ศาลฎีการับคำร้อง ป.ป.ช. กรณี "ปารีณา ไกรคุปต์" ส.ส.ราชบุรี ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงพร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

Last updated: 25 มี.ค. 2564  |  4675 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศาลฎีการับคำร้อง ป.ป.ช. กรณี "ปารีณา ไกรคุปต์" ส.ส.ราชบุรี ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงพร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

ศาลฎีการับคำร้อง ป.ป.ช. กรณี "ปารีณา ไกรคุปต์" ส.ส.ราชบุรี ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง คดีครอบครองและใชประโยชน์ที่ดินของรัฐประกอบกิจการฟาร์มไก่ พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที 

วันที่ 25 มีนาคม ที่ศาลฎีกา สนามหลวง ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยเห็นว่า ป.ป.ช. บรรยายพฤติการณ์ชัดเจนดำเนินการครบถ้วนเกี่ยวกับระเบียบการดำเนินคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้รับคำร้อง ที่ผู้ถูกร้อง ค้านว่าขอให้ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ศาลเห็นว่าเมื่อพิเคราะห์คำร้องยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้ผู้ถูกร้องปฎิบัติหน้าที่ต่อเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องเเล้ว ยกคำร้องจึงมีคำสั่งให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่เเละเเจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมนัดไต่สวนพยานผู้ร้องอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน 2564 เวลา 9.30 น.

ทั้งนี้ จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักคดี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา วินิจฉัยกรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ (ผู้คัดค้าน) ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมฯ อย่างร้ายแรงหรือไม่ ภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีถูกดำเนินคดีฟาร์มไก่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี ตามที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (บก.ปทส.) แจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ในท้ายคำร้องของ ป.ป.ช. ได้ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่า 1.ให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีกา ประทับรับฟ้องจนกว่าจะมีคำพิพากษา 2.ให้ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี

ขณะที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ได้ส่งคำคัดค้านขอความเมตตาจากศาลฎีกา ขอให้มีคำสั่งไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดว่า น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็น ส.ส. กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป

มาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 11 ระบุว่า ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม, ข้อ 17 ระบุว่า ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง, ข้อ 27 ระบุว่า การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 87 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย โดยในวรรคสาม ระบุว่า ให้นำความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยอนุโลม

มาตรา 81 ระบุว่า กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับฟ้องตามมาตรา 77 ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาฯมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยวรรคสองระบุใจความสำคัญว่า หากถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองอีกตลอดไป

มาตรา 86 ระบุว่า กรณีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และยังมิได้พ้นจากตำแหน่งไปก่อน ให้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/parina.pacharat.9

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้