เลือกตั้งเทศบาล 64 ผู้สมัครกว่า 7 หมื่นคนเพื่อชิง 3.3 หมื่นตำแหน่งทั่วประเทศ

Last updated: 28 มี.ค. 2564  |  2785 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เลือกตั้งเทศบาล 64 ผู้สมัครกว่า 7 หมื่นคนเพื่อชิง 3.3 หมื่นตำแหน่งทั่วประเทศ

การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี จำนวน 2,472 แห่ง กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งประเทศ 73,390 คน เพื่อชิงชัยเก้าอี้ 33,666 ตำแหน่ง ซึ่งหลายทีมได้ดูดดึง "คนรุ่นใหม่" เข้าไปเสริมทัพเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสทางการเมืองยุคปัจจุบัน

แต่ถึงกระนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่กล้าฟันธงทิศทางการตัดสินใจของประชาชนในศึกเลือกตั้งเทศบาลในรอบ 7 ปี เนื่องจากเทศบาลมีความใกล้ชิด-ใกล้ตัวกับประชาชนมาก บีบีซีไทยได้รวบรวมข้อมูลน่าสนใจ และประมวลความคิดเห็นจากนักวิชาการที่ศึกษาการเมืองท้องถิ่นมาฉายภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน 76 จังหวัดก่อนเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง

ข้อมูลพื้นฐานว่าด้วยเทศบาล : เทศบาลเป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุด และมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจสำคัญคือการจัดบริการสาธารณะให้แก่คนในท้องที่ ตั้งแต่เก็บขยะ, รดน้ำต้นไม้, จัดหาน้ำประปา, ไฟฟ้าส่องถนน, โรงฆ่าสัตว์, โรงรับจำนำ, โรงพยาบาล, โรงเรียน, ตลาด, ลานกีฬา, สวนสาธารณะ ฯลฯ โดยแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็น 3 ระดับ ตามจำนวนประชากร และรายได้ของเทศบาล

  • เทศบาลนคร (ทน.) เป็นท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรมากกว่า 5 หมื่นคนขึ้นไป ปัจจุบันมี 30 แห่ง
  • เทศบาลเมือง (ทม.) เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด หรือท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 1 หมื่นคนขึ้นไป ปัจจุบันมี 195 แห่ง
  • เทศบาลตำบล (ทต.) เป็นท้องถิ่นซึ่งยกฐานะมาจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปัจจุบันมี 2,247 แห่ง


สำหรับความแตกต่างระหว่างเทศบาล กับ อบต. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5,300 แห่งนั้น หากพื้นที่ใดมีความเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น (พิจารณาตามเกณฑ์ความหนาแน่นของประชากรและความสามารถในการจัดหารายได้) กระทรวงมหาดไทยก็จะออกประกาศยกฐานะ อบต. ขึ้นเป็น ทต. หรือ ทม. โดยอาจครอบคลุมพื้นที่ยกตำบล หรือกินพื้นที่ของตำบลใกล้เคียงก็ได้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นก็จะยังอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อบต. ซึ่งมีความเป็นชนบทกว่า นั่นหมายความว่าในตำบลเดียวกัน อาจมีทั้ง อบต. และ ทต./ทม. ปกครองพื้นที่

กล่าวโดยสรุป ใน 1 จังหวัด จะมีราชการส่วนท้องถิ่นหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่สุดคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไล่ไป อบต. เทศบาล และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร กับ เมืองพัทยา) และยังมีราชการส่วนภูมิภาค จากระดับใหญ่สุดคือจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ให้ประชาชนไปติดต่อราชการ

การได้มาซึ่งนายกเทศมนตรี/สมาชิกสภาเทศบาล : มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เช่นเดียวกับ ส.ส., ส.อบจ., ส.อบต. แต่ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างในการเลือกตั้ง ส.ส.

นอกจากนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 กำหนดห้ามข้าราชการการเมือง, ส.ส., ส.ว., ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กระทำการใด ๆ ไม่ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ พากันหลบเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมาย ทั้งงดส่งผู้สมัครในนามพรรค งดหาเสียงช่วยผู้สมัครอย่างโจ่งแจ้ง โดยมีเพียงพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่อนุญาตให้ผู้สมัครบางรายใช้โลโก้พรรค และคณะก้าวหน้าที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามกลุ่ม

จำนวน : ในแต่ละเทศบาล ให้มีนายกเทศมนตรี 1 คน ส่วน ส.ท. มีเขตละ 6 คน รวม 12-24 คน/เทศบาล ดังนี้

  • เทศบาลนคร แบ่งเป็น 4 เขตเลือกตั้ง มี ส.ท. รวมกัน 24 คน เมื่อรวมทั้งประเทศ 30 ทน. จึงมี ส.ท. 720 คน
  • เทศบาลเมือง แบ่งเป็น 3 เขตเลือกตั้ง มี ส.ท. รวม 18 คน เมื่อรวมทั้งประเทศ 195 ทม. จึงมี ส.ท. 3,510 คน
  • เทศบาลตำบล แบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง มี ส.ท. รวม 12 คน เมื่อรวมทั้งประเทศ 2,247 ทต. จึงมี ส.ท. 26,964 คน


นั่นเท่ากับว่าศึกเลือกตั้งเทศบาลหนนี้ มีเก้าอี้ให้ชิงชัยพร้อมกันถึง 33,666 ตำแหน่ง แบ่งเป็นนายกฯ 2,472 ตำแหน่ง และ ส.ท. อีก 31,194 ตำแหน่ง

จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนเทศบาลมากที่สุด 121 แห่ง แบ่งเป็น ทน. 1 แห่ง, ทม. 4 แห่ง และ ทต. 116 แห่ง ขณะที่ จังหวัดนครนายก มีเทศบาลน้อยที่สุดเพียง 6 แห่ง แบ่งเป็น ทม. 1 แห่ง และ ทต. 5 แห่ง

อำนาจหน้าที่ : นายกเทศมนตรีกับ ส.ท. แบ่งบทการเมืองกัน โดยนายกเทศมนตรีรับหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทั้งจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น, จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบให้สภาเทศบาลทราบ ขณะที่สภาเทศบาลเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ตราเทศบัญญัติเพื่อใช้ในท้องถิ่น และตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ตั้งกระทู้

วาระ : อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

ค่าตอบแทน : นายกเทศมนตรีได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตั้งแต่ 14,280-75,530 บาท (ขึ้นอยู่กับรายได้ของเทศบาล ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มที่จัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ไปจนถึงกลุ่มที่จัดเก็บรายได้ทะลุ 300 ล้านบาท), รองนายกเทศมนตรีได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนตั้งแต่ 8,670-45,540 บาท, ประธานสภาเทศบาลได้ค่าตอบแทนตั้งแต่ 5,520-30,540 บาท และ ส.ท. ได้ค่าตอบแทนตั้งแต่ 3,520-19,440 บาท

งบเทศบาล : รายได้ของเทศบาลเกิดจาก 2 แหล่งสำคัญ แหล่งแรก มาจากการเก็บภาษีต่าง ๆ ในจังหวัด เช่น ภาษีบำรุงท้องที่, ภาษีโรงเรือนและที่ดิน, ภาษีป้าย และอากรสัตว์ ฯลฯ อีกแหล่ง มาจากงบอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้

ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 90,978.4 ล้านบาท ตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจำนวนนี้เป็นการจัดสรรงบให้เทศบาลนคร 13,386 ล้านบาท และเทศบาลเมือง 24,887.7 ล้านบาท

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า เทศบาลที่ได้รับงบจากส่วนกลางสูงสุดคือ เทศบาลนครนนทบุรี ได้รับงบ 775.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3,100.1 ล้านบาทตลอด 4 ปีของวาระในการดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังเป็นวงเงินที่สูงกว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ซึ่งได้รับการจัดสรรงบในปีนี้ 673.1 ล้านบาท และสูงกว่างบของ จังหวัดนนทบุรี ในฐานะหน่วยราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งได้รับการจัดสรรงบตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ วงเงิน 170.5 ล้านบาท

สำหรับเทศบาลนครที่ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. เทศบาลนครนนทบุรี 775.3 ล้านบาท
  2. เทศบาลนครขอนแก่น 770.5 ล้านบาท
  3. เทศบาลนครนครศรีธรรมราช 767.9 ล้านบาท
  4. เทศบาลนครอุดรธานี 725.5 ล้านบาท
  5. เทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา 656.6 ล้านบาท


โดยมีเทศบาลนครอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับงบอุดหนุนต่ำสุดที่ 182.4 ล้านบาท

ส่วนของเทศบาลเมืองที่ได้รับงบอุดหนุนจากรัฐบาลสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด 400.4 ล้านบาท
  2. เทศบาลเมืองสระบุรี 350.2 ล้านบาท
  3. เทศบาลเมืองพัทลุง 343.9 ล้านบาท
  4. เทศบาลเมืองราชบุรี 324.4 ล้านบาท
  5. เทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 322.5 ล้านบาท


โดยมีเทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ จังหวัดอุดรธานี ได้รับการจัดสรรงบน้อยสุดที่ 27.3 ล้านบาท

สถิติน่าสนใจในศึกเทศบาล 64 : ในการเปิดสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล ระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏว่ามีผู้สมัครสูงถึง 73,390 คน ตามรายงานสรุปผลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564 แบ่งเป็น ผู้สมัครนายกเทศมนตรี 5,771 คน และผู้สมัคร ส.ท. 67,619 คน

สำหรับจังหวัดที่มียอดผู้สมัครสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. เชียงใหม่ 4,048 คน แบ่งเป็น นายกเทศมนตรี 299 คน และ ส.ท. 3,749 คน
  2. นครราชสีมา 2,703 คน แบ่งเป็น นายกเทศมนตรี 221 คน และ ส.ท. 2,482 คน
  3. ขอนแก่น 2,473 คน แบ่งเป็น นายกเทศมนตรี 210 คน และ ส.ท. 2,263 คน
  4. เชียงราย 2,396 คน แบ่งเป็น นายกเทศมนตรี 193 คน และ ส.ท. 2,203 คน
  5. อุดรธานี 2,317 คน แบ่งเป็น นายกเทศมนตรี 188 คน และ ส.ท. 2,129 คน


ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครน้อยที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 197 คน เป็นผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรี 20 คน และ ส.ท. 177 คน

นอกจากนี้ยังมีเทศบาลตำบล (ทต.) หลายแห่งที่มีผู้สมัครนายกเทศมนตรีเพียงรายเดียว อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ มี 13 เทศบาลที่ไร้คู่แข่ง, จังหวัดบุรีรัมย์ 10 เทศบาล, จังหวัดอุดรธานี 5 เทศบาล และ จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 เทศบาล

แต่ถึงกระนั้นผู้สมัครเหล่านี้ต้อง "แข่งกับตัวเอง" เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 111 โดยต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด (โหวตโน)

งบหาเสียง : ในการเลือกตั้งเทศบาลหนนี้ ผอ.กกต. ประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ออกประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยกำหนดวงเงินให้จ่ายได้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และลักษณะทางภูมิศาสตร์, จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, จำนวนหน่วยเลือกตั้ง และดัชนีราคาผู้บริโภคตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์

อย่างใน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้ร่วมศึกเลือกตั้งเทศบาลสูงสุดทะลุ 4,000 คน และมีการเลือกตั้งเทศบาลครบทั้ง 3 รูปแบบ รวม 121 แห่ง ผอ.กกต. กำหนดงบหาเสียงของผู้สมัครไว้ ดังนี้

  • เทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้สมัครนายกฯ หาเสียงได้ภายใต้งบไม่เกิน 1,260,000 ล้านบาท ส่วนผู้สมัคร ส.ท. ใช้งบหาเสียงได้ไม่เกิน 315,000 บาท
  • เทศบาลเมือง 4 แห่ง ผู้สมัครนายกฯ ใช้งบหาเสียงได้ตั้งแต่ไม่เกิน 300,000-480,000 บาท ส่วนผู้สมัคร ส.ท. ใช้งบหาเสียงได้ตั้งแต่ไม่เกิน 100,000-160,000 บาท
  • เทศบาลตำบล 116 แห่ง ผู้สมัครนายกฯ ใช้งบหาเสียงได้ตั้งแต่ 100,000 บาทเศษ จนถึงกว่า 500,000 บาท ส่วนผู้สมัคร ส.ท. ใช้งบหาเสียงได้ตั้งแต่ราว 80,000 บาท ถึงกว่า 200,000 บาท


รศ.ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งเทศบาลทำให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจ โดยเขาได้ทดลองนำยอดผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งประเทศราว 73,000 คน ไปคำนวณกับงบหาเสียงโดยเฉลี่ยหัวละ 150,000 บาท พบเม็ดเงินสะพัดกว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งการจัดทำป้ายไวนิล, แผ่นพับ, เสื้อทีม, จ้างรถแห่หาเสียง, รถซาเล้งหาเสียง ทั้งหมดนี้เป็นการกระตุ้นบรรยากาศการเลือกตั้งและส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามนักวิชาการรายนี้ได้แสดงความผิดหวังต่อ "กติกาหยุมหยิมที่กดทับไม่ให้มีการโฆษณาหาเสียงได้อย่างเต็มที่" และชี้ว่ากฎระเบียบเหล่านี้ออกมาด้วยความรู้สึกไม่ไว้วางใจนักการเมือง ทำให้ผู้สมัครต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเยอะมาก เพราะเกรงกลัวกฎหมาย

ข้อควรรู้สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง : การเลือกตั้งเทศบาลจะเกิดขึ้นใน 76 จังหวัด แต่ไม่ใช่คนไทยทุกคนที่ต้องออกไปใช้สิทธิ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเขตเทศบาลเท่านั้นที่ได้ออกไปใช้สิทธิ ทั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่นี่ และมีข้อควรรู้ ดังนี้

  • คูหาเลือกตั้งเปิดตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2564
  • เมื่อเดินเข้าหน่วยเลือกตั้งคูหา ให้ยื่นหลักฐานบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้แล้วมีหมายเลขประจำตัวประชาชน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรก กากบาทเลือกนายกเทศมนตรีได้ 1 คน และอีกใบ กากบาทเลือกสมาชิกสภาเทศบาลได้ 6 คน โดยจะเลือก "ยกทีม" หรือ "รายบุคคล" ก็ได้ และจะเลือกน้อยกว่า 6 คนก็ได้ แต่ห้ามมากกว่า 6 คน เพราะจะกลายเป็นบัตรเสีย
  • ไม่เปิดให้มีการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า หรือการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด
  • หากไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ต้องแจ้งเหตุจำเป็นต่อนายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วัน (ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้งก็ได้) หรือแจ้งเหตุผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ stat.bora.dopa.go.th และ ect.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote ก็ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 2 ปี ห้ามสมัครเล่นการเมืองทุกระดับ และห้ามรับราชการ


การประกาศผลการเลือกตั้ง : กกต. ระบุว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งได้ในวันที่ 27 เมษายน 2564 หากไม่มีเรื่องร้องเรียน แต่ถ้ามีกรณีร้องเรียนกล่าวโทษ กกต. ก็ต้องสืบสวนไต่สวน ทำให้การประกาศผลล่าช้าออกไปอีกเดือน หรือประกาศผลภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564

การต่อสู้ของผู้สมัคร 4 ภาค

การเลือกตั้งเทศบาล 28 มีนาคม ถือเป็นอีกสนามที่ "คนรุ่นใหม่" โดดเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง

หากคำขวัญบนแผ่นป้ายหาเสียงของใครขึ้นต้นว่า "สานต่อ" ประชาชนก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นนักเลือกตั้งหน้าเก่าที่ลงสมัครเพื่อรักษาเก้าอี้ แต่ถ้าใช้ข้อความว่า "เปลี่ยนแปลง" ก็แสดงว่าเป็นทีมผู้ท้าชิง

"ของแท้-ของเทียม" ในจังหวัดเชียงใหม่

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.เชียงใหม่ เล่าถึงบรรยากาศการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งนายกฯ เดิมต้อง "เว้นวรรค" หลังทำหน้าที่ครบ 2 สมัย และส่งเครือญาติลงสมัครแทน โดยถือ "เป็นคนหน้าใหม่ แต่นามสกุลเก่า" ขณะที่เทศบาลรายรอบ นายกฯ เดิมยังลงสนามต่อไป แต่ที่น่าสนใจคือมีการฉายภาพทีมงานด้วย ซึ่งปรากฏชื่อของอดีตอธิการบดี, หอการค้า, ศิลปิน เพราะ "ลำพังนายกฯ อาจฉายภาพได้ไม่พอ ต้องการภาพคนรุ่นใหม่ จึงต้องดึงคนใหม่ ๆ เข้าไป"

อีกข้อสังเกตจาก ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คือการเลือกตั้งเทศบาลใน จังหวัดเชียงใหม่ หนนี้เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองระดับชาติ จากเดิมที่ท้องถิ่นระดับเล็กอย่างเทศบาลไม่เคยต้องพึ่งพิงพรรคขนาดนี้ ซึ่งเขาวิเคราะห์ว่าเป็นปฏิกิริยาหลังการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อ พ.ย. 2563 ที่เกิดการพลิกล็อก-โค่นแชมป์เก่า ทำให้เห็นกระแสนิยมของ พท. และใช้อิงแอบได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีทั้ง "ของแท้-ของเทียม" มี "เพื่อไทยแท้" ซึ่งหมายถึงผู้สมัครที่ได้รับอนุญาตให้ใช้โลโก้พรรค กับ "กลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อไทยแท้ แต่พยายามออกแบบโลโก้ให้คล้ายคลึง" และมี "ก้าวหน้าแท้" ที่ลงสมัครในนามคณะก้าวหน้าจริง ขึ้นป้ายหาเสียงคู่กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับอีกกลุ่มที่ตั้งชื่อกลุ่มโดยนำคำว่า "ก้าวหน้า" ไปห้อยท้าย

3 ขั้วอำนาจในจังหวัดชลบุรี

ขณะที่ภาคตะวันออก ซึ่งมี จ.ชลบุรี ฉายภาพ "ตระกูลการเมือง" และ "เจ้าพ่อ" ผูกขาดพื้นที่มายาวนาน แต่ในศึกเลือกตั้งเทศบาลรอบนี้ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา พบ "ขั้วอำนาจใหม่" และกระแสตื่นตัวของ "คนรุ่นใหม่"

เขาแบ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกเป็น 2 ความหมายคือ คนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกหลานและเครือญาติของนักการเมืองรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหน้าใหม่จริง ๆ และยังไม่มีหลักประกันว่าจะประสบชัยชนะเลือกตั้งหรือไม่ แม้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จะปักธงที่ชลบุรีได้สำเร็จ แต่กลับพ่ายแพ้หมดในภาคตะวันออกในการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563 ซึ่งส่งผลต่อทีม ส.ท. และทำให้เห็นว่า "กระแสไม่เหมือนเดิม มีความถดถอยเยอะหากเทียบกับการเลือกตั้งใหญ่"

นอกจากคนรุ่นใหม่ ผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวที่ชนชั้นนำท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทางการเมือง เพราะเตรียมหาเสียงล่วงหน้ามานาน และหลายพื้นที่โดยเฉพาะเทศบาลที่มีงบเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะเป็น "สงครามตัวแทน" ของ 3 ขั้วการเมือง เพื่อยึดครองพื้นที่ของอีกฝ่าย และรักษาพื้นที่ตัวเองเอาไว้ ซึ่งภาพขั้วการเมืองใหม่ในชลบุรีปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ศึกเลือกตั้ง ส.ส. มาถึง อบจ. และ ส.ท. ดังนี้

  • ตระกูล "คุณปลื้ม" ซึ่งรอบนี้ อา-หลาน คือ สมชาติ คุณปลื้ม กับ ณรงค์ชัย คุณปลื้ม มาฟาดฟันกันเองเพื่อชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข อ.เมือง
  • กลุ่ม "พลังใหม่" และ "มังกรน้ำเค็ม" ภายใต้การสนับสนุนของ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สังกัดพรรคพลังประชารัฐ
  • กลุ่ม "สิงห์โตทอง" ซึ่งเป็นพันธมิตรของคณะก้าวหน้า/อนาคตใหม่


ประชาธิปัตย์ "ไม่ง่าย" ในภาคใต้

ส่วนบรรยากาศที่ภาคใต้แตกต่างออกไป แม้แคนดิเดตนายกฯ ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองและรับรู้โดยทั่วกันในหมู่คนในท้องถิ่น แต่กลับไม่มีคำประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากพรรคการเมือง ซึ่ง ผศ. เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เห็นว่า "ความพ่ายการเลือกตั้ง ส.ส.นครศรีธรรมราช ส่งผลกระทบ และไม่มีใครกล้าบอกว่าอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" สำหรับพรรคสีฟ้าจึงไม่ง่ายในศึกเลือกตั้งท้องถิ่นหนนี้

แม้คาดการณ์ว่า "คนเก่า" อยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าจากการครองตำแหน่งนานถึง 7 ปี แต่จากการสำรวจของ ผศ. เอกรินทร์พบว่า ทั้งทีมเก่าและทีมใหม่ต่างดึงคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดี ภาพลักษณ์ดี มีประสบการณ์เข้าร่วมเป็นทีมงาน นอกจากนี้ในการตั้งชื่อกลุ่มยังมีคำว่า "ใหม่" และ "ก้าว" เป็นส่วนประกอบ แต่คำที่แทบไม่พบเห็นคือคำว่า ชาติ" และ "อนุรักษ์" ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระแสเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เช่นเดียวกับการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้สมัครซึ่งฉายภาพบุคลิกกระฉับกระเฉง เลือกสวมใส่เสื้อใส่ ชุดวิ่งออกกำลังกาย แทนการสวมชุดราชการ/ชุดทางการแบบในอดีต มายืนถ่ายภาพหน้าตรงขึ้นโปสเตอร์หาเสียง

ส.ท. "ไม้ประดับ" ในภาคอีสาน

ในภาคอีสาน หากพิจารณากลยุทธ์ในการหาเสียงของผู้สมัคร รศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม พบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง "คนหน้าเก่า" กับ "คนรุ่นใหม่" ซึ่งเขาแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

"การสื่อสารแนะนำตัวแบบคนเก่าจะบอกว่า 'พร้อมสานต่องานเก่า' แต่ไม่รู้ว่างานเก่าที่ผ่านมาทำอะไร.. แต่ถ้าเป็นคนใหม่ก็จะบอกว่า 'ถึงเวลาคิดใหม่ ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงใหม่' แต่ก็ไม่ได้บอกเหมือนกันว่าจะเปลี่ยนอะไรใหม่.. แต่จะมีผู้สมัครรุ่นใหม่ที่พยายามนำเสนอนโยบายที่น่าสนใจ เช่น น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ขยะไม่มี ปฏิรูประบบเก็บขยะเทศบาล ฯลฯ"

นักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นรายนี้ยังชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งสังคมมักให้ความสนใจกับตัวนายกฯ ทำให้สมาชิกสภากลายเป็นเพียงไม้ประดับ แม้แต่ป้ายหาเสียง ก็ยังทำรูปนายกฯ ตัวเบ้อเร่อ ส่วน ส.ท. ตัวเล็ก ๆ ต้องจอดรถดู เพราะมองไม่เห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

"ผู้สมัคร ส.ท. บ้านเราไม่ให้ความสำคัญ เป็นแค่ไม้ประดับ เวลาเลือกตั้ง นายกฯ จะหาเสียงให้เลือกยกทีม เพื่อเป็นตรายางให้เทศบาลสบายใจ เพราะเวลาพิจารณางบ ถ้ามีแต่ฝ่ายค้านเยอะ นายกฯ ก็จะไม่สบายใจ.. ผมจึงขอเสนอให้เลือกคนละทีมไปเลย จะได้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลในสภาเทศบาล" รศ.ดร. อลงกรณ์แนะนำผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

สำหรับแนวโน้มการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งหนนี้ นักวิชาการระบุตรงกันว่าขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ หากเป็นพื้นที่เล็กอย่างเทศบาลตำบล ประชาชนมีแนวโน้มเลือกตัวบุคคลที่มีความใกล้ชิด สนิทสนม เกื้อกูลกัน แต่ถ้าเป็นเทศบาลเมือง ชนชั้นกลางใหม่อาจตัดสินใจเลือกจากนโยบาย แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาผล เพราะเทศบาลทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมาก หากคนเก่าทำผลงานไว้ไม่ดี ก็เสี่ยงสอบตก

หมายเหตุ : บีบีซีไทยสรุปและเรียบเรียบความเห็นของนักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นทั้ง 4 ภาคจากเวทีเสวนาออนไลน์เรื่อง "6 จับกระแสเลือกตั้งเทศบาลทั่วไทย" จัดโดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า เมื่อ 16 มีนาคม 2564

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้