"ธนวรรธน์ พลวิชัย" วิเคราะห์ดัชนีคอร์รัปชันในไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

Last updated: 3 เม.ย 2565  |  5178 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"ธนวรรธน์ พลวิชัย" วิเคราะห์ดัชนีคอร์รัปชันในไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index : CPI) ในไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ บรรยายเรื่อง “ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index : CPI)" ให้กับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” หรือ นยปส.รุ่นที่ 13

โดยกล่าวถึงการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยและติดตามดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น พบว่าตั้งแต่ปี 2538-2564 ประเทศไทยยังไม่เคยสอบผ่านเรื่องการทุจริต ดัชนีการรับรู้จะลดลงอย่างชัดเจนมากในปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร และในปี 2564 ร่วงลงอีกครั้งหนึ่งจาก 100 คะแนน ได้เพียง 35 คะแนน อยู่ในอันดับ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับการเมืองเรื่องประชาธิปไตยมาใส่ในการทำดัชนีชี้วัด

นอกจากนี้ยังเห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นในไทยจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีการชี้วัดของนานาชาติ ที่เห็นว่า สาเหตุการคอร์รัปชั่นมาจาก กระบวนการการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจเอื้อต่อการทุจริต และความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย ตามลำดับ

รูปแบบการทุจริตในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อย คือการให้สินบน ของกำนัล รางวัลต่างๆ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก และการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์

ขณะที่นายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง บรรยายเรื่อง “การป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” โดยกล่าวถึงพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่มีผลบังคับใช้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริต และเป็นการยกระดับสู่สากล เน้นการเปิดเผย โปร่งใส แข่งขันอย่างเป็นธรรม และต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานอย่างคุ้มค่า แต่ปัญหาที่พบคือ การจัดซื้อจัดจ้างในราคาต่ำ เพราะกลัวการตรวจสอบ ซึ่งนอกจากไม่ได้คุณภาพ ยังส่งผลต่อการตั้งงบประมาณเพิ่มเพื่อการดูแลรักษา ดังนั้นจึงต้องตั้งเกณฑ์คุณภาพหรือราคา นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หลักเกณฑ์ต่างๆที่เป็นไปตามกฎหมายในรูปแบบต่างๆ


ส่วนการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ดูได้จากโครงการที่สะท้อนความผิดปกติ และอาจมีสินบนเข้ามาเกี่ยวข้องได้แก่ การตั้งงบประมาณเกิน ล็อคสเปก สมยอมการเสนอราคา คัดเลือกให้ได้เป็นอันดับแรก ผ่อนผันการตรวจรับ และต่อเวลาโดยไม่เสียค่าปรับ

พร้อมกล่าวว่าได้รับการร้องเรียนกรณี โครงการเสาไฟประติมากรรม ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

จึงตั้งคำถามว่าเป็นโครงการที่ออกมาได้อย่างไร ทั้งความถี่ของการติดตั้งเสาไฟ ราคากลางถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะนี้จึงมีแนวคิดว่าโครงการขนาดใหญ่ อาจให้มีหน่วยงานกลางพิจารณาความเหมาะสมของราคากลาง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้