับสุดท้าย อย่างไรก็ตามรายการเพลงไทยสากลมีอัตราการเติบโตในแง่ของจำนวนผู้ฟังสูงสุดถึง 20% อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ รายการเพลงประเภทต่าง ๆ มีผู้ฟังเพศหญิงเป็นหลัก ขณะที่ผู้ฟังเพศชายส่วนใหญ่เลือกฟังรายการข่าว

ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ฟังวิทยุเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 แต่เม็ดเงินที่ใช้ไปกับการโฆษณาของสื่อวิทยุไม่ได้เพิ่มไปด้วย เนื่องจากนักการตลาดส่วนใหญ่มองว่าสื่อวิทยุเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในจำนวนจำกัด และผู้ฟังวิทยุส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม จึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งทางทีมแม็กนา ประเทศไทย (Magna Thailand) แนะนำว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าสนใจของการใช้สื่อวิทยุ ผู้บริการสื่อวิทยุของสถานีต่าง ๆ จะต้องพัฒนาแพลตฟอร์มและเพิ่มช่องทางในการรับฟังที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งออฟไลน์ด้วยการเลือกเครือข่ายสัญญาณที่มีคุณภาพ เสียงคมชัด และออนไลน์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น บนเว็บไซต์ของรายการวิทยุ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งสามารถจัดรายการแบบไลฟ์สด และสามารถรับฟังย้อนหลังได้ นอกจากนี้ควรจัดกิจกรรมที่ทำให้ผู้ฟังวิทยุมีส่วนร่วมกับสถานีมากขึ้น เพื่อเป็นการรักษาฐานผู้ฟังเดิม  และสร้างฐานผู้ฟังหน้าใหม่ โดยเฉพาะผู้ฟังรายการหน้าใหม่ที่เริ่มติดตามฟังรายการวิทยุจากช่วงการระบาดใหญ่ COVID-19  เพราะกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟังและคลื่นวิทยุนั้น จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วมกับรายการวิทยุ รู้สึกใกล้ชิดกับทีมงาน เป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามกิจกรรมสานสัมพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของสถานีวิทยุ แบรนด์สินค้าหรือผู้สนับสนุนรายการ และนักวางแผนการตลาด ยกตัวอย่างกิจกรรม เช่น การให้ผู้ฟังทางบ้านโทรศัพท์เข้ามาร่วมพูดคุยในรายการ มีการเล่นเกมชิงโชค และการจัดทริปไปเที่ยว ทริปการแข่งขันแรลลี่ (Rally) โดยมีผู้เข้าร่วมคือแฟนรายการและทีมงานของสถานี เป็นต้น

ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างสถานีวิทยุ Cool Fahrenheit 93 FM ซึ่งเป็นหนึ่งในคลื่นเพลงไทยสากลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยทางสถานีได้นำแคมเปญ Coolanything ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ฟังเพลงได้ ช้อปเพลิน ในแอปพลิเคชั่นเดียว” กลับมาอีกครั้ง เป็นการสร้างกลยุทธ์ให้กับสถานีและแบรนด์ผู้สนับสนุนรายการ สามารถดึงดูดผู้ฟังในช่วงการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ทางการตลาดให้กับแบรนด์ที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนของรายการ ซึ่งทางสถานีได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ผ่านช่องทางโทรศัพท์และผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของสถานีตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา และมีการประชาสัมพันธ์สินค้าในรายการโดยนักจัดรายการวิทยุของรายการเอง (DJ) และนักประชาสัมพันธ์ (PR) มีการออกอากาศสปอตโฆษณา (Spot Advertising) ร่วมด้วย ผลลัพธ์ที่ได้คือ ยอดขายสินค้า โดยเฉพาะยอดขายทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าของยอดขายปกติ จากตัวอย่างดังกล่าวเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า สื่อวิทยุยังคงเป็นหนึ่งในสื่อที่สามารถช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับแคมเปญโฆษณาได้ ถ้าเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมและถูกจังหวะ ทาง Magna Thailand อยากให้เจ้าของธุรกิจเห็นถึงโอกาสในการขายสินค้า รวมทั้งโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางสื่อวิทยุ เพราะเราเชื่อว่า “สื่อวิทยุยังไม่ตาย และสามารถช่วยทำให้การตลาดสำเร็จได้ แม้ในช่วงวิกฤตก็ตาม”

เกี่ยวกับ แม็กนา

แม็กนา เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งภายใต้ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส (IPG Mediabrands) สำหรับแม็กนา ประเทศไทย นำทีมโดยคุณกนกวรรณ คุณาเรืองโรจน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายซื้อสื่อโฆษณา และทีมงานที่มาพร้อมประสบการณ์ในแวดวงมีเดีย เอเจนซี่กว่า 16 ปี โดยทำให้กับทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลกในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การเงินและการธนาคาร รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)  ด้วยความเชี่ยวชาญในการใช้กลยุทธ์การเลือกสื่อ แม็กนา ประเทศไทย ได้ร่วมสร้างความสำเร็จ ให้หลากหลายแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคด้วยสื่อต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส

ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส (IPG Mediabrands) คือองค์กรระดับโลกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (NYSE: IPG) เราบริหารและดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน

ขอบคุณข้อมูลภาพข่าว https://ipg-connect.com/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้