กฟภ.ประกาศเจตจำนงการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้แนวคิด “ชาว PEA ไม่ทนต่อการทุจริต”

Last updated: 23 ก.พ. 2565  |  3862 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฟภ.ประกาศเจตจำนงการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ภายใต้แนวคิด “ชาว PEA ไม่ทนต่อการทุจริต”

มูลนิธิต่อต้านการทุจริต ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของ กฟภ.

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานพิธีประกาศเจตจำนงการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันของ กฟภ. ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ชาว PEA ไม่ทนต่อการทุจริต” และ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของ กฟภ.” โดยมีนายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร กรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในฐานะประธานกรรมการธรรมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน , ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) , พลเอก ธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต , นายอติโชค ผลดี กรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต , นางศิริรัตน์ วสุวัต กรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ร่วมเป็นเกียรติ ณ ห้องประชุมสุวรรณภูมิ ชั้น 6 อาคาร LED สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบ VDO Conference ไปยังสำนักงานการไฟฟ้าเขต และ การไฟฟ้าทุกแห่งทั่วประเทศ

กฟภ.ประกาศเจตจำนงการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ชาว PEA ไม่ทนต่อการทุจริต” เป็นกิจกรรมสำคัญที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของผู้บริหารและพนักงานทุกคน ที่พร้อมใจกันแสดงความมุ่งมั่น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมผลักดันสู่ การเป็นองค์กรที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม สามารถปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แสดงจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบในองค์กร

ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า หลักการของการดำเนินโครงการต้านทุจริต คือ 4 ด้าน ได้แก่ กายสุจริต , พฤติกรรมสุจริต , ปัญญาสุจริต และจิตใจสุจริต ประกอบกับการทำงานร่วมกันของ บ้าน โรงเรียน วัด (บวร) และการดูแลให้สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของชุมชน ต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ คือนำหลักของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นหนึ่งในการนำทาง จะเห็นได้จากวิกฤตโควิค-19 ที่ผ่านมา หมู่บ้านในเครือข่ายช่อสะอาด ไม่เกิดปัญหาหรือได้รับผลกระทบมากนัก เพราะชาวบ้านล้วนมีจิตอาสา ช่วยเหลือดูแลกัน การทำงานต่อต้านทุจริต จะต้องเน้นพัฒนาคน โดยอาจเริ่มจากคนรอบข้าง ยกต้วอย่าง มหาตมะ คานธี ผู้นำอินเดีย ที่กล่าวไว้ว่า คำตอบของชัยชนะ อยู่ที่หมู่บ้าน และ Mr.Jack Carter อดีตผู้นำต้านทุจริตของฮ่องกง ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า "จะชนะทุจริตได้ ต้องเปลี่ยน mind set-หลักคิด ของคนในชุมชนให้ได้ เพราะชุมชน หมู่บ้าน คือสังคมที่เล็กที่สุด เพราะสิ่งที่เล็กที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด" ดังนั้นการเริ่มต้นจากหมู่บ้านปลอดทุจริต เริ่มจากองค์กรเล็กๆ ของประเทศก็จะสำเร็จได้ เช่น อินเดีย เป็นต้น

โครงการ PEA หมู่บ้านช่อสะอาด จะเป็นโครงการที่เพิ่มจากความสะอาด ความสุจริต เป็นความสว่าง 4 อย่าง กายสว่างสุจริต , พฤติกรรมสว่างสุจริต , ปัญญาสว่างสุจริต และจิตใจสว่างสุจริต สว่างคือเห็นตรวจสอบได้ ตามหลักพุทธศาสนาที่อิงถึง ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ และความสันติ โครงการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA ดำเนินการหมู่บ้านช่อสะอาดต้านทุจริต จะเป็นผู้นำของภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ให้เห็นว่าองค์กรใหญ่ๆสามารถลงมือทำได้จริง

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของ กฟภ.” ผสานความร่วมมือระหว่างมูลนิธิต่อต้านการทุจริตและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ “PEA หมู่บ้านช่อสะอาด” ผ่านกิจกรรมด้านสังคมสิ่งแวดล้อม (CSR) แผนงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโปร่งใสอย่างยั่งยืน โดยใช้ 4 แนวทางสำคัญ ประกอบด้วย กายสะอาด จิตสะอาด พฤติกรรมสะอาด ปัญญาสะอาด สนับสนุนวิทยากร สำหรับการดำเนินการแผนงานยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในพื้นที่รับผิดชอบ 4 ภาค ประกอบด้วย

ภาค 1 หมู่บ้าน บ้านลาดบัวขาว ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ภาค 2 หมู่บ้าน บ้านท่าคอยนาง ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ

ภาค 3 หมู่บ้าน บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

ภาค 4 หมู่บ้าน บ้านนาพรหม-ดอนหัวกรด ตำบลนาสามพัน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้